‘อัยการสูงสุด’ สั่งสอบสวนเพิ่ม คดี ม.112 ของ ‘ทักษิณ’ และปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างรอการสอบสวนเพิ่มเติม หลังเจ้าตัววางหลักทรัพย์เป็นสมุดบัญชีธนาคาร 5 แสนบาทประกันตัว นัดฟังคำสั่งอีกครั้ง 10 เม.ย.นี้

(นายทักษิณ เข้าพบอัยการ หลังการพักโทษ 1 วัน วันที่ 19 ก.พ. 67)
นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นำแถลงข่าวคืบหน้าคดีมาตรา 112 ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยสรุประบุว่า เวลา 8.30 น. วันนี้ พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้นำตัว นายทักษิณ ผู้ต้องหา ส่งพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญา
ด้วยคดีนี้ ผู้ต้องหาส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรมขณะแจ้งข้อกล่าวหา ล่าสุดนายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด มีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม ตามหนังสือที่ผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรม และนัดผู้ต้องหา มาฟังคำสั่งของอัยการสูงสุด ในวันที่ 10 เม.ย. 67 เวลา 9.00 น.
ทั้งนี้ อัยการ เห็นควรให้ปล่อยตัวชั่วคราว นายทักษิณ วางหลักทรัพย์เป็นสมุดบัญชีธนาคาร 500,000 บาท
นายประยุทธ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า คดีนี้สำนวนเดิมเป็นสำนวนที่สอบสวนในขณะที่ผู้ต้องหาไม่อยู่หรือผู้ต้องหาหลบหนี ดังนั้นสำนวนดังกล่าวจึงมีเพียงคำเห็นของอัยการสูงสุดขณะนั้น คือ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร ลงความเห็นในการรวมรวบพยานหลักฐานฝ่ายผู้กล่าวหาว่าเห็นควรสั่งฟ้อง
เมื่อผู้ต้องหาได้เข้ามาสู่กระบวนการพิจารณาในกระบวนการรวมพยานหลักฐาน ตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. 67 ที่พนักงานสอบสวนได้เข้าไปแจ้งข้อกล่าวหา พร้อมรับหนังสือร้องขอความเป็นธรรมมาประกอบ เมื่ออัยการสูงสุด สั่งการให้สอบสวนเพิ่มเติมเพื่อให้สิ้นกระแสความ จึงได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามคำสั่งอัยการสูงสุด และนัดผู้ต้องหามาฟังคำสั่ง ในวันที่ 10 เม.ย. 67
ส่วนอัยการสูงสุดจะมีคำสั่งออกมาอย่างไรนั้น นายประยุทธ กล่าวว่า แนวคำสั่งจะออกมาได้ 3 แนวทาง คือ
1. ถ้าการสอบสวนเพิ่มเติมยังไม่กลับมาครบถ้วน ก็จะลงความเห็นและมีคำสั่งไม่ได้ ต้องเลื่อนฟังคำสั่งอีกครั้ง
2. แต่ถ้าสอบสวนเพิ่มเติมครบถ้วนแล้ว อัยการสูงสุดจะวินิจฉัยลงความเห็นและมีคำสั่ง ได้ 2 อย่าง คือ หากไม่มีเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ก็จะสั่งฟ้องไปตามคำสั่งเดิม แต่จะเปลี่ยนจากเห็นควร เป็นสั่งฟ้อง เพราะคดีสิ้นกระแสความแล้ว
3. แต่ถ้าพยานหลักฐานดูแล้วการกระทำไม่เป็นความผิด ก็จะลงความเห็นโดยสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งคำสั่งอัยการสูงสุดถือเป็นที่สุด และจะแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบต่อไป
อย่างไรก็ตาม นายประยุทธ ปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายละเอียดในหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุุดของนายทักษิณ รวมถึงรายละเอียดในการสั่งสอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นใดบ้างด้วย
นายประยุทธ อธิบายเพิ่มเติมว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 20 จะกำหนด ว่าคดีที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ผู้มีอำนาจ รับผิดชอบดำเนินคดีมีเพียงผู้เดียวตามกฎหมาย คือ อัยการสูงสุด แต่สามารถมอบหมายได้ โดยคดีนี้อัยการสูงสุดได้มอบหมายให้พนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนของสำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด และมอบหมายให้ อธิบดีอัยการคดีอาญา โดยอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของขั้นตอนการดำเนินคดี แต่กระบวนการมีความเห็นคำสั่งเป็นของอัยการสูงสุด
ขณะที่ นายปรีชา สุดสงวน อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา เปิดเผยว่า ในการให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายทักษิณ ทางอัยการไม่ได้มีเงื่อนไขอื่น แต่ถ้าผู้ต้องหาไม่มาตามนัดโดยไม่มีเหตุอันสมควรจะพิจารณาปรับนายประกัน ส่วนเงื่อนไขอื่นเป็นเรื่องของการกรมคุมประพฤติ ตามคดีที่นายทักษืณได้พักโทษ
