Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

มติรัฐสภา 233 ต่อ 103 เห็นชอบส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยอำนาจรัฐสภา ปมจัดทำรัฐธรรมนูญ

เสียงข้างมากที่ประชุมร่วมรัฐสภา เห็นชอบ ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ด้วยคะแนน 233 ต่อ 103 งดออกเสียง 170 ไม่ลงคะแนนเสียง 0 จากจำนวนผู้ลงมติ รวม 506 คน

ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา วันนี้ (29 มี.ค. 67) พิจารณาญัตติ เรื่อง ขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) โดยมี นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กับคณะ 108 คนเป็นผู้เสนอ

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เนื่องจากตน และ สส. 123 คน ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 256 (1) และ (2) เสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอต่อประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 67 โดยมีหลักการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ และเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต่อมาวันที่ 9 ก.พ. 67 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือที่อ้างถึงแจ้งว่าประธานรัฐสภาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลักการในการเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ย่อมเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จึงไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ ตามนัยคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ลงวันที่ 11 ม.ค. 64 ประกอบกับประธานรัฐสภาจะบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเข้าระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาได้ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 119 นั้น จะต้องเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา เมื่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ประธานรัฐสภา จึงไม่สามารถบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาได้

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า การที่ประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ตนและคณะได้เสนอญัตติเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (2) ถึง (8 ) นั้น เท่ากับประธานรัฐสภาเห็นว่ารัฐสภาไม่มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวแต่ตนเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับดังกล่าวเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (2) และการเสนอญัตติของตนและคณะก็เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 จึงชอบที่ประธานรัฐสภาจะบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเข้าระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาและรัฐสภามีหน้าที่และอำนาจพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นได้

เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ไม่ได้วินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่มีหลักการในการเพิ่มเติมหมวด 15/1การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ด้วยเหตุนี้ ตนและสมาชิกรัฐสภา จึงขอเสนอญัตตินี้ เพื่อขอให้รัฐสภามีมติว่ากรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามมาตรา 210 (2) ของรัฐธรรมนูญขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า รัฐสภาจะบรรจุวาระและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยังไม่มีผลการออกเสียงประชามติว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้หรือไม่ และหากรัฐสภาสามารถบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้แล้ว การจัดให้ประชาชนมีการออกเสียงประชามติก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จะสามารถกระทำในขั้นตอนที่รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระสามแล้ว โดยสอบถามไปพร้อมกับกรณีตามมาตรา 256 (8 ) ได้หรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากไม่ได้จะต้องสอบถามขั้นตอนในขั้นตอนใด

ขณะที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายโดยสรุปว่า ตนเห็นว่าการตัดสินใจของประธานรัฐสภา ที่ไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เป็นการกระทำที่สวนทางกับคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ดังนั้น หลังจากที่ได้รับทราบการอภิปรายในวันนี้ ประธานรัฐสภา จะทบทวนการตัดสินใจ และบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมโดยเร็วที่สุด เพื่อนำไปสู่กระบวนการประชาธิปไตยที่มีความชอบธรรม

ด้าน นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวอภิปรายว่า ตนเห็นด้วยกับการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเพื่อให้สิ้นสงสัยว่าตามกระบวนการจะต้องทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือทำประชามติหลังแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนก็ไม่ติดใจ ซึ่งหัวใจสำคัญไม่ใช่เรื่องการทำประชามติ แต่เป็นเรื่องวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ หากศาลวินิจฉัยว่าไม่ต้องทำประชามติก่อนแก้รัฐธรรมนูญก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายไปได้กว่า 3,000 ล้านบาท แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องแก้ไขทั้งฉบับ สามารถทำเป็นรายมาตราได้ เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ยังมีมาตราที่ดีและมีความสำคัญอีกจำนวนมาก และผ่านการทำประชามติจากประชาชนมาแล้ว

พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อภิปรายว่า ปัญหาข้อขัดแย้งนี้เป็นของประธานรัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่ได้เข้ามาสู่รัฐสภา ต่างจากปี 2564 ที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม หากรัฐสภาผ่านเรื่องนี้ไปอาจทำให้เกิดปัญหาตามมา เพราะหากประธานรัฐสภา หรือประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่บรรจุเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมก็จะเกิดความขัดแย้งและต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมอีก ซึ่งจะขัดกับมาตรา 156 ของรัฐธรรมนูญ ในการใช้อำนาจใดบรรจุเรื่องเข้ามา ทั้งนี้ ตนเห็นด้วยกับคณะผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหากมีการทำประชามติไปแล้วหลายครั้งต้องเสียงบประมาณจำนวนมาก หากไม่ผ่านในวาระแรกก็จะสูญเปล่า

