SHARE

คัดลอกแล้ว
      • ในอนาคตคนไทยอาจอายุยืนถึง 100 ปี เราอาจไม่จำเป็นต้องรีบเรียนให้จบเพื่อไปทำงาน แต่เรียนไปทำงานไป เพื่อค้นหาทักษะที่ตัวเองถนัดและเติมเต็มประสบการณ์ชีวิตให้ทันโลก
      • Lifelong learning คือสิ่งที่คนทุกช่วงวัยต้องรู้จัก ซึ่งคือการศึกษาตลอดชีวิตเพราะความรู้ไม่มีวันหมดอายุ การเปิดใจพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลาจะทำให้เราเป็นพลเมืองที่มีความหยืดหยุ่นและปรับตัวได้เมื่อเผชิญกับวิกฤต
      • ตลาดแรงงานต้องพัฒนาทักษะที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้ โดยเฉพาะทักษะการสื่อสารกับคนต่างชาติและต่างวัย 

โลกที่เปลี่ยนไปทำให้เกิดความท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะการเรียนรู้ทักษะใหม่ที่ยังไม่ได้บรรจุอยู่ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่คนไทยต้องหาความรู้นี้เองเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ที่ผ่านมาหลายธุรกิจเริ่มปรับตัวกับคลื่นแห่งการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลหรือ Digital Trasformation และแรงงานทักษะเดี่ยวเริ่มไม่เป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะเมื่อไวรัสโควิด-19 มาเยือน ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ทั้งภาครัฐและเอกชนปรับตัวกันเร็วขึ้นและมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาทนแทนแรงงานมนุษย์ เพราะสะดวก รวดเร็ว และมีความผิดพลาดน้อยกว่า คำถามก็คือในสภาวะที่คนตกงานและการศึกษายังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้ เราทุกคนต้องปรับตัวอย่างไรให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปได้? ไม่ใช่แค่ตัวเองเท่านั้น แต่หมายถึงคนทั้งสังคมซึ่งมีความสำคัญเท่าเทียมกัน

นี่คือเสวนาทาง Clubhouse ครั้งที่ 3 ในซีรีส์ Lesson from the Crisis ที่ Thailand Future Foundation และ Thailand Policy Lab (ห้องปฏิบัติการนโยบาย ก่อตั้งโดยสภาพัฒน์และ UNDP) จับมือกันตั้งประเด็นพูดคุยเพื่อถอดบทเรียนจากวิกฤตที่เกิดขึ้นและช่วยกันหาทางออกเพื่อประเทศไทย โดยเฉพาะการสร้างนโยบายอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนที่จะดึงผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วนมาร่วมกันออกแบบอนาคตประเทศไทยไปด้วยกัน ซึ่งผู้ที่มาแลกเปลี่ยนในเสวนาครั้งนี้มีทั้งหมด 4 ท่านด้วยกัน ได้แก่

      1. ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ผู้ขับเคลื่อนงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยความเชื่อที่ว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคน และเป็นผู้บุกเบิกวางรากฐานดิจิทัลในประเทศไทย
      2. คุณพริษฐ์ วิชรสินธุ CEO จากบริษัท StartDee สตาร์ทอัพด้านการศึกษา
      3. คุณพิริยะ กุลกาญจนาชีวิน หนึ่งในผู้ร่วมจัดการ TEDxBangkok และผู้ร่วมก่อตั้ง Glow Story ที่ตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านการเล่าเรื่อง
      4. คุณวิลสา พงศธร เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาวัยรุ่นและการมีส่วนร่วมจาก UNICEF ประเทศไทย ผู้มีประสบการณ์ตรงกับเยาวชนคนรุ่นใหม่

และนี่คือข้อสรุปจากการพูดคุยตลอด 2 ชั่วโมงในวันนั้น

เรียนอะไรดีต่อจากนี้ เมื่ออนาคตเป็นสิ่งที่ผันผวนอยู่ตลอด

เมื่อเราเปิดประเด็นว่าถ้าสามารถเลือกทักษะที่ต้องเรียนเพิ่มเติม 2-3 อย่างในตอนนี้ ผู้ร่วมเสวนาแต่ละท่านมีความคิดเห็นอย่างไร ดร.กาญจนาแสดงความคิดเห็นเป็นคนแรก เธอบอกว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดตอนนี้สำหรับตลาดแรงงานคือการสร้างภูมิคุ้มกันให้มีความยืดหยุ่นและพร้อมที่ปรับตัวในโลกการทำงาน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่ต้องเริ่มทำทันทีเพื่อรองรับการทำงานจากที่บ้าน เรียนรู้การทำงานกับระบบ AI ให้ได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมเติม Soft Skill ให้กับตัวเอง เช่น ความฉลาดในการเข้าสังคม การคิดเชิงนวัตกรรม การคิดในเชิงประยุกค์ และการทำงานกับคนต่างวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทุกอย่างเป็นเรื่องใกล้ตัวที่แต่ละคนเริ่มเองได้ไม่ยาก

