Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ทีมโฆษก อสส. ตั้งโต๊ะชี้แจง แจ้งข้อหากล่าวหาคดี 112 ‘ทักษิณ’ ขณะที่ อยู่ระหว่างพิจารณาหนังสือร้องขอความเป็นธรรม พร้อมระบุ พนักงานสอบสวนขออายัดตัว-ราชทันฑ์ตอบแล้วการอายัดตัวตั้งแต่ 28 ส.ค. 66 กรมราชทัณฑ์ยังไม่พักโทษ

ในวันนี้ (6 ก.พ. 67) นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (โฆษก อสส.) นำทีมแถลงข่าวความคืบหน้าคดีนายทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยนายประยุทธ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของคดี สรุปได้ดังนี้

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ปี 2559 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับสำนวนคดีการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร จากพนักงานสอบสวนกองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) โดยมี พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ผู้กล่าวหา มีนายทักษิณ เป็นผู้ต้องหา ข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นเท็จ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ปี 2558 ที่กรุงโซล สาธารณะรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และประเทศไทย เกี่ยวพันกัน

ความผิดดังกล่าว เป็นความผิดที่มีการกล่าวหาว่า เป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เนื่องจากคดีนี้เป็นความผิดที่มีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุด เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 ซึ่งขณะนั้น อัยการสูงสุด คือ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร ได้ตรวจพิจารณาสำนวนดังกล่าวแล้ว ได้มีความเห็นและคำสั่งทางคดี เมื่อวันที่ 19 กันยายน ปี 2559 โดยมีความเห็นควรสั่งฟ้องนายทักษิณ ตามข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนเสนอมา

แต่เนื่องจากขณะนั้นผู้ต้องหาหลบหนี อัยการสูงสุดในขณะนั้น จึงแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกหมายจับ และต่อมาพนักงานสอบสวน มีคำขอต่อศาลอาญาและศาลอาญาก็ได้ออกหมายจับ ผู้ต้องหาไว้ ภายในอายุความ 15 ปี นับตั้งแต่วันเกิดเหตุ โดยคดีนี้จะขาดอายุความในวันที่ 21 พฤษภาคม ปี 2573

ต่อเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ปี 2566 นายทักษิณ ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยและถูกควบคุมเพื่อรับโทษ ในคดีอาญาเรื่องอื่น พนักงานสอบสวนได้นำหมายจับ ไปแจ้งอายัดตัวผู้ต้องหาไว้กับกรมราชทัณฑ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาคดีนี้เมื่อวันที่ 17 มกราคม ปี 2567 นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน และคณะ ได้ร่วมกับพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้รับผิดชอบคดี ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหา พร้อมพฤติการณ์ และข้อเท็จจริงทางคดีให้กับนายทักษิณ ได้ทราบแล้ว ปรากฏว่าผู้ต้องหา ให้การปฏิเสธ พร้อมกับยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด

ต่อมา อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน ได้ส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนายทักษิณ พร้อมหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้กับพนักงานอัยการ ผู้รับผิดชอบดำเนินคดีนี้ เพื่อรวบรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการสอบสวนส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณา ขณะนี้สำนวนคดีนี้ อยู่ระหว่างพิจารณาของสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด ในการตรวจพิจารณา และทำความเห็นเบื้องต้นเสนออัยการสูงสุด เพื่อพิจารณามีความเห็นและคำสั่งทางคดีต่อไป

นายประยุทธ กล่าวอีกว่า ในกรอบของกฎหมาย เมื่ออัยการสูงสุดได้รับสำนวนแล้วสามารถสั่งได้ 3 อย่าง ตาม ป.วิอาญา คือ 1. ถ้าเห็นว่า ต้องสอบสวนให้กระจ่างแจ่มแจ้งสิ้นข้อสงสัยก็จะสั่งสอบเพิ่ม 2. ถ้าเห็นว่าสำนวนพร้อมแล้ว สมบูรณ์แล้ว และไม่มีประเด็นจะสอบสวนเพิ่มเติม ก็ยืนไปตามความเห็นและคำสั่งเดิม ที่สั่งฟ้องไว้แล้ว คราวนี้ก็จะเปลี่ยนจากเห็นควร เป็นสั่งฟ้อง เพราะครบถ้วนแล้ว 3. แต่สมมุติได้พยานหลักฐานจากสอบเพิ่ม เป็นในทิศทางที่ชั่งน้ำหนักว่าผู้ถูกกล่าวหามิได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ก็จะออกความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ส่วนเรื่องนี้อัยการสูงสุด จะมีความเห็นและคำสั่งประการใด เป็นการเร็วเกินไปที่จะไปก้าวล่วงพูดถึงตรงนั้น ทั้งนี้ไม่มีกรอบระยะเวลา แต่ในทางปฏิบัติถ้าไม่มีประเด็นต้องสอบสวนเพิ่มเติม เป็นสำนวนที่มีความเห็นคำสั่งอยู่แล้ว ก็ไม่น่าจะมีอะไรเนิ่นช้า แต่ถ้ามีประเด็นสอบสวนเพิ่มเติม ก็ต้องอยู่ที่พนักงานสอบสวนจะส่งมาช้าหรือเร็ว จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถตอบเงื่อนเวลาได้

