SHARE

คัดลอกแล้ว

กำลังหลักสำคัญที่ช่วยตรึงไม่ให้สถิติผู้ติดเชื้อของโควิด-19 พุ่งกระฉูดสูงไปมากกว่าที่เป็นอยู่ นอกเหนือจากการทำงานอย่างหนักหน่วงของคณะแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลแล้ว ยังรวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ที่กระจายตัวอยู่ในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ คอยบุกตรวจค้นหาผู้มีแนวโน้มจะติดเชื้อเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง นับเป็นกองหนุนสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยยังท้าชน สู้กับโควิด-19 ได้ 

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวไว้ว่า “อสม. เป็นคนเล็กๆ ในการทำภารกิจที่ยิ่งใหญ่ให้ประเทศในการให้ความรู้ ติดตามกลุ่มเสี่ยง ช่วยคนในชุมชนให้ปลอดภัยจากโรคโควิด-19” 

อสม. หน้าที่หลักคือการเข้าถึงสุขอนามัยของชุมชน

โดยกลุ่มอาสามัคร อสม. จะได้รับการฝึกอบรมจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อให้สามารถดูแลและเข้าถึงสุขอนามัยของคนในชุมชน โดยเป็นการสร้างให้เกิดความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจในสังคมขึ้นมาด้วย โครงการนี้ก่อกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2520 และประกาศใช้ในระยะทดลองก่อน 20 จังหวัดแรก ซึ่งได้รับผลการตอบรับที่ดีอย่างยิ่ง

ในที่สุด อสม. ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน กระจายกำลังในแต่ละแห่งของประเทศไทยและคอยดูแลสุขภาพของผู้คนเรื่อยมา จนถึงตอนนี้ก็ร่วม 43 ปีแล้วที่ อสม. ทำหน้าที่นี้มาอย่างยาวนาน

อารีย์ ณรงค์น้อย 28 ปีของการเป็น อสม. กับภารกิจโควิด-19

อารีย์ ณรงค์น้อย อสม. ประจำเขตปากเกร็ดวัย 71 ปีที่คร่ำหวอดในวงการนี้มาตั้งแต่พ.ศ. 2535 บอกว่าจนถึงวันนี้ เธอยังอุทิศตัวให้งาน อสม. เป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโรคโควิด-19 กำลังระบาดอยู่ในชุมชนใกล้ไกล “ตอนนี้เราลงทุกพื้นที่เพื่อตรวจโควิดเลยค่ะ ทุกพื้นที่ เราต้องค้นหาเรื่องของคนที่ไปต่างจังหวัดหรือไปต่างประเทศ หรือกลุ่มเสี่ยง เราจะค้นว่าบ้านนี้มีกี่คน อย่างสมมติว่าบ้านนี้มีสี่คน เราก็ค้นให้ครบเรียบร้อย ตรวจดูว่ามีใครเป็นไข้ไหม ป่วยไหม แล้วต้องถามเลยว่าคุณไปไหนมาบ้าง เราลงพื้นที่มาหมดทุกบ้านเลย”

ก่อนหน้าที่มาเป็นอาสาสมัครเพื่อชุมชน เธอเป็นผู้ช่วยพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชและลาออกเพื่อย้ายตามสามีมายังต่างจังหวัด ก่อนที่เวลาผ่านไปจะย้ายถิ่นฐานอีกครั้งมาอยู่ย่านบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี และสมัครเป็น อสม. ตามคำเชิญชวนของผู้ใหญ่บ้าน

“เขาบอกว่าได้ใกล้ชิดสาธารณสุขนะ เราก็ตกลงเลยเพราะชอบอยู่แล้ว” เธอว่า และใช้ชีวิตในการเป็น อสม. ดูแลคนในชุมชนนับจากนั้นมาจนถึงตอนนี้ก็ 28 ปีเต็ม เธอคือหนึ่งในกำลังสำคัญสมัยที่ต้องออกเดินทางไปเยี่ยมเยือนชุมชนเล็กใหญ่เพื่อแจ้งเตือนถึงปัญหาไข้เลือดออกระบาดในรอบหลายปีที่ผ่านมา และการแพรระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็เป็นหนึ่งในความท้าทายบทใหม่ของเธอและทีมงานอีกครั้ง

