SHARE

คัดลอกแล้ว
      • ผู้ว่าณรงค์ศักดิ์มองว่าปัญหาจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสมีอยู่ 3 มิติ คือ สุขภาพ เศรษฐกิจ และการจัดการ เราไม่สามารถจัดการเรื่องเดียวเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้
      • ประเทศอังกฤษส่งอีเมลหานักวิชาการจากทุกสายเพื่อรวมรวบสถิติและงานวิจัยไว้ประกอบการตัดสินใจก่อนออกนโยบายล็อกดาวน์
      • งานวิจัยพบว่าถึงแม้ข้อมูลที่ัรัฐบอกกับประชาชนจะน่ากลัว แต่เมื่อพลเมืองรู้ว่านั่นคือความจริง พวกเขาก็พร้อมฟังและปฏิบัติตาม
      • หากมองในเชิงพฤติกรรมศาสตร์ คนไทยให้ความร่วมมือและมีวินัยในการป้องกันสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับในหลายประเทศ แต่สภาวะที่แย่ลงจากวิกฤติอาจเกิดจากการจัดการที่ยังไม่ดีพอ
      • วิกฤตในครั้งนี้แสดงให้เห็นปัญหาที่มีอยู่แต่เดิมในระบบราชการไทย

 

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นวิกฤติที่ส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลกครั้งล่าสุดนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากมนุษย์เป็นคนกระทำหรือ ‘Man Made’ แต่เกิดจากธรรมชาติที่ควบคุมได้ยาก มีคนพูดไว้ว่าวิกฤตคือบททดสอบสำคัญของแต่ละประเทศว่ามีศักยภาพมากพอพร้อมรับมือและยืดหยุ่นในการแก้ไขปัญหาไปได้หรือไม่ เพราะถ้าจัดการไม่ได้ก็จะกลายเป็น “วิกฤตซ้อนวิกฤต” ที่จะซับซ้อนและแก้ไขได้ยากกว่าเดิม

นี่คือบันทึกการเสวนาครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ Rethinking Crisis Management จากธีม Lessons from the Crisis ที่ Thailand Future และ Thailand Policy Lab จับมือกันตั้งวงเสวนาผ่าน Clubhouse พร้อมชวนนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในแต่ละแขนงมาพูดคุยเพื่อหาทางออกจากวิกฤตที่ประเทศไทยต้องเผชิญนับตั้งแต่โรคระบาดมาเยือน ซึ่งแขกรับเชิญที่มาร่วมพูดคุยในวันนั้นต่างมีประสบการณ์การแก้ไขปัญหาในสภาวะวิกฤตทั้งของเมืองไทยและต่างประเทศ ได้แก่

      1. คุณณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง หรือฉายา “ผู้ว่าหมูป่า” เพราะเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในตอนเกิดเหตุการณ์เยาวชน 13 คนติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน และสามารถบริหารจัดการจนช่วยเหลือทุกชีวิตออกมาได้อย่างปลอดภัย
      2. ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล ผู้ริเริ่มทำแอปพลิชัน “หมอชนะ” และ JITASA.CARE และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังอีกหลายโครงการ เช่น พร้อมเพย์ ดร.อนุชิตมีประสบการณ์ในการทำงานกับหน่วยงานราชการและพบกับปัญหาในเชิงนโยบายมากมาย
      3. ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี นักวิชาการด้านพฤติกรรมศาสตร์จาก Warwick Business School ที่ประเทศอังกฤษ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Happiness Research และเป็นหนึ่งในบุคคลที่จุดประเด็นการถกเถียงเรื่องวิธีรับมือและการแก้ไขวิกฤตโควิดในเมืองไทย

