SHARE

คัดลอกแล้ว

“เรามองว่าผ้าไทยเป็นมากกว่าสิ่งทอ เพราะเป็นสิ่งสะท้อนวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในแต่ละท้องถิ่น ถ้าทำการตลาดให้ดี ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าไทยไปไกลถึงเวทีแฟชั่นระดับโลกได้”

เสียงสะท้อนจากวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ดีไซเนอร์ชั้นนำของเมืองไทย เจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH ผู้พาเสื้อผ้าแฟชั่นจากผ้าไทยไปไกลถึงต่างแดน ที่ได้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดความน่าสนใจจาก THAI TEXTILES TREND BOOK SPRING/SUMMER 2022 โดยนำผ้าบาติก จังหวัดสงขลา มา Redesign เป็น THAitems ไอเทมที่ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เข้ากับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ และเป็นที่ต้องการของตลาดแฟชั่นโลก

มองผ้าไทยให้เป็นมากกว่าผ้าทอ

ก่อนจะไปเริ่มพัฒนาผ้าไทยแบบใดก็ตาม คุณวิชระวิชญ์นำเสนอมุมมองที่น่าสนใจว่า ดีไซเนอร์ควรมองผ้าไทยในภาพกว้าง ไม่ใช่เพียงการทอหรือการตัดเย็บ แต่ยังรวมไปถึงสิ่งแวดล้อม ระบบโลจิสติกส์ และเศรษฐกิจชุมชนที่ทำให้คนในท้องถิ่นมีงานทำด้วย ตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การขนส่ง การแจกจ่าย ตลอดจนการสร้างรายได้ด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้าน ผ้าไทยจึงเสมือนเป็นหัวใจสำคัญที่อยู่ในทุกมิติของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในท้องถิ่นนั้น ๆ เพื่อทำความเข้าใจกับกระบวนการของผ้าอย่างแท้จริง และส่งเสริมผ้าไทยให้ไปได้ไกลขึ้น 

ก้าวข้ามข้อจำกัด ยกระดับสู่ความเป็นสากล

นอกจากนี้ เขายังได้กล่าวถึงข้อจำกัดของผ้าไทยว่า คือ ความไม่สม่ำเสมอของสีผ้าถ้าต้องผลิตจำนวนมาก เพราะเป็นงานแฮนด์เมด และแต่ละท้องถิ่นก็มีความถนัดในการผลิตต่างกันออกไป ไม่เคยมีสูตรตายตัว แต่คนในแวดวงงานออกแบบจะมองเห็นโอกาสว่า สามารถเอาข้อจำกัดนั้นมาทำเป็นเอกลักษณ์ที่มีน้อยชิ้นในโลก (Limited edition) ได้ 

ดังนั้นโจทย์สำคัญคือการหา DNA หาความเป็นตัวตนที่ซ่อนอยู่ให้เจอก่อน และนำมาประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันให้ได้ อย่างที่เวทีแฟชั่นระดับสากลทำกัน แล้วค่อยเดินหน้าสื่อสารสตอรี่ที่น่าสนใจของผ้าไทยไปยังกลุ่มลูกค้า ซึ่งถ้าทำได้ถูก ลูกค้าก็พร้อมที่จะซื้อ และจะเป็นการช่วยพัฒนาผ้าไทยให้ก้าวสู่ความเป็นสากลได้โดยอัตโนมัติ

“ก่อนที่จะทำแบรนด์ของตัวเอง ได้มีโอกาสไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ มันทำให้รู้ว่าการที่จะสู้เรื่องแฟชั่นในระดับสากลได้ ดีไซเนอร์ต้องพยายามหาเอกลักษณ์ความเป็นตัวตนให้เจอก่อน ซึ่งเมื่อก่อนเราไม่เคยสนใจเรื่องพวกนี้ แต่พอได้ถอยห่างออกไปก็ยิ่งเห็นภาพชัดขึ้นว่าท้ายที่สุดแล้วรากเหง้าหรือ DNA ของเราคืองานผ้า งานศิลปหัตถกรรมที่มีอยู่ตามท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งเป็นต้นทุนที่ดีกว่าดีไซเนอร์ต่างชาติหลายคนด้วยซ้ำ”

