Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

มีความเห็นตามมาอย่างมากมาย และกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นทันที

หลังจาก แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้กล่าวในงานแสดงวิสัยทัศน์ แถลงทิศทางของพรรคเพื่อไทย “10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม10” เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 67 ซึ่งตอนหนึ่งได้พูดถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ

โดย แพทองธาร ได้ระบุว่า “ตอนนี้กฎหมายพยายามจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นอิสระจากรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นปัญหา แล้วก็เป็นอุปสรรคสำคัญมากๆ ในการแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ เพราะว่านโยบายทางด้านการคลัง ถูกใช้งานเพียงด้านเดียวมาตลอด แล้วก็ทำให้ประเทศของเรามีหนี้ที่สูงมากขึ้น แล้วก็สูงเพิ่มขึ้นทุกปีจากการตั้งงบประมาณที่ขาดดุล ถ้านโยบายการเงินที่บริหารโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ยอมที่จะเข้าใจแล้วก็ไม่ยอมให้ความร่วมมือ ประเทศของเราจะไม่มีทางลดเพดานหนี้ได้เลย”

ชมคลิป ตั้งแต่นาทีที่ 2.43 เป็นต้นไป 

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงกรณีนี้ในวันที่ 5 พ.ค. 67 ระบุว่า หัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนจากการลงพื้นที่พบปะประชาชน และเชื่อว่าทุกคนปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องภาระดอกเบี้ยสูงเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นรายจ่ายตัวหนึ่งที่ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนมากกว่า

ขณะเดียวกันก็เข้าใจถึงความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้พูดมาตลอด ซึ่งเราก็พยายามทำงานร่วมกัน และมั่นใจว่าให้เกียรติ ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อมีข้อเรียกร้องก็ได้เรียกร้องไป ตลอดจนได้พูดคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดอกเบี้ย ที่ตนมีความคิดว่าควรต้องลดลงมา ซึ่งได้มีการพูดมาตลอด แต่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีเหตุผลและยืนยันไม่ลดดอกเบี้ย ตนจึงเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการคุยกับ 4 ธนาคารใหญ่ ที่ได้ลดดอกเบี้ยลงมาแล้ว จึงเชื่อว่าจะเป็นการยึดโยงกับประชาชนมากกว่า เพราะรัฐบาลรับฟังและลงพื้นที่ตลอด

“ความเป็นอิสระก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่มาอยู่ตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ หรือสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง สส. รวมถึงผู้บริหารพรรคการเมืองทั้งหลาย ว่าการมาอยู่ตรงนี้ อยู่เพื่ออะไร เหมือนกับที่ตัวเองได้เคยพูดบนเวทีเมื่อวันศุกร์ ว่า เรามาอยู่เพื่อประชาชน ส่วนวิธีการแก้ปัญหาหรือจะเรียกร้องอะไรต่างๆ ก็ต้องมีความแตกต่างกันไป ทุกคนมีสิทธิ์จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ผมขอยึดโยงกับประชาชนเป็นหลักก็แล้วกัน” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลหรือไม่ว่าความคิดเห็นของฝั่งรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย ที่คิดเห็นต่างกันจะทำให้การร่วมงานไม่ประสานกันหรือไม่ เศรษฐา กล่าวว่า ส่วนตัวมีความกังวลทุกเรื่อง เพราะมาอยู่ตรงนี้ก็ไม่อยากให้มีความขัดแย้ง ตนก็พยายามแก้ไขปัญหาในส่วนที่ทำได้ และเชื่อว่าตามที่นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เคยแนะนำมาว่า การประสานงานระหว่างรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย นั้น ก็ควรจะทำผ่าน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ซึ่งเป็นซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงการคลัง ให้มีการพูดคุยกัน ซึ่งจะพยายามพูดคุยกันต่อไป

“แต่เรื่องความเห็นต่างก็มีความชัดเจนอยู่แล้ว เรื่องของดอกเบี้ย เรามีหน้าที่อะไร ก็ต้องทำหน้าที่ของเราไป ส่วนการแก้ไขหนี้นอกระบบ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ แต่ก็ทราบกันดีว่า การลดดอกเบี้ย ทีละสลึง หรือ 50 สตางค์ ก็มีส่วนช่วยอีกส่วนหนึ่งที่เป็นหนี้นอกระบบ ที่ต้องไปแก้ไข และวันนี้เองรัฐบาลก็จะไปฟังเสียงสะท้อนของประชาชนในภาคอีสาน เพราะเรื่องหนี้นอกระบบถือเป็นปัญหาใหญ่ที่กัดกร่อนสังคมไทยมานาน ผมก็เคยพูดมาแล้วหลายเวที ว่า หากคนเป็นหนี้ ทำงานเท่าไหร่ก็ใช้หนี้ไม่พอ แล้วจะทำงานไปทำไม เลยไปพึ่งอาชญากร ไปพึ่งยาเสพติด” เศรษฐา กล่าว