และนี่คือข้อสรุปที่น่าสนใจจากการพูดคุยตลอด 2 ชั่วโมงในวันนั้น

3 มิติ 4 หลักการที่ใช้แก้ปัญหาในสภาวะวิกฤตของจังหวัดลำปาง

ผู้ว่าณรงค์ศักดิ์เริ่มบทสนทนาเป็นคนแรก เพราะเคยแก้ไขปัญหาในสภาวะวิกฤตหลายครั้ง และจังหวัดลำปางก็อยู่ในลำดับต้นๆ ของจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อน้อยและคนรับวัคซีนเป็นจำนวนมาก ซึ่้งผู้ว่าณรงค์ศักดิ์มองออกเป็น 3 มิติคือ มิติด้านสาธารณสุข มิติด้านเศรษฐกิจ และมิติด้านการบริหารจัดการ ซึ่งถ้าไม่ทำให้ทั้ง 3 มิตินี้สมดุลกันก็จะเกิดปัญหาตามมา เช่น ถ้าอยากให้ผู้ป่วยเป็น 0 แต่ประชาชนมีปัญหาด้านปากท้องเพราะปิดทุกกิจการ อีกสักพักคนก็จะรวมกลุ่มกันเรียกร้อง และจะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครควบคุมได้อีก ฉะนั้นการจัดการต้องวางแผนตั้งแต่แรกแล้วว่าทุกอย่างต้องควบคุมได้

ปัญหาหลักที่ทำให้เชื้อกระจายออกไปคือรัฐไม่เปิดโอกาสให้มีการตรวจแล็บอย่างเสรี ผู้ติดเชื้อรายแรกของจังหวัดลำปางพยายามร้องขอจากหมอ แต่หมอบอกว่าต้องทำเรื่องไปตรวจที่กรุงเทพฯ อีกที ซึ่งกรุงเทพฯ ไม่อนุญาตให้ตรวจเพราะบอกว่าไม่ได้มาจากพื้นที่เสี่ยงตามประกาศในตอนนั้น ถ้าตรวจเองต้องเสียเงิน 3 พันกว่าบาท จังหวัดลำปางจึงตัดสินใจใช้เงินส่วนหนึ่งช่วยเหลือ และต้องไล่ตรวจคนที่อยู่ในไทม์ไลน์กว่าอีก 600 คนจากเคสเดียว ซึ่งเสียงบประมาณไปเยอะมาก

เขาชวนให้ทุกคนมองภาพกว้างว่า วิกฤตไม่ใช่แค่เรื่องการแพร่ระบาดของโรคไวรัส แต่ภาคเหนือมีวิกฤตเกิดขึ้นทุกวัน ทั้งภัยหนาว แผ่นดินไหว ไฟป่า น้ำท่วม มีทั้งจากธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้น หลักการคือต้องควบคุมสถานการณ์ให้ได้ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ ทำยังไงให้พวกเขาเหนื่อยน้อยที่สุด และต้องสื่อสารกับชาวบ้านให้เข้าใจง่าย ไม่ใช้ภาษาวิชาการ เขาย้อนกลับไปว่าตั้งแต่ได้ข่าวไวรัสจากอู่ฮั่นเมื่อต้นปี 2563 จังหวัดลำปางก็เริ่มสั่งซื้อหน้ากากอนามัย และสอนคนทำหน้ากากผ้าจนได้ล้านกว่าชิ้นในระยะเวลาเดือนกว่าๆ รวบรวมเครื่องช่วยหายใจทั้งจังหวัดได้ 40 เครื่องและสั่งซื้อเพิ่มอีก 50 เครื่องเพื่อเตรียมสถานการณ์ รวบรวมเตียงทั้งจากโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนามได้ 8,000 เตียง และเป็นจังหวัดที่ส่งบุคลากรทางการแพทย์ไปช่วยที่กรุงเทพฯ มากที่สุด เขาได้แชร์หลักการในการเผชิญเหตุดังนี้

      1. ต้องมีความรวดเร็วในการเผชิญเหตุ
      2. ต้องตัดสินใจจากข้อมูลที่มี
      3. ต้องมีการทำงานเป็นทีม โรคติดต่อไม่ใช่เรื่องของหมอกับผู้ว่า
      4. ต้องมีการประเมินผล ปรับแก้ตลอดเวลา เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ได้เร็วที่สุด