สิ่งแวดล้อม-ชุมชน คือหัวใจของแฟชั่น

พอได้กลับมาประเทศไทย คุณวิชระวิชญ์เลยตั้งใจที่ทำงานเพื่อพัฒนางานศิลปหัตถกรรมที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านให้เป็นระดับสากลให้ได้ ด้วยการหยิบจับผ้าไทยประจำถิ่นต่าง ๆ ที่ผลิตด้วยวิธีธรรมชาติ มาทำใหม่ (Reused & Redesign) เป็นเสื้อผ้าแฟชั่นที่สวมใส่ได้ทุกวัน ภายใต้แบรนด์ WISHARAWISH โดยเลือกที่จะมุ่งเป้าไปที่ตลาดญี่ปุ่นเป็นหลัก ด้วยความเชื่อว่าคนที่นั่นจะเข้าใจถึงที่มาที่ไป และซึมซับความเป็นศิลปหัตถกรรมและวัฒนธรรมของไทยได้ เพราะแบรนด์พยายามทำอะไรที่เข้าใจง่าย แต่ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิต และเชื่อเสมอว่าการให้ความสำคัญกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม จะทำให้มีวัตถุดิบที่ดี มีต้นทุนที่ดี 

“ถ้าต้นทุนดีแล้วการออกแบบก็ไม่จำเป็นต้องเยอะ เหมือนการทำอาหาร ถ้าวัตถุดิบดีก็ไม่ต้องปรุงเยอะ ไม่ต้องทำเยอะ แค่คิดให้จบแล้วลงมือทำให้น้อย อย่างแบรนด์เราที่เน้นให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำ คือ ที่มาที่ไปของผ้าซึ่งเป็นหัวใจหลักของการผลิต คนที่ซื้อของเราเลยจะไม่ได้ซื้อแค่เสื้ออย่างเดียวแล้ว แต่จะได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อย” เขากล่าว

THAI TEXTILES TREND BOOK คือทิศทางที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม เมื่อหาเอกลักษณ์เจอแล้ว และมีวัตถุดิบอยู่ในมือ ขั้นตอนต่อไปคือการสื่อสารหรือผลิตสินค้าให้ตรงจุด ที่ดีไซเนอร์จำเป็นต้องทราบความต้องการของตลาดก่อนว่าเทรนด์ไหนกำลังมา เพื่อให้การทำงานมีความชัดเจนมากขึ้น และมองเห็นลู่ทางในการปรับตัว ซึ่งสิ่งที่ตอบโจทย์มากที่สุดในเรื่องนี้คือ THAI TEXTILES TREND BOOK SPRING/SUMMER 2022 ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจัดทำขึ้นมา สำหรับการพัฒนาผ้าไทยเป็นผ้าเทรนด์โดยเฉพาะ เพราะมีการรวบรวมความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นมาไว้ในเล่มเดียว เสมือนเป็นกำลังเสริมที่เข้ามาช่วยทำให้ของเดิมที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว สามารถผสมผสานเข้ากับโลกยุคใหม่ได้อย่างลงตัว และก้าวเข้าสู่ตลาดสากลได้ดียิ่งขึ้น

คุณวิชระวิชญ์กล่าวว่า จากการใช้จริงพบว่าเทรนด์บุ๊กเล่มนี้ผ่านการศึกษาและดำเนินงานอย่างพิถีพิถันจากทีมงานที่รวมคนหลากหลายสายงานเอาไว้ ไม่เฉพาะแค่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าเท่านั้น แต่คนทั่วไปก็ทำความเข้าใจตลาดแฟชั่นได้ไม่ยาก ซึ่งแบรนด์ WISHARAWISH เองก็ได้แรงบันดาลใจมาจากเทรนด์บุ๊กเล่มนี้ด้วยเช่นกัน และมีโอกาสได้ผลิตออกมาเป็นผลงานจริง รู้สึกดีใจมาก ๆ

