Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ถือเป็นครั้งแรกที่กองทัพบกได้เปิดโอกาสให้ชมสมรรถนะของรถถังที่จัดซื้อมา เมื่อวันที่ 24 มกราคม และ 26 มกราคม 2561 ที่ค่ายอดิศร ศูนย์การทหารม้า จ.สระบุรี หลังจากที่มีข้อสังเกต และคำถามเกี่ยวกับการจัดหายุทโธปกรณ์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน  โดยเฉพาะ รถถัง VT-4  จำนวน 1 กองพัน ที่มีการเซ็นสัญญาในการจัดซื้อระยะแรกโดย พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ดูแลงานด้านส่งกำลังบำรุง  กับตัวแทนรัฐบาลจีนนั้น จะเป็น “รถถังเสิ่นเจิ้น” ไร้ประสิทธิภาพ และ มีปัญหาเรื่องอะไหล่การส่งกำลังบำรุงเหมือนรถถัง T-69 ในอดีตที่ต้องขนส่งขึ้นเรือไปซ่อมกันถึง “เมืองจีน”  หรือไม่

แต่ในที่สุด ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อประเทศยูเครนเกิดสงคราม การผลิตและจัดส่งยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 ที่กองทัพบกจัดหาเข้าประจำการไม่เป็นไปตามกำหนดเดิม ส่งผลให้การพิจารณายานรบ ประเภทรถถังเพื่อเข้าประจำการในระยะต่อมาได้รับผลกระทบไปด้วย กองทัพบกมองหาตัวเลือกบริษัทใหม่ๆ เพราะ ได้มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีไปแล้ว จากเดิมบริษัทตัวแทนจำหน่วยรถถัง T-84 oplot ซึ่งเป็นตัวแทนเดียวกับยานเกราะล้อยาง BTR  ไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการฯ เนื่องจากเกรงว่าจะมีผลกระทบจากการจัดส่งล่าช้าเหมือนรถเกราะล้อยาง (ในปัจจุบัน oplot  ส่งถึงมือ ทบ.ไทย และเข้าประจำการที่กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์แล้ว 25 คัน)

หวยเลยไปออกที่ “จีน” เพราะมาถูกที่ -ถูกเวลา  เมื่อภาพรวมของสถานการณ์การเมืองภายในประเทศไทย ที่ช่วงแรกๆ ของการรัฐประหาร ฝ่ายมหาอำนาจตะวันตกยังมีท่าทีบอยคอต-กดดันไทย แต่จีนยืนเคียงข้างช่วยคานอำนาจกับสหรัฐฯ ให้ไทยด้วย  อีกทั้ง จีนเองก็ต้องการเปิดตลาดรถถังรุ่นดังกล่าว ในหลายประเทศ ทั้งเอเชีย และอเมริกาใต้  การเสนอ “ออฟชั่น” ให้กับไทยจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่คณะกรรมการฯ นำมาชั่งน้ำหนักและเลือกซื้อ “ของจีน” ในที่สุด โดยเฉพาะการตั้งศูนย์ซ่อมในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นฐานการผลิตเรื่องอะไหล่และซ่อมบำรุงในภูมิภาค  เพื่อสนองตอบต่อการขายอาวุธให้กับประเทศในภูมิภาคนี้

พรีเซ็นเตอร์ “รถถัง” มหามิตร

หากย้อนกลับไป การจัดหารถถังดังกล่าวก็เพื่อทดแทนรถถังเบา M-41 ที่กำลังจะปลดประจำการ โดยระยะที่ 1 วงเงิน 5,020 ล้านบาท จัดหาจำนวน 28 คัน (ส่งถึงไทยครบหมดแล้ว) และ เปิดแสดงสมรรถนะให้ดู, ห้วงที่ 2 วงเงิน 2,030 ล้านบาท จัดหาจำนวน 10 คัน พร้อมด้วย ยุทโธปกรณ์สนับสนุนรวมทั้งกระสุนประเภทต่างๆ  (ดำเนินกรรมวิธีเอกสารสัญญาไปเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา) ห้วงที่ 3 วงเงิน 1,900 ล้านบาทเศษ จัดหาจำนวน 10 คัน พร้อมรายการสำคัญอื่นๆ  “ดีดลูกคิด” รวมงบประมาณในการจัดหา 1 กองพันเท่ากับ  8,900 ล้านบาท

