Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ตูน บอดี้สแลม – หมอภาคย์ – น้องญา – คุณซาบะ ร่วมงานทอล์ค “ก้าวหน้าประเทศไทย” เวทีความคิดเพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่ความก้าวหน้า และงานแสดงผลงานทางวิชาการโดยหลักสูตร ปปร.22 สถาบันพระปกเกล้า

หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 22 (ปปร.22) ร่วมกับ สำนักข่าวออนไลน์ Workpoint News จัดงานทอล์ค “ก้าวหน้าประเทศไทย” เวทีความคิดเพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่ความก้าวหน้า และงานแสดงผลงานทางวิชาการโดยหลักสูตร ปปร.22 สถาบันพระปกเกล้า ภายใต้หัวข้อ “บนเส้นทางสู่การปฏิรูป” สร้างการมีส่วนร่วมของพลเมือง เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ “ก้าวหน้าประเทศไทย”

งานนี้จัดขึ้นเพื่อสะท้อนถึงแนวความคิด เรื่องราว และประสบการณ์ ที่มุ่งหวังพาประเทศไทยไปสู่ความก้าวหน้า ผ่านประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหาของสังคมไทยในทุกวันนี้ ทั้งเรื่องของสุขภาพกาย สุขภาพจิต คนพิการ และความสามัคคีของคนในประเทศ งานจัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 3 ธันวาคม 2562 ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 สยามสแควร์วัน

บนเวทีงานวิชาการสาธารณะก้าวหน้าประเทศไทย พล.อ.ธเนศ กาลพฤกษ์ ประธานนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปปร.) รุ่นที่ 22 สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า งานวิชาการสาธารณะก้าวหน้าประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตร ปปร.รุ่นที่ 22 สถาบันพระปกเกล้า โดยนักศึกษาได้ผลิตงานวิชาการภายใต้หัวข้อ “บนเส้นทางสู่การปฏิรูป” ออกมาทั้งสิ้น 10 ชิ้นงาน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการนำพาประเทศไทยไปสู่ “ประชาธิปไตยป้ายหน้า-ก้าวหน้าประเทศไทย”

พล.อ.ธเนศ กล่าวต่อว่า งานวิชาการดังกล่าวได้ข้อสรุปว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญของการเมืองไทย คือการที่คนไทยยังคิดว่าการเมืองไทยคือการเลือกตั้งเท่านั้น ทำให้พลเมืองไทยไม่ตื่นตัวเต็มที่ มองการเมืองและนโยบายเป็นเรื่องของนักการเมือง และประชาธิปไตยกับการขับเคลื่อนนโยบายเป็นเรื่องที่แยกออกจากกัน ส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ของประเทศที่ยังมีอุปสรรคและข้อจำกัดในการ ทั้งด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม กระบวนการยุติธรรมสาธารณสุข และการศึกษา เหล่านี้เป็นปัญหาพื้นฐานของสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยป้ายนี้

“เราพบว่ามีเพียงการมีส่วนร่วมทางการเมืองและกระจายอำนาจจะนำไปสู่การตื่นรู้ของพลเมืองและเป็นทางออกให้กับประเทศไทย โดยการลดภาวะรัฐรวมศูนย์การกำหนดนโยบายด้วยประชาธิปไตยแบบประชาเสวนา ที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ประชาชนเข้าใจถึงเนื้อแท้ของประชาธิปไตย จนเกิดการรวมตัวสร้างสรรค์นโยบายสาธารณะ ที่จะสามารถทำให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน” พล.อ.ธเนศ กล่าว

 

โดยงานนี้ได้ 4 ตัวแทนคนรุ่นใหม่จากภาคส่วนต่างๆ ที่มีส่วนสำคัญต่อการผลักดันประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า มาร่วมแสดงทัศนะ ได้แก่

  1. น้องญา ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา: เยาวชนวัย 14 ปี ที่ผลักดันเรื่องจิตวิทยาในเด็ก

น้องญาเป็นตัวแทนของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่รับรู้ถึงปัญหาที่เด็กๆ ต้องเจอในทุกๆ วัน โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพจิตในเด็ก ที่เกิดปัญหาป่วยด้วยโรคซึมเศร้ากันมาก เกมและโลกออนไลน์ส่งผลต่อพวกเขา น้องญาเดินหน้าทำงาน เรียกร้องให้เยาวชนสามารถเข้าพบจิตแพทย์ได้โดยไม่ต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้ปกครอง เนื่องจากมองเห็นปัญหาว่า ผู้ปกครองไม่น้อยที่ไม่เข้าใจ และหลายกรณีก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาจิตวิทยา

“ใน 1 ห้องเรียน มีเด็กไทยไม่ต่ำกว่า 2-3 คน ที่เป็นโรคซึมเศร้า ประเทศไทยเป็นอันดับ 3 ของโลก ที่มีเด็กเป็นโรคซึมเศร้า…คำว่าเพราะเป็นเด็กจึงเจ็บปวดในมุมมองของหนูคือ สมัยก่อนเวลามีปัญหาเราจะไปปรึกษาพ่อแม่ แต่กลับกลายเป็นว่า เดี๋ยวนี้พ่อแม่ไม่เปิดใจรับฟังเราเลย ผู้ใหญ่ไม่เปิดใจรับฟังเราเลย ทำให้เราเป็นเหมือนฟองน้ำที่ชุ่มไปด้วยน้ำ แต่ไม่มีใครบีบเอาน้ำนั้นออก…ความหวังของเราจะสูงไปได้มากยิ่งขึ้น ถ้าผู้ใหญ่รับฟังความคิดเห็นของพวกเรา ญาทำงานกับภาคราชการด้วย เรามองเห็นว่าทุกบอร์ดที่เป็นการประชุมที่เกี่ยวข้องกับเด็ก แต่ไม่มีเด็กนั่งประชุมอยู่ด้วย ทำให้นโยบายบางอย่างที่ออกมา ไม่ใช่นโยบายที่เด็กต้องการจริงๆ” น้องญา กล่าวบนเวที

2. ซาบะ มานิตย์ อินพิมพ์: นักเคลื่อนไหวเพื่อคนพิการ อายุ 52 ปี เจ้าของเพจ Accessibility is Freedom ที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนช่วยกันผลักดันแก้ปัญหาให้คนพิการ

คุณซาบะ เป็นคนพิการที่ทำงานเพื่อเรียกร้องในการสัญจรให้กับคนพิการ เขาผ่านประสบการณ์หลายสิบปีในการเดินทางศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของคนพิการ โดยได้มาเล่าถึงความลำบากในการใช้ชีวิตของผู้พิการ ในการสัญจรผ่านระบบขนส่งมวลชนในประเทศไทย การโดยสารผ่านรถไฟฟ้า รถเมล์ และการเดินหน้าเรียกร้อง เพื่อเสรีภาพในการเดินทาง

“ผมคิดว่าโลกมนุษย์มันไม่มีอะไรสมบูรณ์ แต่ในความไม่สมบูรณ์นั้น เราก็ต้องต่อสู้กับมัน 30 กว่าปีที่ผมอยู่ในกรุงเทพฯ มันดีขึ้น แต่มันยังไม่เพียงพอที่จะทำให้คนพิการมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ เรายังไปโรงพยาบาลไม่ได้ เรายังไปโรงเรียนไม่ได้ เรายังไปทำงานไม่ได้…ถ้าลองไปเสิร์ชใน google ดู จะเห็นข้อมูลว่าคนพิการมีการศึกษาต่ำมาก ภาพที่เรามองเห็นคนพิการในประเทศไทยคือคนพิการห่อเหี่ยว ไม่น่าดู ไม่สวยงาม นี่คือภาพที่ผมอยากเปลี่ยนมันมากที่สุด นี่คือที่มาที่ทำให้ผมต้องต่อสู้ฝ่าฟันมาอย่างหนัก

สิ่งที่ผมจะเจอคือทางเท้าไม่เอื้อให้คนพิการได้สัญจรเลย เราจะไม่สามารถเดินทางไปถึงโรงพยาบาลได้เลย สิ่งที่ผมต้องทำคือลงบนพื้นถนนแล้วก็วัดกับรถเลย ผมก็ทำตัวเป็นรถ 1 คัน คนพิการต่อสู้กันมามากกว่า 30 ปี สังคมเพิ่งมาเห็นผมเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผมอยากเห็นประเทศไทยในวันพรุ่งนี้มีความสมบูรณ์ การเดินทางมีความเท่าเทียมกัน ผมอยากเดินทางไปไหน ไม่ต้องมานั่งคิดว่าตรงนั้นจะไปได้ไหม จะเดินทางยังไง คนทุกคนมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน ผมอยากเห็นคนในสังคมมีความเอื้ออารีย์ มีความเห็นใจต่อกัน ผมพูดเสมอๆ ว่าไม่ต้องมาสงสารผม ขอให้เข้าใจพอ เข้าใจว่าผมต้องการทางลาด ผมไม่ต้องการให้ช่วย และต้องไม่ลืม ถึงแม้ผมจะนั่งวีลแชร์ ถึงแม้จะขึ้นบันไดไม่ได้ แต่บางอย่างผมอาจจะทำได้ดีกว่าคนที่แข็งแรงก็ได้” คุณซาบะ กล่าว

