Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

รายงาน UNDP เผยดัชนีการพัฒนามนุษย์ของประเทศไทยฟื้นตัวจากช่วงก่อนโควิด แต่ต้องเร่งรัดการพัฒนา เพราะไทยยังลดความเหลื่อมล้ำได้น้อย ถดถอยเรื่องการยุติความหิวโหยและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) เปิดตัวรายงานการพัฒนามนุษย์ฉบับใหม่ประจำปี 2023/24 ย้ำความก้าวหน้าในการพัฒนาที่กระจุกตัว ส่งผลให้ผู้ยากไร้ที่สุดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ทำให้ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ยิ่งแย่ลงและสร้างความแตกแยกทางการเมืองที่รุนแรงขึ้นทั่วโลก

รายงานฉบับล่าสุดของ UNDP ซึ่งมีชื่อว่า “ฝ่าทางตัน: การแสวงหาแนวทางใหม่เพื่อสร้างความร่วมมือในโลกที่มีการแบ่งขั้ว (Breaking the Gridlock: Reimagining cooperation in a polarized world)” ได้เปิดเผยแนวโน้มที่น่ากังวล ชี้ว่าแม้ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) ทั่วโลกจะฟื้นตัว โดยเห็นได้จากรายได้มวลรวมประชาชาติ (Gross National Income: GNI) ต่อหัวการศึกษา และอายุขัยเฉลี่ยของประชากร แต่การพัฒนายังมีความกระจุกตัว

และแม้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ช่องว่างระหว่างประเทศที่ร่ำรวยที่สุดและประเทศที่ยากจนที่สุดมีแนวโน้มหดแคบลง แต่ช่องว่างดังกล่าวกลับกว้างขึ้น ตั้งแต่ปี 2020 (พ.ศ. 2563) ขณะที่ประเทศที่มีรายได้สูงกำลังบรรลุการพัฒนามนุษย์ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ประเทศที่ยากจนที่สุดส่วนใหญ่ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับไปยังระดับเดิมก่อนเกิดวิกฤตได้

รายงานยังระบุด้วยว่า แทนที่จะใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์และความร่วมมือระดับโลกในการพัฒนา ประเทศต่างๆ กลับต้องเผชิญทางตัน เนื่องจากไม่สามารถรับมือกับความท้าทายที่เผชิญร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งจากวิกฤตต่างๆที่ทับซ้อนกัน ไม่ว่าจะเป็นการเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ จนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ลุกลามอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่ระบบที่มีอยู่จะสามารถตอบสนองได้อย่างทันท่วงที ซึ่งผลจากวิกฤตการณ์ต่างๆในระดับโลก ประกอบกับการที่ระบบในปัจจุบันไม่สามารถปกป้องผู้คนได้อย่างเหมาะสม ได้นำไปสู่การแบ่งขั้วที่รุนแรงมากขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่นโยบายที่มุ่งเน้นการปกป้องประเทศของตน

ซึ่งนโยบายเช่นนี้ ขัดแย้งกับความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมความร่วมมือระดับโลกเพื่อจัดการปัญหาที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น การลดการปล่อยคาร์บอนการจัดการกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทางที่ผิด และการแก้ไขข้อพิพาทต่างๆ

รายงานยังระบุด้วยว่า การหยุดชะงักที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน มีความน่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในบริบทของอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจนทำลายสถิติในปี 2023 (พ.ศ. 2566) ซึ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างบูรณาการ ตลอดจนความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งก้าวหน้าอย่างรวดเร็วโดยขาดกฎระเบียบในการควบคุมดูแลที่เพียงพอ หากไม่มีการดำเนินการเพื่อฝ่าทางตันดังกล่าวชีวิตความเป็นอยู่และเสรีภาพของบุคคลจะตกอยู่ในความเสี่ยง 

โดยในปัจจุบัน ร้อยละ 30 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ยังไม่มีความคืบหน้าหรือเกิดการถดถอย ส่วนเป้าหมายอีกร้อยละ 50 แม้จะมีความคืบหน้า แต่ก็ยังล่าช้าหรือไม่เพียงพอ หมายความว่า โลกยังมีความล่าช้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่าเมื่อสี่ปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีความถดถอยในเป้าหมายสำคัญต่างๆ เช่น การดำเนินการเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร การลดความยากจน การจัดการกับความเหลื่อมล้ำ และการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยบริบทเหล่านี้ ทำให้แม้แต่ในประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ในระดับสูงมาก ก็ยังมีประชากรเพียงไม่ถึงหนึ่งในสี่ที่ยังมีความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย 

รายงานระบุว่า จากการสำรวจทั่วโลก ผู้ตอบแบบสอบถามครึ่งหนึ่งรู้สึกว่าตนเองควบคุมชีวิตของตนได้เพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้เลย ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าสองในสามเชื่อว่า พวกเขามีอิทธิพลน้อยมากต่อการตัดสินใจของรัฐบาล

