SHARE

คัดลอกแล้ว

ภาพ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลื่นล้มก้นกระแทกพื้นขณะเดินออกจากห้องประชุมสภา ในวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม 2562 ทำให้ประชาชนเป็นห่วง และในเวลาเดียวกันก็ตั้งคำถามต่อสุขภาพที่อาจจะส่งผลกระทบกับประสิทธิภาพในการทำงานในฐานะรองนายกรัฐมนตรี

ปัญหาสุขภาพหรืออาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ของผู้นำหรือผู้ที่มีอำนาจในการบริหารประเทศมีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อประเทศในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารประเทศของรัฐบาลจากทั้งประชาชนทั่วไปหรือนักลงทุน หรืออาจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมืองที่อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งในภายภาคหน้า 

ภาพลักษณ์ผู้นำที่เข้มแข็ง เป็นภาพที่สะท้อนว่าประเทศมีความมั่นคงแข็งแรง และพร้อมที่จะเดินต่อไปข้างหน้าได้ แต่ในทางตรงกันข้าม หากผู้นำการบริหารประเทศมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ก็อาจจะส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามถึงความสามารถในการบริหารงานหรือความพร้อมในการแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ ทั้งการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ

บ่อยครั้งที่รัฐบาลแต่ละประเทศจึงเลือกที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลหรือเผยแพร่ข่าวที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพของผู้นำประเทศ โดยหนังสือพิมพ์ The Guardian ได้ทำการรวบรวมตัวอย่างปัญหาสุขภาพและอาการเจ็บป่วยของผู้นำของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ความพยายามปิดเป็นความลับและการเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาเมื่อข้อมูลถูกเปิดเผยออกไป ดังต่อไปนี้ 

โรนัลด์ เรแกน 

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โรนัลด์ เรแกน ในปี 1981

โรนัลด์ เรแกน ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาถึง 2 สมัย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981 ถึง ค.ศ. 1989 โดยแพทย์ได้วินิจฉัยว่าเรแกนป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ในปี ค.ศ. 1994 หลังจากลงจากตำแหน่งแล้ว 5 ปี 

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอริโซน่า พบว่ารูปแบบการพูดของเรแกนเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นซึ่งมีลักษณะเชื่อมโยงกับอาการของโรคสภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นที่ชัดเจนว่าเกิดขึ้นก่อนหน้าหลายปีก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยจากแพทย์ออกมาอย่างเป็นทางการ แสดงให้เห็นว่าเรแกนมีอาการป่วยตั้งแต่ขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ไม่ได้เปิดเผยให้สาธารณะชนรับรู้ 

“(อดีต) ประธานาธิบดีเรแกนแสดงให้เห็นถึงการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของจำนวนคำที่โดดเด่น กล่าวคือ มีการใช้คำซ้ำมากขึ้น มานานแล้ว และมีการใช้คำแสดงช่วงหยุด (conversational fillers) และคำนามที่ไม่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น” วิซาร์ แบริชา และจูลี ลิสส์ อาจารย์ด้านศาสตร์ทางการพูดและการได้ยิน ระบุ

วินสตัน เชอร์ชิล

ในปี ค.ศ. 1966 แพทย์ประจำตัวของวินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรได้เปิดเผยว่าเชอร์ชิลต้องเผชิญกับความเครียด และความกดดัน เนื่องด้วยความรับผิดชอบและหน้าที่ ที่ต้องทำในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และเพื่อต่อสู้กับอาการดังกล่าว เชอร์ชิลจะดื่มไวน์และสูบซิการ์ โดยเฉพาะวันที่มืดมนที่สุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 

ในปี ค.ศ. 1941 เชอร์ชิลต้องเผชิญกับสภาวะหัวใจล้มเหลวที่ทำเนียบขาว และติดเชื้อในปอดในไม่กี่ปีหลังจากนั้น 

ในช่วงที่วินสตัน เชอร์ชิล ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรเป็นสมัยที่สอง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1951 จนถึง ค.ศ. 1955 ซึ่งอยู่ในช่วงที่เริ่ม “ไม่เหมาะกับการทำงาน” (gloriously unfit for office) เนื่องจากอายุที่มากขึ้น ประกอบกับปัญหาสุขภาพ ทำให้เชอร์ชิลมักจะต้องเข้ารับการรักษาบ่อยครั้งพร้อม ๆ กับการบริหารประเทศไปด้วย 