แก้ปัญหาด้วยหลัก 4C  พร้อมเรียนรู้จากความผิดพลาด ดีกว่าผิดซ้ำซากแล้วไม่รู้อะไรเลย

เมื่อมีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ ดร.อนุชิตก็ขอแชร์ตัวอย่างการทำงานที่เป็นด้านตรงข้ามกับจังหวัดลำปาง เขาเล่าว่าในพื้นที่อื่นไม่ได้มีวิธีจัดการที่เป็นระบบอย่างนั้น โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองสำคัญ ดร.อนุชิตเปิดประเด็นหลักก่อนเข้าสู่เรื่องการจัดการ นั่นก็คือรัฐต้องเรียนรู้จากความผิดพลาด ดีกว่าไม่เรียนรู้อะไรเลยแล้วผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมทั้งต้องกล้าที่จะเปิดใจรับฟังคำวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาไม่อย่างนั้นจะแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะเมืองไทยมีคนที่มีความสามารถอีกมาก ถ้ารัฐบาลมองว่าคนที่กำลังวิจารณ์เป็นพวกต่อต้าน ก็จะยิ่งทำให้เสียโอกาสเรียนรู้และแก้ปัญหาต่อไป

เขานำเสนอหลักการแก้ไขกับผู้บริหารระดับสูงไปแล้ว ด้วยการใช้หลัก 4C นั่นก็คือ

      • Command center ต้องมีผู้สั่งการคนเดียว เพื่อการตัดสินใจที่รวดเร็วและเข้าใจตรงกัน
      • Coordinated organizations ทุกหน่วยงานต้องทำงานร่วมกัน และรับคำสั่งเดียวจากส่วนกลาง
      • Communication ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน แสดงแผนให้เห็นอย่างชัดเจน
      • Control of supply and resources ควบคุมทรัพยากรที่มีให้ได้ ต้องจัดการอย่างเป็นระบบและโปร่งใส

ปัญหาในตอนนี้ที่เกิดขึ้นเพราะไม่มีใครทำตาม 4C นี้เลย ต่างคนต่างทำงานและรัฐบาลก็มีแนวโน้มที่จะให้แต่ข่าวดี จึงเกิดความไม่น่าเชื่อถือเพราะพูดอยู่ด้านเดียวและเกิดข่าวใต้ดิน

ดร.อนุชิตผู้มีประสบการณ์การทำงานกับภาครัฐเล่าต่อว่า วิกฤตในครั้งนี้แสดงให้เห็นปัญหาที่มีอยู่แล้วแต่เดิมในระบบราชการไทย เป็นระบบราชการที่อ่อนแอ เขายกตัวอย่างปัญหาเรื่องสาธารณสุขว่า โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ไม่ได้สังกัดแค่กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังมีสังกัดในเครือข่ายอื่นๆ ที่ทำให้แต่ละแห่งไม่ฟังกัน การประสานงานจึงมีปัญหา

จัดการแบบอังกฤษ กับการตัดสินใจบทพื้นฐานของข้อมูล สถิติ และงานวิจัย

ในช่วงการแพร่ระบาดระลอกแรก หลายประเทศในยุโรปยังไม่สามารถตั้งรับกับวิกฤตได้ จนมีตัวเลขผู้ติดเชื้อทะลุถึงหลักล้าน ดร.ณัฐวุฒิคือหนึ่งในนักวิชาการด้านพฤติกรรมศาสตร์ซึ่งมีประสบการณ์ตรงในประเทศอังกฤษ เขาเล่าว่าตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว อังกฤษก็ไม่ได้จัดการกับปัญหาได้ดีไปกว่าที่อื่นเลย เรียกว่าบริหารได้แย่มากในช่วงแรกเพราะไม่ยอมล็อกดาวน์ สาเหตุมาจากที่รัฐบาลกลัวเศรษฐกิจจะพังและกลัวประชาชนจะเหนื่อยล้าเร็วเพราะอยู่ที่บ้านนานเกินไป จนนักวิชาการทั่วประเทศต้องออกมาเรียกร้องว่าล็อกดาวน์ได้แล้ว ไม่อย่างนั้นทุกอย่างจะแย่ลงไปกว่านี้ในทุกมิติ รัฐบาลจึงส่งอีเมลหานักวิชาการทุกคนทั่วประเทศ โดยไม่จำกัดสาขาให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการระดมความคิดเพื่อก้าวข้ามวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

