Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

16 ตุลาคม 2563 ผมถูกควบคุมตัวไปยัง ตชด. ภาค 1 หลังเหตุสลายการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวัน จริง ๆ แล้วในวันนั้นผมไม่ได้ตั้งใจไปชุมนุม แต่ทันทีที่มีการตั้งแนวปะทะของตำรวจ ผมซึ่งอยู่ในชุดพักผ่อน คว้าร่ม 1 คัน ผ้าเช็ดหน้าหนึ่งผืน และนั่งมอเตอร์ไซค์ตากฝนไปยังจุฬาฯ หวังจะคอยไปช่วยเหลือเพื่อนนักศึกษาและประชาชนที่หลบเข้ามาในจุฬาฯ เผื่อว่าจะมีใครบาดเจ็บหรือต้องเรียกรถกลับบ้าน

แต่ถนนที่ถูกปิด ทำให้ผมต้องลงเดินจากแยกถนนอังรีดูนังต์ผ่านไปยังจุดที่มีการสลายการชุมนุม ผมเดินผ่านตำรวจตั้งแถวสลายการชุมนุมเป็นระยะ ๆ ตอนนั้นเวลาประมาณสองทุ่ม ผมไม่อยากให้ตำรวจเข้าใกล้ผู้ชุมนุมไปมากกว่านี้หรือเกิดการปะทะ จึงนำโบว์ขาวในกระเป๋า พยายามไปเตือนใจเจ้าหน้าที่และก่อกวนทางความคิด ซึ่งในบทความนี้ผมจะเล่าว่าคืออะไร ผมถูกจับหลังจากนั้น ไม่แปลกใจ แต่สิ่งที่หลายคนอาจสงสัยคืออะไรที่นำมาซึ่งการกระทำในวันนั้น รวมถึงในวันก่อนหน้าที่ผมมีการนำโบว์ขาวไปผูกให้กับเจ้าหน้าที่ ณ แยกราชประสงค์ ในบทความนี้ เราจะมาบอกเล่าเรื่องราวของความโง่เขลาของสังคมไทย ผ่านเรื่องราวของโบว์สีขาว 

การประท้วงในสังคมไทยในช่วงล่าสุดนี้เริ่มปะทุอย่างดุเดือดในช่วงต้นปี จากการลุกขึ้นมาทำกิจกรรมของนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ผมมีโอกาสได้พูดไฮด์ปาร์คสั้น ๆ บนเวที เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป ที่นิสิตจุฬาลงกรณ์จัดขึ้น สิ่งที่ผมเลือกพูดในวันนั้นไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการเมืองโดยตรง แต่เป็นเรื่องราวของกาลิเลโอ กาลิเลอี นักวิทยาศาสตร์ในช่วงฟื้นฟูศิลปะวิทยาการที่ถูกตัดสินว่าเป็นภัยต่อศาสนจักรและจบลงที่การถูกจองจำ สุดท้ายกาลิเลโอถูกบังคับให้พูดว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล บ้างบอกเล่ากันว่าเขาแอบกระซิบเบา ๆ ว่า “แต่มันก็ยังโคจร (รอบดวงอาทิตย์) อยู่ดี” 

หลังจากที่เล่าเรื่องนี้บนเวทีที่จุฬา ฯ ผมเขียนบทความต่อว่า “ศัตรูของเราคือความโง่เขลา” ลงบนบล็อกส่วนตัว 

ศัตรูของเราคือความโง่เขลา 

ความโง่เขลา (Ignorance) คือภาวะที่เกิดขึ้นในตัวของทุกคน คือสิ่งที่พวกเราติดมาแต่กำเนิด คือสิ่งที่เราเผชิญกับมันในทุกวัน คือสิ่งที่อยู่กับเราตั้งแต่วันที่เราเกิด ไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต แต่มันคืออะไรกันแน่ เรารู้จักกับมันดีแค่ไหน ทำไมเราถึงถูกสอนให้ฉลาด (Clever) แต่ไม่ถูกสอนให้รู้จักกับความโง่บ้าง

