นาทีนี้ ไม่มีเทรนด์ไหนจะร้อนแรงไปกว่า ChatGPT ปัญญาประดิษฐ์ที่แม้แต่คนที่อยู่ในวงการเทคโนโลยี ยังมองว่า นี่เป็นการพัฒนา AI ที่กำลังมาสุดทาง หรือก้าวหน้าที่สุดแล้วในตอนนี้
ChatGPT ยังเป็นกระแสที่มาพร้อมกันกับ generative AI หรือสิ่งประดิษฐ์จากปัญญาประดิษฐ์ ตั้งแต่ Midjourney, Dall-E, Lensa ที่แค่กดไม่กี่คลิก ก็ได้ภาพวาดจาก AI ขึ้นมา
ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหว ChatGPT หลายอย่างตั้งแต่มีผู้ใช้งานทะลุ 1 ล้านคนในสัปดาห์แรกที่เปิดใช้ มีการนำไปใช้งานจริงอย่างการแต่งเพลง แต่งนิทาน เขียนงานส่งอาจารย์ เอาไปเขียนข่าวแทนนักข่าวตัวจริง จนเป็นเรื่องดราม่ามากมาย
เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทำให้คำถามค่อยๆ เปลี่ยนจาก AI จะมาแย่งงานเราหรือไม่ เป็น AI จะมาแย่งงานเราเมื่อไร
ผู้เขียนเคยเล่าความสามารถของ ChatGPT ไปแล้ว และได้ลองใช้ด้วยตัวเองพบว่า มันน่าตื่นตาตื่นใจ และทำให้หวาดกลัวไปพร้อมกัน สามารถอ่านย้อนหลังได้ https://workpointtoday.com/get-to-know-chatgpt-by-open-ai/
ดังนั้นในบทความนี้จึงไม่พูดเยอะเรื่องความสามารถ แต่จะพาไปทำความรู้จัก Open AI ผู้สร้าง ChatGPT ที่น่าจับตามองไม่แพ้บริษัท Big Tech ทั้งหลายอย่าง Alphabet, Meta, Microsoft, Amazon
[ Open AI ก่อตั้งขึ้น เพื่อป้องกันความเลวร้ายของ AI มี Elon Musk เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ]
Open AI คือห้องแล็บวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ก่อตั้งในปี 2015 ที่ซานฟรานซิสโก มีผู้ร่วมก่อตั้งหลายคน หลักๆ คือ Sam Altman ประธาน Y Combinator ผู้บ่มเพาะรายใหญ่ของสตาร์ทอัพหลายแห่ง, Elon Musk ฯลฯ ร่วมลงทุนกันหลักพันล้านดอลลาร์เพื่อก่อตั้งแล็บแห่งนี้ขึ้นมา
แรงกระตุ้นที่ทำให้เกิด Open AI ขึ้นมา คือความกังวลว่า AI จะพัฒนาไปสุดทางจนทิ้งมนุษย์ไว้ข้างหลัง หรือเลวร้ายกว่านั้นคือความสูญพันธุ์ของมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์บางคน เช่น Stephen Hawking และ Stuart Russell ได้แสดงข้อกังวลว่า หากสักวันหนึ่ง AI ขั้นสูง สามารถออกแบบพัฒนาการด้วยตัวเองไปเรื่อยๆ จนเกิด “การระเบิดทางปัญญา” ที่ไม่หยุดยั้ง อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของมนุษย์ได้เลยทีเดียว
แม้แต่ตัว Elon Musk เองก็เคยบรรยายลักษณะ AI ว่าเป็น “ภัยคุกคามที่มีอยู่ที่ใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ” Open AI จึงเกิดขึ้นจากแนวคิดนี้ คือต้องการพัฒนา AI ในลักษณะที่เป็นมิตรกับคน เดินทางขนานไปกับคนในระยะยาว พัฒนาอย่างมีจริยธรรม เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจาก AI อย่างที่เรามักจินตนาการกันในหนังนั่นเอง
Open AI ในช่วงแรกถูกออกแบบให้เป็นบริษัทวิจัย และไม่แสวงหาผลกำไร แต่ในปี 2019 OpenAI เปลี่ยนเป็นองค์กรที่แสวงหาผลกำไร โดยให้เหตุผลว่า ต้องการเพิ่มความสามารถในการระดมทุน ในขณะที่ยังคงปฏิบัติภารกิจขององค์กรต่อไปได้
การแสวงหากำไรยังช่วยให้นักวิจัยทำงานต่อได้ในระยะยาว เพราะการพึ่งพาการระดมทุนและบริจาคอย่างเดียว อาจไม่มากพอ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายการพัฒนา AI ยังสูงมาก