หากมองกันตามประวัติศาสตร์ยุโรป พวกเขาเชื่อในวิทยาศาสตร์และงานวิจัยมาเป็นเวลานานจนเป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับการตัดสินใจ ดร.ณัฐวุฒิได้มีโอกาสเข้าไปนั่งพูดคุยหลายเรื่องในสภาอังกฤษ โดยเฉพาะประเด็นระหว่างมิติเศรษฐกิจกับสุขภาพจิตว่าทำอย่างไรถึงจะช่วยคนได้โดยไม่เกิดความสูญเสียด้านเศรษฐกิจ คำตอบที่ได้คือไม่ต้องเลือก รัฐบาลอังกฤษออกนโยบายล็อกดาวน์อย่างเข้มข้น คือห้ามเคลื่อนย้าย ประชาชนออกจากบ้านได้วันละ 1 ชั่วโมงเพื่อสุขภาพจิตของตัวเอง และรัฐบาลจะเยียวยาให้ 80% ของเงินเดือน โดยอาจจะไปเก็บภาษีภายหลังในอีก 10-20 ปีข้างหน้า

เขาเล่าต่อว่าประเทศอังกฤษทำได้ดีมากๆ เรื่องการสื่อสาร ก่อนอังกฤษจะมีการคลายล็อกดาวน์ ผู้สูงอายุทั้งประเทศต้องได้รับวัคซีนไปแล้วกว่า 90% หลังจากนั้นแทบจะไม่มีใครสนใจจำนวนเคสอีกต่อไป พวกเขาโฟกัสที่จำนวนผู้เสียชีวิตแทนซึ่งตอนนี้น้อยกว่าประเทศไทยแล้ว แม้ตัวเลขจะขึ้นกว่าติดวันละ 3 หมื่นกว่าคน แต่ก็เป็นเพราะเขาตรวจกันวันละ 1 ล้านคน

เขายกตัวอย่างว่าเดนมาร์กเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จมากจนประกาศว่าชนะโควิดแล้ว โดยงานวิจัยพบว่าถึงแม้ข้อมูลที่ัรัฐบอกกับประชาชนจะน่ากลัว แต่เมื่อพลเมืองรู้ว่านั่นคือความจริง พวกเขาก็พร้อมฟังและปฏิบัติตามประกาศจากทางการ

มองโลกในแง่ดี VS มองโลกในความเป็นจริง นโยบายที่ดีควรมองไปทางไหนมากกว่ากัน

หลังจากฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการทั้ง 2 ท่านเกี่ยวกับเรื่องนโยบายการจัดการโควิดที่ควรจะเป็นทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเปรียบเทียบกับการจัดการในเมืองไทย ผู้ว่าณรงค์ศักดิ์จึงแสดงความคิดเห็นอีกครั้งในฐานะข้าราชการคนหนึ่ง เขาเล่าว่าข้าราชการส่วนใหญ่ที่ทำงานมักไม่มีเวลาออกมาโต้แย้งถึงประเด็นที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่การถกเถียงจะจบในห้องประชุมจากนั้นทุกคนจะปฏิบัติอย่างเดียว

ก่อนมาเข้าร่วมการเสวนาในวันนั้น ผู้ว่าณรงศักดิ์เพิ่งได้ประชุมกับการคลังของจังหวัด ผลปรากฏว่าตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้นมากกว่าปี 2562 ก่อนโควิดซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก พวกเขาเลยพยายามสร้างการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างความเข้าใจ และจะไม่บอกว่าเป็นปัญหาของรัฐบาลที่ส่งมาช้า เพราะจะทำให้เกิดประเด็นถกเถียงจนวุ่นวายไปกว่าเดิม