โง่ในที่นี้ไม่ใช่คำด่า เพราะคุณคงไม่ด่าใครว่าไอ้หิว ไอ้ง่วง หรือไอ้ไม่สบาย ในเมื่อเรารู้ดีว่าความโง่คือภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกับหิว เหมือนกับง่วง หรือไม่สบายใจ ทำไมเราจึงรังเกียจมันนักหนา เมื่อเราง่วงเราก็นอน เมื่อเราหิวเราก็กิน การเข้าใจภาวะที่เกิดขึ้นจึงจำเป็นในการรับมือ ไม่ใช่หิวแล้วไปชกต่อยกับคนอื่น หรือง่วงแล้วออกไปเตะฟุตบอล 

สำหรับผมแล้ว ความโง่เขลาคือภาวะที่เราไม่รู้ และถ้าการไม่รู้ของเรามันนำมาซึ่งปัญหา เช่น คุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ความขัดแย้งอย่างรุนแรง พูดง่าย ๆ ก็คือความทุกข์ในรูปแบบต่าง ๆ วิธีแก้ก็คือเราต้องกำจัดความโง่เขลา ซึ่งก็คือการเรียนรู้ ทำให้เรารู้ สำหรับผมการหยุดความโง่เขลาทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การมองภาพกว้าง ๆ รอบตัว การเปิดใจรับฟังและเข้าใจภาพที่คนอื่นเห็น (ในทางฟิสิกส์ เราจะเรียกการรับรู้ที่แตกต่างกันว่าเป็นการรับรู้เชิงสัมพัทธ์ และแต่ละคนเป็นผู้สังเกตที่แตกต่างกัน) 

ในบทความที่ผมเขียน ผมบอกไว้ว่าความโง่เขลาไม่อาจหายไปไหนได้ เหมือนที่ความหิวไม่เคยหายไปจากโลก เราเพียงแค่รู้จักที่จะจัดการกับมันดีขึ้น ดังนั้นเมื่อเราพบความโง่เขลาไม่ว่าจะในตัวเองหรือจะในตัวของคนอื่น การช่วยให้คนอื่นได้เข้าถึงความรู้คือสิ่งที่จะช่วยให้ความโง่เขลาชั่วขณะไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว สิ่งนี้จึงสรุปได้ว่าความโง่เขลานั้นไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี แต่เป็นแค่ภาวะหนึ่งที่เราควรทำความเข้าใจและรู้ว่าจะจัดการกับมันอย่างไรเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม ความโง่เขลาไม่ใช่ตัวแปรเดียว เพราะไม่เช่นนั้นมนุษย์ก็คงจะแค่เรียนรู้ต่อมาเรื่อย ๆ ทำลายความโง่เขลามาเรื่อย ๆ แต่ยังมีตัวแปรอื่นอีกมากโดยเฉพาะเรื่องของอำนาจ ในยุคการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการที่ยกตัวอย่างไป Power ของศาสนจักรถูกใช้ผ่านการสร้างคำอธิบายความเป็นมาเป็นไปของโลกและธรรมชาติด้วยแนวคิดทางศาสนา และสร้างเป็นมตินิยม (Dogmatictism) หรือชุดความเชื่อร่วมว่าทุกอย่างมันเป็นเช่นนั้น และไม่มีอะไรที่ต้องสงสัยหรือหาคำตอบ 

