Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

สำหรับผู้ใหญ่ “หนังสือ” หนึ่งเล่ม อาจเป็นเพียงกิจกรรมยามว่าง ความบันเทิงเพียงชั่วครู่ หรือเครื่องมือเติมพลังกาย พลังใจ เพียงชั่วคราว แต่กับเด็กปฐมวัย อายุแรกเกิด – 6 ขวบ หนังสือที่เหมาะสมกับวัย อย่างหนังสือนิทานเพียงเล่มเดียว กลับเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และทักษะชีวิต ที่จำเป็นสำหรับการเติบโตในอนาคต

เพราะแม้ว่าเด็กปฐมวัย จะยังพูดไม่ชัด สื่อสารไม่คล่อง แต่ถ้าอ้างอิงตามหลักสรีรวิทยาแล้ว ก็นับว่าเป็นช่วงที่เรียนรู้เรื่องภาษาได้ดีที่สุด ทั้งจากการจดจำ และการเลียนแบบคนรอบข้าง ดังนั้นหากเด็กได้ใช้ประสาทสัมผัส ตาดู หูฟัง มือสัมผัส และจินตนาการไปตามเนื้อหาในหนังสือนิทาน สมองส่วนหน้าก็จะได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ และจะนำไปสู่กระบวนการสร้าง EF (Executive Functions) หรือกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความคิด ความรู้สึก ตลอดจนการกระทำ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาทักษะอื่นๆ ต่อไป

แต่สิ่งที่น่ากังวลใจ คือพ่อแม่บางส่วนในสังคม อาจไม่เคยทราบถึงข้อมูลเหล่านี้ เพราะมีความเชื่อเดิมๆ ว่าเด็กจะเริ่มเรียนรู้เมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียนไปแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ฝึกอ่าน ฝึกภาษาตั้งแต่ยังเล็ก ขณะที่อีกส่วนหนึ่ง อาจทราบข้อมูลเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะจัดหาหนังสือให้ลูก โดยข้อมูลจากสำนักงานสำนักงานสถิติแห่งชาติ และองค์การยูนิเซฟ ปี 2562 ชี้ว่ามีเด็กปฐมวัยที่ยังเข้าไม่ถึงหนังสือกว่า 1.1 ล้านครัวเรือน ซึ่งนั่นทำให้เด็กในการดูแลไม่สามารถเอื้อมถึงสิ่งสำคัญในการพัฒนาทักษะชีวิต และต้องเผชิญกับภาวะสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss) อย่างเลี่ยงไม่ได้

โดยปัญหานี้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อโรคโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจเข้ามาซ้ำเติมยาวนานเกือบสามปี ดังนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ที่เล็งเห็นความสำคัญของหนังสือกับเด็กปฐมวัย จึงได้ทุ่มเท ผลักดัน ให้เกิดสังคมรักการอ่านขึ้นในชุมชนของตนเองอย่างสุดความสามารถ

นายชำนาญ สุขีเกตุ ประธานชุมชนเก้าพัฒนา ย่านรามคำแหง 39 เขตวังทองหลาง กทม. เป็นหนึ่งในบุคคลที่ดำเนินการผลักดันเรื่องนี้มาตลอดหลายปี และได้ตั้งปณิธานไว้ว่าในช่วงบั้นปลายชีวิต จะขอผลักดันให้เด็กมีนิทาน และหนังสือทุกบ้าน

“ผมป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อน ในช่วงบั้นปลายชีวิตก็ต้องการขับเคลื่อนโครงการรักการอ่านให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชุมชน อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของหนังสือนิทานกับเด็กปฐมวัย เพราะจากการดำเนินงานที่ผ่านมาของผมและภรรยา เราเห็นว่าหนังสือนิทานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งกับเด็กและผู้ปกครอง คือพ่อแม่มีเวลาให้ลูกหลานมากขึ้น ส่วนเด็กก็ได้ทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ ช่วยแก้ปัญหาเด็กติดจอมือถือได้ และเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ได้ดีขึ้น” นายชำนาญกล่าว