“อสม. เป็นหน้าที่เรา และตอนนี้หน้าสิ่วหน้าขวาน เรากลัวว่าถ้าติดแล้วมันก็จะไปติดคนอื่นด้วย แต่ถ้าเราค้นซะ แล้วดูแล้วว่าไม่มีเชื้อโรค ก็ปลอดภัย เราก็จะได้เดินอย่างปลอดภัยค่ะ เพราะตอนนี้สถานการณ์มันน่ากลัว” อารีย์อธิบาย ก่อนขยายความว่า ถึงอย่างไรก็ยังจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังเรื่องสุขภาพของ อสม. ด้วยเพราะส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ดังนั้น จึงมีมาตรการห้ามไม่ให้ อสม. ที่อายุเกิน 70 ปีหรือมีโรคประจำตัวออกไปตรวจในพื้นที่ แต่สามารถให้การสนับสนุน เช่น การบริจาคเงินเพื่อนำมาทำหน้ากากอนามัยใช้กัน 

ค่าป่วยการ 1,000 บาท ไม่พอ แต่ขอเดินหน้าทำงานหนักแน่น

อารีย์ยอมรับว่าเรื่องภาระค่าใช้จ่ายเป็นปัจจัยสำคัญเช่นกันที่ทำให้การทำงานของเธอและคณะยากลำบากกว่าที่ควรเป็น ภายหลังจากรัฐบาลมีนโยบายจ่ายค่าป่วยการให้รายละ 1,000 บาท เธอก็พบว่ายังเป็นจำนวนเงินที่ขัดสนพอสมควรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ที่ อสม. ต้องเดินทางไปยังหลายๆ พื้นที่เพื่อออกตรวจหาผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะติดเชื้อ 

“เราก็ไม่ว่า ไม่อุทธรณ์อะไร เราเป็น อสม. และใจมันรักไปแล้ว แต่มันเหมือนว่างานหนักขึ้น เพราะพูดก็พูดเถอะว่าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของเราน้อยมาก แล้วเจ้าหน้าที่ก็ต้องหากำลังสำคัญคือ อสม. ฉะนั้นเราก็จะเป็นด่านหน้าอยู่เสมอ

“เงิน 1,000 บาท เราทำงาน ลงพื้นที่ เงินไม่พอหรอกบอกตรงๆ แต่เราก็ว่ามันขึ้นอยู่กับความกรุณาของนายกฯ ว่าจะเห็นความสำคัญของ อสม. แค่ไหน คือเดือนละ 1,000 บาทตกเฉลี่ยเดือนเท่าไหร่ บางทีเราเดินทางไปดูคนอยู่บ่อยๆ ยิ่งกับตอนนี้โรคมันระบาด เราต้องเดินทางมากขึ้นกว่าเดิม ตอนนี้งานเราจึงหนักขึ้นมาก เงินมันจึงไม่พอเลย แล้วคุณหมอ คุณพยาบาลดูแลคนไข้จนติดโควิด-19 กันไปเยอะ เราต้องปรบมือและเพิ่มเงินเดือนให้พวกเขาด้วยนะคะ อย่าง อสม. เราก็อยากให้เพิ่ม แต่ก็แล้วแต่ความกรุณาของนายกฯ เลยว่าเธอเห็นความสำคัญของ อสม. ไหม” เธอลงท้ายอย่างหนักแน่น

อสม. ในยุคสมัยรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

อย่างไรก็ดี หากเรามองย้อนกลับไปในอดีต จะเห็นว่า อสม. ได้รับการผลักดันเรื่องค่าใช้จ่ายและบทบาทหน้าที่เป็นอย่างดีในยุคสมัยรัฐบาลของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยผลักดันนโยบายเพิ่มค่าตอบแทนให้ อสม. ในช่วงพ.ศ. 2554 

โดยนายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์กับ Workpoint News ว่า ตัวเขาเองมองว่าแนวคิดของ อสม. นั้นถือว่าก้าวหน้าอย่างมาก “เพราะเป็นการมองระบบสุขภาพที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด และประเทศเราในขณะนั้นต้องยอมรับว่าความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ก็มีอยู่พอสมควร แต่เรามีหมอและผู้บริหารที่ค่อนข้างหัวก้าวหน้า ฉะนั้นเขาก็มองว่า ระบบสุขภาพที่ดีต้องเป็นระบบที่เน้นการป้องกันและการให้ความรู้กับประชาชน เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน เลยมีการผลักดันเรื่องของ อสม. ขึ้นมา

รัฐบาลภายใต้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผลักดันเรื่อง อสม. เป็นงานสำคัญ

“ผมเอง ตอนที่ผมมาเป็นหัวหน้าพรรคแล้วลงสมัครเลือกตั้งครั้งแรกหลังเป็นหัวหน้าพรรค ก่อนนั้นที่เราเดินหน้าทำนโยบาย ตอนนั้นน่าจะเรียกว่าวาระประชาชน หนึ่งในประเด็นที่เราพบคือ อสม. เริ่มมีภาระมาก และมีค่าใช้จ่ายด้วย เพราะเขาต้องเดินทาง ต้องไปอบรม แต่ในขณะนั้นเขายังไม่มีค่าตอบแทน เราก็ไปพบกับกลุ่มต่างๆ และรวมถึง อสม. ด้วย เลยมีแนวคิดว่าควรให้ค่าตอบแทนเขา แต่ว่าการจะให้ค่าตอบแทนก็ต้องมีการกำหนดบทบาทต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้น เลยเป็นที่มาของการให้เงินตอบแทน อสม. มาเป็นเวลา 11 ปี เพื่อให้เขามีกำลังใจในการทำงาน และจริงๆ เรามองเห็นอยู่แล้วว่าภาระของเขาเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน สังคมเราเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว ฉะนั้น จะเห็นว่าช่วงหลัง อสม. ต้องทำงานในลักษณะของการไปดูแลผู้สูงอายุที่ติดบ้านด้วย ซึ่งเขาอาจจะทำงานกับท้องถิ่น และบางท้องถิ่นก็ทำได้ค่อนข้างดีเลย อันนี้เลยเป็นบทบาทที่สำคัญอยู่แล้ว

“เมื่อก่อนมันจะมีเรื่องไข้เลือดออก ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ที่เขาต้องไปให้ความรู้ แต่เมื่อมาเจอโควิดก็ยิ่งชัดขึ้นว่าการที่เรามีบุคลากรกลุ่มนี้นั้นมีประโยชน์มาก เพราะถ้าเรามีคนที่มีหน้าที่ในการดูแลคนสักสิบกว่าครัวเรือนต่อคน ก็นับว่าเป็นประโยชน์ ซึ่งเท่าที่ผมตามข่าว เหมือนช่วงสักสิบวันก่อนที่คนเริ่มเดินทางกลับต่างจังหวัด เก็รู้สึกว่า อสม. มีบทบาทในการดูแลคนที่ออกไปจากกรุงเทพฯ เข้าสู่พื้นที่ ต้องมีการกักกัน แยกตัว คือถ้าเราไม่มีตรงนี้ เราจะไปหวังว่า รัฐบาลจะออกมาตรการให้ใครไปทำล่ะครับ อันนี้คือประโยชน์ในสถานการณ์เช่นนี้ และเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของระบบสุขภาพไทยที่หลายประเทศชื่นชมว่าเป็นระบบที่ดี” นายอภิสิทธิ์กล่าว

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า