VT-4 เป็นรถถังหลักรวมเทคโนโลยีที่ทันสมัย ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อรองรับสภาวะการสงครามแบบสมัยใหม่ ระบบควบคุมการยิงเป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมด  มีระบบนำวิถีด้วยแสงเลเซอร์ และสามารถยิงได้ไกลสุดถึง 4,500 เมตร พร้อมทั้ง ระบบควบคุมการยิงแบบ HUNTER KILLER  มีระบบป้องกันตัวเองแบบแอคทีฟเชื่อมต่อกับระบบแจ้งเตือนการถูกตรวจจับด้วยแสงเลเซอร์ติดตั้งระบบดับเพลิ งและ ระงับการระเบิดชนิดใหม่ ควบคุมการทำงานในตัวรถด้วยระบบดิจิทัลโดยสมบูรณ์  ติดตั้งระบบนำทางและระบุตำแหน่ง

คุณลักษณะเฉพาะ มีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่บนถนน 70 กม./ ชม. ในภูมิประเทศเฉลี่ย 35-40 กม./ ชม. ระยะปฏิบัติการ  500 กม. ปีนลาดชันได้สูงสุด 60 เปอร์เซ็นต์ ลุยน้ำลึก 4-5 เมตร  ส่วนระบบอาวุธ ประกอบด้วย อาวุธหลัก ปืนใหญ่รถถังลำกล้องเรียบขนาด 125 มม. ปืนกลต่อสู้อากาศยาน  ปืนกลร่วมแกน เครื่องยิงระเบิดควัน และ ลูกระเบิดสังหาร  ระบบกระสุน ความเร็วในการบรรจุ 8 นัด / นาที

จีน ได้อบรมบุคคลที่กองทัพบกไทยส่งไปฝึกในตำแหน่งช่างอาวุธปืนใหญ่รถถัง และช่างยานยนต์สายพาน ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนก่อน และกลับมาฝึกอบรมตามหลักสูตรพลประจำรถเพิ่มเติม ใช้เวลา 8 สัปดาห์ ชุดแรก 60 คน ที่ศูนย์การทหารม้า จังหวัดสระบุรี โดยมีเจ้าหน้าที่จากจีนให้คำแนะนำ   โดยจะจบหลักสูตรการฝึกในต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้

ส่วนการบรรจุรถถังเข้าประจำการนั้น จะส่งมอบให้กองพันทหารม้าที่ 6 กรมทหารม้าที่ 6 (ม.6 พัน.6 )  ขอนแก่น ซึ่งปัจจุบันมีรถถังเบา 32 (Stingray) ประจำการอยู่ก็จะปรับโอนย้าย ให้กับกองพันทหารม้าที่ 9 (ม.พัน 9)และ กองพันทหารม้าที่ 21 กรมทหารม้าที่ 6 (ม.6 พัน.21) จ. ร้อยเอ็ด ส่วน M- 48 A-5  จะคืนคลังกรมสรรพาวุธ ทบ. เพื่อปรนนิบัติบำรุงก่อนส่งไปแทน M41 A3 ที่ กองพันทหารม้าที่ 8 กรมทหารม้าที่ 7 (ม.7 พัน.8) นครราชสีมา