3. พ..นพ.ภาคย์ โลหารชุน: หนึ่งในฮีโร่ที่ปฏิบัติภารกิจช่วยชีวิต 13 หมูป่า ที่ต้องการปลูกฝังความเป็นจิตอาสาลงในหัวใจคนไทยทุกคน

หมอภาคย์ ย้อนเล่าถึงความจริงจากภารกิจช่วยชีวิต 13 หมูป่า ซึ่งเป็นเรื่องราวในไทยที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ โดยพูดถึงตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้ทราบถึงเหตุการณ์ จนถึงวินาทีที่ได้เห็นความปลอดภัยของน้องๆ หมูป่า ภารกิจนี้สำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของคนทั่วโลก ในการทำงานที่ต้องต่อสู้กับเวลาแบบนาทีต่อนาที ซึ่งสิ่งสำคัญของความสำเร็จ หมอภาคย์มองว่าเพราะทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน และมีจิตวิญญาณของความเป็นจิตอาสา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันและพัฒนาประเทศชาติ

“ความสุขจริงๆ คือความสุขของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ตัวเราคนเดียว ไม่ใช่ความสุขของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เมื่อมีจิตใจที่เป็นจิตอาสาแล้ว เราก็จะทำอะไรในขีดความสามารถที่มีอยู่เพื่อช่วยเหลือส่วนรวม โดยร่วมงานกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์และสามัคคี นี่คือสิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าไปได้ ภาพหน้างานนอกถ้ำวุ่นวายมาก เพราะคนเป็นพันเป็นหมื่นคน แต่ละคนก็จะมาทำในสิ่งที่ตัวเองมีขีดความสามารถที่จะทำได้ แต่ทำไมมันถึงไม่มีการเกิดความขัดแย้ง ไม่มีการทะเลาะอะไรกันเลย เพราะทุกคนมีจิตใจที่เป็นจุดร่วมกัน ก็คือลดอัตตาตัวตนของตัวเองลงไป สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าไปได้คือการปลูกความเป็นผู้ให้ ปลูกฝังเรื่องจิตอาสาเข้าไปในทุกๆ คน เริ่มต้นจากการฝึกจิตอาสาวันละนิด มันไม่ได้จำกัดแค่ไปกวาดถนนในที่สาธารณะ แต่รวมไปถึงอะไรง่ายๆ เช่น การให้คำแนะนำกับคนที่ต้องการที่ปรึกษา และเรามีความรู้ด้านนั้น เป็นต้น” หมอภาคย์ กล่าว

4. ตูน อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ “ตูน บอดี้สแลม” และทีมก้าวคนละก้าว: ที่มาถ่ายทอดเรื่องราวปลุกพลังบวก และการมีส่วนร่วมกับสังคม

การขึ้นเวทีครั้งนี้ นอกจากจะได้ฟังแนวความคิดดีๆ จาก พี่ตูน อาทิวราห์ คงมาลัย แล้ว ยังมีตัวแทนจากทีมก้าวคนละก้าว ทั้ง นฤพนธ์ ประธานทิพย์ (พี่นะ) พันเอกนายแพทย์ พลังสันติ์ จงรักษ์ (หมอปัน) มรกต โกมลบุตร (พี่โด๋ว) และชายชาญ ใบมงคล (เบลล่า) ที่มาพูดถึงที่มาที่ไป ความตั้งใจในการออกวิ่งในโครงการก้าวคนละก้าว ที่สามารถปลุกคนทั้งประเทศมาช่วยกันหาทางออกให้กับปัญหาสาธารณสุข

“เราได้ยินคำว่า ก้าว มาตั้งแต่ปี’59 จนกระทั่ง ณ วันนี้ได้กลายเป็นมูลนิธิก้าวคนละก้าวแล้ว เราต้องเชื่อว่าเราเป็นจิ๊กซอว์ เป็น 10 บาทนั้นของ 1,400 ล้าน อย่าบอกว่าฉันป่วยคนเดียวไม่เป็นไรหรอก ยังมีคนแข็งแรงอีกตั้งเยอะ แต่จริงๆ แล้วเราต้องคิดว่า เราเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญของประเทศนี้” พี่ตูน กล่าวทิ้งท้าย

ภายในงานยังมีการจัดแสดงผลงานวิชาการจากนักศึกษา หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 22 (ปปร.22) และพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมมีส่วนร่วมในการแสดงออกถึงความคิดเห็นทางการเมือง เรียกได้ว่าเป็นโอกาสดีในการได้รับฟังจากวิทยากรที่มีความตั้งใจจริง ในการแสวงหาทางออกให้กับประเทศ

สำหรับผู้ที่พลาดฟัง สามารถดูย้อนหลังได้ที่นี่

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า