นายประยุทธ กล่าวเสริมว่า หลังจากที่กรมราชทัณฑ์ ได้ปล่อยตัวอดีตนายกฯ จากการได้รับการพักโทษในคดีอาญาเรื่องอื่น ทางพนักงานสอบสวนได้ไปอายัดตัว ปกติถ้าอายัดตัวเสร็จเมื่อวาน โดยหลักพนักงานสอบสวนต้องนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานอัยการทันที เพราะสำนวนคดีอยู่ในชั้นพนักงานอัยการแล้ว แต่เมื่อวานเป็นวันหยุด ทางพนักสอบสวนให้ปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวน โดยให้สาบานตนและปล่อยตัวไปโดยไม่มีหลักประกัน พอมาชั้นพนักงานอัยการก็ได้ให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากต้องรอผลการสอบสวนเพิ่มเติม โดยวางหลักทรัพย์เป็นสมุดบัญชีธนาคารที่ธนาคารรับรองเป็นเงินสด 500,000 บาท ซึ่งเราจะอายัดบัญชีไว้ในช่วงระยะเวลาประกัน เงื่อนไขเรามีเท่านี้ ส่วนนายทักษิณจะสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้หรือไม่ ต้องย้อนดูเงื่อนไขคดีที่ได้พักโทษโดยไม่เกี่ยวกับคดีนี้
นายปรีชา อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา ยังได้เปิดเผยถึงช่วงการรับตัวนายทักษิณจากพนักงานสอบสวน บก.ปอท.ว่า วันนี้ช่วงเช้าตำรวจส่งตัวนายทักษิณมายังสำนักงานคดีอาญา สำนักงานคดีอาญาพิจารณาเห็นควรให้ปล่อยชั่วคราว นายทักษิณและนายประกัน ได้เซ็นรับทราบ ระหว่างที่ตนได้พูดคุยกับนายทักษิณ ซึ่งนั่งวีลแชร์มาเกือบครึ่งชั่วโมง ตนเห็นว่า นายทักษิณป่วยขั้นวิกฤติ
“สภาพท่านตามที่ผมเห็นนะครับ ผมว่าป่วยขั้นวิกฤติเลยนะครับ” และว่า “อย่าแรกฟังจากข่าวมา ผมนั่งคุยกับท่าน ท่านคุยไม่มีเสียงเลย แล้วก็สภาพผมดูแล้วป่วยจริงๆ” นายปรีชา กล่าว
เมื่อถามว่า เห็นร่องรอยของการผ่าตัดหรือไม่ นายปรีชา ตอบว่า อันนั้นผมไม่ ตามที่สื่อมวลชนเห็นเมื่อวาน ก็จะมีที่ล็อกคอมา แล้วก็ตรงแขน แต่สภาพท่านจะเดินไม่ไหว
เมื่อถามถึงนายประกันใช่ลูกสาวของนายทักษิณใช่หรือไม่ นายปรีชา ตอบว่า ไม่ใช่ นายประกันน่าจะเป็นคนสนิทของนายทักษิณ ตนไม่ได้ถามอะไรมาก คุณสมบัติครบ เอกสารครบตนก็ต้องให้ประกันไปตามกฎหมาย
ทั้งนี้ นายประยุทธ ยังยืนยันและให้ความมั่นใจเกี่ยวกับคดีนี้ว่า ขอให้เชื่อมั่นในกระบวนการทำงานว่าทุกอย่างอยู่บนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
“สำนวนคดีนี้ผู้รับผิดชอบ คือ อัยการสูงสุด ซึ่งเป็นเบอร์หนึ่งขององค์กร ตรวจสอบประวัติของท่านได้ ท่านเป็นคนที่ค่อนข้างที่จะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายเป็นที่ยอมรับของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด โดยท่าน อำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ ดังนั้นกระบวนการทั้งหมดขอให้มั่นใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นคดีสำคัญ ก็เพราะว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นบุคคลสำคัญ ข้อหาสำคัญ ประชาชนคนในสังคมให้ความสนใจ พี่น้องสื่อมวลชนให้การติดตามสนใจ เพราะกระบวนการทุกอย่างไม่ว่าจะออกไปในทิศทางใดต้องอธิบายได้ ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย” โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าว
เมื่อถามอีกว่า นายทักษิณ ยังสามารถร้องขอความเป็นธรรมเพิ่มเติมได้อีกหรือไม่ นายปรีชา ตอบว่า ยังสามารถร้องขอความเป็นธรรมในประเด็นอื่นได้ แต่ถ้าร้องในประเด็นเดียวกันซ้ำเราจะไม่พิจารณา หรือถ้าพิจารณาแล้วเป็นการประวิงคดี เราจะสั่งยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรม ส่วนระยะเวลาในการสอบสวนเพิ่มเติมไม่สามารถกำหนดได้ ขึ้นอยู่กับพนักงานสอบสวนว่าจะส่งมาเมื่อไหร่ แต่ในส่วนของอัยการจะทำให้เร็วที่สุด
ประมวลภาพ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับการพิจารณาพักโทษ กรณีพิเศษ จากกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เกณฑ์กลุ่มเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรืออายุ 70 ปีขึ้นไป หลังรับโทษครบ 6 เดือน และไม่ต้องใส่กำไลอีเอ็ม (EM) นั่งรถออกจากโรงพยาบาลตำรวจ เมื่อเวลา 06.06 น. วันนี้ (18 ก.พ. 67) และเดินทางถึงบ้านจันทร์ส่องหล้า ในเวลา 06.33 น. โดยมีน.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นั่งอยู่ด้านข้าง
ภาพ ธนัญชัย แก้วโสวัฒนะ, ชนากานต์ เหล่าสารคาม / Thai News Pix