หลายคนที่ฟังอยู่อาจคิดว่าเมื่อโลกเรามี Social Distancing แล้ว ทำไมทักษะการทำงานกับคนอื่นถึงมีความจำเป็นในลำดับต้นๆ ดร.กาญจนาอธิบายตรงนี้เพิ่มเติมว่า ทั้งหมดเป็นทักษะของการสื่อสาร เพราะการทำงานเป็นทีมมีความสำคัญ ยิ่งไม่ได้เจอหน้ากันมากขึ้นเท่าไหร่ การคิดวิเคราะห์และเข้าใจบริบทของงานจะช่วยให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น 

คุณวิลสาจาก UNICEF ผู้มีประสบการณ์การทำงานกับเด็กจึงเสริมตรงนี้ว่า เราอยู่ในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เริ่มมี AI เข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์ ซึ่งเธอเน้นว่าสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเทคโนโลยีก็คือ EI หรือ Emotional Intelligence เรื่องนี้เทคโนโลยีไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้เพราะเป็นทักษะการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นและการเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งจำเป็นมากเมื่อมนุษย์ต้องปรับตัว อย่างที่ ดร.กาญจนาได้กล่าวไปว่า เราต้องทำงานกับคนต่างวัฒนธรรมหรือต่างวัยมากขึ้น การสังเกตหรือรับรู้ถึงความรู้สึกของคนอื่นจะช่วยเปิดโลกของเราให้กว้างขึ้น ปรับตัวได้เร็ว เพราะโลกต่อไปนี้จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คุณวิลสายังเสริมว่าอีกทักษะที่สำคัญก็คือการหมั่นหาความรู้รอบด้านหรือ Learning to learn ซึ่งสำคัญสำหรับคนทุกช่วงวัย ข้อมูลที่มีอยู่ตอนนี้ปีหน้าอาจใช้ไม่ได้แล้ว ระบบการศึกษาไทยควรมาโฟกัสที่ทักษะนี้อย่างจริงจัง

เมื่อโรงเรียนคือสถานที่ฆ่าความคิดสร้างสรรค์

เมื่อพูดถึงระบบการศึกษา คุณพิริยะจึงยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตัวเองให้ฟัง เขาเล่าว่าตัวเองได้สัมผัสกับเด็กเยอะมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เขานึกถึงการพูดของ Sir Kent Ronbinson เรื่อง School kills creativity หรือโรงเรียนคือสถานที่ฆ่าความคิดสร้างสรรค์ หมายถึงระบบการศึกษาเป็นตัวบั่นทอนความคิดเพราะสอนแต่ท่องจำและไม่ได้สนับสนุนให้นักเรียนตั้งคำถาม 

แต่สิ่งที่เกิดก็คือตอนนี้คือเด็กไม่ยอมและจะไม่รออีกต่อไปแล้ว พวกเขาเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่ผู้ใหญ่สอนและตั้งคำถามกับสิ่งที่อยู่รอบตัว เพราะอันที่จริงแล้วเป้าหมายของสถานศึกษาคือให้พวกเขาได้มาค้นหาตัวตน ให้พวกเขาได้ตั้งคำถาม แต่ตอนนี้เทคโนโลยีทำให้เด็กไม่ง้อระบบ พวกเขาจะจ่ายค่าเทอมแพงๆ ไปเพื่ออะไรเมื่อเปิดยูทูปก็สามารถเรียนประวัติศาสตร์และวิชาอื่นๆ ได้เหมือนกัน พวกเขาไม่รอให้ระบบเปลี่ยนแล้ว