เรื่องราวของกาลิเลโอและการลุกขึ้นมาก่อกวนทางความคิด

การลุกขึ้นมานำเสนอแนวคิดที่ผมเรียกว่าเป็นการก่อกวนทางความคิดผ่านการบอกว่าดวงจันทร์บนฟ้าก็คือโลกอีกโลกหนึ่งที่เราไม่รู้จัก มีภูเขา มีหุบเขา ซึ่งเป็นเหมือนการขยายขอบเขตการรับรู้ของมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เหล่าศาสนจักรหวาดกลัว เพราะอำนาจของพวกเขาสั่นคลอน กาลิเลโอ จึงเป็นภัยต่อศาสนจักร จริง ๆ แล้ว ศัตรูของทั้งกาลิเลโอและศาสนจักรคือความโง่เขลา ศาสนจักรก็อยากที่จะอธิบายจักรวาลได้ (ด้วยการแถหรืออะไรก็ตาม)

กาลิเลโอก็อยากที่จะอธิบายจักรวาลได้เช่นกัน ตามทฤษฏีเกมถ้าทั้งสองคนร่วมมือกันศาสนจักรยอมลดอำนาจลงบางส่วนทั้งคู่อาจะเป็น Win, Win แต่ในตอนนั้นศาสนจักรเลือกที่จะชนะและให้กาลิเลโอแพ้ ผ่านการใช้อำนาจแบบ Hard Power คือการนำกาลิเลโอขังคุก แต่สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไปคนก็ยกย่องกาลิเลโอให้เป็นฮีโรอยู่ดี และแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ก็ไม่หายไปไหน เพราะการลุกขึ้นมาต่อต้านแนวคิดศาสนจักรนั้นเป็นการแสดง Soft Power ซึ่งเป็นอำนาจที่ชักจูงคนให้หันมาศึกษาและทำงานวิทยาศาสตร์ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทุกวันนี้สังคมจึงขับเคลื่อนไปในทางวิทยาศาสตร์ 

ความโง่เขลา จึงเป็นสิ่งที่ส่งเสริมต่อการปกครองในแบบมตินิยม เพราะการที่ผู้ถูกปกครองบอกว่าที่เรารู้คือที่สุดแล้ว อย่าไปพยายามรู้อะไรไปมากกว่านี้ช่วยให้ผู้ปกครอง (ที่รู้เยอะกว่าผู้ถูกปกครองนิดนึง) สามารถใช้ประโยชน์และทำให้ตัวเองมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ 

การก่อกวนทางความคิดของโบว์สีขาว 

สังคมไทยเป็นสังคมมตินิยม หรืออย่างน้อยการกระทำหลาย ๆ อย่างก็ส่อไปในทางนั้น เราเห็นสิ่งที่ถูกสอนว่าเป็นความจริงโดยสัมบูรณ์มาตั้งแต่เด็ก หลักสูตรการศึกษาที่เชิดชูวีรชนไทย การรบ สถาบันพระมหากษัตริย์ ที่สุดท้ายเราไม่ได้ถูกสอนให้ตั้งคำถาม สิ่งนี้กลับปลูกฝังความโง่เขลาหรือการไม่รู้ให้กับคน เพราะเราจะไม่คิดอะไรไปเกินจากนี้ 

จากประสบการณ์การทำสื่อวิทยาศาสตร์มาตลอด 3 ปี สิ่งที่ผมเห็นคือสังคมไทยเรายังประกอบไปด้วยการใช้ความรู้สึกอยู่เหนือเหตุผล และการโต้เถียงที่หวังเอาชนะมากกว่าการหาข้อสรุป เรายังคงเป็นสังคมที่ถามหาความจริงสัมบูรณ์ (Absolute truth) 

สิ่งนี้ถูกท้าทายโดยการก่อกวนทางความคิดครั้งแล้วครั้งเล่าผ่านการเคลื่อนไหวตั้งแต่การชุมนุมที่อนุเสารีย์ประชาธิปไตย ยาวมาจนถึงการฝังหมุดคณะราษฎรใหม่ ที่ท้องสนามหลวงในวันที่ 20 กันยายน 2563 นักวิชาการหลายคนมองกระบวนการเหล่านี้ว่าเป็นความสร้างสรรค์และรูปแบบการเรียกร้องแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ดร. กนกรัตน์ เลิศชูสกุล 