จุดเริ่มต้นการรักการอ่านในชุมชนเก้าพัฒนา

นายชำนาญเท้าความว่า กิจกรรมรักการอ่านของชุมชนก้าวพัฒนา เริ่มเมื่อประมาณปลายปี 2562 หลังพบว่าเด็กในชุมชนบางครอบครัว มีพัฒนาการล่าช้า อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ขาดทักษะการเข้าสังคม ส่วนหนึ่งเพราะผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลลูกหลาน ตนและภรรยาจึงได้ไปเข้าร่วมอบรมเกี่ยวกับกิจกรรมรักการอ่านจากชมรมต่างๆ มากมาย เช่น อ่านบ้านๆ อ่านสร้างสุข อ่านยกกำลังสุข ฯลฯ ซึ่งเป็นเครือข่ายของมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

หลังจากเสร็จสิ้นการอบรม เขาได้หนังสือมาแจกเด็กๆ ในชุมชนจำนวนหนึ่ง และริเริ่มทำพื้นที่เรียนรู้ประจำชุมชน ให้เด็กและผู้ปกครองมาทำกิจกรรมร่วมกันในวันหยุดหรือในเวลาว่าง คือ การอ่านหนังสือนิทาน และจัดกิจกรรมต่อยอดเนื้อหาจากในหนังสือ

ได้แก่ ปลูกผักสนุกจัง ชวนเด็กๆ ปลูกผักสวนครัวและนำมาทำเมนูง่ายๆ

ไอติมดอกไม้ กิจกรรมเพิ่มความสัมพันธ์ให้คนในชุมชนด้วยการช่วยทำไอติมจากน้ำสมุนไพร เช่น เก๊กฮวย อัญชัน มะตูม เป็นต้น

รวมถึงจัดทำ ธรรมนูญชุมชน หรือข้อตกลงที่พ่อแม่ผู้ปกครองและเด็กต้องปฏิบัติร่วมกัน ทั้งหมด 9 ข้อ เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กในชุมชน และเพื่อให้หนังสือเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของคนต่างวัย ช่วยเพิ่มความสามัคคีในชุมชน และสร้างความสงบสุขอย่างยั่งยืน เช่น ผู้ปกครองควรมีเวลาให้บุตรหลานในการอ่านนิทานอย่างน้อยวันละ 15 นาที, ผู้ปกครองควรมีหนังสือนิทานอย่างน้อย 3 เล่ม ไว้ในบ้าน, แกนนำชุมชนควรจัดสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กในการทำกิจกรรม, ผู้ปกครองควรอนุญาตให้บุตรหลาน เข้าร่วมกิจกรรมการอ่านในชุมชนอย่างต่อเนื่อง และในชุมชนควรมีสวัสดิการมอบชุดหนังสือเป็นของขวัญสำหรับเด็กแรกเกิดให้กับทุกครอบครัว เป็นต้น

ฝ่าวิกฤตด้วยห้องสมุดเคลื่อนที่

อย่างไรก็ตาม แม้โครงการจะเดินหน้าไปได้ด้วยดี และมีครอบครัวในชุมชนเก้าพัฒนาเข้าร่วมกิจกรรมมากมาย แต่เมื่อปี 2563 ที่ต้องเจอกับวิกฤตโควิด-19 ทำให้เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน และไม่สามารถออกมาอ่านหนังสือหรือทำกิจกรรมที่ศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนได้ ทำให้นิสัยการติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และปัญหาการเรียนรู้ถดถอยเริ่มกลับมาอีกครั้ง

นายชำนาญ ภรรยา และเครือข่ายจากทั้งในชุมชน และเครือข่ายในกลุ่มรักการอ่าน ได้ร่วมกันทำห้องสมุดเคลื่อนที่ขนาดย่อม ที่เรียกว่า “รถเข็นนิทานมหาสนุก” เพื่อพาหนังสือไปหาเด็กๆ ถึงบ้าน ให้เด็ก ไม่ละทิ้งการอ่าน และได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ การใช้ชีวิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนายชำนาญกล่าวว่าวิธีนี้ใช้ได้ผลจริง และไม่ได้สงวนลิขสิทธิ์ ชุมชนอื่นๆ สามารถทำตามได้

ก้าวสู่ชุมชนต้นแบบที่มีสวัสดิการนิทาน 3 เล่มฯ จากการผลักดันของสสส. และกทม.

จากความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนเรื่องหนังสือกับเด็กปฐมวัยของชุมชนเก้าพัฒนา รวมถึงชุมชนอื่นๆ ในย่านรามคำแหง 39 เช่น ชุมชนทรัพย์สินเก่า และชุมชนพลับพลา ได้ทำให้หลายภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้กันมากขึ้น แต่อาจจะยังไม่ทราบว่าควรเริ่มต้นผลักดันเรื่องนี้อย่างไร

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงอาสาเป็นหน่วยงานนำร่องในการขับเคลื่อนนโยบาย “สวัสดิการหนังสือ 3 เล่ม เพื่อเด็กแรกเกิด” ภายใต้แนวคิด อ่านสร้างลูก ลูกสร้างโลก เพื่อผลักดันให้เด็กปฐมวัยมีหนังสือนิทานเป็นของตนเองอย่างน้อย 3 เล่ม และทำให้สังคมเห็นว่านโยบายดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้จริง โดยได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน คิกออฟนโยบายที่แรก ณ ชุมชนเก้าพัฒนา เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ในงาน BKK-เรนเจอร์ รวมพลังเด็กเปลี่ยนเมือง Kick Off ราม 39 อ่านยกกำลังสุขโมเดล เพื่อเป็นแซนด์บ็อกซ์ให้หน่วยงานต่างๆ นำไปปฏิบัติตามได้

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวตอนหนึ่งในวันคิกออฟนโยบายว่า กทม. ให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ และพื้นที่เรียนรู้ของกลุ่มเด็กเล็ก โดยเฉพาะแนวทางในการพัฒนาทักษะสมอง EF และศักยภาพทุกด้านจากภาวะสูญเสียการเรียนรู้ในช่วงโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ใน 9 มิติ ทั้งด้านสุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี ฯลฯ ซึ่งพบว่า หนังสือและกิจกรรมส่งเสริมการอ่านช่วยพัฒนาเด็กเล็กได้เต็มศักยภาพ

ครั้งนี้เมื่อได้มาเห็นว่าหลายชุมชนในรามคำแหง 39 เขตวังทองหลาง ช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องหนังสือกับเด็กปฐมวัยมาโดยตลอด จึงมีความยินดีและขอชื่นชมทุกชุมชน ทุกหน่วยงาน ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม และนำมาสู่การคิกออฟนโยบายในครั้งนี้ ตนเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นต้นทุนที่ดีให้กับเด็ก และกลายเป็นโมเดลที่ดีให้กับเขตอื่นในกทม. ได้ เพราะหนังสือไม่เพียงแค่ที่ช่วยพัฒนาสติปัญญา หรือพัฒนาการ EF แต่ยังช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่กิจกรรมอื่นให้ไม่ได้

“กทม. จะรับหน้าที่ในการเป็นหน่วยงานในการช่วยประสานงานด้านต่างๆ และพร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนและขยายผลเรื่องนี้ให้กลายเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่ทุกคนเข้าถึงได้ เพื่อให้นโยบายสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยที่ท่านผู้ว่าฯ ประกาศรับไว้ บรรลุผล” นายศานนท์ให้คำมั่นสัญญา

