SHARE

คัดลอกแล้ว

ใครจะเชื่อว่าวันหนึ่งทายาทรุ่น 3 ซึ่งเป็นลูกสาวคนเล็กของบ้าน ผู้เรียนจบสถาปัตย์ ทำงานด้านอีเวนต์มาตลอด ไม่เคยทำรองเท้ามาก่อนเลยในชีวิต และไม่เคยคิดจะสานต่อธุรกิจของพ่อ จะกลับมารับช่วงต่อโรงงานรองเท้าหนังของครอบครัว จนสามารถต่อยอดสู่การทำแบรนด์รองเท้าและกระเป๋าที่ถูกใจคนรุ่นใหม่ได้สำเร็จ

ซึ่งทั้งหมดนี้คือเรื่องราวที่น่าสนใจของคุณ เก๋ – บุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์ ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ Youngfolks รองเท้ายูนิเซกส์ที่ทุกคนสวมใส่ได้ และ 31 Thanwa กระเป๋าหนังแฮนด์คราฟต์จากอาจารย์ช่างฝีมือ ที่ทำโดยช่างหนึ่งคนต่อหนึ่งใบ 

อย่างไรก็ตาม การที่ทั้งสองแบรนด์จะโดดเด่นเข้ากับยุคสมัยและทำให้ธุรกิจครอบครัวอยู่ต่อมาได้นั้น นอกจากจะด้วยฝีมือช่างและคุณภาพสินค้าแล้ว ยังมีอีกหลากหลายเรื่องราวที่ WorkpointTODAY อยากให้ทุกคนได้รู้ไปพร้อมกัน ผ่านมุมมองของทายาทรุ่นที่ 3 คนนี้

จุดเปลี่ยนที่ทำให้หันมามองธุรกิจครอบครัว

“ต้องบอกว่าตอนแรกไม่อินอะไรกับธุรกิจที่บ้านเลย ในบรรดาสามพี่น้องเคยคุยกันว่าถ้าหมดยุคอาป๊าก็ขายธุรกิจเลยนะ ไม่เอาแล้ว เพราะด้วยความที่ทุกคนมีความชอบเป็นของตัวเอง ถ้าวันหนึ่งอาป๊าไม่ทำ เราก็ไม่ทำ” 

คุณบุณยนุชกล่าวก่อนจะเล่าต่อว่า แต่ภายหลังเกิดจุดเปลี่ยนบางอย่างขึ้นมา นั่นคืออาป๊าล้มป่วยหนักมาก เพราะพยายามที่จะเลี้ยงดูทุกคนในครอบครัว ซึ่งรวมถึงทุกชีวิตในโรงงานด้วย เธอจึงรู้สึกว่าเหตุการณ์นี้ได้สะท้อนกลับมาว่าจริง ๆ แล้วตนเองมีต้นทุนที่ดีอยู่แล้ว ถ้าไม่ลุกขึ้นมาทำ ก็จะไม่มีใครสานต่อ แล้ววันหนึ่งจะรู้สึกเสียดายในสิ่งที่ทุกคนช่วยกันสร้างมา เลยต้องเปลี่ยนความคิด หันมาต่อยอดตรงนี้ เพื่อให้อาป๊าและทุกคนในโรงงานได้เห็นว่าสิ่งที่ตั้งใจทำกันมาทั้งชีวิตมันจะเติบโตต่อไปได้ และเพื่อเป็นการขอบคุณที่เขาเลี้ยงดูเรามาทั้งชีวิต

จะยั่งยืนต้องไม่เหมือนเดิม

คุณบุณยนุชเกริ่นถึงทั้งสองแบรนด์ของตนเองว่า แบรนด์ Youngfolks เป็นแบรนด์ที่ก่อตั้งมาประมาณ 9 ปีแล้ว ซึ่งถูกสร้างด้วยความรู้สึกที่ว่าถ้าจะกลับมาดูแลธุรกิจของที่บ้านที่ทำมาประมาณ 70 กว่าปีแล้ว ต้องไม่ทำอะไรแบบเดิม ๆ เพราะตอนนี้โลกและไลฟ์สไตล์ของคนเปลี่ยนไปแล้ว มันอาจจะไม่สร้างความยั่งยืน เนื่องจากเราทำสินค้าไลฟ์สไตล์ จะต้องหมุนไปตามกาลเวลา เลยอยากทำสินค้าใหม่ให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ ด้วยการนำองค์ความรู้ที่ครอบครัวมีอยู่แล้ว คือฝีมือการทำรองเท้าที่สั่งสมมานาน มาแปลงเป็นเครื่องหนังที่ทันสมัยมากขึ้น นอกจากนี้ก็มองว่าเครื่องหนังเป็นภูมิปัญญาที่แข็งแรง สามารถต่อยอดไปเป็นอะไรได้อีกมาก หลังจากนั้นประมาณ 5 ปี จึงเกิดเป็นแบรนด์ 31 Thanwa ขึ้นมา

