Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

เส้นทางที่คดเคี้ยวเลี้ยวเลาะจากเชิงดอย มุ่งสู่พระราชนิเวศน์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2504 เพื่อใช้ต้อนรับพระราชอาคันตุกะ และใช้เป็นที่ประทับในคราวที่พระองค์และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จแปรพระราชฐานมาพักแรมที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทรงเยี่ยมเยียนราษฎรและทรงติดตามงานในโครงการตามพระราชดำริในเขตภาคเหนือ

ที่นี่คือ “พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์” หนึ่งในพระตำหนักที่รัชกาลที่ 9 โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อทรงติดตามงานในโครงการพระราชดำริในแต่ละภูมิภาค

เมื่อแรกสร้าง ที่นี่ยังคงเป็นสวนป่า ระหว่างตัวพระตำหนักกับเรือนรับรองตกแต่งด้วยสวนไม้ใบและสวนหิน ในวันหนึ่งขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนิน ได้ทอดพระเนตรเห็นกุหลาบกอหนึ่ง จึงมีพระราชปรารภว่า โปรดไม้ดอกที่มีหลากสีและกลิ่นหอมเช่นนี้มากกว่าไม้ใบที่มีแต่สีเขียวอย่างเดียว นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “กุหลาบภูพิงค์”

สวนกุหลาบที่ อาจารย์ประชิด วามานนท์ และนายไพลิน มหาวานิช ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบทางด้านงานสวนในพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ได้ปรับเปลี่ยนสวนหินให้กลายเป็นแปลงกุหลาบนานาพันธุ์ ที่มีทั้งกุหลาบพื้นบ้านและกุหลาบสายพันธุ์ ต่อมาได้มีพระราชเสาวนีย์ให้หาพันธุ์กุหลาบจากต่างประเทศมาปลูกเพิ่ม โดยพระองค์ท่านทอดพระเนตรและทรงเลือกเองอย่างพินิจพิเคราะห์ ทำให้ได้กุหลาบพันธุ์ต่างประเทศรุ่นแรกจำนวน  37 สายพันธุ์ และต่อมาได้รวบรวมพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ จนปัจจุบันมีมากมายกว่า 480 สายพันธุ์

ที่สำคัญ นอกจากความสวยงามดุจอุทยานสวรรค์ ที่นี่ยังถือเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้เกี่ยวกับกุหลาบที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย

“อยากให้ภูพิงคราชนิเวศน์แห่งนี้ เปรียบเสมือนกับสวนพฤกษศาสตร์ ที่คนทั่วไปได้มาศึกษาหาความรู้จากพันธุ์ไม้ที่ปลูกไว้ โดยเฉพาะกุหลาบที่มีปลูกรวบรวมไว้หลายร้อยสายพันธุ์ และอยากให้คนไทยที่ไม่มีโอกาสได้ไปชมสวนไม้ดอกสวยๆ ที่ต่างประเทศ ก็สามารถชมได้ในประเทศไทยคือที่ภูพิงคราชนิเวศน์แห่งนี้”

พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่อยู่เบื้องหลังความสวยงามที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งน้อยคนนักจะรู้

 

ราชินีแห่งดอกไม้

กุหลาบภูพิงค์ ในระยะแรกแม้จะไม่ได้มีการวางแผนออกแบบอย่างถูกต้องตามหลักวิชา แต่เป็นที่พอพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ยิ่งนัก ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงสุวรี เทพาคำ นางสนองพระโอษฐ์ ผู้มีประสบการณ์ในการปลูกและดูแลกุหลาบดำเนินการจัดทำสวนกุหลาบในบริเวณพระตำหนัก จึงมีการวางแผน ออกแบบแปลน และจัดหมวดหมู่กุหลาบอย่างเป็นระบบ รวมทั้งได้ขยายพื้นที่การปลูกออกไปจนกระทั่งเต็มหน้าพระตำหนักทั้งหมดถึงหน้าเรือนรับรอง

พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ พระตำหนักทรงไทยงามสง่าอยู่ท่ามกลางแมกไม้อันร่มรื่น จึงงดงามไปด้วยหมู่มวลกุหลาบนานาพันธุ์ ทั้ง กุหลาบดอกเดี่ยว (Hybrid Teas) กุหลาบพวง (Floribundas) กุหลาบพวงดอกใหญ่ (Grandifloras) กุหลาบหนู (Miniatures) และ กุหลาบเลื้อย (Climbers) ที่เบ่งบานอวดสีสันให้ดอกโตชนิดที่ไม่เคยพบเห็นที่ใดมาก่อน

เมื่อรวมกับดอกไม้เมืองหนาวต่างชนิด ต่างสี หลากกลิ่น รวมทั้งกลิ่นหอมที่อบอวลอยู่ทุกหนแห่ง จึงทำให้พระราชนิเวศน์แห่งนี้ราวกับอุทยานบนสรวงสวรรค์

จากความสวยสดงดงามของกุหลาบเหล่านี้ ทำให้บรรดาพระราชอาคันตุกะ และทูตานุทูต ภริยาทูตานุทูต และชาวต่างประเทศที่เข้าเฝ้าฯ หรือมารับพระราชทานเลี้ยงในโอกาสอันเหมาะสม อดไม่ได้ที่จะอุทานด้วยความแปลกใจและประทับใจว่า ไม่เคยเห็นกุหลาบที่ใดในโลกจะสวย ดอกใหญ่ และหอมหวนเทียบเท่า “กุหลาบภูพิงค์”

 

ควีนสิริกิติ์’ เสน่ห์แบบตะวันออก

กุหลาบควีนสิริกิติ์

พระราชนิเวศน์แห่งนี้ ยังมีความสวยงามของระดับโลกอย่างกุหลาบ “ควีนสิริกิติ์” ชื่อตามพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ออกดอกสะพรั่งในทุกฤดูกาล สมกับพระสิริโฉมงดงามซึ่งเป็นที่เลื่องลือไปไกล

กุหลาบ “ควีนสิริกิติ์” อยู่ในวงศ์ ROSACEAE เป็นลูกผสมระหว่างกุหลาบพันธุ์ Konigin der Rosen และ Golden Giant  เกิดเป็นพันธุ์ “Peer Gynt” ซึ่งมีความสวยงามระดับโลก ได้นำออกเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2511 และปี พ.ศ. 2513 ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดกุหลาบที่กรุง Belfast ประเทศไอร์แลนด์

นายอังเดร เฮนดริกซ์ (Andre’ Hendrickx) ผู้อำนวยการเรือนกุหลาบ “Grandes Roseraies du Val de Loire” ประเทศฝรั่งเศส จึงได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญพระนามาภิไธย “สิริกิติ์” เป็นชื่อของกุหลาบลูกผสมพันธุ์นี้ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2514

ในเอกสารเรือนกุหลาบมีคำบรรยายว่า

“…ดุจพระราชินีแห่งประเทศไทยผู้ทรงพระสิริโฉม เป็นเสน่ห์แบบตะวันออกที่เหนือตะวันตก…”

หลังจากนั้นจึงมีการนำกุหลาบควีนสิริกิติ์มาปลูกรอบๆ พระตำหนัก และบริเวณรอบรูปปั้นกินรีตรงหน้าพระตำหนักแทนกุหลาบพันธุ์เดิม ไม่เพียงแต่กุหลาบควีนสิริกิติ์เท่านั้น พระองค์ท่าน ยังโปรดเกล้าฯ ให้สั่งกุหลาบพันธุ์ต่างๆ สีแปลกๆ จากต่างประเทศมาปลูก

เป็นต้นว่า ไวท์ มาสเตอร์พีซ (White Master Pieces) ที่มีกลีบสีขาวสะอาด, โอกลาโฮมา (Oklahoma) กลีบสีแดงเข้ม, ชิคาโกพีซ (Chicago Peace) สีเหลืองอมชมพู, จัสท์โจอี้ (Just Joey) กลีบสีเหลืองจำปา, อซูร์ซี (Azure Sea) กลีบสีม่วง ฯลฯ นอกจากนี้ บางครั้งเมื่อเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ ก็จะทรงเลือกกุหลาบพันธุ์ที่สวย ดอกใหญ่ มาปลูกเพิ่ม เมื่อรวมกับกุหลาบอีกหลายพันธุ์ที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย ทำให้แปลงกุหลาบขยายไปยังฝั่งผาหมอนและรอบอ่างเก็บน้ำ แทนไม้ล้มลุกที่ปลูกไว้แต่เดิมอีกด้วย