สื่อจีนมาทำข่าว โชว์รถถังที่ไทยซื้อจากจีน

สลายภาพลักษณ์ของก็อป-ต่อยอด

ด้วยความทันสมัย และรูปลักษณ์ที่ “จีน” หวังว่าจะลบภาพ “ของก๊อป” ทำให้ VT-4 กลายเป็นรถถังลูกผสม ที่มีรูปลักษณ์ปราดเปรียว ทันสมัย  มีสมรรถนะที่ดีที่จะใช้ในการเป็นรถถังในเจนเนอเรชั่นใหม่ เพื่อใช้เปิดสายการผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นสินค้า โดยมีกองทัพบกไทยเป็น “พรีเซ็นเตอร์” ในการเป็น “ผู้ซื้อ” ประเทศแรก  จึงทำให้ “จีน” ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข่าว มากกว่าจะใช้วิธีปิดลับ เหมือนโครงการอาวุธอื่นๆ  และในวันที่มีการเปิดแสดงสมรรถนะ สื่อจีนก็เดินทางมาเก็บภาพข่าว การสัมภาษณ์สื่อไทยเพื่อเก็บเป็นไฟล์ข้อมูลด้วย โดย บีบีซี ได้นำเสนอประเด็นดังกล่าวในการนำเสนอ

ทบ.เปิดตัวรถถัง VT4 จากจีนซึ่งไทยเป็นลูกค้ารายเดียวในโลก  http://www.bbc.com/thai/thailand-42828518

ขณะที่ เพจอาวุธชื่อดังอย่าง  “TAF” https://www.facebook.com/thaiarmedforce/ เทียบรูปลักษณ์ของ VT-4 ว่าเป็น “Baby Abram?

“เมื่อวิเคราะห์จะมุมมองของตัวรถในหลายมุม จะเห็นได้ชัดเลยว่า VT-4 เป็นรถถังเจเนอเรชั่นใหม่ของจีนที่นำอิทธิพลจากการออกแบบรูปทรงภายนอกของตะวันตกมาปรับใช้แทนที่สไตล์การออกแบบของสหภาพโซเวียตเกือบทั้งหมดแล้ โดยตัวรถมีรูปทรงคล้ายกับ M-1 อับรามส์ของสหรัฐฯที่ย่อส่วนลงมา ส่วนรูปทรงของป้อมปืนเป็นการผสมกันระหว่างM-1 กับเลโอปาร์ด2 เอ5ของเยอรมันเข้าด้วยกัน โดยมีการออกแบบแผ่นเกราะปฏิกริยา(ERA)ที่แนบไปกับรูปทรงของตัวรถ สิ่งที่ยังดูมีความเป็นโซเวียตเดิมในตอนนี้คือรูปแบบของล้อกดสายพานเท่านั้น แม้แต่ตัวสายพานยังเป็นแบบมีแผ่นยางรอง2ชิ้นทรงเหลี่ยมที่มีใช้งานในM-1A1/2” เพจชื่อดังระบุ

“รถถังปฏิวัติ” สู่ “รถถังไฮเทค”

ทหารม้า เป็นทหารเหล่ารบหลัก ที่เคยเป็นตำนานในอดีต  แต่ช่วงสองทศวรรษถูกลดบทบาทลง ไม่มีผู้บัญชาการทหารบกที่ขึ้นจากเหล่าม้า หลังจาก “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่ถือเป็นพ่อม้าอาวุโสสูงสุดของประเทศ และกลายเป็นตำนานเกือบจะหน้าสุดท้ายของทหารม้า

ในด้านการสงคราม  สมรภูมิรบสำคัญของโลก “ทหารม้า” คือกำลังสำคัญ และสร้างประวัติศาสตร์มากมาย ส่วนในประเทศไทย “รถถัง” เข้าร่วมการรบหลายครั้ง  และยังคงทำหน้าที่ในการใช้อำนาจการยิงและเสียงข่มขวัญข้าศึก เช่น สมรภูมิที่ โนนหมากมุ่น จ.สระแก้ว  มีรถถัง M41 เข้าสนับสนุน  หรือสมรภูมิการรบที่ร่มเกล้า ปี 2529 ใช้รถถังเบา “scorpion” จาก ม.พัน.26 จ.เพชรบูรณ์  เป็นฐานยิง