ในปี 2017 Open AI ใช้เงิน 7.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหนึ่งในสี่ของค่าใช้จ่ายด้านการทำงาน ไปกับการประมวลผลคลาวด์ และเพียงแค่ฝึกเทรนบอท Dota 2 ของ OpenAI ก็จำเป็นต้องเช่า CPU 128,000 ตัวและ GPU 256 ตัวจาก Google
Tom Goldstein รองศาสตราจารย์ในแผนกวิทยาการคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย Maryland เคยประมาณการไว้เล่นๆ ว่า บริษัทกำลังควักเงิน 100,000 ดอลลาร์ต่อวัน หรือประมาณ 3 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน ในการพัฒนา AI ขึ้นมา
ด้วยเหตุนี้ Open AI จึงสร้าง OpenAI LP ในลักษณะที่ผสมผสานระหว่างองค์กรที่แสวงหาผลกำไร และไม่แสวงหาผลกำไร หรือที่องค์กรนิยามว่า เป็นการแสวงหากำไรแบบจำกัด
ปัจจุบัน Open AI จึงกลายเป็นบริษัทลูกที่มาจากบริษัทแม่สองแห่งคือ OpenAI LP เป็นบริษัทที่หากำไร และ OpenAI Inc ที่ไม่แสวงหาผลกำไร
ทันทีที่ Open AI เปิดตัวแสวงหากำไร ก็สามารถดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาได้ ซึ่งก็คือ Microsoft ลงทุนใน OpenAI LP 1,000 ล้านดอลลาร์ (มิ.ย. 2019)
Open AI บอกด้วยว่าทางองค์กรจะยังคงคอนเซปต์ Open ร่วมมือกับสถาบัน และนักวิจัยอื่นๆ โดยการเปิดสิทธิบัตรและการวิจัยต่อสาธารณะ เพื่อให้การพัฒนา AI เข้าถึงได้กับคนในวงกว้าง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราได้ลองเล่น ลองจับ ChatGPT กันในวันนี้
ส่วน Elon Musk ลดบทบาทตัวเองออกจาก Open AI ไปในปี 2018 เขาลาออกจากคณะกรรมการ เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในอนาคต เนื่องจาก Tesla ขยายสาขาในด้านปัญญาประดิษฐ์ด้วยเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม Musk จะยังคงบริจาคเพื่อการกุศล และเป็นที่ปรึกษาของ Open AI ต่อไป
[ จับตา Microsoft คอลแลบ ChatGPT ลงทุนเพิ่มหมื่นล้านดอลลาร์ แข่งกับ Google ]
ทันทีที่ Open AI สร้างแรงกระเพื่อมในวงการ Google ผู้นำ AI แบบไร้พ่ายมากว่าทศวรรษ ก็เริ่มร้อนๆ หนาวๆ ถึงกับประชุมภายในครั้งใหญ่ เพราะคู่แข่งรายใหม่ถือกำเนิดขึ้นแล้ว
เพราะทักษะแบบ ChatGPT คือการวิเคราะห์ข้อความดิจิทัลจำนวนมหาศาลทั้งในหนังสือ บทความ Wikipedia โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และข้อมูลบันทึกการสนทนา ซึ่งไม่ใช่ทุกบริษัทเทคจะทำได้ กว่าจะสร้างโมเดลที่คล้ายๆ กันนี้ ต้องใช้เวลาหลายปี และต้องใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์จริงๆ ซึ่งมีไม่มากนักบนโลกใบนี้
ในขณะที่บริษัทอื่นร้อนๆ หนาวๆ Microsoft กลับจุดพลุแสดงความยินดี เพราะ Microsoft มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ Open AI มานาน รวมๆ แล้วก็ลงทุนมา 3 พันล้านดอลลาร์ และเตรียมจะลงทุนเพิ่มอีกหมื่นล้านดอลลาร์ ขึ้นแท่นเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และจะทำให้ Open AI มีมูลค่าบริษัทเกือบ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ทันที
ประโยชน์ที่ Microsoft จะได้คือนำเทคโนโลยีเบื้องหลัง ChatGPT มาพัฒนา Bing, Microsoft 365 ให้แข่งกับ Google ได้ และจะเพิ่ม ChatGPT ลงในบริการ Azure บนคลาวด์ ทำให้ให้ลูกค้าคลาวด์ของ Microsoft ซึ่งมักจะเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์จากองค์กร สามารถเข้าถึงเครื่องมือ ระบบภาษา GPT-3.5 และ ChatGPT ได้จากการทำงานบนคลาวด์