อุปสรรคของทายาทรุ่นใหม่

แน่นอนว่าการรับช่วงต่อกิจการไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับธุรกิจที่ตนเองไม่เคยทำ เธอบอกกับเราว่า 

“จริง ๆ มันยากมาก เพราะหนึ่งเราเป็นลูกคนเล็กของบ้านที่ไม่เคยรู้เรื่องรองเท้าเลย แต่ต้องมาเจอกับอาจารย์ช่างทุกคนที่เขาทำมาทั้งชีวิต มันก็จะเป็นความยากว่าเราจะสามารถทำงานกับเขาได้อย่างไร และสองคือเรื่ององค์ความรู้ของเราที่น้อยมากถ้าเทียบกับคนอื่น เราต้องลงไปคลุกคลีกับอาจารย์ช่าง ไปลองลงมือทำเอง พอเขาได้เห็นว่าเราตั้งใจทำและเรียนรู้ ก็เข้าใจกันมากขึ้น ทุกอย่างค่อย ๆ สอนเราว่างานฝีมือไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในวันเดียว แต่ต้องฝึกทุกวันให้ดีกว่าเดิม ตอนแรกเราจะไม่รู้ก็ไม่ผิด เพราะอาป๊าหรืออาจารย์ทุกคนในโรงงานก็เริ่มจากการที่ไม่มีใครรู้มาก่อน แต่เขาฝึกฝนและพยายามกับมันไปเรื่อย ๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วเรามองว่างานฝีมือช่วยเกลาให้เราและอาจารย์ที่เป็นคนเจเนอเรชั่นรุ่นอาป๊ามาอยู่ด้วยกันได้ โดยการที่เราใส่ไลฟ์สไตล์และดีไซน์แบบใหม่เข้าไป ส่วนอาจารย์ช่างก็ใส่ภูมิปัญญาเข้าไป และทำให้สิ่งใหม่เกิดขึ้นมาในรุ่นของเรา”

จากรองเท้าสู่กระเป๋ากับการทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน

เมื่อทำรองเท้าออกมาเป็นไอเทมที่เหมาะสมกับคนรุ่นใหม่ได้แล้ว คุณบุณยนุชก็ต่อยอดไปสู่การทำกระเป๋าแบรนด์ 31 Thanwa อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนแรก แต่ครั้งนี้ดูแล้วจะยากกว่า เพราะคนในบ้านไม่มีใครเคยทำกระเป๋ามาก่อน 

“วันแรกที่เราบอกอาป๊าว่าจะทำกระเป๋า ทุกคนในบ้านก็งงกันมากว่าเราจะไหวเหรอ เพราะที่บ้านไม่เคยทำมาก่อน และเราก็ไม่มีความรู้ด้วย แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เราชอบ และเป็นสิ่งเดียวที่น่าจะถนัดที่สุด ด้วยความที่เรียนสถาปัตย์มาเลยมองว่ากระเป๋ามันคือโครงสร้างรูปแบบหนึ่งที่เราสามารถออกแบบโครงสร้างใหม่เองได้ ซึ่งต่างจากรองเท้าที่ต้องทำให้ฟิตกับหุ่น เลยรู้สึกว่ากระเป๋ามันจะทำให้เราได้ออกนอกกรอบมากกว่าเดิม”

เธอเล่าต่ออีกว่าวันแรกทุลักทุเลมาก หรือพูดง่าย ๆ คือเละเป็นโจ๊ก เพราะสิ่งที่คิดและออกแบบ กับสิ่งที่เราต้องเผชิญมันไม่เหมือนกันเลย วันนั้นทำไปประมาณ 30 กว่าใบ กว่าอาป๊าจะชมว่าสวย แต่ขณะเดียวกันมันก็ทำให้เห็นว่าทุกคนในโรงงานก็พร้อมลุยไปกับเรา 

การตลาดเชื่อมคนต้นน้ำถึงปลายน้ำ

นอกจากสินค้าแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ทั้งสองแบรนด์ภายใต้การดูแลของคุณบุณยนุชแตกต่างจากแบรนด์อื่น คือการนำเสนอครอบครัว และอาจารย์ช่างผู้ผลิตรองเท้าและกระเป๋าที่เป็นคนต้นน้ำ ให้ลูกค้าซึ่งเป็นคนปลายน้ำได้รู้จักมากยิ่งขึ้น ผ่านกลางน้ำคือสินค้า ด้วยการใช้คนในบ้านถ่ายแบบสินค้า แนบนามบัตรอาจารย์ช่างไปกับสินค้า รวมถึงการโพสต์รูปพวกเขาลงในเฟซบุ๊กของแบรนด์