ขณะที่ ชายแดนด้านกองทัพภาคที่ 3  ในการปะทะกับ “พม่า” มีการเตรียมการรถเกราะ V-150 ขึ้นไปไว้ที่เชียงราย แต่ไม่ได้อออกปฏิบัติ หรือแม้กระทั่ง เหตุปะทะชายแดนกองทัพภาค 2 ในกรณีพื้นที่พิพาทบริเวณเขาพระวิหารกับกัมพูชา  มีการเคลื่อนย้าย รถถังM-60A3 จากม.พัน.5 และ ม.พัน 17 เข้าไปในพื้นที่แต่ยังไม่ได้มีการปฏิบัติการ ขณะที่รถถัง M-48A1 จาก ม.พัน.21 ภาคอีสานเข้าทำการยิงช่วยสนับสนุนปืนใหญ่  ถือว่ายังมีเลเซอร์ในการชี้เป้า

ในขณะนั้น  M-48 เป็นรถถังที่กองทัพบกไทยจัดหามาในยุครัฐบาลพลเรือน  ภายใต้โครงการ FMS ของสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าทอดระยะเวลานานพอสมควรก่อนจะมีการซื้อรถถังเข้าประจำการอีกครั้ง  ก่อนที่กองทัพบกจะพิจารณาภัยคุกคามและเล็งเห็นถึงความสำคัญของ “รถเกราะ” และเลือกรถเกราะจากค่ายยูเครนเข้ามาหลายกองพัน  ตามมาด้วย “ รถถัง” Oplot  เข้าประจำการหน่วยทหารด้านตะวันออก ซึ่งถือเป็นพื้นที่ในทางยุทธวิธีที่เหมาะสมกับการใช้รถถังทำการ  การดำเนินการ

ยังไม่นับรถถังที่ถือว่า เก่าแก่ และผ่านทหารม้ามาหลายชั่วอายุคน คือ M41 ที่กำลังทยอยปลดประจำการเนื่องจากใช้งานมากว่า 30 ปี อะไหล่และสายการผลิตหมดไปตามกาลเวลา เทคโนโลยีการพัฒนาระบบต่างๆ ล้าสมัยไม่ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

“แต่รถถัง เอ็ม41 นี่ถือเป็นเหมือนชีวิตของทหารม้าเหมือนกันนะ มันอยู่กับพลประจำรถถังมาหลายรุ่น อยู่กับสิบเอกมาแล้วไม่รู้กี่ยุค ถือว่าคนเข้ากับอาวุธได้เป็นอย่างดี เหมือนเป็นเนื้อเดียวกัน รู้ใจกัน” ทหารม้ารายหนึ่งระบุ

แถมรถถังรุ่นดังกล่าว ยังผ่านการปฏิวัติรัฐประหารมาหลายครั้ง เนื่องจากประจำการอยู่ในหน่วยรถถังในเขตกองกำลังรักษาพระนคร คือ ม.พัน.4 กองพันรถถังใน กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.)ย่านเกียกกาย  ที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจขึ้นเมื่อใด ก็จะมีรถถังรุ่นดังกล่าวออกมาแสดงสัญลักษณ์ยึดพื้นที่จุดศูนย์ดุลสำคัญ  เช่นเดียวกับการปฏิวัติดอกไม้ ปี 2549 ยุค “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน  เป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ  หรือ คมช. ก็ใช้บริการรถถังรุ่นดังกล่าว   ส่วนการยึดอำนาจของ คสช. ใช้แค่รถบรรทุกทางทหาร FTS  จำนวน 3 คันปิดทางเข้าออกสโมสร ทบ. และอีก2 คันผิดทางแยกไปยังอาคารกำลังเอก ที่ทำงานสื่อมวลชน รวมถึง รถฮัมวี่ 4 คัน ไม่มีการเปิดตัวของรถถังในการแสดงสัญลักษณ์เหมือนในอดีต

