Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

นั่งกับที่และรัดเข็มขัดไว้ให้แน่น เพราะเงินในกระเป๋าสตางค์ของเรากำลังจะหายไปจากภาวะของแพง เงินเฟ้อ ค่าพลังงานพุ่ง

วันนี้อย่างน้อยๆ เงิน 100 บาท ในกระเป๋าเรามีมูลค่าจริง หรืออำนาจซื้ออยู่ที่ราว 94-95 บาท

เงินส่วนต่างที่หายไปนี้ ไปร่วงหล่นที่ไหน แล้วสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานนี้จะไปจบลงที่ใด TODAY Bizview จะพาไปหาคำตอบด้วยกัน

ลมหนาวแห่ง ‘ของแพง’ ตั้งเค้า

Winter is coming “เมื่อลมหนาวกำลังมาเยือน” วลีฮิตจากซีรีส์ดัง Game of Thrones ที่ตัวละครหลักของเรื่องมักจะพูดเป็นนัยทุกครั้งเมื่อประเมินแล้วว่า อีกไม่นานความยุ่งเหยิง เรื่องวุ่นวาย ภัยอันตราย กำลังจะมาถึงตัว

และสำหรับประเทศไทยเอง ตั้งแต่พ้นกลางปี 2564 เป็นต้นมา จนเข้าสู่ช่วงปลายปีที่ลมหนาวบางๆ มาเยือน สัญญาณของแพงก็เริ่มตั้งเค้าลางมาแล้วเช่นกัน

เมื่อกระทรวงพาณิชย์ออกมาเปิดเผยราคาสินค้าและบริการในเดือน ธ.ค. 2564 โดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อขยายตัว 2.17%

สาเหตุมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น เพราะปริมาณความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกมักจะสูงขึ้นอยู่แล้วในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะในประเทศฝั่งตะวันตก

แต่มันไม่ใช่แค่นั้น เพราะยังมีสาเหตุอื่นอีกที่มาซ้ำเติมให้หนักขึ้น จนสถานการณ์ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ. 2565 ดีดขึ้นไป 5.28% สูงสุดในรอบ 13 ปี

ราคาพลังงานสูงขึ้น ผลของวิกฤตห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ‘เงินเฟ้อ’ จู่โจม

เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 สถานการณ์โควิดในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย ประเทศต่างๆ ผ่อนคลายล็อกดาวน์ เริ่มฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การบริโภคเริ่มกลับคืนมา

ส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าและบริการมากขึ้นแบบถาโถม เรียกว่าพอฟื้นไข้แล้วก็พร้อมจะออกวิ่งกันทันที ทำให้ Demand ในตลาดสูงขึ้น แต่ Supply หรือฝั่งผู้ผลิตผลิตไม่ทัน

เพราะผลจากโควิดก่อนนี้ทำให้กำลังการผลิตชะลอลง มีการปิดโรงงานไปบางส่วน การขนส่ง โลจิสติกส์ต่างๆ ที่ไม่ทันต่อเวลา ความล่าช้าและการขาดแคลนวัตถุดิบจากนานาประเทศ

เพราะอย่าลืมว่า ยุคก่อนโควิด การผลิตสินค้าในประเทศหนึ่งพึ่งพาชิ้นส่วน วัตถุดิบจากหลายโรงงานในต่างประเทศ

เมื่อโควิดเกิดขึ้น จึงทำให้กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานสินค้าทั่วโลก เกิดภาวะที่เรียกว่า “Supply Chain Disruption” ที่ลุกลามไปตั้งแต่การชะงักของการขนส่งสินค้า ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น การสะดุดของการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคการผลิตทั่วโลก การสะดุดของทรัพยากรต่างๆ ที่ถ่ายเทกันไปมา

พร้อมกับที่การบริโภคกลับมาแบบพุ่งเร็วทั่วโลก (ในกลุ่มผู้มีรายได้) ทุกอย่างจึงสะเทือนเชื่อมถึงกันหมด

ขณะเดียวกันพอสถานการณ์หลายประเทศฟื้นดีขึ้นจากโควิด ก็ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงกลับมาเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับที่ราคาก๊าซธรรมชาติก็ปรับตัวสูงขึ้นด้วย ทำให้หลายประเทศหันไปพึ่งพลังงานจากน้ำมันที่ราคาถูกกว่าก๊าซธรรมชาติแทน

เมื่อความต้องการใช้น้ำมันสูงขึ้น ทั้งยังมีปัจจัยในช่วงฤดูหนาวในหลายประเทศ ส่งผลต่อการใช้พลังงานเพื่อสร้างความอบอุ่นเพิ่มขึ้น

ทั้งหมดทั้งมวลราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติก็ขยับสูงไปอีก พอค่าพลังงานสูงขึ้น ก็ย่อมส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าที่สูงขึ้นเป็นวงจรเชื่อมโยงกัน