ยังให้สัมภาษณ์ไว้ใน 101 บอกว่าการต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ระยะยาว ที่อาศัยการเปลี่ยนแปลงความคิดในระยะยาวเป็นชัยชนะ ต่างจากการเรียกร้องของม็อบก่อนหน้าที่จะเน้นการ “เผด็จศึก” มากกว่าการวางหมุดหมายในการเคลื่อนไหวแต่ละครั้ง 

อีกหนึ่งการวิเคราะห์ที่น่าสนใจคือของ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ที่ให้สัมภาษณ์กับ BBC Thai ที่มองว่าการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาใหม่นี้เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ และการตั้งคำถามแห่งยุคสมัย ที่เด็กมองว่าสิ่งที่พวกเขาปลูกฝังมาไม่ได้ถูกต้องเสมอไปอีกต่อไปแล้ว 

 

ขบวนการเปลี่ยนแปลง และการเฝ้ารอ

สำหรับผมเหตุผลที่เข้าไปร่วมกับขบวนการนักศึกษาตั้งแต่เมื่อต้นปีที่จุฬาฯ ผมมองว่าเยาวชน ณ จุดนี้กำลังถึงจุดอิ่มตัว อิ่มตัวจากข้อมูลที่ถูกสอนมาตั่งแต่สมัยรัฐประหารปี 2557 ที่พวกเราเติมโตมาพร้อมกับค่านิยม 12 ประการ และการกล่าวอ้างต่าง ๆ นานา ถึงความน่าอยู่ของประเทศไทย และความสวยงามของประวัติศาสตร์ ที่สุดท้ายพวกเขาก็สามารถหาดูเหตุการณ์การสังหารหมู่ 6 ตุลาฯ ได้จากอินเทอร์เน็ตอยู่ดี 

ในจุดเปลี่ยนสำคัญในทางการเมืองและประเทศตั้งแต่ช่วงปี 2560 – 2563 ซึ่งเป็นจุดที่มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างจึงเป็นจุดสำคัญที่เราจะได้วางหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ไว้ และเราทราบดีว่าทุกอย่างไม่อาจเปลี่ยนผ่านได้ในชั่วข้ามคืน หนึ่งวัน สองวัน หรือหนึ่งปี แต่หมุดหมายนี้จะเตือนคนรุ่นหลังไว้ว่าเราไม่ได้ยอมสยบต่ออำนาจนิยมที่กดทับเราไว้ 

แม้เราจะทราบดีว่าแนวคิดเดิม ๆ เรื่องอำนาจนิยมไม่อาจเปลี่ยนไปได้ในข้ามคืน การก่อกวนทางความคิด หรือการชวนตั้งคำถามจึงเข้ามาในแผนการเคลื่อนไหว เราจะเปลี่ยนความไม่รู้ หรือความโง่เขลาให้กลายเป็นความรู้ได้อย่างไร เราจะชวนคนที่ไม่เคยตั้งคำถามมาตั้งคำถามได้อย่างไร การก่อกวนทางความคิดจึงเริ่มขึ้น 

หากสังเกต ขบวนการนักศึกษาใหม่นี้นำสิ่งใหม่มาสู่การเมืองไทย การใช้ยุทธวิธีแบบไร้ศูนย์กลาง (Decentralization), การซ่อนความหมาย (Subtext) ในการแสดงออก, ความพยายามในการตีความประวัติศาสตร์ในกรณีคณะราษฎรเดิม และคนเสื้อแดง ใหม่ทั้งหมด, ไปจนถึงการนำวัฒนธรรมย่อย (Sub-culture) มาประกอบการเคลื่อนไหว ทั้งหมดนี้คือการนำภาพใหม่ออกมาฉายสู่สังคม 

ศัตรูของเราไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง

พูดง่าย ๆ ก็คือคณะราษฎรใหม่นี้จึงไม่ได้มองว่าศัตรูของพวกเขาคือตัวบุคคลคนใดคนหนึ่ง แต่คือชุดความคิดเก่าที่พวกเขาอาจจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจสิ่งที่พวกเขาเป็น และชุดความคิดเหล่านี้อาจจะหรือไม่อาจจะถูกทำให้ก้าวข้ามชุดความคิดเดิม ๆ เข้ามาสู่ยุคใหม่ของพวกเขา ซึ่งผมมองว่ามันคือการก้าวข้ามจากสังคมมตินิยมมาสู่สังคมวิมตินิยมที่การคิด วิเคราะห์ และทำความเข้าใจ เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น พวกเขาไม่กลัวที่จะต้องโต้เถียง พวกเขาไม่กลัวที่จะต้องเผชิญหน้า และพวกเขาไม่กลัวที่จะต้องอยู่ร่วมกัน และพวกเขา “ไม่เคยมองข้ามชุดความคิดเก่า” ไม่เช่นนั้น พวกเขาจะไม่ทำแบบที่ทำอยู่เพื่อสร้างการก่อกวนทางความคิด

ทุกคนมีการแสดงออกที่แตกต่างกัน พวกเราไม่จำเป็นต้องทำสิ่งที่เหมือน ๆ กัน กลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด มีกิจกรรมตั้งแต่การเล่นดนตรี เล่นสเก็ตบอร์ดทำงานศิลปะ ไปจนถึงงานเสวนาในหัวข้อต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ ไม่มีใครสั่ง หรือแม้กระทั่งสเปซทีเอชที่กร (กรทอง วิริยะเศวตกุล) ผม และเพื่อน ๆ ก่อตั้งขึ้นมาแล้วนำปัญหาการเมืองมาพูดในบริบทอวกาศก็ล้วนเกิดจากความพยายามต้องการการก่อกวนทางความคิดนี้ 

ภารกิจการผูกโบว์ขาว – 15 ตุลาคม 2563

15 ตุลาคม 2563 ความพยายามการสลายการชุมนุมรอบแรกในช่วงเช้าพร้อมการประกาศ พรก. ฉุกเฉินร้ายแรง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครทำให้ผมและกรมีเวลาหลังจากที่งานเสวนาเรื่องการเลือกตั้งสถานทูตสหรัฐฯ ต้องเลื่อนออกไป

ผมและกรเดินทางไปยังแยกราชประสงค์เพื่อรอดูการชุมนุมที่ท้าทายต่ออำนาจของรัฐฯ นักข่าวและเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนบริเวณหน้าร้าน Apple Store ผมตัดสินใจนำโบว์สีขาวในกระเป๋า เดินเข้าไปหาตำรวจตระเวนชายแดนนายหนึ่ง นักข่าวที่รอทำข่าวเริ่มสนใจต่อท่าทีและเริ่มบันทึกเหตุการณ์ที่ผมไม่คิดว่าจะกลายเป็นภาพที่ถูกจดจำมากที่สุดภาพนึงในวันนั้น ท่าทีตอนนั้นของผมไม่ได้คุกคามใคร