“เราไม่ได้เป็นแบรนด์ที่ประกอบไปด้วยทีมงานสายการตลาดแต่เป็นสายครีเอทีฟมากกว่า ถ้าเราพยายามทำเหมือนคนอื่น สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ก็จะเหมือนคนอื่น ที่จะเป็นแค่นายแบบนางแบบมาสะพายกระเป๋าหรือใส่รองเท้า แต่เราเชื่อเสมอว่า ‘แฟชั่น’ มันมีคุณค่ามากกว่านั้น เราเลยลุกมาสร้างการตลาดในแบบของเรา เช่น ใช้คนในครอบครัวเรามาถ่ายแบบ เพราะรู้สึกว่าครอบครัวคือจุดเริ่มต้นในการทำแบรนด์ และอยากให้ทุกคนในบ้านได้กลับมาเดินไปด้วยกัน ซึ่งสร้างความฮือฮาในโลกโซเชียลได้มากโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ ทำให้เวลาเราไปออกบูธที่ไหน ลูกค้าก็จะทักทายถึงครอบครัวเราด้วย กลายเป็นว่าลูกค้าของเราก็กลายเป็นคนในครอบครัวไปด้วย ในส่วนของอาจารย์ช่างฝีมือเอง เราเชื่อว่ากระเป๋าและรองเท้าแต่ละคู่แต่ละใบถูกทำมาจากความตั้งใจของคนกลุ่มหนึ่งที่เขาฝึกฝนมาทั้งชีวิต ถ้าคนที่ซื้อไปใช้ได้รู้ว่าใครเป็นคนทำ ก็เหมือนเป็นการส่งกำลังใจให้กับอาจารย์ แล้วอาจารย์ก็ส่งต่อพลังนั้นกลับมาเป็นกำลังใจของลูกค้าอีกทอดหนึ่ง เกิดการเชื่อมต่อระหว่างคนต้นน้ำกับปลายน้ำ ผ่านสินค้าของเราที่เป็นกลางน้ำ ลูกค้าหลายคนก็จะรู้สึกภูมิใจกับการเลือกซื้อของแบรนด์เรา เพราะได้สนับสนุนช่างฝีมือดี ๆ”

สร้างมูลค่าและความยั่งยืนในสไตล์ Youngfolks & 31 Thanwa

ตัวตนของแบรนด์ตั้งต้น การปรับตัว และการต่อยอดสิ่งใหม่ คือหัวใจสำคัญที่ทายาทรุ่นที่ 3 คนนี้ใช้สร้างความยั่งยืนให้กับแบรนด์ ซึ่งเธออธิบายว่าความที่เธอเป็นคนรุ่น 3 ที่เข้ามาสืบทอดธุรกิจ ก็จะเติมสิ่งใหม่ ๆ ลงไปกับสิ่งเดิม เพื่อเพิ่มความสนุกและความแปลกใหม่ให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันการปรับตัวก็สำคัญ เพราะถ้าสุดท้ายแล้วยังทำอะไรเหมือนเดิม การที่จะพัฒนาต่อมันก็อาจจะยังอยู่ที่เดิม 

ส่วนเรื่องมูลค่านั้นเธอเชื่อว่าถ้ามองแต่การสร้างรายได้อย่างเดียว วันหนึ่งถ้ามีคนทำเลียนแบบ เขาก็จะแย่งฐานกำลังซื้อเราไป และคนก็จะลืมแบรนด์เรา ส่วนคนที่เป็นคนทำงานเขาก็จะรู้สึกว่าทำงานเพื่อแลกกับเงินเท่านั้น แต่ถ้าเราชัดเจนว่าเราสร้างทุกอย่างแบบมีคุณค่า มีตัวตน มีเหตุและผล ไม่ได้ทำแล้วจบไป มันจะทำให้เกิดความรัก และทำให้เกิดความยั่งยืนในสิ่งที่เราทำและในทุกเส้นทางที่ทุกคนก้าวเดินไปด้วยกัน 

คิดแบบทายาทรุ่น 3

“โลกของเรามันหมุนไปเรื่อย ๆ การจะทำธุรกิจแบบเดิมอาจจะไปไม่รอดหรือไม่เกิดความยั่งยืน ดังนั้นเมื่อมันมาถึงยุคของเราแล้ว ต้องมองว่าต้นทุนที่มีอยู่และส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่นมันเป็นของขวัญ พอเราคิดแบบนี้ก็จะทำให้รู้สึกว่ามีความรับผิดชอบในสิ่งที่ได้มาอย่างยากลำบากและอยากส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไป เพราะถ้าเรามีความคิดว่าอยากจะส่งต่อให้คนอื่น ก็จะอยากที่จะลงมือทำ แม้ว่าต้องผ่านอุปสรรคมากมาย เพื่อที่ว่าวันหนึ่งคนที่จะเป็นไม้ต่อของเราเขาจะได้รับของขวัญที่ดีที่สุดไปเช่นเดียวกัน”