นอกจากนี้ ยังมีความล้มเหลวในการดำเนินการร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นดิจิทัล ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งไม่เพียงแต่ขัดขวางความก้าวหน้าในการพัฒนามนุษย์เท่านั้น แต่ยังทำให้ความแตกแยกทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและกัดกร่อนความไว้วางใจในผู้คนและระบบที่มีอยู่ทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย รายงานของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ  (UNDP) ชี้ว่า ประเทศไทยมีคะแนน HDI สูงกว่าเมื่อช่วงก่อนที่จะเกิดโรคระบาด เช่นเดียวกับประเทศสมาชิก OECD 38 ประเทศ โดย HDI ของประเทศไทยในปี 2022 (พ.ศ. 2565) เพิ่มขึ้นเป็น 0.803 จาก 0.797 ในปี 2021 (พ.ศ. 2564) และสูงกว่าระดับ 0.801 ในปี 2019 (พ.ศ. 2562) ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์อยู่ในระดับที่สูงมาก โดยอยู่ในอันดับที่ 66 จาก 193 ประเทศทั่วโลก และเมื่อจำแนกตามเพศ HDI ของผู้หญิงในประเทศไทย (0.807) จะสูงกว่าของผู้ชาย (0.798) ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากในประเทศอื่น แม้แต่ในประเทศในกลุ่มที่มีการพัฒนามนุษย์อยู่ในระดับที่สูงมาก 

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงยังคงมีการเข้าถึงการศึกษาและมีรายได้ต่อหัวน้อยกว่าผู้ชาย แม้ว่าประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญในด้านการพัฒนามนุษย์ในภาพรวม แต่ยังคงมีความท้าทายในด้านความเหลื่อมล้ำและด้านสิ่งแวดล้อม เห็นได้จากการที่ค่า HDI ของประเทศไทยจะลดลงร้อยละ 15.2 เหลือเพียง 0.681 เมื่อคำนึงถึงความไม่เท่าเทียม และ ค่า HDI จะลดลงร้อยละ 6.6 เหลือเพียง 0.750 เมื่อคำนึงถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และค่าฟุตพริ้นท์วัสดุ (Material Footprint)

ซึ่งทั้งหมดนี้สอดคล้องกับการประเมินความคืบหน้าของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) ที่ระบุว่า แม้ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าในการดำเนินการตามเป้าหมายด้านการขจัดความยากจน แต่ยังมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยในด้านการลดความเหลื่อมล้ำ และมีความถดถอยในเป้าหมายด้านการยุติความหิวโหยและการดำเนินการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่นเดียวกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

ส่วนเรื่องการแบ่งขั้วและความไม่มั่นคงในชีวิต ยังคงมีระดับสูงขึ้นในประเทศไทย โดยจากรายงาน Future of Growth Report 2024 ของ World Economic Forum พบว่า ประเทศไทยมีการแบ่งขั้วทางสังคมในระดับสูง ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากดัชนีการแบ่งขั้วที่อยู่ในระดับ 0 จาก 4  อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าดัชนีด้านการรับรู้ความไม่มั่นคงของมนุษย์ (Index of Perceived Human Insecurity) ของประเทศไทย จะอยู่ในระดับที่ 0.47 ซึ่งต่ำกว่าประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่จำนวนผู้เข้ารับการรักษาด้านจิตเวชได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจาก 1.3 ล้านคนในปี 2015 (พ.ศ. 2558) เป็น 2.3 ล้านคนในปี 2021 (พ.ศ. 2564) ขณะเดียวกัน มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจาก 6.03 ต่อ 100,000 คนในปี 2017 (พ.ศ. 2560) เป็น 7.38 ต่อ 100,000 คนในปี 2021 (พ.ศ. 2564) ปัจจัยเหล่านี้ได้ลดทอนความสามารถในการสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคม และเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการดำเนินการร่วมกัน เพื่อฝ่าทางตัน

รายงานฉบับนี้ยังเน้นย้ำในประเด็น เรื่องการพัฒนาสินค้าสาธารณะระดับโลก (global public goods) ซึ่งจะช่วยให้ประเทศต่างๆ หลุดพ้นจากกรอบความคิดที่ผลประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งเท่ากับการสูญเสียของอีกฝ่าย (zero-sum thinking) และส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกัน ท่ามกลางความแตกต่างทางความคิด ซึ่งรวมถึงการพัฒนาสินค้าสาธารณะระดับโลกเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสินค้าสาธารณะระดับโลกด้านดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่อย่างยุติธรรมและส่งเสริมความก้าวหน้าของมนุษย์อย่างสมดุลและเท่าเทียม 

โดยทั้งหมดนี้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากกลไกทางการเงินแบบองค์รวม ซึ่งรวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในรูปแบบใหม่ เพื่อเสริมกับกับความช่วยเหลือทางการเงินด้านมนุษยธรรมและเงินช่วยเหลือสำหรับการพัฒนาในรูปแบบดั้งเดิม

นอกจากนี้ ในรายงานยังนำเสนอแนวทางการลดการแบ่งขั้วทางการเมือง ด้วยการใช้กลยุทธ์แบบใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการรับฟังความเห็นของประชาชนและจัดการกับข้อมูลอันเป็นเท็จ ตลอดจนแนะนำกลยุทธ์ในการส่งเสริมอำนาจในการตัดสินใจของประชาชน โดยมุ่งเน้นการสร้างระบบที่ให้คนเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างการเป็นเจ้าของร่วมกัน และเหมาะสมกับอนาคตเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการการตัดสินใจทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของรัฐบาลและสังคมเพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์การพัฒนาที่ปลดล็อกศักยภาพของมนุษย์ เพื่อให้ทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางสามารถมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียมโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า