Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เท่ากับหรือมากกว่า 10% ของประชากรทั้งหมด เป็นสิ่งที่เริ่มเกิดขึ้นกับประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2548 แต่รู้ไหมว่าในเวลาเพียงไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ไทยเรากำลังจะก้าวสู่ประเทศแห่งสังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบแล้ว เรียกได้ว่ารวดเร็วกว่าหลายประเทศอย่างมาก จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมทั้งในส่วนของประชาชน สังคม และรัฐบาล เพื่อให้ทุกภาคส่วนก้าวสู่โลกยุคใหม่ได้อย่างมั่นคง

ที่ผ่านมาสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายจึงร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดระบบความคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ การพัฒนากิจกรรม กระบวนการเรียนรู้สำหรับวัยสูงอายุที่เหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์ และการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือในการใช้ชีวิตประจำวันมาอย่างต่อเนื่อง เช่น พัฒนาหลักสูตร “เกษียณคลาส” 15 บทเรียนที่จะเปลี่ยนชีวิตวัยเกษียณให้แฮปปี้ยิ่งขึ้น หลักสูตร “ผู้สูงวัยดิจิทัล” ครอบคลุมด้านสุขภาวะทั้งทางร่างกาย จิตใจ การประกอบอาชีพ ฯลฯ

รวมถึงงานล่าสุดอย่างเวทีสาธารณะ “ก้าวต่อไปของผู้สูงอายุไทย 12 ล้านคน ผู้สูงอายุไทยอยู่ส่วนไหนของโลก” ผ่านโปรแกรมซูม ที่สสส.ได้ร่วมมือกับภาคีสร้างสุข มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมทั้งเสนอแนะสิ่งที่ภาครัฐและประชาชนควรเร่งทำอย่างเร่งด่วน โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

สังคมผู้สูงอายุไทยเข้มข้นสุดในอาเซียน

สำหรับสังคมผู้สูงอายุในภาพรวมนั้น ข้อมูลที่น่าสนใจจากมส.ผส. และสถาบันวิจัยประชากรไทยและสังคม ม.มหิดล บอกไว้ว่าตอนนี้ทั่วโลกมีผู้สูงอายุอยู่ประมาณ 1,000 ล้านคน หรือคิดเป็น 10%ของประชากรทั้งหมดเกือบ 8,000 ล้านคน ซึ่งถือเป็นสภาวะปกติ แต่หากมองเจาะลึกมาที่ 10 ประเทศอาเซียน จะพบว่ากลายเป็นภูมิภาคสังคมสูงอายุไปแล้ว เพราะมีประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มากถึง11% และมี 7 ประเทศที่ก้าวสู่สังคมสูงวัย โดยไทยและสิงคโปร์ถือว่าเปลี่ยนแปลงได้เข้มข้นที่สุดในภูมิภาค สิงคโปร์เป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ คือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ส่วนประเทศไทยก็ตามมาติด ๆ ด้วยการกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 นี้ หรือพูดง่าย ๆ ว่าเดินมา 5 คน จะต้องมีผู้สูงอายุอยู่ในนั้นอย่างน้อย 1 คน และที่สำคัญในปี 2574 ไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดเหมือนญี่ปุ่น คือมีประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 28% ของประชากรทั้งหมดด้วย

ซึ่งความเห็นของดร.ณปภัช สัจนวกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล คือ การเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยครั้งนี้รุนแรงและรวดเร็วมากเมื่อเทียบกับชาติตะวันตกที่ใช้เวลากว่า100 ปีในการเปลี่ยนผ่าน เพราะบ้านเราใช้เวลาเพียง 17 ปีเท่านั้น (ปี 2548 – 2565) สาเหตุเพราะคนไทยมีอัตราการเกิดน้อย คุมกำเนิดได้ดี และอายุคนยืนยาวขึ้น โดยคลื่นสึนามิประชากรที่เป็นคลื่นลูกใหญ่ในขณะนี้ เป็นกลุ่มประชากรที่เกิดในช่วง 2506 – 2526 ซึ่งเป็นช่วงปีที่มีอัตราการเกิดมากกว่า 1ล้านคนต่อปี จึงจะส่งผลให้ใน 20 กว่าปีข้างหน้า ผู้สูงอายุจะเพิ่มจาก 12 ล้านคน เป็น 21 ล้านคน และผู้สูงอายุปลาย 80 ปีขึ้นไป จะเพิ่มจาก 1.4 ล้านคน เป็น 3.4 ล้านคน

