Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

หากนึกถึงกลุ่มเสี่ยง หรือช่วงวัยที่มักเป็นจุดเริ่มต้นของการหัดลองอบายมุข สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ติด POD หรือบุหรี่ไฟฟ้า บันไดขั้นแรกที่จะนำพาไปสู่ขั้นที่รุนแรงขึ้นในอนาคต คงหนีไม่พ้นกลุ่ม “วัยรุ่น” หรือ “เยาวชน” อันเป็นอนาคตของชาติ ซึ่งกลุ่มนักเรียนอาชีวะ วัยรุ่นที่กำลังอยู่ในการเรียนรู้เตรียมตัวสู่อาชีพในอนาคตจากสถาบันทั่วประเทศ ย่อมร่วมอยู่ในกลุ่มเสี่ยงนี้ด้วยเช่นกัน เรื่องของบุหรี่และเหล้า จึงเป็นปัญหาที่น่ากังวลใจ เนื่องจากการบริโภคสารเสพติดในวัยเยาว์ ย่อมมีผลกระทบที่ร้ายแรงต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ และการพัฒนาทักษะของนักเรียนด้วย นอกจากนี้สารเสพติด สามารถก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ และส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาดจนอาจถึงแก่ชีวิตได้

ขณะเดียวกันอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยง ที่ทุกคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้มีนักเรียนอาชีวะเสียชีวิตในทุก ๆ ปี คือ อุบัติเหตุ” เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด แต่มีผลกระทบที่ร้ายแรงต่อคนที่เกี่ยวข้อง การป้องกันอุบัติเหตุในกลุ่มนักเรียนอาชีวะ การสร้างความรู้ ความเข้าใจให้ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และการใช้งานอุปกรณ์และเครื่องมือป้องกันอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรจับมือร่วมกันให้การช่วยเหลือ

ด้วยเหตุนี้ จากความห่วงใยที่มีต่อเยาวชนอันเป็นอนาคตของชาติ ที่ต้องเผชิญกับหลากหลายปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้เกิดการร่วมมือลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำผู้เรียนอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า-บุหรี่-อุบัติเหตุ) ในสถานศึกษาขึ้น โดยจะขยายพื้นที่จาก 25 สถาบัน สู่ 45 สถาบันอาชีวศึกษา ครอบคลุมทั่วประเทศ เหตุเพราะมองว่าเยาวชนไทยกำลังเผชิญปัญหาปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ที่ต้องสูญเสียทั้งการเรียน สุขภาพ และชีวิต

ห่วงเยาวชนไทยติดกับดักอบายมุข

ในปัจจุบันสิ่งล่อตาล่อใจให้เด็กและเยาวชนหลงเข้าไปพัวพันกับอบายมุข ได้ถูกพัฒนาการรูป รส กลิ่น ให้อยากเข้าไปลองจนเกิดเป็นการเสพติดได้ง่ายๆ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าที่ผู้ผลิตพยายามออกแบบผลิตภัณฑ์ สร้างภาพลักษณ์ใหม่เรียกว่าบุหรี่ไฟฟ้า GEN 5 หรือ TOY POD ใช้ตัวการ์ตูนชื่อดัง ทำให้ดูน่ารัก น่าลอง มีกลิ่นหอม ที่สำคัญประชาชนยังมีความเชื่อผิด ๆ ว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอันตราย ทั้งที่ตามจริงแล้ว บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตราย มีสารนิโคตินเป็นสารเสพติดที่มีผลทำลายสมองของเด็กและเยาวชนที่ยังเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้เสี่ยงต่อการเสพติดนิโคตินมากขึ้น และมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปอด ทำให้เกิด “โรคปอดข้าวโพดคั่ว” (Popcorn Lung) ที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้อีกด้วย

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันเยาวชนไทยเผชิญกับปัญหารอบด้าน จากสถิติการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2564 พบกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น เป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี มากถึง 84.1% ส่วนสถิติบุหรี่ยังน่าเป็นห่วงเยาวชนไทยหันไปใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น กลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี มีสัดส่วนการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากที่สุด 30.5% จากผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าทั้งหมด 78,742 ราย

ถ้าพูดถึงปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพในเด็กและเยาวชน เรื่องของบุหรี่อยู่ในอันดับต้น ๆ เพราะเมื่อเริ่มสูบบุหรี่ ก็อาจนำไปสู่การเสพสิ่งเสพติดอื่น ๆ อย่างแอลกอฮอล์หรือรุนแรงมากกว่านั้นได้ ดังนั้นการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ จึงนับเป็นหัวใจสำคัญของการควบคุมปัจจัยเสี่ยง ช่วงระหว่างอายุ 15 – 24 ปี เป็นช่วงที่เข้าสู่การเป็นนักสูบ – นักดื่มได้ง่ายสุด  เพราะเมื่อเข้าสู่วงจรของการเป็นนักสูบหน้าใหม่แล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเลิก โดยเฉลี่ยแล้วคนที่เริ่มเสพและติด ต้องเสพไปอีกไม่น้อยกว่า 16 ปีเศษ ก่อนจะเจ็บป่วยจนเลิก การป้องกันไม่ให้เข้าวงจรจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