คุณพิริยะเล่าต่อว่ามีน้องๆ หลายคนมาถามว่าทำอย่างไรให้เล่าเรื่องเก่งเหมือนเขา คำตอบก็คือการฝึกทำความเข้าใจวิธีคิดตัวเอง เพราะการสื่อสารไม่ใช่การคุยคนเดียวจึงใช้ตัวเองเป็นที่ตั้งไม่ได้ ต้องเรียนรู้การทำงานกับส่วนอื่นๆ เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองอยากบอก เช่น สื่อสารกับครูเพื่อให้คะแนนออกมาดี สื่อสารกับผู้ใหญ่ที่เห็นต่าง หรือสื่อสารเพื่อขอทุนเพื่อมาทำสตาร์ทอัพ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ซึ่งผู้ใหญ่ต้องหันมามองตรงนี้ด้วย เพราะนอกจากมองคนรุ่นใหม่เป็นแรงงาน ต้องฟังพวกเขาว่ามีความฝันอะไร ความหมายของชีวิตในยุคนี้คืออะไร ผู้ใหญ่ต้องอนุญาตให้เด็กๆ ได้แสดงออกอย่างเต็มที่

คุณพิริยะทิ้งท้ายว่า พลเมืองที่น่าห่วงสำหรับโลกในอนาคตไม่ใช่คนรุ่นใหม่ แต่เป็นผู้ใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่ เด็กสมัยนี้ถ้าคนไหนเก่งก็หาโอกาสไปต่างประเทศ ส่วนเด็กที่ขาดโอกาสก็จะอยู่ในระบบของความเหลื่อมล้ำต่อไป ซึ่งก็คือสังคมผู้สูงอายุที่มีผู้ใหญ่เหล่านั้นรวมอยู่ด้วย 

เด็กไทยโดนอัดฉีดความรู้ แต่ขาดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้

คุณพริษฐ์แชร์ว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะตอบว่าทักษะไหนในตอนนี้เป็นสิ่งจำเป็นแบบขาดไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าโลกอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าจะให้สรุปจากสถานการณ์ตอนนี้ เขาแบ่งการเติมทักษะออกเป็น 3 กลุ่มคือ

      1. ทักษะการใช้เทคโนโลยีให้เป็น คือการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่การขายของหรือเรียนออนไลน์ แต่ต้องสอนให้ผู้ใช้รู้เท่าทันอันตรายที่มากับโลกออนไลน์ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องเติมให้มาก เพราะคนรุ่นใหม่เติบโตมากับเทคโนโลยี พวกเขามีทักษะการจับสิ่งแปลกปลอมได้เร็วกว่า
      2. ทักษะที่ทำให้เทคโนโลยีทดแทนเราไม่ได้ คือการเสริมทักษะให้สามารถสร้างงานใหม่ๆ หรือทำงานที่เทคโนโลยีมาแทนเราไม่ได้ นั่นคือทักษะความเห็นอกเห็นใจ เช่น หากเราไปพักโรงแรมก็อยากได้รับงานบริการจากพนักงานที่มีความเป็นมนุษย์มากกว่าหุ่นยนต์
      3. ทักษะในการทำงานกับคนอื่น พริษฐ์ยกตัวอย่างว่าเด็กไทยเรียนภาษาอังกฤษก่อนเด็กประเทศอินโดนีเซีย แต่ทักษะในการสื่อสารสู้เขาไม่ได้เลย เพราะเราอาจจะอัดฉีดความรู้เยอะเกินไป โดยลืมสร้างบรรกาศที่ทำให้เด็กกล้าสื่อสาร 

อีก 20 ปีหลังเกษียณคือเวลาแห่งความสุขหรือเวลาแห่งความทุกข์ของผู้สูงอายุในอนาคต?

เมื่อการเสวนาดำเนินมาถึงครึ่งทาง ผู้ดำเนินรายการได้ตั้งคำถามต่อจากประเด็นของคุณพริษฐ์เกี่ยวกับการปรับตัวและการเสริมทักษะของผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในอีกไม่ช้า คุณพริษฐ์จึงเสนอว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน และควรมีการจัดอบรมเพื่อพัฒนาทักษะเหล่านี้ให้กับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะคุณครูในโรงเรียนที่มีความถนัดน้อยกว่าเด็กนักเรียน และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังหมายถึงโอกาสในการเข้าถึงบริการของภาครัฐได้ อนาคตของทักษะจึงต้องคิดควบคู่ไปกับอนาคตสวัสดิการของรัฐ เช่น รายได้ขั้นพื้นฐานหรือเบี้ยผู้สูงอายุ เพราะพวกเขาจะได้มีทุนมากพอให้เอาเวลาไปเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ

ดร.กาญจราเสริมว่าทักษะที่จำเป็นของผู้ใหญ่ในสังคมไทยคือ Learn to unlearn ไม่ยึดติดกับวิธีการเดิมๆ และเปลี่ยน Mindset ในการเรียนรู้เพื่อเป็นผู้ใหญ่ในแบบทั้ง Active และ Productive Aging ตอนนี้คนอายุยืนขึ้น จึงต้องเตรียมทั้งเรื่องการเงิน สุขภาพ และการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข รัฐอาจต้องมาดูว่ามีกลไกรูปแบบไหนที่จะส่งเสริมผู้สูงอายุรูปแบบใหม่ อาจเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่เข้าถึงได้ง่ายและลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง

คุณพิริยะพูดปิดท้ายประเด็นโดยยกตัวอย่างประสบการณ์ของตัวเอง เขาเล่าว่าช่วงที่แพลตฟอร์ม Tiktok มาแรง เขากลับรู้สึกว่าตัวเองแก่เกินกว่าจะเล่น ไม่ต้องการที่จะเรียนรู้ทุกอย่างแล้ว และอยากโฟกัสเป็นอย่างๆ มากกว่า ซึ่งก็จะเจอสภาวะ “ตามเขาไม่ทัน” เขาย้ำว่าสิ่งที่อยากให้ผู้ใหญ่ Unlearn มากที่สุดคือควรมองเห็นความเป็นมนุษย์ในทุกคนไม่ว่าจะรุ่นไหนหรืออายุเท่าไหร่ก็ตาม เลิกบอกว่าผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน หรือสร้างความเชื่อว่าผู้ใหญ่ถูกเสมอ แล้วหันมาช่วยเหลือกัน ให้เด็กใช้ความถนัดทางเทคโนโลยี ส่วนผู้ใหญ่ก็ใช้ทรัพยากรความรู้ที่มีเพื่อสนับสนุน น่าจะเป็นความหวังต่อไปของประเทศไทยได้

Multi-stage Life หนึ่งชีวิตที่ทำหลายบทบาทไปพร้อมกัน

เมื่อรู้แล้วว่าทักษะไหนสำคัญ ช่วงสุดท้ายของการเสวนาจึงชวนผู้มีส่วนร่วมทุกท่านพูดถึงรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลงว่ามีหน่วยงานไหนบ้างที่ต้องเป็นเจ้าภาพและรับผิดชอบในการเตรียมความพร้อมครั้งนี้ ดร.กาญจนาพูดในฐานะที่เธอทำงานให้กับภาครัฐ เธอเห็นด้วยว่าเด็กไม่จำเป็นต้องรีบเรียนให้จบชั้นมัธยมตอนอายุ 17 และเข้ามหาวิทยาลัยต่อทันที แต่อย่างที่บอกไปว่าคนไทยจะมีอายุยืนขึ้น ในอนาคตเราอาจเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ไม่ต้องเร่ง อย่างเช่นในยุโรป พอเด็กจบชั้นมัธยมก็จะพักไปประมาณ 1 ปีเพื่อค้นหาตัวเองแล้วค่อยกลับมาเรียนปริญญาตรี ยังมีสถิติจากอเมริกาที่พบว่าอายุเฉลี่ยของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 21 ปี

Multi-stage Life จะเป็นเทรนด์ต่อไป ในหนึ่งช่วงชีวิตเราจะทำหลายหน้าที่ มีหลายอาชีพ โรงเรียนและการศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่ปรับทั้งระบบ ออกแบบการเรียนให้เหมาะกับวิถีชีวิตของคนที่หลากหลาย ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นโดยเฉพาะการเรียนแบบออนไลน์ คนรุ่นใหม่จะไม่ค่อยเน้นการเรียนที่ได้ปริญญา แต่เน้นใช้ทักษะเป็นหลัก คนจะ Upskill และ Reskill อยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นรัฐอาจต้องมี Credit Bank เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนอยากเรียน เรียนอะไรก็ได้แล้วมาสะสมเครดิตไว้ ถ้าอยากได้วุฒิก็ลองเอามาเทียบดูว่าจะได้ปริญญาระดับไหน

ดร.กาญจนาทิ้งท้ายว่าควรมี Public Learning Space กระตุ้นให้คนเข้ามาเรียนรู้และหางานไปพร้อมกัน อนาคตเรามีจะ Gig Worker มากขึ้น คือคนที่ไม่มีงานประจำ แต่รับงานหลายๆ ชิ้นพร้อมกัน แพลตฟอร์มนี้จะช่วยหางานและเติมทักษะได้อีกด้วย