ผมมองหน้าเจ้าหน้าที่แล้วพูดว่าา “ผมขอผูกข้อมือให้ได้มั้ย” เจ้าหน้าที่มองงง พวกเขาไม่ได้ถูกสอนให้รับมือกับสถานการเช่นนี้ ภารกิจของพวกเขาในวันนี้คือการรับมือกับความรุนแรงผ่านโล่หนาและชุดคุมฝูงชนเต็มรูปแบบ เจ้าหน้าที่คนแรกปฏิเสธ ผมทำได้แค่วางโบว์สีขาวนั้นลงบนพื้น และบอกว่า “วันนี้รับไม่ได้ไม่เป็นไร วันหน้าเราอาจเป็นเพื่อนกัน” จนคนที่สอง ก็ยังไม่มีใครรับโบว์สีขาวนั้น มาจนถึงคนที่สาม หน้าตาของเจ้าหน้าที่ท่านนี้ดูเศร้ากว่าเพื่อน สายตาของเขาเหลือบมองโบว์สีขาวบนพื้นที่ถูกวางต่อ ๆ กัน ผมถามอย่างสุภาพอีกครั้ง “ให้ผมผูกข้อมือได้ไหมครับ” ผมถาม เจ้าหน้าที่ที่หน้าตาดูเศร้าค่อย ๆ พยักหน้า แต่ไม่โต้ตอบผ่านคำพูด ผมขอให้เขาค่อย ๆ ยื่นมือออกมา ผมบรรจงค่อย ๆ ผูกริบบินสีขาวนั้นเข้ากับข้อมือขวาของเจ้าหน้าที่ พร้อมพูดว่า “ไม่ว่าจะเกิดอะไรในค่ำคืนนี้ผมขอให้รู้ว่าเรามาอย่างสันติ” เป็นอันจบการก่อกวนทางความคิด 

ผมเลือกที่จะใช้วิธีการสื่อสารเช่นนี้และตั้งคำถามกับตัวเองเช่นกัน ว่าเจ้าหน้าที่คนแรกและคนที่สองคิดอะไรอยู่เมื่อเขาเห็นเจ้าหน้าที่คนที่สามยื่นข้อมือมาให้ผมผูก ในขณะที่เจ้าหน้าที่คนที่สามที่สายตาดูเศร้าสร้อย เขาเป็นใคร มาจากไหน อายุเท่าไหร่ และเขาคิดอะไรระหว่างที่ผมสื่อสารผ่านอวจนภาษานั้น ทุกอย่างคงเต็มไปด้วยคำถามไปหมด แต่นี่คือวัตถุประสงค์ เราคือสิ่งใหม่ สิ่งที่ชุดความคิดเดิมไม่รู้จัก หากพูดกันตามสถานภาพปัจจุบัน (Status quo) แล้ว ผู้ชุมนุมไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น และตำรวจไม่จำเป็นที่จะต้องรับ การกระทำของผมในวันนั้นจึงหวังให้เป็นการลงหมุดของการตั้งคำถามต่อมตินิยมที่พวกเขาถูกปลูกฝังมา 

วันถูกจับกุม – 16 ตุลาคม 2563 

16 ตุลาคม 2563 ในความชุลมุนหลังการสลายการชุมนุม นี่คือโอกาสที่เราจะทำให้ทุกคนได้เห็นอีกครั้งว่าศัตรูของเราไม่ใช่พวกเราด้วยกันเอง แต่มันคือความโง่เขลาที่ทำให้พวกเราไม่ยอมหลุดจาก Status quo ที่ฝังอยู่ในตัวพวกเราและทำให้พวกเราต้องมาห้ำหั่นกันเอาเป็นเอาตาย โบว์ขาวถูกนำไปยื่นให้กับเจ้าหน้าที่อีกครั้ง ครั้งนี้ไม่มีใครรับ แต่ภาพที่ปรากฎคือเจ้าหน้าที่ค่อย ๆ ถอยหลัง ผมเชื่อว่าพวกเขาไม่ได้ถูกสอนให้รับมือกับสถานการนี้เช่นเคย และเมื่อความพยายามจะวางโบว์ขาวกับพื้นของผมเข้ามาอีกครั้ง สิ้นเสียงนายของพวกเขาพูดคำว่า “จับ” ผมถูกรั้งตัวและนำขึ้นรถผู้ต้องขัง ทิ้งไว้เพียงโบว์สีขาวที่ภาพต่อจากนี้คือมันจะต้องถูกเหยียบโดยเจ้าหน้าที่ที่ตั้งแถวเดินกวาดล้างผู้ชุมนุมที่ยังคงหลงเหลืออยู่ 