ทั้งนี้ ย้ำว่าพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวและใส่ใจเป็นอย่างมาก ส่วนเรื่องของการสื่อสารแต่ละคนก็มีวิธีที่แตกต่างกันไป แต่ตนเองเชื่อว่ารัฐบาลยึดโยงกับประชาชนเป็นหลัก และนำเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาในบริบทที่อาจจะแตกต่างกันไป แต่ยืนยันรัฐบาลให้เกียรติทุกองค์กร

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า จะได้พูดคุยกับ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ เศรษฐา กล่าวว่า หากมีโอกาสก็คงได้เจอกับ นายเศรษฐพุฒิ แต่ก็จะมีการคุยผ่าน สคร. แต่ส่วนตัวก็จะปรึกษากับ นายพิชัย ชุนหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังว่า จะมีการประสานกันตรงไหนอย่างไร เพื่อให้การทำงานดีขึ้น ขอยืนยันว่า รัฐบาลพยายามทำงานกับทุกองค์กร ให้การทำงานดีขึ้น ไม่ใช่จะสร้างความขัดแย้ง เพราะหากขัดแย้งกันแล้วผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือประชาชน และจะไม่เป็นผลดีตามมา พร้อมยืนยันว่า มีหลายวิธีที่จะสื่อสารกับผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้

ส่วนที่ฝ่ายค้าน กล่าวว่า การพูดของ แพทองธาร เป็นการบีบ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยให้เห็นด้วยกับนโยบายของพรรคเพื่อไทยนั้น นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ตนไม่เคยบีบอะไรใคร ไปย้อนฟังคำพูดในงานวันนั้นได้ แต่เป็นการสะท้อนถึงความต้องการของประชาชนว่า วิธีการแก้ปัญหามีอะไร

วันเดียวกัน ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ โพสต์ในเฟซบุ๊ก Phumtham Wechayachai ระบุว่า “แบงก์ชาติ” ไม่ใช่องค์กร หรือสถาบันที่ “ประชาชน” จะกล่าวถึงหรือ “วิพากษ์ วิจารณ์” หรือ “แตะต้อง” ไม่ได้

เจตจำนงพรรคเพื่อไทยที่หัวหน้าพรรค นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้สื่อสารกับสังคมถึงกรณีแบงก์ชาติในวันประชุมของพรรคที่ผ่านมา สำหรับผมคือการแสดงออกอย่างเปิดเผย จริงใจ และห่วงใยที่แบงก์ชาติยังยืนยันที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้อย่างเดิมโดยไม่พิจารณาถึงผลกระทบด้านต่างๆ ซึ่งประชาชน (ที่เป็นลูกหนี้แบงก์และประชาชนทั่วๆ ไป) กำลังเผชิญชีวิต ดิ้นรนอยู่ภายใต้ ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังซ้ำเติมชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างแสนสาหัส

สื่อมวลชนเองก็รับรู้กระแสข่าวเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ความคิดของคนในสังคมต่อประเด็นนี้ก็มีความหลากหลาย และประเด็นการตัดสินใจของแบงค์ชาติก็เป็นกระแสความเห็นต่างกันอย่างกว้างขวางในสังคม แต่แปลกใจว่าทำไมเมื่อหัวหน้าพรรคเพื่อไทยสะท้อนความคิดบ้าง จึงเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์ วิจารณ์ แบบมุ่งโจมตีด้วยอคติอย่างไร้เหตุผล

การแสดงความเห็นต่อกรณีแบงก์ชาติในวันประชุมของหัวหน้าพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา ผมเชื่อมั่นว่า หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกำลังทำหน้าที่สะท้อนความเห็นอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมาต่อแบงค์ชาติ ในฐานะที่องค์กรนี้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการพัฒนาและดูแลระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ความเห็นดังกล่าวมีนัยยะที่สะท้อนถึงความห่วงใยต่อผลกระทบจากภาระทางเศรษฐกิจที่บีบคั้นชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งกำลังเดือดร้อน และแบกรับความยากลำบากอยู่

ท่าทีของการแสดงความคิดทางการเมืองของหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จึงเป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย และสำนึกความรับผิดชอบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการนำเสนอในเวทีของพรรคการเมือง ประกอบด้วยกรรมการและสมาชิกพรรค ที่ต่างต้องมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการแสวงหาแนวทาง มาตรการ ทางเลือก เพื่อช่วยกันคิด และจัดการภาวะเศรษฐกิจของประเทศ จึงเป็นสิทธิที่สามารถพูดได้