ดร.อนุชิตรีบเสริมต่อจากสิ่งที่ผู้ว่าณรงค์ศักดิ์พูดทันทีเพราะไม่เห็นด้วยกับประเด็นสุดท้ายที่ทิ้งเอาไว้ เขาบอกว่าการไม่พูดถึงปัญหาจริงๆ ก็ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาเหมือนกัน

สร้างนโยบายจากประสบการณ์ เพื่อหาโมเดลที่เหมาะกับประเทศไทย

ผู้ดำเนินรายการได้ตั้งประเด็นสุดท้ายว่าทำอย่างไรที่จะให้เมืองไทยเกิด Best Pratice และนำไปทำซ้ำได้ในหลายพื้นที่ ดร.ณัฐวุฒิซึ่งเคยเห็นโมเดลจากประเทศอังกฤษมาแล้วจึงนำเสนอประเด็นนี้ว่าความโปร่งใสเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการวางนโยบายและต้องกล้ายอมรับว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตอนนี้ส่งผลอะไรบ้าง เมืองไทยแทบไม่เคยพูดเลยว่ามีผู้ได้ประโยชน์หลายคน

เขาตั้งคำถามส่งท้ายว่าเราอยู่ในสังคมที่กล้าพูดในสิ่งที่คิดว่ามันเป็นความจริงหรือเปล่า โดยที่จะไม่มีปัญหาอะไรตามมาในภายหลัง ไม่ใช่เฉพาะการทำงานระดับประเทศ แต่หมายถึงในทุกๆ องค์กรที่อยากสร้างนโยบายแบบยั่งยืน ประเทศอังกฤษสร้างวัฒนธรรมเหล่านี้ขึ้นมาจนกลายเป็นระบบซึ่งสามารถอธิบายได้ว่าทำไมประชาชนเขาไม่ค่อยกลัวไวรัส เพราะไว้วางใจรัฐมาก เชื่อว่าต้องได้รับการเยียวยา ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีการวางแผนที่โปร่งใสและสร้างแรงจูงใจที่ดีสำหรับถ้าประชาชนให้ความร่วมมือ

ดร.อนุชิตปิดท้ายการเสวนาว่าบทเรียนที่สำคัญสำหรับสร้างนโยบายในการแก้ไขสถานการณ์วิกฤตคือเรียนรู้เรื่องการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีได้อย่างถูกต้อง เพราะถ้าคิดมาดีก็จะเห็นทันทีว่ามีการวางแผนที่ดี การไม่ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ไม่ใช่แค่เรื่องของข้อมูล แต่ยังมีอีกหลายส่วนมากที่ประเทศไทยต้องก้าวไปให้ทันโลก

 

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

      • นโยบายจัดการวิกฤตต้องมองออกเป็น 3 มิติคือ มิติด้านสาธารณสุข มิติด้านเศรษฐกิจ และมิติด้านการบริหารจัดการ ซึ่งถ้าไม่ทำให้ทั้ง 3 มิตินี้สมดุลกันก็จะเกิดปัญหาตามมา
      • นโยบายจัดการโควิดของอังกฤษ เกิดจากการมีส่วนร่วม รัฐบาลอังกฤษส่งอีเมลหานักวิชาการทุกคนทั่วประเทศ โดยไม่จำกัดสาขาให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการระดมความคิดเพื่อก้าวข้ามวิกฤตไปด้วยกัน
      • การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ทำให้นโยบายปฏิบัติใช้ได้จริง งานวิจัยพบว่าถึงแม้ข้อมูลที่ัรัฐบอกกับประชาชนจะน่ากลัว แต่เมื่อพลเมืองรู้ว่านั่นคือความจริง พวกเขาก็พร้อมฟังและปฏิบัติตามประกาศจากทางการ
      • ความโปร่งใสเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการวางนโยบายและต้องกล้ายอมรับว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตอนนี้ส่งผลอะไรบ้าง เมืองไทยแทบไม่เคยพูดเลยว่ามีผู้ได้ประโยชน์หลายคน
      • นโยบายในการแก้ไขสถานการณ์วิกฤตคือเรียนรู้เรื่องการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีได้อย่างถูกต้อง

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า