แม้ผมจะถูกปล่อยตัวต่อมาไม่นานเนื่องจากศาลแขวงปทุมวันคัดค้านการฝากขัง แต่ภาพของตำรวจที่จับชายที่ยื่นโบว์ขาวให้กับพวกเขากลายเป็นหมุดหนึ่งที่ถูกบันทึกไว้ในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมวันที่ 16 ตุลาคม 2563 และนี่คือการก่อกวนทางความคิดที่น่าถกเถียงมากที่สุด บ้างก็ว่าผมสมควรแล้วเพราะไม่ยอมออกจากพื้นที่ชุมนุมตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ บ้างก็ว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ บ้างก็ว่าเจ้าหน้าที่จำใจต้องทำตามนายสั่ง แต่สุดท้ายเราก็ไม่อาจแก้สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วได้ 

เพื่อน ๆ นิสิตนักศึกษาอีกหลายคนที่ผมกล้าพูดว่ากล้าหาญกว่าผมมาก ใช้กลยุทธ์การต่อสู้นี้ พวกเขาเหล่านี้กล้าหาญในการวางหมุดหมายทางความคิดผ่านกิจกรรมต่าง ๆ นานา การฝังหมุดคณะราษฎร การไปยื่นใบลาออกให้กับนายกฯ ไปจนถึงการไปยื่นหนังสือที่สถานทูตฯ ทุกอย่างมีความหมายที่ซ่อนอยู่และเป็นการวางแผนในระยะยาวที่ในทุกก้าวจะเป็นหมุดหมายที่สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทย 

อนาคตของประเทศไทยในย่ำรุ่ง

หลังจากที่อ่านมาถึงตรงนี้ ผมอยากให้เข้าใจว่าความโง่เขลานั้นมีในตัวทุกคน ผมอาจโง่เขลาที่เลือกวิธีที่ทำให้ตัวเองต้องเจ็บตัว และเจ้าหน้าที่ก็อาจโง่เขลาในการกระทำที่ไม่อาจค้านต่ออำนาจของผู้สั่งการได้ แต่นี่คือการตั้งคำถามถึงอำนาจนิยม (Powernism) และอำนาจทางการสั่งการ (Authorithsm) ไม่ใช่หรือ เมื่อเวลาต้องพาเราไปข้างหน้าเสมอ เหตุใดเราจึงย่ำอยู่กับชุดความคิดเดิม 

การต่อสู้ระหว่างสิ่งใหม่กับสิ่งเก่านี้เกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย แต่สิ่งที่สำคัญคือการวางหมุดหมายไว้ในหน้าประวัติศาสตร์เพื่อเป็นข้อความที่บอกว่าคนรุ่นหน้าจะต้องเดินไปในทางไหน กิจกรรมของขบวนการนักศึกษา หรือคณะราฎรใหม่นี้ จึงเป็นการเผยให้เห็นถึงหมุดก่อน ๆ ที่เป็นข้อความที่คนรุ่นก่อนหน้าอยากจะสื่อสารกับเรา และเป็นการวางหมุดใหม่ ๆ ให้ ณ จุดหนึ่งคนในอนาคตมองย้อนกลับมาแล้วรู้ว่าพวกเขาจะเดินไปในทางไหน 

แม้ราคาของมันจะแพงแสนแพง และอาจแลกมาด้วยชีวิตหรืออิสรภาพ ความโง่เขลาของรัฐฯ ที่พยายามกักขังเยาชนของวันพรุ่งนี้ด้วยความไม่เข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น 