“สสส. มีพันธกิจสำคัญ คือการลดปัจจัยเสี่ยงการเป็นนักสูบหน้าใหม่หรือนักดื่มหน้าใหม่ หรือพฤติกรรมเสี่ยงใหม่ ๆ กลุ่มเป้าหมายนี้เองที่เราได้ร่วมมือกับทางอาชีวะศึกษาให้เราได้ช่วยดูแลนักเรียนอาชีวะทั่วประเทศ โดยเริ่มทำสถาบันนำร่องมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงวันนี้มี 45 สถาบันมาร่วมลงนามกัน หัวใจสำคัญคือการทำให้อาชีวะซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีพลัง เป็นวัยที่มีความท้าทาย ได้ใช้พลังตรงนี้แก้ปัญหาเพื่อนและรุ่นน้องต่อ ๆ ไป ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นถึงศักยภาพได้ชัดเจน ภายใต้การหนุนส่งเสริมจากสถาบันการศึกษาและอาจารย์ทุกท่าน”

นอกจากนี้จากสถิติตั้งแต่ปี 2554-2564 การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน พบว่ากลุ่มเยาวชนอายุ 15-19 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 20-24 ปี เพศชายเสียชีวิตมากกว่าเพศหญิง 4-5 เท่า ส่วนใหญ่เกิดจากดื่มแล้วขับ ใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด และไม่สวมหมวกนิรภัย

“ที่ผ่านมา สสส. ได้ร่วมกับมูลนิธิหยุดพนัน ดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษามาตั้งแต่ปี 2563 โดยดำเนินงานร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา 25 แห่ง และปัจจุบันกำลังดำเนินการในระยะที่ 2 โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ขยายไปยังวิทยาลัยอาชีวศึกษา 45 แห่งทั่วประเทศ ร่วมขับเคลื่อนการสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยง ประกอบด้วย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และเพิ่มเติมในเรื่อง อุบัติเหตุ และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ยาเสพติด ทั้งนี้ สสส. จะทำหน้าที่ในการเชื่อม สาน และเสริมพลังให้หน่วยงานต่างๆ ในการดำเนินงานควบคุมปัจจัยเสี่ยง เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้แก่เยาวชนในทุกมิติ”

เรืออากาศโทสมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)

สอศ. หนุนปั้นแกนนำต้นแบบนักเรียน 

เรืออากาศโทสมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวว่า สอศ. มุ่งผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูงเพื่อการพัฒนาประเทศ ให้เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถและทักษะวิชาชีพ และยังจำเป็นต้องมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีด้วยเช่นกัน จึงได้กำหนดให้มีการขับเคลื่อนศูนย์ความปลอดภัย สอศ. เป็นนโยบายเร่งด่วน รวมทั้งการเสริมสร้างอาชีวศึกษาปลอดภัย (safety) เพื่อมุ่งสู่การเป็นสถานศึกษาแห่งความสุข

โดยคำว่าอาชีวะสภาวะสุข หมายถึงนอกจากผู้เรียนมีทักษะวิชาชีพ ทักษะวิชาชีวิตแล้ว เด็กต้องมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นสอศ. ได้เห็นความสำคัญของนักเรียนอาชีวะ จึงมุ่งไปสู่การสร้างความปลอดภัยผ่านการเรียนการสอน ให้เด็กอาชีวะได้มาเรียนรู้การตระหนักหลีกเลี่ยงจากอันตรายจากสารเสพติด เหล้า บุหรี่ การขับขี่ ซึ่งการ MOU ในวันนี้จะเป็นไป เพื่อยกระดับและผลิตนักเรียนต้นแบบในสถานศึกษาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีสุขภาพที่สมบูรณ์ ปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่ และปลอดจากอุบัติเหตุในการใช้รถใช้ถนน และเมื่อสิ่งเหล่านี้ลดลง ก็จะหนุนส่งให้เด็กมีความสุขกับการเรียน มีผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ที่ดี และ “ต้นแบบนักเรียน” เหล่านี้ ก็จะช่วยสร้างสรรค์สื่อที่ดีออกไป เพื่อสื่อสารกับเพื่อน กับชุมชน กับผู้ปกครอง หรือคนที่อยู่หน้าสถานศึกษา เพื่อไม่ให้มีการซื้อการขายเหล้า บุหรี่ หน้าโรงเรียน

สอศ. จะร่วมเป็นแรงผลักดันให้การดำเนินงานด้านการป้องกันปัจจัยเสี่ยง โดยบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษานำร่อง ทั้ง 45 แห่ง กับเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ในพื้นที่ เพื่อร่วมกันพัฒนาและขยายผลการดำเนินโครงการฯ การสร้างสื่อรณรงค์ป้องกันปัจจัยเสี่ยง ทั้งเหล้า บุหรี่ และอุบัติเหตุทางถนน สู่สถานศึกษาทุกแห่ง สู่ชุมชนและสาธารณชน รวมทั้งร่วมกันติดตามและประเมินผล เพื่อให้เกิดโครงการฯ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่อง