กุหลาบควีนสิริกิติ์ บริเวณรอบรูปปั้นกินรี

 

รังสรรค์สู่งานศิลปาชีพ

กุหลาบภูพิงค์ ยังใช้ประโยชน์เป็นต้นแบบในงานศิลปาชีพต่างๆ หลายอย่าง เช่น เป็นต้นแบบลายผ้าปักซอยแบบโบราณ ซึ่งเป็นงานประณีตที่ต้องใช้ความชำนาญผสมผสานกับจินตนาการในการปักลวดลายและสีสันอันหลากหลายของเส้นไหม เมื่อสำเร็จออกมาแล้วจะเป็นภาพที่งดงาม และมีชีวิตชีวาราวกับภาพเขียนหรือภาพถ่าย

นอกจากนี้ ยังมีภาพวาด ภาพเขียน งานปั้นเซรามิก ซึ่งมีการเขียนเป็นลายกุหลาบควีนสิริกิติ์ และนำมาทำเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ ทั้งแบบดอกเดี่ยวและประดิษฐ์เป็นช่อ โดยการใช้ผ้าตัดย้อมเลียนแบบเทียบสีจากดอกจริง เพื่อให้สีสันเหมือนของจริงที่สุด เช่น เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา ได้พระราชทานกุหลาบควีนสิริกิติ์ที่เป็นดอกไม้ประดิษฐ์ ซึ่งเป็นกุหลาบดอกเดี่ยวแก่ผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมงานที่พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน และมีคำอธิบายที่มาของชื่อกุหลาบควีนสิริกิติ์อยู่ หากเป็นงานพระราชทานเลี้ยง จะมีการนำงานศิลปาชีพไปจัดประดับตกแต่งด้วยทุกครั้ง เพื่อแสดงถึงผลงานคนไทยที่มีความสามารถ และเป็นงานประดิษฐ์ที่สวยงามยิ่ง

งานศิลปาชีพ ซึ่งมีต้นแบบจากกุหลาบภูพิงค์

 

กุหลาบกับสายใยแห่งพระเมตตา

แม้กุหลาบในพระราชอุทยานแห่งนี้ จะได้รับการกล่าวขวัญจากผู้มาเยือนว่า เป็นกุหลาบที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ความงดงามแห่งมวลบุปผาที่แฝงอยู่ ยังมีความหมายมากกว่าความงามในรูปลักษณ์สีสันภายนอก นั่นคือความรัก ความเมตตา และมิตรไมตรี ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงมีให้ โดยจะทรงใช้กุหลาบในพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ พระราชทานแก่พระราชอาคันตุกะ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทหาร ตำรวจ ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ บุคคลที่ทรงรู้จัก บุคคลที่ทรงคุ้นเคย ผู้ใกล้ชิดที่ได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาท

บางครั้งแม้จะเป็นจำนวนไม่มาก เพียง 1 – 2 ดอก แต่ก็ยังความปลื้มปีติยินดีเป็นล้นพ้นแก่ผู้ได้รับพระราชทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นกุหลาบพันธุ์ควีนสิริกิติ์ เนื่องจากเป็นกุหลาบพระนามแห่งพระองค์อย่างแท้จริง สำหรับผู้เจ็บป่วยเมื่อได้รับดอกไม้เยี่ยมไข้ ทำให้มีกำลังใจดีขึ้นมาก กุหลาบ ณ พระตำหนักภูพิงค์ จึงมิใช่เป็นเพียงดอกไม้ที่งดงามประดับต้นเท่านั้น หากยังเป็นดอกไม้ที่มีความหมายอันลึกซึ้ง