คุณวิลสาเสริมเรื่องนี้ด้วยการยกตัวอย่างโมเดลของประเทศสิงคโปร์ เธอเล่าว่าประชากรที่นั่นสามารถเข้าถึงการพัฒนาทักษะได้ผ่านแพลตฟอร์ม Skill Future โดยไม่จำกัดสถานะและอายุ ซึ่งจะมี Credit Bank เหมือนอย่างที่ ดร.กาญจนาได้พูดไป รัฐสามารถออกแบบนโยบายหรือใช้เครื่องมือแบบ Incentive ที่พลเมืองสามารถใช้เครดิตทางการศึกษาของตัวเองมาใช้ลดหย่อนภาษี และที่ลืมไม่ได้ก็คือเด็กกลุ่ม NEET (Not in Education Employment or Training) ซึ่งประกอบด้วยเยาวชนอายุ 15-24 ปีมากกว่า 1.4 ล้านคน หากสังคมเปิดโอกาสให้คนที่เคยผ่านกระบวนการยุติธรรมมาแล้วได้เข้าไปฝึกทักษะสำหรับประกอบอาชีพ ก็จะถือว่าเป็นแรงงานสำคัญในบริบทที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัย และเป็นโอกาสที่ไม่ควรเสียไป 

พริษฐ์ปิดท้ายการเสวนาในวันนั้นด้วยการยกตัวอย่างนโยบายที่ใช้ในบริษัทของเขาเอง ซึ่งการออกแบบนโยบายให้เข้ากับโลกอนาคตไม่ได้เป็นหน้าที่ของรัฐเท่านั้น แต่ภาคเอกชนและทุกคนก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งได้เช่นกัน พริษฐ์เล่าว่านอกจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัย บริษัทถือเป็นอีกหนึ่งสมรภูมิที่สามารถพัฒนาการเรียนรู้ของพนักงานได้ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่หรือผู้ใหญ่ที่ทำงานมานานแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้เขาใช้วิธี Supply Side จัดหาหลักสูตรใหม่ๆ เพื่อสร้างคอร์สอบรม แต่เขาคิดในมุมกลับและตั้งคำถามว่าทำไมไม่เอางบประมาณที่เคยจัดอบรมไปให้พนักงานเรียนอะไรก็ได้ที่ต้องการแบบ Demand Side ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและตอบสนองความต้องการของพนักงานแต่ละคนจริงๆ 

การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสิ่งสำคัญต่อมนุษย์ยุคใหม่ นโยบายที่ออกมาจึงควรตอบสนองต่อสิ่งเหล่านี้ การตัดสินใจเชิงนโยบายของทั้งภาครัฐและเอกชนจึงเป็นส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงว่าจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว นโยบายที่ดีไม่ได้ออกมาจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากการคุย ถกเถียงกับคนหมู่มากซึ่งอาจใช้ระยะเวลาในการออกแบบและทดลอง แต่ยิ่งเราเริ่มต้นช้าเท่าไหร่ ปลายทางก็จะยิ่งไกลมากขึ้นเท่านั้น

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

      • สิ่งที่สำคัญที่สุดตอนนี้สำหรับตลาดแรงงานคือการสร้างภูมิคุ้มกันให้มีความยืดหยุ่นและพร้อมที่ปรับตัวในโลกการทำงาน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่ต้องเริ่มทำทันทีเพื่อรองรับการทำงานจากที่บ้าน เรียนรู้การทำงานกับระบบ AI ให้ได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมเติม Soft Skill
      • ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในอีกไม่ช้า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน และควรมีการจัดอบรมเพื่อพัฒนาทักษะเหล่านี้ให้กับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะคุณครูในโรงเรียนที่มีความถนัดน้อยกว่าเด็กนักเรียน และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังหมายถึงโอกาสในการเข้าถึงบริการของภาครัฐได้ 
      • อนาคตของทักษะต้องคิดควบคู่ไปกับอนาคตสวัสดิการของรัฐ เช่น รายได้ขั้นพื้นฐานหรือเบี้ยผู้สูงอายุ เพราะพวกเขาจะได้มีทุนมากพอให้เอาเวลาไปเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ
      • รัฐอาจต้องมี Credit Bank เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนอยากเรียน เรียนอะไรก็ได้แล้วมาสะสมเครดิตไว้ รัฐสามารถออกแบบนโยบายหรือใช้เครื่องมือแบบ Incentive ที่พลเมืองสามารถใช้เครดิตทางการศึกษาของตัวเองมาใช้ลดหย่อนภาษี
      • ควรมี Public Learning Space กระตุ้นให้คนเข้ามาเรียนรู้และหางานไปพร้อมกัน อนาคตเรามีจะ Gig Worker มากขึ้น คือคนที่ไม่มีงานประจำ แต่รับงานหลายๆ ชิ้นพร้อมกัน แพลตฟอร์มนี้จะช่วยหางานและเติมทักษะได้อีกด้วย

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า