ยุทโธกรณ์ดังกล่าวจึงมีบทบาทหลักในเตรียมความพร้อม การป้องปราม เมื่อเกิดปัญหากระทบกระทั่งกันขึ้นตามแนวชายแดนเป็นหลัก  การเลือกพิจารณาเลือกซื้อจึงคำนึงในเรื่องยุทธศาสตร์และคานอำนาจกับมหาอำนาจที่มองไทยเป็นภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญในภูมิภาคนี้เท่านั้น

จึงไม่แปลกที่เมื่อ ทหารม้า พลประจำการรถถังจะรู้สึกดีใจ ที่จะได้สัมผัสเทคโนโลยีใหม่ๆ  ที่มากับVT-4 นอกจากการเรียนรู้ พัฒนาตัวเองแล้ว แต่ยังหมายถึงการที่ผู้บังคับบัญชาใส่ใจที่จะพัฒนาเขี้ยวเล็บให้กับหน่วยทหารม้า  และให้ความสำคัญเท่าเทียมกับเหล่าอื่น  ภายใต้แผนพัฒนากองทัพตามที่ควรจะเป็น

ส.อ.กฤษฎา ศรีบุตรดา ผบ.รถ. ม.6 พัน6

ส.อ.กฤษฎา ศรีบุตรตา ผบ.รถ ม.6พัน 6  กล่าวว่า ดีใจที่มีรถถังใหม่เข้ามาประจำการ และเป็นรถถังรุ่นใหม่ มีความทันสมัยเพื่อให้กำลังได้เรียนรู้  มีระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการยิงถือที่เชื่อถือได้อย่างมาก เท่าที่ได้สัมผัสการยิงมา 20-30 นัดแล้ว การชดเชยมุมยิงต่างๆ ถือว่าทำได้ดี  ที่สำคัญคือมีระบบ ออโต้ แท็คกิ้ง ช่วยในการเจาะเป้าหมายเคลื่อนที่ได้ง่ายเพิ่มมากขึ้น  สำหรับระบบ ล่าสังหาร ขณะที่พลยิงจะเลือกการยิงเป้าหมาย ระบบจะสามารถเลือกเป้าหมายรอไว้ได้เลยเพื่อความรวดเร็วในการทำลายเป้าหมายต่อไป  สำหรับกระสุนเจาะเกราะถือเป็นกระสุนที่มีอานุภาพร้ายแรงมาก  ในระยะ 1,100 เมตรใช้เวลาไม่ถึงครึ่งวินาที อีกมีการล็อคเป้าหมาย ปืนวิ่งตามเป้าหมายโดยอัตโนมัติโดยคนยิงไม่ต้องควบคุม   เมื่อเทียงกับ รถถัง “สติงเรย์” ที่ใช้อยู่ก็จะอายุประมาณ 30 ปี  ระบบควบคุมการยิงก็เป็นไปตามยุคสมัย แต่ก็ยังเป็นยุทโธปกรณ์ที่ใช้ทำลายเป้าหมายได้เป็นอย่างดี

พี่ไทยเนื้อหอม  “จีน” ม้าตีนต้น

เมื่อไทยผนวกแผนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่ร่วมมือกับมิตรประเทศโดยริเริ่มกับ สาธารณรัฐประชาชนจีนก่อน ก็เริ่มมีเสียงเซ็งแซ่จาก “มหามิตร” เดิม อย่างสหรัฐฯ ที่กลับมารื้อความสัมพันธ์กับไทยมากขึ้น  จากที่หลายปีก่อนก็มาลงทุนในการสร้างท่าเรือทุ่งโปรง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี  แบบเงียบๆ