THAitems รองเท้าและกระเป๋าจากหนังและผ้าทอทวีต

โครงการ THAitems ครั้งล่าสุดนี้ เป็นอีกครั้งที่คุณบุณยนุชได้นำองค์ความรู้เดิมมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ โดยใช้ผ้าทอทวีต สีขาวดำ ของจังหวัดปทุมธานีมาผสมผสานกับแผ่นหนัง เพื่อทำรองเท้าและกระเป๋าดีไซน์ทันสมัยที่ใช้สนุกได้ในทุกวัน

“รู้สึกภูมิใจที่ได้เข้ามาร่วมโครงการนี้ เพราะเราเป็นดีไซเนอร์ที่ทำเครื่องหนังเป็นหลัก แต่ว่าโครงการนี้ส่วนใหญ่เป็นผ้า ซึ่งถ้าปกติแล้วคนส่วนใหญ่จะมองว่าผ้าถูกผูกติดกับการทำเสื้อผ้า เราเลยนำผ้ามาทำเป็นของใช้ เพราะรู้สึกว่าน่าตื่นเต้น น่าสนุก และท้าท้าย เพราะต้องทำให้คนลบภาพจำว่าผ้าไทยต้องไปตัดเป็นชุดเท่านั้น หรือเป็นผ้าที่คุณพ่อคุณแม่ใส่เท่านั้น และต้องทำอะไรที่สนุกสนานสำหรับคนรุ่นใหม่ให้ได้”

ส่วนสาเหตุที่เลือกใช้ผ้าประเภทนี้ เพราะเป็นผ้าจากพลังคนรุ่นใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาผ้าไทยจะมาจากการถักทอของชุมชน แต่ผ้าทอทวีตถักทอโดยน้อง ๆ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอรู้สึกว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่ว่าผ้าไทยกับคนรุ่นใหม่ก็ยังสานต่อได้ และคนรุ่นใหม่ก็รู้สึกว่าผ้าไทยยังสนุกสนานอยู่ 

“ผ้าทอทวีตหนามาก ขนฟูมาก และมีความอ่อนนุ่ม แตกต่างจากผ้าอื่น ๆ แต่เราไม่ได้มองว่านั่นคือข้อเสีย กลับมองว่ามีความงามซ่อนอยู่ แค่ต้องใช้สิ่งที่เรามีอยู่ก็คือหนังมาช่วยเสริมโครงสร้างภายใน ลดความอ่อนนุ่มลง และสร้างเป็นลวดลายใหม่ ทำให้เกิดเป็นภาพลักษณ์ใหม่ของการใช้ผ้า ที่ไม่ใช่แค่การนำมาตัดแปะแล้วจบไป”

THAI TEXTILES TREND BOOK SPRING/SUMMER 2022 จุดร่วมของคนทุกรุ่น

ท้ายนี้ คุณบุณยนุชกล่าวถึง THAI TEXTILES TREND BOOK SPRING/SUMMER 2022 เทรนด์บุ๊กจากการต่อยอดของโครงการ THAitems ว่าเป็นความโชคดีที่มีเทรนด์บุ๊กเล่มนี้ เพราะทำให้ความเป็นไทยอย่างสีสันต่าง ๆ ถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้คนได้เห็นว่าสีของผ้าไทยไม่ได้มีแค่โทนสีเดียว แต่ในโทนสีหนึ่งยังมีอีกหลายเฉดสี และแต่ละสีล้วนมาจากธรรมชาติที่หาได้จากในประเทศไทยทั้งหมด เธอรู้สึกว่าสิ่งนี้ทำให้คนไทย ทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่ามีจุดยืนร่วมกันว่าดีไซเนอร์และคนทำแบรนด์จะต้องผลิตอะไรที่ตรงกับเทรนด์ของปีหน้า ส่วนลูกค้าเองก็จะได้รู้ว่าปีหน้าเขาฮิตอะไรกัน เหมือนเป็นการเชื่อมโยงระหว่างคนผลิต คนออกแบบ และคนที่นำไปใช้ ช่วยทำให้วงการแฟชั่นไทยมีความกลมกล่อมและร่วมสมัยมากขึ้น 

เราเชื่อว่าทั้งหมดนี้จะทำให้ทุกคนเห็นว่าแบรนด์ Youngfolks และ 31 Thanwa คือหนึ่งในแบรนด์แฟชั่นไทยที่ทำให้ภาพจำของผ้าไทยในสายตาของคนไทยรุ่นใหม่หรือแม้แต่คนต่างชาติเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะวันนี้ผ้าไทยได้กลายเป็นความร่วมสมัยที่ใช้ได้ทุกโอกาส และสามารถเป็นไอเทมใดในชีวิตประจำวันก็ได้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า