ผมมองสิ่งนี้คล้ายกับการประท้วงในฮ่องกง ในช่วงปลายปี 2019 ตอนที่ผมและทีมสเปซทีเอชเดินทางไปที่ประเทศสิงคโปร์เพื่อชมปรากฏการณ์สุริยุปราคา เราได้เจอกับกลุ่มนักศึกษาจากชมรมดาราศาสตร์ University of Hong Kong พวกเรามีโอกาสได้แชร์เรื่องราวและความคิดกันสั้น ๆ สิ่งที่ผมเห็นได้เหมือนกันก็คือพวกเขาคือกลุ่มคนที่หวังจะสร้างความเปลี่ยนแปลง และวางหมุดหมายเช่นกัน และผมก็รู้สึกว่าฮ่องกงไม่ได้สู้เพราะต้องการชัยชนะที่รวบรัด แต่พวกเขาอยู่ในการต่อสู้ระยะยาว ที่บอกคนรุ่นหลังว่าพวกเขาไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจของแผ่นดินใหญ่ 

หมุดหมายในการต่อสู้ระยะยาว

ในบริบทของไทยเราเอง ผมจึงขอสรุปไว้ถึงประเด็นสำคัญ ๆ สามข้อที่บทความนี้ต้องการจะสื่อ อย่างแรกเลยคือในเรื่องของการวางหมุดหมายเพื่อการต่อสู้ในระยะยาว เราจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับอะไรอีกเยอะ และแน่นอนว่าในการต่อสู้มีราคาของมัน แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เราจะไม่ได้วางหมุดหมายไว้ในหน้าประวัติศาสตร์

อย่างที่สองคือเรื่องของสิ่งใหม่ ผมคุยกับ ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ที่ผมเคยเรียนด้วยตั้งแต่ตอนที่ยังไม่ได้ลาออกจากจุฬา ดร.พิชญ์ บอกว่าพวกเราคือสิ่งใหม่ สิ่งที่คนยุคก่อน ความคิดยุคเก่าไม่เข้าใจ ตรงนี้ทำให้ผมนึกถึงหนังสือปรัชญาชีวิตของ คาลิล ยิบราน ที่ อ. ระพี ภาวิไล นำมาแปลในท่อนบุตรแห่งชีวิตว่า “เธออาจให้ที่อยู่แก่ร่างกายเขา แต่ไม่ใช่วิญญาณเขา เพราะวิญญาณเขาอยู่ในบ้านของวันพรุ่งนี้ที่เธอไม่อาจเยี่ยมเยือนได้แม้ในความฝัน”

และสุดท้ายคือเรื่องของความโง่เขลา นับตั้งแต่ยุคมืดที่ดูเหมือนจะเป็นยุคที่มืดมนที่สุด แต่มนุษย์ก็ยังคงหลงเหลือแสงสว่างแห่งปัญญาและยุคมืดก็สิ้นสุดลงในที่สุด ประเทศไทยเองก็เช่นกันเรายังคงเฝ้ารอยุคแห่งวิมตินิยม ยุคที่ความใหม่ไม่ใช่ภัยคุกคามแต่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องยอมรับให้ได้ ยุคที่เราใช้เหตุและผลได้อย่างไม่ต้องถูกมองว่าเป็นการล้มล้างความเชื่อ การต่อสู้นี้ยังอีกยาวไกลมาก แต่มันไม่ไม่ใช่การต่อสู้กับตัวบุคคลหากแต่เป็นการต่อสู้กับความโง่เขลาอันเป็นภาวะนึงที่ทุกคนย่อมมีเท่านั้น และมันไม่เคยน่ากลัวเลย และไม่ต่างอะไรกับวันแรกที่เราเปลี่ยนจากเด็กมัธยมมาเป็นเด็กมหาวิทยาลัย ไม่มีอะไรไปมากกว่านั้น 

“พวกเขาอาจกักขังร่างกายเราได้ แต่ไม่ใช่วิญญาณของเรา เพราะวิญญาณของเราอยู่ในบ้านของวันพรุ่งนี้ที่พวกเขาไม่อาจเยี่ยมเยือนได้แม้ในความฝัน” 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า