ผู้สื่อถามถึงประเด็นการพักโทษนายทักษิณ ซึ่งทางนายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงว่า การได้พิจารณาพักโทษตอนนี้ คำสั่งที่จะพักโทษนายทักษิณ ทางกรมราชทัณฑ์ยังไม่ได้มีคำสั่ง แต่ทางพนักงานสอบสวน ได้มีการแจ้งอายัดและกรมราชทัณฑ์ ได้มีการตอบรับการอายัดตัวนายทักษิณไว้แล้ว เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 ถามว่าผลของการอายัดตัวจะทำให้มีผลอย่างไร คือคดีนี้ถ้าสมมุติว่า มีการพักโทษ ทางเรือนจำจะต้องไปยังพนักงานสอบสวนให้มารับตัวนายทักษิณว่า เนื่องจากเรือนจำจะมีคำสั่งพักโทษแล้ว แล้วพนักงานสอบสวนมีการแจ้งอายัดไว้ในคดี 112 พนักงานสอบสวนจะต้องไปรับตัวนายทักษิณไว้ มาดำเนินการควบคุม ทั้งนี้ การควบคุมของพนักงานสอบสวน เป็นอำนาจ เป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนว่า จะปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพนักงานสอบสวนหรือไม่ หรือนำตัวไปคุมขังโดยใช้อำนาจศาล เรียกว่าฝากขัง เมื่อพนักงานสอบสวนดำเนินการแล้ว จะแจ้งมายังพนักงานอัยการว่ามีการควบคุมตัวนายทักษิณอย่างไร

นายประยุทธ กล่าวเสริมว่า เมื่ออายัดตัวผู้ต้องหาไว้แล้ว สมมุติตอนนั้นอัยการตรวจสำนวน สั่งสำนวนเสร็จแล้ว ก็สามารถส่งมาประกอบสำนวนได้เลย แต่ถ้าสมมุติว่าสำนวนนี้ต้องรอผลการสอบสวนเพิ่มเติม ทางพนักงานสอบสวนอาจจะนำตัวมาให้พนักงานอัยการได้เลย และทางอัยการอาจจะปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างรอผลการสอบสวน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แล้วแต่ว่ากระบวนการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ เวลานั้น อยู่ในขั้นตอนไหน อย่างไร แต่กระบวนการที่มีตัว ได้ตัว หากมีความเห็นสั่งฟ้อง ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องกังวล ถ้าสมมุติมีคำสั่งฟ้อง แนวทางปฏิบัติของอัยการเราทำได้ 2 อย่าง ถ้าตัวอยู่ระหว่างควบคุมของทางกรมราชทัณฑ์ เช่น ถ้าเป็นกรณีเอาไปคุมขัง ที่คุมขังอื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ ถือว่าเป็นฟ้องเบิกตัวธรรมดา ส่งเฉพาะคำฟ้องให้ศาล ศาลก็จะมีการเบิกตัวมาเอง แต่ถ้าเป็นกรณีพักโทษ สำนวนเสร็จภายหลัง กรณีเช่นนี้ฟ้องส่งตัว ก็จะแจ้งให้ตัวมาพบและส่งฟ้อง ทั้ง 2 ขั้นตอน มีกรอบกฎหมายและแนวทางปฏิบัติชัดเจน สำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประสานงานกันโดยใกล้ชิดอยู่แล้ว ไม่มีอะไรต้องกังวลตรงนี้