นอกจากนี้เชอร์ชิลยังเป็นโรคหลอดเลือดในสมองอุดตัน ที่ส่งผลให้ร่างกายครึ่งหนึ่งเป็นอัมพาต แต่กระนั้นเชอร์ชิลก็ยังจัดประชุมคณะรัฐมนตรีโดยที่ไม่มีใครสังเกตเห็นถึงความผิดปกติ ซึ่งแน่นอนว่าข่าวเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ถูกเก็บเป็นความลับไม่ให้ทั้งรัฐสภาและประชาชนรับรู้ และบอกผู้อื่นที่สงสัยว่าเชอร์ชิลมีเพียงอาการเหนื่อยจากการทำงานเท่านั้น 

โทนี แบลร์

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2004 จะพบกับข่าวที่ว่า โทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรในสมัยนั้นต้องรีบเดินทางไปที่โรงพยาบาลแฮมเมอร์สมิธ ที่ตั้งอยู่ในแถบตะวันตกของกรุงลอนดอน เพื่อทำการรักษาอย่างเร่งด่วน หลังจากมีอาการเจ็บบริเวณหน้าอกและมีการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ ซึ่งภาพของนายกรัฐมนตรีหนุ่มที่มีปัญหาทางสุขภาพได้สร้างผลกระทบต่อรัฐบาลอย่างมากในขณะนั้น 

โดยหลังจากเข้าทำการรักษาแล้ว โทนี แบลร์ ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจเต้นเร็วจากหัวใจห้องบน (Supraventricular Tachycardia) ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้มีอัตราการเต้นของหัวใจที่เร็วผิดปกติ และต้องเข้ารับการรักษาเพื่อทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเป็นปกติดังเดิม

“มันไม่ได้น่าตกใจเป็นพิเศษ และมันเป็นสิ่งที่ควรได้รับการแก้ไข ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติ” โทนี แบลร์ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการรักษาโรคดังกล่าว และยังกล่าวเพื่อสร้างความมั่นใจว่าอาการของโรคและการรักษาไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการทำงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และยังเน้นย้ำว่าตนเองมีวิถีการดำเนินชีวิตที่มีสุขภาพดี 

ฟิเดล คาสโตร 

ฟิเดล คาสโตร ผู้นำคิวบา ขณะขึ้นพูดที่องค์การสหประชาชาติในปี 1960

เมื่อผู้นำของสาธารณรัฐคิวบาและคู่ปรับทางการเมืองคนสำคัญของสหรัฐอเมริกาอย่าง ฟิเดล คาสโตร เข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการเลือดออกในลำไส้  จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นก็ได้ใช้จุดอ่อนที่เกี่ยวกับสุขภาพนี้โจมตีคาสโตร โดยกล่าวว่า “วันหนึ่งพระเจ้าจะนำพาฟิเดล คาสโตรให้สิ้นไป” 

ทางด้านของคาสโตรตอบโต้ว่า “ตอนนี้ ผมเข้าใจแล้วว่าทำไมผลถึงมีชีวิตรอดจากแผนการลอบสังหารของบุชและประธานาธิบดีคนอื่น ๆ นั้นเป็นเพราะพระเจ้าปกป้องผม”

ถึงแม้ทางการของคิวบาจะไม่เคยออกมายืนยันถึงปัญหาสุขภาพของคาสโตร แต่ในช่วงที่คาสโตรมีอายุก้าวเข้าสู่วัย 90 นั้น ก็ได้มีการคาดการณ์กันว่าอดีตผู้นำของคิวบาเป็นโรคถุงลำไส้อักเสบ ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ที่ถุงภายในลำไส้ใหญ่อักเสบ นอกจากนี้ คาสโตรยังได้เขียนข้อความต่าง ๆ ที่มีเนื้อความบางส่วนบ่งชี้ถึงสุขภาพร่างกายของเขาที่ไม่ปกติ เช่น การกล่าวถึงคำพูดของบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่า “เป็นคำพูดที่ช่างไพเราะ จนกลัวว่าตัวเองหัวใจจะวาย”

นอกจากตัวอย่างของผู้นำประเทศทั้ง 4 คนที่ได้ยกมาข้างต้นแล้วนั้น ยังมีผู้นำคนอื่น ๆ ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพและพยายามจะไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพให้สาธารณชนรู้ เช่น แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นโรคโปลิโอและทำให้ขาทั้งสองข้างเป็นอัมพาต ฟรองซัว มิเตร็อง ผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง หลังจากได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศสถึง 2 สมัย และเทเรซา เมย์ อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น 

สามารถอ่านตัวอย่างอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ ที่นี่ 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า