ลงมือทำร่วมกับชุมชน

เมื่อได้ทิศทางการทำงานที่ชัดเจนแล้ว เจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH ก็เลือกลงพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อไปค้นหาผ้าไทยพื้นถิ่นด้วยตัวเอง พร้อมทั้งลงไปร่วมทำงานใกล้ชิดกับชุมชนด้วย เพื่อร่วมกันแบ่งปันความคิดและลองผิดลองถูกไปพร้อมกับชุมชนที่มีความพร้อม และเปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลง 

“ผ้าไทยเป็นเอกลักษณ์ที่มีอยู่แล้วในแทบทุกพื้นที่ของประเทศ อยู่ที่ว่าจะมีใครไปปัดฝุ่นให้มันมีชีวิตขึ้นมาใหม่ หรือทำให้สามารถกลับเข้าสู่สังคมปัจจุบันได้หรือเปล่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย เราเลยต้องลงไปค้นหาว่าที่ไหนมีของดีอะไรบ้าง เพื่อดูแลกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำให้ตรงความต้องการของตลาด และไปต่อได้ในระยะยาว” 

พัฒนาผ้าไทยสู่ THAitems

หลังจากที่ได้แรงบันดาลใจจาก THAI TEXTILES TREND BOOK SPRING/SUMMER 2022 และลงพื้นที่ไปตามหาผ้าไทยพื้นถิ่นแล้ว แบรนด์ WISHARAWISH ตัดสินใจเลือกใช้ผ้าบาติกยางกล้วย ของจังหวัดสงขลา มาเป็นวัสดุหลักในการพัฒนาผ้าไทยสู่ THAitems เพราะโดดเด่นเรื่องการรักษ์สิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการนำวัสดุธรรมชาติเหลือใช้ที่ใครหลายคนอาจมองข้ามไปอย่าง “ยางกล้วย” มาเพ้นท์ลายบนผ้าบาติกแทนสารเคมี โดยเลือกย้อมเป็นสีเขียวบนคอตตอนรีไซเคิล และย้อมสีน้ำตาลธรรมชาติบนไหมเอิร์ธโทน (Earth Tone) พร้อมทั้งใช้เทคนิคจับลายชนลาย เพื่อทำไอเทมไทยแฟชั่นที่ใช้สนุก เข้ากับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ และสร้างความแตกต่างด้วยลวดลายที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก อาทิ ชุดลำลอง เสื้อ เสื้อคลุม กางเกง และเฟอร์นิเจอร์ ภายใต้แนวคิด “เคารพของที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ ให้มากที่สุด” 

คุณวิชระวิชญ์ กล่าวเสริมว่า ผลงานคอลเล็กชันนี้มุ่งเน้นไปที่การใช้วัสดุท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างรายได้ให้ชุมชน เพิ่มศักยภาพให้คนในท้องถิ่น งดการใช้สารเคมี ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพิ่มการส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ และนำเข้าเฉพาะสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับเรื่อง BCG Economy (โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน) ที่เป็นเทรนด์โลกอยู่ในขณะนี้ และต่อเนื่องไปถึงอนาคตหลายปีข้างหน้าด้วย 

THAitems จากผ้าบาติกยางกล้วยในครั้งนี้ นับว่าเป็นการผสมผสานระหว่างองค์ความรู้จาก THAI TEXTILES TREND BOOK SPRING/SUMMER 2022 และเอกลักษณ์ของแบรนด์ WISHARAWISH ที่ลงตัวในทุกมิติ เพราะนอกจากจะทำให้เห็นความสามารถของดีไซเนอร์ไทยแล้ว ยังช่วยเน้นย้ำอีกว่าผ้าไทยจากภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมหาศาล ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นแนวทางสำคัญในการผลักดันดีไซเนอร์ไทยรุ่นใหม่ให้สร้างสรรค์ผลงานที่ตอบโจทย์ตลาดแฟชั่นโลกได้ดียิ่งขึ้น ทำให้วงการแฟชั่นไทยก้าวไกลกว่าที่เคย และเศรษฐกิจพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า