“การที่บุคลากร ผู้เรียน มีความรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะการให้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบันให้เกิดประโยชน์ ประกอบกับวัยรุ่น เป็นช่วงวัยที่ให้ความสำคัญกับเพื่อน เพราะวัยเดียวกันสื่อสารง่ายและเข้าใจกันมากกว่า การจัดกิจกรรมพัฒนาเครือข่าย และหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำผู้เรียนอาชีวศึกษา ที่ส่งเสริมให้มีการทำกิจกรรมที่สอดแทรกองค์ความรู้ไปด้วยกัน เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ช่วยป้องกันปัจจัยเสี่ยงและส่งผลต่อผู้เรียนในหลายด้าน ทั้งผลการเรียน สุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ และการสูญเสียจากอุบัติเหตุลดลงได้อย่างยั่งยืน”

นายยุทธการ ตั้งปัญญาศักดิ์ รอง ผอ. วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย

เครือข่ายครู รวมพลังสร้างอาชีวะปลอดภัย

นายยุทธการ ตั้งปัญญาศักดิ์ รอง ผอ. วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย ที่มีนักเรียนในสังกัดมากกว่า 3,000 คน หนึ่งในเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการฯ เปิดเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงเรื่องของยาเสพติดในสถานศึกษา ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นบุหรี่ แต่หลังจากที่ได้จัดกิจกรรมอาสาสานพลังอาชีวศึกษาเชียงราย ก็มีแนวโน้มดีขึ้นมาก เพราะหลังจากที่รณรงค์แล้ว สังเกตพบว่านักเรียนเข้าใจและลดปริมาณการสูบลงจากเดิมมาก โดยเริ่มตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่มากขึ้น และหันไปเล่นกีฬามากขึ้น ส่วนพฤติกรรมการดื่มเหล้าสูบบุหรี่ของนักเรียนนั้น หากมีการพบเจอด่านแรกก็ต้องมีการตักเตือน แต่หากพบพฤติกรรมการดื่มเหล้าในที่สาธารณะ ทางสถาบันก็จะมีการแจ้งผู้ปกครองให้ทราบด้วย

ส่วนเรื่องของอุบัติเหตุ ทางวิทยาลัยฯ ได้มีการทำประกันอุบัติเหตุกลุ่มในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะมีนักเรียนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทุกปี 2-3 ราย จากการขับขี่รถจักรยานยนต์มาเรียน แต่หลังจากที่ทางวิทยาลัยฯ ได้มีการจัดอบรมรณรงค์เกี่ยวกับการขับขี่ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาก็ไม่มีอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตเลย ถือได้ว่าเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้นมาก

น.ส.ประทิน เลี่ยนจำรูญ ครูชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยเทคนิคพังงา

ทางด้าน น.ส.ประทิน เลี่ยนจำรูญ ครูชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยเทคนิคพังงา กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักเรียนในวิทยาลัยฯประมาณ  1,600 คน และมีนักเรียนที่พักอยู่หอประจำประมาณ 300 คน เมื่อมีนักเรียนใหม่เข้ามาก็ต้องมีการคุยกับนักเรียนเก่าให้คอยแนะนำดูแลรุ่นน้อง ซึ่งที่ผ่านมาหากตรวจพบว่ามีการเกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติดต่าง ๆ วิทยาลัยฯจะไม่ใช้การลงโทษ แต่จะให้ใช้ทำความดีชดเชย ซึ่งทางสอศ.ยกย่องให้ที่นี่เป็นสถาบันศึกษานวัตกรรมเขตปลอดสิ่งเสพติด และให้ไปรณรงค์กับนักเรียนในเขตอื่น ๆ ด้วย

“ปัจจุบันนักเรียนในวิทยาลัยฯ จะมาจากทุกจังหวัดไม่ใช่แค่พังงา ซึ่งมีหลากหลายประเภท ทั้งเด็กยากจนขาดแคลนทุนทรัพย์ พ่อแม่มีปัญหา ติดคุกจากสิ่งเสพติด เราอยากให้เด็กเปลี่ยนแปลงชีวิต 5 ปีจบออกไปเขาต้องมีงานทำ เพราะเขามองเห็นตัวอย่างพ่อแม่ที่ได้ผลลัพธ์จากว่าปัญหาเหล่านี้ เด็กเขามีจิตสำนึกในเรื่องของสารเสพติด เหล้า บุหรี่ เรามีหน้าที่ต้องปลูกฝังเขาไปเรื่อย ๆ ให้เขามองเห็นโทษ และให้มองอนาคต ถ้าเขาเข้าไปเกี่ยวข้องก็จะอยู่ในวังวนเช่นเดียวกับพ่อแม่ของเขา

โดยเด็กจะเป็นแกนขับเคลื่อนหลักคอยช่วยกัน ใช้หลักการพี่ปกครองน้อง บริหารกันเอง ครูจะเป็นที่ปรึกษา และให้ความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวถึงจะประสบความสำเร็จ เราเหมือนอยู่กันเป็นครอบครัว เด็กจะให้ความเชื่อมั่นในตัวครู และพร้อมที่จะจับมือกันสร้างสังคมอาชีวะที่ดียิ่งขึ้นในทุกด้าน”

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า