ออกความเห็นได้ และเป็นเรื่องที่พึงกระทำได้ ไม่ว่าจะในฐานะพลเมือง หรือหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีความห่วงใยประชาชน ห่วงใยบ้านเมือง ผมเห็นว่าการแสดงความเห็นโดยสุจริตใจในครั้งนี้จะเป็นการกระตุกให้สังคมและผู้เกี่ยวข้องได้ช่วยกันคิด ไตร่ตรองหาเหตุผลให้เห็นทางออกมากขึ้น
ความเป็นจริง แบงก์ชาติไม่ใช่สถาบันที่อยู่เหนือการเมือง ไม่ใช่องค์กรที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ตรงข้าม แบงค์ชาติคือกลไกของระบบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ ที่ประชาชนทุกฝ่ายเข้าถึง เสนอความคิดเห็นได้ แม้จะมีขอบเขตหน้าที่หลักทางเศรษฐกิจ ก็ไม่ได้หมายความว่าแบงก์ชาติไม่ข้องเกี่ยวกับการเมือง และชีวิตของประชาชน

การที่ประชาชนทั่วไปหรือพรรคการเมืองกล่าวถึงแบงก์ชาติ หรือวิพากษ์วิจารณ์ เสนอความเห็นต่อแบงก์ชาติ ก็ไม่ใช่การแทรกแซง แต่เป็นการเสนอเพื่อให้มุมมองทางเลือกอื่นๆ ที่เหมาะสมมากกว่าในบริบทสถานการณ์ที่เป็นอยู่การที่สื่อบางบุคคล บางสำนักมีอคติต่อพรรคเพื่อไทย และนำความเห็นบางส่วนของหัวหน้าพรรคมาวิพากษ์อย่างรุนแรง และขยายความตามอคติของตนบวกด้วยการใส่สีตีข่าว เป็นการทำข่าวด้วยอคติมากกว่าข้อเท็จจริง

“ผมเฝ้ามองคนข่าวหรือสำนักข่าวบางคนบางส่วน ที่ยังติดยึดอยู่กับอคติเดิมแล้วการใช้พื้นที่ข่าวของตนเป็นพื้นที่ละเลงอคติและขยายความขัดแย้งอยู่เนืองๆ ก่อและปั่นกระแสขัดแย้งในสังคม โดยไม่คำนึงถึงสิทธิและความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว ผมขอยืนยันว่า กรณีแบงก์ชาติยังเป็นประเด็นที่สังคมยังสะท้อนความเห็นและสื่อสารกันได้ โดยใช้ความรู้และปัญญาที่รอบด้านมากกว่าการใช้จินตนาการที่มีแต่อคติ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับการขับเคลื่อนทั้งเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม” ภูมิธรรม ระบุทิ้งท้าย

ด้าน ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ กับสำนักข่าว TODAY ในวันที่ 6 พ.ค. 67 ต่อกรณีนี้ว่า ในสปีชบอกว่ากฎหมายให้อิสระกับแบงก์ชาติมากเกินไปถูกต้องไหมคะ แล้วคุณแพทองธารก็เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยถูกไหมคะ ที่มี สส. 141 คน แล้วก็เป็นแกนนำที่กุมเสียงข้างมากในสภาฯ ดังนั้น การส่งสัญญาณแบบนี้มันก็ตีความได้ว่า แสดงว่าจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยใช่หรือไม่ ซึ่งเขาจะแก้อะไร เราก็ไม่รู้เลย เพราะว่าในสปีชก็ไม่ได้บอกว่าจะแก้อะไร

อาจจะตีความได้ 2 ส่วน คือ ถ้าอย่างเบาที่สุด  คือในการปลดออก ให้ปลดออกได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมอีก ซึ่งตอนนี้ก็ปลดออกได้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอยู่แล้ว แต่อาจจะจำเป็นที่จะต้องมีเหตุผลมารองรับ ซึ่งถ้าเหตุผลไม่หนักแน่นพอก็อาจจะปลดไม่ได้ หรืออาจะถูกฟ้องร้องในภายหลังได้ หรือถ้าให้เป็นอิสระน้อยลงไปอีก ก็อาจจะเรื่องของคณะกรรมการสรรหา หรือนอกเหนือจากเป้าหมายกำหนดเงินเฟ้อแล้ว จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลด้วย ซึ่งอันนี้ก็จะยิ่งสูญเสียความเป็นอิสระมากไปอีก ซึ่งเราไม่รู้เลยว่า ที่เขาพูดแบบนี้ ด้วยฐานะของเขาแบบนี้ มันจะไปจบที่ตรงไหน