เมื่อรวบตึงสถานการณ์เหล่านี้ขึ้นมา จะเห็นว่าโลกฟื้นตัวแบบมาแรงมาเร็วจนผลิตและส่งไม่ทัน หนำซ้ำต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้นด้วย

แบบนี้จึงกระทบตลาดทั้งโลก ทำให้สินค้าขาดตลาด แต่ความต้องการสินค้าก็เพิ่มขึ้น เลยทำให้เกิด ‘เงินเฟ้อ’ ที่แปลว่า “สินค้าและบริการมีราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง” ทั่วโลกนั่นเอง

ของแพงจาก ‘วิกฤตห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก’ ว่าแย่แล้ว ยังซ้ำเติมด้วยสงคราม

ทั่วโลกกำลังฟื้นจากโควิด ความต้องการใช้พลังงานพุ่งสูงจนขาดแคลน แต่เมื่อเกิดสงครามมาซ้ำสถานการณ์ โดยรัสเซียประเทศที่ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับสามของโลก เป็นรองจากสหรัฐอเมริกา และซาอุดีอาระเบีย ไม่สามารถส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติได้เหมือนเดิม

รวมทั้งสินค้าโภคภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่รัสเซีย และยูเครนส่งออกเป็นวัตถุดิบไปผลิตสินค้าต่างๆ อาทิ ข้าวสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง เมื่อวัตถุดิบเหล่านี้ขาดแคลน แน่นอนว่าสินค้าที่ต้องใช้วัตถุดิบกลุ่มนี้ผลิตก็แพงขึ้นเป็นเงาตามตัว

เท่านั้นไม่พอ ค่าขนส่งระหว่างประเทศ เช่น ค่าระวางเรือ ที่แม้จะมีราคาเพิ่มขึ้นก่อนสงครามก็จริง แต่พอมีสงครามผู้ส่งออกเลยต้องจ่ายค่าระวางเรือเพิ่มขึ้นอีก ส่งผลกลับมาที่ต้นทุนและลงเอยที่ราคาสินค้า

ไทยหนีไม่พ้น ของแพงแบบสัมผัสได้ ไม่มโน

ก่อนจะมีสงคราม เข้าสู่ต้นปี 2565 คนไทยบ่นกันระงมว่าสินค้าบางอย่างปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ผลิตสินค้าที่ยังมีสินค้าในสต๊อกก็ยังพอตรึงราคาเดิมไว้

แต่เมื่อสินค้าหมดสต๊อกเมื่อไหร่ ก็ต้องกลับมาสะท้อนต้นทุนการผลิตจริงที่สูงขึ้น ซึ่งประเมินว่าจากนี้ 3-6 เดือนสินค้าในประเทศไทยจะทยอยปรับขึ้นราคาตั้งแต่ 5-15 % เพราะสต๊อกต่างๆ หมดแล้ว

และเราจะสัมผัสได้แบบไม่มโนแน่ๆ ว่า สินค้าตั้งแต่ในครัว อาหารกระป๋อง นมข้นหวาน น้ำมันปาล์ม เครื่องดื่ม หรือแม้แต่สบู่บางยี่ห้อจะปรับราคาขึ้น

ไปจนถึงปุ๋ยเคมี หรือแม้กระทั่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่ไม่ปรับขึ้นราคามานานแสนนาน ก็จะมีรายการปรับให้เห็น เพราะวัตถุดิบการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่างข้าวสาลีปรับตัวสูงขึ้น

หรือถ้าไม่ใช้การปรับขึ้นราคาผู้ผลิตก็จะหันมาใช้วิธีปรับไซซ์ปรับขนาดแทน เพื่อสะท้อนต้นทุนจริง ซึ่งเราจะได้เห็นในสินค้าอย่างน้ำอัดลมกระป๋องที่จะลดปริมาตร บรรจุภัณฑ์แทนปรับราคา

ของจะแพงไปถึงเมื่อไหร่ จุดจบของแพงจะถึงแค่กลางปีนี้จริงหรือ 

‘บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร’ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ประเมินไว้ว่า ขณะนี้ราคาสินค้าแพงขึ้นมาก ปัจจัยหนึ่งมาจากต้นทุนการผลิตที่สูง

อย่างก่อนหน้านี้ราคาหมูเคยแพง แต่ขณะนี้ราคาปรับลดลงแล้ว ดังนั้นจึงต้องดูกันไปก่อน ไม่สามารถบอกได้ว่าราคาสินค้าจะสูงไปถึงเมื่อไหร่

แต่ถ้าเราฟังมุมมองจาก ‘ดร.กิริฎา เภาพิจิตร’ ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก TDRI ที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว workpointTODAY ได้คาดการณ์ไว้ว่า จุดพีคของแพงน่าจะถึงช่วงกลางปี จากนั้นราคาสินค้าน่าจะค่อยๆ ปรับลงมา

โดยใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์มาอธิบายเรื่องนี้ว่า “เมื่อราคาสินค้าขยับขึ้นไปสูงถึงจุดหนึ่งแล้ว จะทำให้ความต้องการสินค้าเหล่านี้ หรือกำลังซื้อลดลง ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวลงมา”