นายณรงค์ ศรีระสันต์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ตอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนการพักโทษนายทักษิณ โดยสรุปว่า เมื่อถูกอายัดตัวในคดี 112 แล้วว่า ก่อนพักโทษ กรมราชทัณฑ์จะมีหนังสือแจ้งล่วงหน้ามายังพนักงานสอบสวน ที่อายัดตัวไว้ ประมาณ 7 วัน ว่ายังประสงค์จะรับตัวหรือไม่ พร้อมระบุวันที่ที่จะได้รับการพักโทษ หากประสงค์ พนักงานสอบสวนก็มารับตัวไป ถ้าหากพนักงานสอบสวนมารับตัว แสดงว่าคดีที่ถูกพักโทษนั้น ไม่สามารถไปฟ้องเบิกตัวจากคดีนั้น ต้องไปเริ่มต้นคดีที่พนักงานสอบสวนรับตัวมาใหม่ พนักงานสอบสวนก็จะเอาตัวไปควบคุมหรือเอาไปประกันก็อยู่ที่สำนวนใหม่

นายณรงค์ อธิบายต่อว่า แต่ถ้าเกิดวันที่นั้นการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้นหรือไม่ดำเนินการ แล้วพนักงานสอบสวนไม่มารับ สมมุติยังไม่มารับตัว นายทักษิณจะได้รับการปล่อยตัวในวันพักโทษ แล้วก็กลับบ้านหรือไปอยู่ในสถานที่ที่กรมราชทัณฑ์กำหนด ย้ำว่าจะไม่สามารถฟ้องเบิกตัวจากคดีเก่าได้ เพราะถือว่าพ้นโทษจากการพักโทษ แต่เจ้าตัวต้องไปรายงานตัวต่อกรมคุมประพฤติตามกฎหมาย ถ้าหากพนักงานสอบสวนได้รับคำสั่งจากอัยการว่า คดีนี้พนักงานอัยการมีคำสั่งแล้ว และยังประสงค์จะให้พนักงานสอบสวนส่งตัว พนักงานอัยการก็จะมีการแจ้งคำสั่งไปยังพนักงานสอบสวน ให้เอาตัวมาส่งอัยการ ซึ่งพนักงานสอบสวนอาจจะประสานกรมคุมประพฤติ วันไหนมารายงานตัวก็ไปรับตัวมาส่งมอบ ถ้าเกิดว่าไม่มาหลบหนี พนักงานสอบสวนก็ต้องไปออกหมายจับต่อไป

เมื่อถามว่า เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 มีการแจ้งข้อกล่าวหาคดี 112 ที่ไหน นายประยุทธ ระบุว่า ทีมโฆษกไม่มีข้อมูลตรงนี้ แต่เป็นการดำเนินการของทีมสอบสวน เราไม่มีรายละเอียดตรงนี้ และว่า ถ้าตราบใดที่การสอบสวนยังไม่สิ้นสุดการสั่งคดีของอัยการสูงสุด สามารถยื่นพยานหลักฐานได้เต็มที่ ทั้งการยื่นพยานหลักฐาน ให้ถ้อยคำ หรือวัตถุพยานที่เกี่ยวข้อง

นายประยุทธ ยังชี้แจงถึงหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ที่มีการปรับเกณฑ์ใหม่ ว่า 1. เจ้าตัวต้องมาเอง กรณีนายทักษิณ ยื่นเองกับพนักงานอัยการ คือนายกุลธนิต ให้ทนายความมายื่น เราไม่รับผิดระเบียบ 2. ถ้าประวิงให้เนิ่นช้า ทอดเวลาไม่ได้

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์วันนี้ สรุปได้ว่า ปกติแล้วกรมราชทัณฑ์จะมีการประชุมพักโทษในทุกเดือน แต่ขณะนี้ยังไม่มีเอกสารมาถึงตน และว่า ตนยังไม่ได้ตรวจสอบว่าในเอกสารการพักโทษมีชื่อของนายทักษิณด้วยหรือไม่

ส่วนกรณีอายัดตัวนายทักษิณในคดี ม.112 นั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เป็นคดีที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ซึ่งการสอบสวน ทางอัยการสูงสุดจะประสานตำรวจมาร่วมการสอบสวน การอายัดตัวถือเป็นขั้นตอนหนึ่ง

ทั้งนี้การพิจารณาคดี ทางอัยการจะต้องนำคำให้การของผู้ถูกกล่าวหาไปพิจารณาคดีด้วย ซึ่งเมื่อได้รับการสอบสวนแล้วการอายัดตัวก็จะสิ้นสุดลง อาจจะพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราวก็ได้ เพื่อรอการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ซึ่งก็จะกลายเป็นคดีใหม่

“ในทางกฎหมายถือว่าถูกควบคุมตัว ก็คือได้รับโทษ แต่ในความรู้สึกของคนอาจมีมุมมองที่แตกต่าง” พ.ต.อ.ทวี ระบุ

ด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า เรื่องของนายทักษิณอยู่ในอำนาจของกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรม ขอให้ไปตรวจสอบรายละเอียดกับ รมว.ยุติธรรม

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า