ความท้าทายครั้งใหญ่

การที่ผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามข้อมูลข้างต้น นั่นหมายถึงประเทศต้องเร่งเดินหน้าสร้างสิ่งแวดล้อมในการอยู่อาศัยให้เหมาะสม เพราะประชากรกลุ่มนี้มีโอกาสตกอยู่ในภาวะพึ่งพิงมากกว่าวัยอื่น โดยเฉพาะในด้านความมั่นคงทางรายได้ที่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำสูง ผู้สูงอายุหลายคนยังไม่ได้รับความเท่าเทียม เนื่องจากงบประมาณเบี้ยยังชีพจากนโยบายต่าง ๆ เมื่อเฉลี่ยต่อหัวแล้วต่างกันมาก อาทิ ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพ 9.6 ล้านคน ใช้งบประมาณไป 8 หมื่นล้านบาท ผู้สูงอายุที่ได้รับบำเหน็จ 8 แสนกว่าคน ใช้งบประมาณไปมากถึง 3 แสนล้านบาท และกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ 5.9 แสนคน ใช้งบประมาณเพียง 2 หมื่นกว่าล้านบาทเท่านั้น อีกทั้งยังมีผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในระบบของภาครัฐเกินกว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุทั้งหมด

แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่ายังมีคนตกหล่นที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการที่ควรจะได้รับจากภาครัฐอยู่อีกมาก และมีแนวโน้มว่าจำนวนคนกลุ่มนั้นอาจทวีคูณยิ่งขึ้นอีก เพราะข้อจำกัดทางความสามารถด้านเทคโนโลยี นี่เลยถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของประเทศที่ต้องก้าวผ่านไปให้ได้ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น

รัฐต้องสร้างนโยบายรองรับ

อย่างไรก็ตาม การก้าวผ่านความท้าทายต้องเริ่มจากการกำหนดนโยบาย มาตรการ และแนวทางที่เหมาะสมสำหรับรองรับสังคมสูงวัย รวมทั้งการปฏิบัติตัวของผู้สูงอายุและครอบครัวในการใช้ชีวิตร่วมกัน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุมากเป็นพิเศษ

โดยนางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สสส.) เสนอแนะว่านอกจากการสร้างเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดี ดูแลและช่วยเหลือตนเองได้แล้ว ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับประเด็นการคุ้มครองทางสังคมอย่างหลักประกันทางรายได้ในระยะยาวด้วย อาทิ การจัดสวัสดิการถ้วนหน้าและส่งเสริมอาชีพ เพราะผู้สูงอายุยังคงต้องใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การมีกิจกรรมทางสังคม ส่งเสริมให้มีการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีพลังใช้ชีวิตได้นานที่สุด รวมถึงสร้างความมั่นคงทางรายได้ เพื่อสร้างสังคมสูงวัยที่เป็นธรรมและเท่าเทียม

ผู้สูงอายุต้องปรับวิถีชีวิต

ในขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของปี 2565 ก็ต้องเร่งปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปพร้อม ๆ กัน เพราะตอนนี้ตลอดจนถึงหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ย่อมทำให้เกิดความปกติใหม่ หรือนิว นอร์มอล (New Normal) ขึ้นมา ทั้งในแง่ของสาธารณสุขและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

ซึ่ง ดร.นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนา แนะนำว่าการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมสูงวัยที่ดี คือ ผู้สูงอายุต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตและดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น ต้องปรับตัวในเรื่องการใช้ดิจิทัล และต้องเตรียมพร้อมตัวเองให้มีความมั่นคงทางด้านรายได้ เพราะในอนาคตการไปโรงพยาบาลอาจจะไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยอีกแล้ว

เช่นเดียวกับที่ครูรัตน์ หรือ นายวิรัตน์ สมัครพงศ์ เจ้าของเพจเกษียณแล้วทำอะไรดีวะ ผู้สูงอายุรุ่นใหม่ที่ได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวไปได้สักพักแล้วได้แชร์ไว้ว่า ตนค้นพบว่าชีวิตที่มีความสุขจริง ๆ คือใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ 24 ชั่วโมง สามารถบริหารจัดการเวลาได้ทั้งการพักผ่อนและเรื่องอื่น ๆ เพราะยุคนี้จะหวังพึ่งรัฐบาลอย่างเดียวคงไม่ได้ เนื่องจากเขาต้องดูแลคนหนุ่มสาวที่ตกงานด้วย ทางที่ดีที่สุดคือพึ่งพาตัวเอง สร้างรายได้ให้ตัวเอง หาสิ่งที่ตัวเองรักชอบและถนัดทำไป จะออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ได้ เพื่อให้ชีวิตแอคทีฟ อย่างตนที่ชอบแบ่งปันเรื่องราว ก็เลือกที่จะเปิดเพจ ด้วยความเชื่อมั่นว่าไม่มีใครสายเกินไปสำหรับการเรียนรู้ อายุและเวลาไม่ใช่ประเด็น แต่ระบบความคิดของแต่ละคนมากกว่าที่เป็นข้อจำกัด และฝากถึงคนรุ่นใหม่ว่า หากผู้สูงอายุยังต้องการทำงานสร้างรายได้ ก็ขอให้ลูกหลานอย่าไปห้าม

นับจากวันนี้เหลือเวลาอีกเพียงไม่นานแล้วที่ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ แต่อย่างไรก็ตามความสมบูรณ์ในปี 2565 จะออกมาในรูปแบบไหน และจะก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกภาคส่วนในประเทศ เพราะนี่ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่ไม่สามารถก้าวผ่านไปเพียงลำพังได้

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า