นอกจากนี้ประเมินว่ากำลังการผลิตน้ำมันจากประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่รัสเซียจะเพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่าทั้งพลังงานและวัตถุดิบต่างๆ จะมีมากขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้ เป็นเช่นนี้ ก็ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวลง

อีกทั้งเมื่อดูจาก 10 มาตรการรัฐบาลที่ออกมาช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่วางช่วงจบมาตรการไว้ที่เดือนกรกฎาคม ก็สอดคล้องกับที่รัฐบาลประเมินว่าราคาสินค้าของของครึ่งปีหลังน่าจะปรับลดลง

อย่างไรก็ตาม ดร.กริฎา ย้ำว่า ถึงราคาสินค้าจะปรับลงมาก็จะเป็นการปรับลงที่ยังมีราคาสูงอยู่ ราคาสินค้าจะไม่กลับไปในระดับเดียวกับปีที่แล้ว และระดับก่อนเกิดสงครามรัสเซียบุกยูเครน

คำถามที่ว่าแล้วของที่ขึ้นราคาไปก่อนหน้านี้ล่ะ จะกลับมาราคาลงได้อีกหรือไม่

“แล้วแต่สินค้า ถ้าราคาน้ำมันตลาดโลกลง ราคาหน้าปั๊มก็ลงเช่นกัน เรื่องพลังงานจะห็นว่าแปรผันตามราคาของตลาดโลก แต่สินค้าเพื่อการบริโภค เช่น อาหาร ขึ้นแล้วลงยาก แต่อย่าหมดหวัง ราคาหมูขึ้น พอสถานการณ์คลี่คลาย ราคาหมูลงมาได้

“ดังนั้นมีทั้งที่ราคาลงมาได้ แต่หลายอย่าง ผู้ขายขึ้นราคาไปแล้ว โดยมากก็ไม่อยากลดลงมา ทำให้มีส่วนที่ราคาของสินค้าบางอย่างจะสูงต่อไป” ดร.กิริฎา อธิบาย

คำแนะนำรับมือภาวะของแพงยืดเยื้อ

หลายอย่างราคาเหนือการควบคุมประเทศเรา น้ำมัน วัตถุดิบต่างๆ ขึ้นอยู่กับราคาในตลาดโลก ดังนั้นครึ่งปีหลังคาดว่าราคาถึงจะอ่อนลง แต่ก็ยังสูงกว่าปีที่แล้ว

ดังนั้นปีนี้ ประชาชน เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการ ต้องบริหารจัดการต้นทุนของตัวเองให้ดี อะไรที่ลดหรือประหยัดได้ก็ควรจะทำ หรือใช้โอกาสนี้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ลดต้นทุนได้ก็ต้องทำ

ส่วนรัฐบาลก็ควรเร่งสนับสนุนเอกชนและประชาชนหันมาใช้พลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน

“เพราะความไม่แน่นอนในโลกมีอยู่นับตั้งแต่โควิด-19 ซาลง แต่ก็มีเรื่องสงครามต่ออีก เราจึงต้องตื่นตัวตลอดเวลา

“เพราะหลังจากนี้หากมีสงครามกระจายมากกว่าปัจจุบัน กระทบหลายประเทศมากกว่ายูเครน รัสเซีย สินค้าและวัตถุดิบในโลกก็จะราคาสูงไปอีกอย่างต่อเนื่อง และเราก็ต้องปรับตัวอยู่กับราคาสินค้าที่สูงนี้ต่อไปให้ได้”

นั่นคือบทสรุปจากกการวิเคราะห์โดยนักเศรษฐศาสตร์ แต่หากไปเดินถามชาวบ้านทั่วไปตอนนี้หลายคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคกันแล้ว มีทั้งเลือกเฉพาะของที่จำเป็น และชะลอบริโภคสิ่งของฟุ่มเฟือย

เพราะชาวบ้านมองว่าสถานการณ์ของแพง ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นน่าจะยังไม่คลี่คลายในระยะสั้น และกว่าครึ่งก็คาดว่าปัญหานี้จะลากยาวมากกว่า 1 ปี

ดังนั้นมูลค่าเงิน 100 บาทในกระเป๋าของเราที่หายไปแล้วราว 5 บาทนั้น ก็ยังอาจจะขยับไปต่อได้อีก เพราะทิศทางเงินเฟ้อยังมีโอกาสสูงได้อีก 4-5 % หากราคาน้ำมันสูงต่อเนื่อง

….เตรียมหยิบเสื้อโค้ทและผ้าพันคอมาใส่ แล้วกำกระเป๋าตังค์ให้แน่น เพราะ Winter is coming กำลังจะมาเยือนกลางฤดูร้อนระอุนี้

 

 

บทความโดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

[email protected]

 

 

 

 

อ้างอิงข้อมูล

https://news.thaipbs.or.th/content/313365

https://www.tnnthailand.com/news/wealth/106846/

https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_6944859

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า