ด้านนางญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยถึงความสำคัญของการคิกนโยบายครั้งนี้ และอธิบายแนวคิด อ่านสร้างลูก ลูกสร้างโลกว่า การอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟัง มีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัยทุกมิติ ตั้งแต่พัฒนาการด้านร่างกาย ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เคลื่อนไหว แสดงบทบาทสมมติตามเนื้อหาในนิทาน พัฒนาการทางอารมณ์ ที่ทำให้มีความสุข และสุขภาพจิตดี พัฒนาการด้านสังคม ที่เกิดจากการสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีในครอบครัว พัฒนาการทางสติปัญญา เพราะหนังสือนิทานช่วยให้เด็กมีจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และมีทักษะการสื่อสาร ทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน เหมาะสมตามวัย ตลอดจนสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต (Lifelong Learning)

ซึ่งทั้งหมดเป็นรากฐานสำคัญในการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต ดั่งแนวคิดที่ว่าอ่านสร้างลูก ลูกสร้างโลก การอ่านช่วยสร้างเด็กที่มีเจริญเติบโตสมวัยในทุกมิติ และเด็กเหล่านั้นจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและบุคคลอื่นได้ดี มีภาวะผู้นำ และช่วยสร้างประโยชน์แก่สังคมได้

แต่ในช่วงที่ผ่านมา รายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ว่า โควิด-19 ได้ทำให้เด็กเล็กมีพัฒนาด้านการอ่านน้อยลง และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านอื่นๆ ตามมา สสส. จึงเดินหน้าสนับสนุนให้มีการสร้างเสริมการอ่านในเด็กปฐมวัย โดยเป็นองค์กรนำร่องที่จะจัดสวัสดิการหนังสือ 3 เล่มให้กับครอบครัวของเจ้าหน้าที่ ที่มีเด็กปฐมวัยในการดูแล เพื่อจุดประกายให้เกิดพื้นที่เรียนรู้ ลดปัญหาการเรียนรู้ถดถอย และทำให้เด็กทุกคนในทุกครอบครัวมีหนังสือหมุนเวียนอย่างน้อย 3 เล่มในบ้าน

“สสส. อยากเชิญชวนให้องค์กร ชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ มาร่วมกันทำนโยบายนี้ไปด้วยกัน เพราะหนังสือ 3 เล่ม เป็นการลงทุนที่ใช้เงินน้อย แต่ได้ผลที่คุ้มค่า เราเชื่อว่า Today a reader, tomorrow a leader นักอ่านในวันนี้ จะเป็นผู้นำในอนาคต”

นอกจากนี้ ในวันคิกออฟนโยบาย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ พร้อมด้วย นางญาณี รัชต์บริรักษ์ และภาคีเครือข่ายจากมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ได้ลงพื้นที่ชุมชนทรัพย์สินเก่า เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์ดูแลเด็กในชุมชน ที่ได้เปลี่ยนสถานที่ที่เคยถูกเรียกว่าซอยขายยา มาเป็นซอยดูแลรับเลี้ยงเด็ก พัฒนาเด็ก และพัฒนาคนในชุมชนด้วยการอ่าน

อีกทั้งลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์กิจกรรมชุมชนเก้าพัฒนา และร่วมลงนามในธรรมนูญชุมชนที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย

ปิดท้ายด้วยการเยี่ยมชมชุมชนพลับพลา ที่จัดสรรพื้นที่ในชุมชนมาทำบ้านหนังสือ พร้อมกับออกแบบกิจกรรมพัฒนาเด็กหลังเลิกเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ถ้าจะกล่าวว่า ชุมชนในราม 39 แซนด์บ็อกซ์ครั้งนี้ เป็นต้นแบบที่ทำให้ใครหลายคนเห็นว่า “หนังสือนิทาน” เป็นมากกว่าหนังสือสำหรับเด็กปฐมวัยก็คงไม่ผิดนัก เพราะหนังสือเพียงไม่กี่เล่มที่ถูกหยิบยื่นให้เด็กในชุมชน ได้กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กได้เปิดประตูสู่การเรียนรู้ มีโอกาสพัฒนาตนเอง และพร้อมเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในสังคม

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า