“ด้วยสถานการณ์กดดันโดยรัฐบาลมีความมากกว่าอยู่แล้ว ใช่ไหมคะ แต่ว่าในบทบาทของคุณแพทองธาร มันไม่ได้เป็นการกดดัน กดดันอะไรไม่ได้อยู่แล้ว เนื่องจากไม่ได้มีตำแหน่งแห่งที่อะไรในรัฐบาล ดังนั้นก็คือเป็นการส่งสัญญาณว่า กำลังจะแก้ไขกฎหมายอย่างเดียว” ศิริกัญญา กล่าว

พร้อมได้ขยายความว่า ในการทำนโยบายการเงิน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้เป็นผู้กำหนด จะมีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มี  7 คน เป็นคนโหวตและกำหนด การเปลี่ยนผู้ว่าฯ เพียงคนเดียวก็อาจจะไม่สามารถที่จะไปทำให้ดอกเบี้ยลดลงได้ เพราะว่า ใน 7 คน มี 3 คนที่เป็นตัวแทนจากคนในแบงก์ชาติเอง ซึ่งก็รวมผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย และมีคนนอก 4 คน ถึงบอกว่า คณะกรรมการสรรหา ก็จะมีผลที่จะเปลี่ยนหน้าตาของ กนง. ได้โดยเฉพาะสัดส่วนของคนนอก ให้โหวตอัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามที่รัฐบาลต้องการ

ทั้งนี้ ศิริกัญญา ได้กล่าวถึงทางออกระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติว่า ความขัดแย้งแบบนี้จริงๆ แล้วสามารถหาทางออก ได้ โดยที่ใช้วิธีการที่พูดคุยกัน โดยไม่ผ่านสาธารณะ ต้องหยุดแสดงความเห็นผ่านสื่อ ไปพูดคุย นำตัวเลข หลักฐานมาวางว่า สมควรที่จะเป็นแบบไหน อย่างไร สำหรับนโยบายการเงิน

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (อดีต กกต.) ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก สมชัย ศรีสุทธิยากร โดยระบุว่า แบงก์ชาติ วิจารณ์ได้ แบงก์ชาติเป็นสถาบันที่มีหน้าที่กำกับนโยบายด้านการเงินของประเทศ ดูแลอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปริมาณเงินในตลาด และอัตราแลกเปลี่ยน ทำงานดีก็ต้องชม ทำงานไม่เข้าท่าก็วิจารณ์ได้ แต่การวิจารณ์แบงก์ชาติ ต้องอยู่บนพื้นฐานความรู้ ปราศจากอคติ และมีตรรกะของเหตุผล เช่น จะบอกว่าประเทศไทยมีหนี้สาธารณะเยอะ เพราะการไม่ลดดอกเบี้ยธนาคาร ดูจะเป็นการเชื่อมโยงของสิ่งห่างไกลเกินไป

สมชัย กล่าวต่อว่า หนี้สาธารณะ (Public Debt) นั้นมาจากกู้ยืมเงินของรัฐจากการทำงบประมาณขาดดุล ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้สาธารณะ 11.4 ล้านล้านบาท จะลดลงต่อเมื่อเราตั้งงบประมาณใช้คืนมากขึ้น กู้ใหม่ให้น้อยลง หรือกู้มาลงทุนเพื่อให้มีรายได้มาใช้คืน ไม่ใช่กู้มาแจก หนี้ครัวเรือน (Household debt) ของไทย คือหนี้ของชาวบ้านที่ไปกู้ยืมสถาบันทางการเงิน เช่น ผ่อนบ้าน ซื้อรถ กู้ยืมมาเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 16.8 ล้านล้านบาท หากมีอัตราดอกเบี้ยสูง ย่อมผ่อนคืนยาก ส่งต้นได้น้อย ส่งเท่าไรก็ส่งได้แต่ดอก เพราะดอกเบี้ยเงินกู้แบงก์ ประมาณร้อยละ 7 ส่วนดอกเบี้ยนโยบายตอนนี้ ร้อยละ 2.5

“แบงก์ชาติวิจารณ์ได้ครับ แต่คนวิจารณ์แบงก์ชาติด้วยตรรกะที่ตื้นเขิน ก็ย่อมถูกวิจารณ์ได้เช่นกัน” สมชัย กล่าวทิ้งท้าย

เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ โพสต์ในเฟซบุ๊ก เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 67 โดยแชร์คลิปวิดีโอ Suthichai live พร้อมระบุข้อความว่า “ถ้าอยากเห็นพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่แท้จริง คนของพรรคเพื่อไทยต้องช่วยกันเปลี่ยนหัวหน้าพรรค หรือไม่ก็ต้องลาออกจากพรรค ขืนอยู่ต่อไปประเทศชาติจะเสียหาย”

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า