สมเด็จพระราชินี ในรัชกาลที่ 9 พระราชทานกุหลาบแก่พระราชอาคันตุกะ

สายใยแห่งพระเมตตายังเผื่อแผ่ถึงพสกนิกรทุกหมู่เหล่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้เปิดพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์อย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2543 เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป รวมทั้งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้เข้าศึกษาเยี่ยมชมความงดงามของกุหลาบ ไม้เมืองหนาว และทัศนียภาพที่สวยงามโดยรอบ

สิ่งสำคัญ พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้ภูพิงคราชนิเวศน์เป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่รวบรวมพันธุ์ไม้ โดยจำแนกหมวดหมู่ทางวิทยาศาสตร์ไว้อย่างเป็นระเบียบ มีการลงข้อมูลและติดป้ายชื่อไว้ และเปิดให้สาธารณชนเข้าชม เพื่อประโยชน์ในการพักผ่อนหย่อนใจ การศึกษาและวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกุหลาบที่มีมากกว่า 480 สายพันธุ์

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ ฑีฆายุกา โหตุ นาถปรมราชินี

 

เรื่องน่ารู้

กุหลาบทรงโปรด

กุหลาบควีนสิริกิติ์

กุหลาบควีนสิริกิติ์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นดอกไม้ที่มีความสวยงามระดับโลก เนื่องจากเป็นกุหลาบที่มีดอกใหญ่งดงาม มีสีเหลืองสดใส กิ่ง ก้าน และใบแข็งแรง กิ่งเดียวอาจจะมีดอกได้ถึง 1 – 3 ดอก มีกลิ่นหอมอ่อนๆ และถ้าถูกแดดจัด ตรงปลายกลีบจะแปรเป็นสีส้มเรื่อๆ งามจับตายิ่งนัก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 โปรดกุหลาบควีนสิริกิติ์ยิ่ง นอกจากทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ดูแลรักษาอย่างดีแล้ว ยังทรงใช้กุหลาบควีนสิริกิติ์ทั้งดอกสดและดอกไม้ประดิษฐ์ เพื่อแสดงมิตรไมตรีในคราวต่างๆ อีกด้วย

กุหลาบมอญ

กุหลาบมอญ จัดอยู่ในวงศ์ ROSACEAE เป็นดอกไม้อีกชนิดหนึ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 โปรด ด้วยมีกลิ่นหอม มีบันทึกกล่าวไว้ว่าได้มีการนำกุหลาบมอญเข้ามาปลูก ราวปี พ.ศ. 2112 – 2133 ในกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากเป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม จึงสามารถนำมาสกัดเป็นหัวน้ำหอมได้

กุหลาบจัสท์โจอี้

กุหลาบจัสท์โจอี้ (Just Joey) เป็นกุหลาบประดับสวนประเภทดอกใหญ่ (Hybrid Tea) ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 โปรดยิ่งนัก กุหลาบชนิดนี้มีสีสันสวยงาม ดอกใหญ่ กลีบสีเหลืองจำปา ที่สำคัญ จัสท์โจอี้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ของกุหลาบลูกผสมพันธุ์ใหม่ ได้แก่ กุหลาบภูพิงค์ 1 ภูพิงค์ 3 และภูพิงค์ 10

กุหลาบจัสท์โจอี้

กุหลาบจัสท์โจอี้

กุหลาบไวท์มาสเตอร์พีซ

กุหลาบไวท์มาสเตอร์พีซ

กุหลาบไดอานา

กุหลาบพีซ

กุหลาบลามาร์แซแยส

กุหลาบแอลูม

 

(เครดิตภาพ: bhubingpalaceWan Tเกร็ดความรู้)

———-

บทความโดย: สัญญา จันทร์เหนือ

นักเขียนอิสระ

 

อ่านข่าวอื่นได้ที่
เว็บไซต์: workpointnews.com
เฟซบุ๊ก: ข่าวเวิร์คพอยท์ ตลาดข่าว
ยูทูบ: workpoint news
ทวิตเตอร์: workpoint news
อินสตาแกรม: workpointnews

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า