Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

Gig Economy ที่เคยฟังดูเก๋ กลับกลายเป็นกับดักของแรงงานได้อย่างไร มาดูตัวอย่างของไทยและอินโดนีเซียที่มีอาชีพไรเดอร์เป็นเดิมพันกับอนาคตตลาดแรงงานที่กำลังถูกบิดเบือน

หากดูตามคำนิยามของ Gig Economy ตามแบบฉบับโลกตะวันตก ระบบเศรษฐกิจงานไม่ประจำนี้ ครอบคลุมการทำงานหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่สัญญาจ้าง พาร์ทไทม์ ฟรีแลนซ์ ไปจนถึงว่าจ้างตามโครงการ ซึ่งล้วนมีลักษณะเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ทำงานให้เฉพาะช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อจบงานก็แยกย้ายกันไป

ในอดีต เสน่ห์ของการเป็นแรงงานใน Gig Economy คือการมีอิสระมากขึ้น สามารถหยุดหรือลดงานเพื่อเอาเวลาไปใช้ชีวิตได้ ในขณะเดียวกัน นายจ้างก็สามารถลดค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานประจำ หันมาจ้างงานแบบออนดีมานด์แทน

จากรายงานของ Mckinsey Global พบว่าในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีแรงงานเหล่านี้มากกว่า 162 ล้านคน หรือกว่า 30% ของประชากรทั้งหมด

ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ Gig Economy กลายเป็นทางออกให้คนได้ทำหลายอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ไปพร้อมกัน งานเหล่านี้เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เกิดการสร้างรายได้ไหนเมื่อไหร่ก็ได้

สตาร์ทอัพอย่าง Uber และ Airbnb เป็นตัวอย่างแรกๆ ที่ทำให้คนกล้าก้าวเข้าสู่ Gig Economy อีกทั้งเป็นแหล่งงานชั่วคราวสำหรับผู้ที่กำลังเปลี่ยนงานหรือเรียนต่อ เพื่อรอวันกลับเข้าสู่งานในระบบอีกครั้ง

แต่ความหอมหวานของ Gig Economy กลายเป็นยาขมในช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมาในประเทศที่มีแรงงานทักษะต่ำ โดยเฉพาะกับธุรกิจเรียกรถและเดลิเวอรี่ บรรดาไรเดอร์คือผู้ที่กำลังติดกับดักอยู่กับงานไม่ประจำ แต่กลับต้องทำงานหนักกว่างานประจำและหาทางออกจากงานนี้ไม่ได้

ในประเทศอินโดนีเซีย ประเด็นนี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับโครงสร้างแรงงานทั้งประเทศ ถึงขั้นทำให้อัตราการจ้างงานในระบบ (Formal Sector) ติดลบ 5% ในช่วงปี 2012-2019 ตั้งแต่การเข้ามาของแพลตฟอร์มเรียกรถที่แข่งขันกันอย่างรุนแรง ดึงดูดไรเดอร์ด้วยผลตอบแทนสูงเกินจริง หลายคน ‘ลาออก’ จากงานประจำเพื่อมาเป็นแรงงานนอกระบบรายได้งาม

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย LSE ที่ศึกษาตลาดนี้ในอินโดนีเซีย พบว่า มีคนเคยเป็นพนักงานประจำถึง 49% และมีเพียง 5% เท่านั้นที่เป็นคนขับรถรับจ้างอยู่แล้ว นอกจากนั้น ผู้ที่ตกงาน นักเรียนนักศึกษา ก็กระโดดเข้ามาทำอาชีพนี้

เมื่อช่วงฮันนีมูนจบลง การให้ผลตอบแทนเกินจริงหมดไป ตามมาด้วยการตั้งเงื่อนไขจำนวนมาก อาทิ ต้องวิ่งให้ได้จำนวนรอบตามกำหนด ห้ามปฏิเสธผู้โดยสาร มอบงานเพิ่มโดยวัดจากผลงานในอดีต

กลับกลายเป็นว่ามีไรเดอร์อินโดนีเซียที่ต้องทำเป็นงานประจำถึง 450,000 คน ด้วยชั่วโมงการทำงานกว่า 54 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือเกือบ 8 ชั่วโมงต่อวันแบบไม่มีวันหยุด

ตรงข้ามกับแนวคิด Gig Economy ที่ควรได้อิสระในชีวิตมากขึ้น อย่างในประเทศอังกฤษ มีเพียง 8% ของแรงงานไม่ประจำที่ทำงานเกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ส่วนในประเทศไทย ‘อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ’ นักวิชาการศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เคยทำวิจัยในหัวข้อ ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างไรเดอร์กับแพลตฟอร์มที่เป็นเพียงการรับคำสั่งเท่านั้น ไม่มีการตกลงราคากันเหมือนอาชีพฟรีแลนซ์ประเภทอื่น ไม่มีกลไกรัฐกำหนดราคามาตรฐาน และไม่มีแม้แต่สวัสดิการแรงงานหรือการรวมกลุ่มที่มีอำนาจการต่อรองเพียงพอ

การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ว่าจ้าง เป็นหลักประกันอย่างหนึ่งของคนทำงานใน Gig Economy ว่าจะได้รับงานอย่างสม่ำเสมอด้วยความเชื่อใจในความสามารถ

แต่ทว่าอาชีพไรเดอร์ ไม่มีโอกาสได้สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าแม้แต่น้อย เพียงยื่นของให้แล้วจบ จึงทำให้ความมั่นคงในอาชีพน้อยลงไปอีก

อย่างไรก็ตาม การก้าวออกจากอาชีพนี้มีต้นทุนสูงกว่าที่คิด เริ่มตั้งแต่การลงทุนส่วนตัวทั้งมอเตอร์ไซค์ และสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่

สตาร์ทอัพไทย Winnonie ผู้ให้บริการเช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารายเดือนเพื่อลดรายจ่ายของไรเดอร์ ระบุว่า ค่าผ่อนรถโดยทั่วไปของไรเดอร์สูงถึง 200-300 บาทต่อวัน และยังมีค่าบำรุงรักษาและค่าน้ำมันที่พุ่งแรง 

ตัวเลขจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยตอกย้ำว่า ราคาน้ำมันเบนซินในไทยปรับตัวขึ้นมากกว่า 54% เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยของทั้งปี 2564 กลุ่มไรเดอร์ต้องแบกค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันสูงขึ้น 50-70 บาท/วัน เท่ากับต้องวิ่งให้ได้วันละไม่ต่ำกว่า 800 บาท จึงจะเพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว

เหตุที่หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลุกขึ้นมาพูดถึงเรื่องนี้ เพราะอาชีพไรเดอร์มีความเปราะบางมากกว่าอาชีพฟรีแลนซ์ทั่วไป จากการทำงานบนท้องถนนที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และการเร่งทำยอดหรือทำงานเกินเวลา อาจเป็นอันตรายต่อคนใช้ท้องถนนโดยรวม

มีผลสำรวจในไทยจากจาก Rocket Media Lab สอบถามไรเดอร์จำนวน 1,136 คนทั่วประเทศ พบว่า สวัสดิการที่ไรเดอร์ต้องการมากที่สุด คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ

บทสรุปของงานวิจัยทั้งจากในไทยและอินโดนีเซียคือ ต้องมีการแทรกแซงจากรัฐ อาทิ เร่งปฏิรูปกฎหมายแรงงานเพื่อผลักดันให้เกิดการดูแลสวัสดิภาพของไรเดอร์ หรือสร้างสหภาพแรงงานไรเดอร์เพื่อให้มีอำนาจต่อรองกับแพลตฟอร์ม

ที่ผ่านมา แม้จะมีการลุกขึ้นประท้วงครั้งใหญ่ของไรเดอร์ แต่ยังคงมีไรเดอร์บางส่วนทำงานบนแอปพลิเคชั่นตามปกติ นั่นทำให้การเคลื่อนไหวไม่บรรลุผลตามที่หวัง

ในระยะยาว การสร้างงานในระบบให้มากขึ้น จะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้กับไรเดอร์ที่ติดกับดัก จากช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งคนสูญเสียงานในระบบ แพลตฟอร์มเหล่านี้กลับรับคนมากขึ้น ทำให้การแข่งขันมากขึ้นไปอีก และนั่นก็มีแต่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์การตัดราคาที่ต่ำลงเรื่อยๆ หรือ Race to the Bottom Phenomenon

ดังนั้น จุดยืนที่แข็งแกร่งของการเป็นแรงงานใน Gig Economy คือการพัฒนาตัวเองให้เป็นแรงงานทักษะสูง มีความสามารถที่จะส่งมอบงานที่ดีได้ในระยะเวลาจำกัด เมื่องานดีย่อมต่อรองราคาได้มาก มีโอกาสเลือกงานเลือกชีวิตที่ตัวเองต้องการได้ในที่สุด

อ้างอิง:

https://rocketmedialab.co/rider/

https://www.facebook.com/Winnonie

https://www.chula.ac.th/highlight/52122/ 

https://blogs.lse.ac.uk/seac/2022/10/06/trapped-in-the-gig-economy-what-is-the-exit-strategy-lessons-learned-from-jakarta/

https://www.mckinsey.com/~/media/mckinsey/featured%20insights/employment%20and%20growth/independent%20work%20choice%20necessity%20and%20the%20gig%20economy/independent-work-choice-necessity-and-the-gig-economy-executive-summary.pdf

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า