สรุปง่ายๆ คือ คนพัฒนาเทคโนโลยี จะทำงานได้ไวขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีก เพราะมี ChatGPT เป็นผู้ช่วยส่วนตัวในการทำงานนั่นเอง
[ ผลงานเด่นของ Open AI ]
แน่นอนว่า ChatGPT คือผลงานเด่นของ Open AI อย่างไม่ต้องสงสัย แต่กว่าจะเป็น ChatGPT เวอร์ชั่นที่เปิด public ให้ใช้งานโดยทั่วกัน ChatGPT มีการพัฒนามาแล้ว 3 เวอร์ชั่น
GPT ย่อมาจาก Generative Pre-trained Transformer โดยพื้นฐานแล้ว เป็นรูปแบบภาษาที่มาจากการเรียนรู้เชิงลึก เรียนรู้จากฐานข้อมูลกว่า 8 ล้านหน้าเว็บไซต์ เพื่อสร้างข้อความที่เหมือนมนุษย์ โดย ChatGPT มีความแอดวานซ์กว่าคือมีการโต้ตอบแชทได้เป็นธรรมชาติ
โปรเจกต์ที่น่าสนใจพอๆ กับ ChatGPT คือ DALL·E ระบบ AI Neural Network ที่สามารถทำความเข้าใจข้อความและนำมาสร้างเป็นรูปภาพได้โดยอัตโนมัติ และเป็นรูปภาพแบบเรียลลิสติก พูดง่ายๆ คือ เปลี่ยนคำพูดของเราไม่กี่คำให้เป็นภาพวาด ซึ่งคล้ายกับ Midjourney แต่มีความเป็นเรียลลิสติกมากกว่า และยังปรับแต่งรูปภาพได้อย่างใจคิด (มือ Photoshop ต้องร้อนๆ หนาวๆ แล้ว พออ่านมาถึงจุดนี้)
อีกโปรดักต์คือ Whisper โมเดลปัญญาประดิษฐ์แปลงเสียงเป็นข้อความและแปลให้อัตโนมัติ สามารถทำเป็น transcript หรือถอดความจากเสียงพูดที่เร็วและรัว และมีสำเนียงที่ฟังยากได้ด้วย
Open AI นอกจากมีสถานะเป็นบริษัทวิจัยและพัฒนาแล้ว ยังมีสถานะเป็น VC หรือบริษัทลงทุนในสตาร์ทอัพด้วยร่วม 100 ล้านดอลลาร์ โดยแนวคิดการลงทุนของ Open AI คือ ลงทุนในสตาร์ทอัพ early stage หรือเพิ่งก่อตั้ง ยังไม่มีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจน แต่เป็นสตาร์ทอัพวิจัยพัฒนา AI เป็นหลัก
[ พึ่งตัวเอง ให้โตในระยะยาว ]
แม้ Open AI จะมีนักลงทุนเข้ามาล้อมหน้าล้อมหลัง แต่ตัวบริษัทก็ต้องพยายามอยู่ให้ได้ ด้วยตัวเองด้วย อย่างน้อยก็ต้องมีเงินไม่ขาดมือ เพราะต้นทุนพัฒนาสูงมากอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
ดังนั้น นอกจากพึ่งนักลงทุนแล้ว Open AI จึงต้องหาเงินได้ด้วยตัวเอง ด้วยการเปิดใช้ ChatGPT แบบเสียเงิน ที่มีการทำงานดีกว่า เร็วกว่า ตอบคำถามยาวขึ้น ใช้งานร่วมกับ Dall-E ได้ (ให้ AI ช่วยคิดงานให้ทั้ง text และรูปภาพเลยทีเดียว) รวมถึงปรับโมเดลคำตอบให้ตรงตามโจทย์ที่เราถามมากขึ้น
ChatGPT แบบเสียเงินแบ่งความสามารถเป็นสามระดับ ยิ่งระดับสูงก็ยิ่งมีราคาสูง แต่ก็ยังถือว่าราคาถูก คือข้อความและรูปภาพละไม่ถึง 1 บาท แต่ส่วนใหญ่ผู้ใช้งานก็มักใช้งานไปเรื่อยๆ ไม่จบที่ข้อความเดียว
ก่อนหน้านี้ Reuters รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากการพูดคุยกับนักลงทุนของ OpenAI ซึ่งบริษัทประเมินว่าจะมีรายได้ในปี 2023 ราว 200 ล้านดอลลาร์ และถึงพันล้านดอลลาร์ในปี 2024
ก็น่าติดตามต่อว่า Open AI จะโตได้ถึงขนาดไหน และ ChatGPT จะมีความสามารถอะไรออกมาให้เราตื่นตาตื่นใจ (หรือตื่นกลัว) บ้าง เพราะส่วนตัวผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นกับเวอร์ชั่นใหม่ๆ ของ ChatGPT มากกว่า Apple ออก iPhone รุ่นใหม่ด้วยซ้ำ
ที่มา : Augustman , Open AI , Reuters , New York Times , The News , Gizmodo , Blognone , การตลาดวันละตอน