อย่างไรก็ตาม นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้ชี้แจงตอนหนึ่งว่า ตนปฎิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับ โดยเรื่องที่ว่า ทำไมประธานฯ จึงไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่นายชูศักดิ์เสนอมา เป็นเพราะอะไร ขอชี้แจงว่าร่างฯ ของนายชูศักดิ์ เป็นร่างทำนองเดียวกันกับร่างฯ ที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะเสนอมา เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 64 ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ขณะนั้น ได้วินิจฉัยว่า ไม่สามารถบรรจุได้ ตามมติความเห็นของคณะกรรมการประสานงาน ที่ได้เสนอต่อประธานสภาฯ ในเรื่องวินิจฉัยการบรรจุกฎหมาย เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 64 นายชวน จึงให้สำนักงานฯ แจ้งผลไปยังนายสมพงษ์ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 64

เมื่อนายชูศักดิ์ เสนอมาวันที่ 16 ม.ค. 67 ตนให้ฝ่ายประสานงานกฎหมายของสภาฯ วินิจฉัยเบื้องต้น ซึ่งคณะกรรรมการวินิจฉัยมีความเห็น 2 ฝ่าย เสียงส่วนน้อยเห็นว่า ควรบรรจุได้ และเสียงข้างมากเห็นว่า ไม่ควรบรรจุ เพราะเป็นกฎหมายทำนองเดียวกันกับของนายสมพงษ์

แต่เพื่อความรอบคอบ ถึงแม้จะเป็นกฎหมายทำนองเดียวกัน แต่เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว จึงให้พิจารณาอีกครั้ง คณะกรรมการก็ได้ประชุมใหม่ และมีความเห็นเสียงข้างมากว่า ถ้าบรรจุแล้วจะขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/64 แม้เราจะไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ผูกพันทุกองค์กร

“เมื่อผมได้พิจารณาและให้ประชุมใหม่อีกครั้งก็เห็นตรงอย่างเดิม ผมในฐานะประธานสภาฯ จึงมาใคร่ครวญและตรวจสอบแล้ว ก็ไม่สามารถให้บรรจุได้เช่นเดียวกัน ผมจึงให้เลขาฯ ส่งหนังสือไปยังนายชูศักดิ์ และผมได้เชิญนายชูศักดิ์ มาพบเพื่อชี้แจงมติของคณะกรรมการ และความเห็นของผมอีกครั้ง ซึ่งนายชูศักดิ์ บอกว่า ไม่เป็นไร และว่า จะหาทางทำอย่างอื่นแทน จึงเป็นที่มาของญัตติวันนี้ เพื่อให้สภาฯ พิจารณาว่า จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย ซึ่งไม่ได้วินิจฉัยว่าสภาฯ จะมีอำนาจหรือไม่มีอำนาจในการตรากฎหมาย แต่เพื่อให้ความชัดเจนต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/64” ประธานรัฐสภา กล่าว

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวด้วยว่า ในเรื่องการทำประชามติ ซึ่งเป็นเรื่องของประชาชน ทั้งงบประมาณทำประชามติ ความสำเร็จของรัฐธรรมนูญที่ต้องการแก้ไข ทั้งหมดเป็นเรื่องของประชาชน เพราะฉะนั้นตนได้ทำหน้าที่ของตนไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดและข้อบังคับแล้ว ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่จะต้องวินิจฉัยว่า จะเห็นตามญัตติหรือไม่ เพื่อความชัดเจนที่จะต้องเดินไปข้างหน้า เพื่อไปแล้วไม่ล้ม ไปแล้วไม่เสียของ ไปแล้วไม่เสียงบประมาณ ไม่เสียเวลาของประชาชนโดยไม่จำเป็น

ทั้งนี้ หลังที่ประชุมร่วมฯ ลงมติเสร็จสิ้น ประธานในที่ประชุมได้สั่งปิดการประชุม ในเวลา 18.15 น.

ภาพ เจมส์ วิลสัน / Thai News Pix

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า