พอรัฐบาลทหารอนุมัติ จัดหาเรือดำน้ำจีน  เลยมาถึงการจัดหารถถัง-รถเกราะจากจีนล็อตใหญ่  ข่าวคราวการหารือเรื่องความร่วมมือตั้งศูนย์ซ่อมอาวุธฯ กับสหรัฐฯ เริ่มออกมาบ้างประปราย แต่สถานฑูตฯสหรัฐ ปฏิเสธข่าวดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง ทว่า แผนเดิมที่ “จีน” กระตือรือร้นอย่างหนักในการลงทุนร่วมกับไทย ที่โคราชนั้น กลับมีการยืนยันว่า มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว โดยจะมีการย้ายไปสร้างที่ จังหวัดขอนแก่นแทน เพราะเป็นจังหวัดที่ จีนจัดตั้งสถานกงสุลอยู่ที่นั่น อีกทั้งเป็นจังหวัดที่มี รถถังVT4 เข้าประจำการอยู่

และในอนาคตยังมี โครงการจัดซื้อรถเกราะ VN-1 จากจีน ที่กองทัพบกซื้อเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นโครงการระยะต่อเนื่องในการซื้อรถเกราะเข้าประจำการ หลังจาก BTR ส่งล่าช้ากว่ากำหนด  ถือเป็นอาวุธอีกล็อตใหญ่ที่ต้องพึ่งพาศูนย์ซ่อมสร้างของจีนในอนาคต

แม้ช่วงต้นปี การขับเคลื่อนเรื่องอุตสาหกรรมประเทศ ที่กระทรวงกลาโหมเดินหน้าตามนโยบายของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี  จะเป็นรูปธรรม และชัดเจน  มีแผนการดำเนินการทั้งระยะสั้น – กลาง – ยาว แต่หลังจากที่สหรัฐฯ กลับมารื้อฟื้นความสัมพันธ์ ดูเหมือนว่า ไม่ได้ลื่นไหลเหมือนก่อนหน้านี้  สอดคล้องกับกระแสข่าวว่า “จีน”  ยังขอดูท่าทีของไทยในระยะนี้พอสมควร  แต่ก็เชื่อว่าเป็นเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งให้การเมืองภายในและภายนอก เห็นภาพชัดมากกว่า

แต่สิ่งที่สำคัญคือ สถานะของ “บิ๊กป้อม” ที่แม้จะดูแข็งแรง แต่กระแสโจมตีในเรื่องนาฬิกาหรู ไม่ได้จบลงง่ายๆ อีกทั้งยังส่งผลต่อภาพรวมทางการเมือง สัญญาณเหล่านี้ มวลหมู่มหามิตร ที่กำลังมองอยู่ก็ต้องประเมินจังหวะก้าวพอสมควร  เพราะ อย่าลืมว่า “บิ๊กป้อม” คือคีย์แมนสำคัญในการสานสัมพันธ์กับจีน จนเป็นที่มาของโครงการ จัดซื้อเรือดำน้ำ และซื้อรถถังจากจีน  เชิงยุทธศาสตร์ พลิกโฉมวงการอาวุธในประเทศไทยอย่างที่หลายคนไม่คาดคิด

สังคมต้องจับตามองต่อไป และดูในระยะยาว ในเรื่อง “คุณภาพ”   แม้นักยุทธวิธีจะมองว่าการซื้อเทคโนโลยีก็คุ้มค่ามหาศาล อีกทั้งจีนในยุคใหม่ ไม่เหมือนเมื่อก่อน ได้มีการพัฒนาเรื่องยุทโธปกรณ์ไปไกลแล้ว แต่ก็ต้องรอดูในช่วงของการซ่อมบำรุง

“เขาเริ่มจากการ copy ไปสู่ develop ไปสู่ innovation รถถังยุคนี้ไม่ต่างกัน เพราะเป็นรถถังในโลกยุคใหม่  แต่จีนให้อะไรที่เหนือกว่าประเทศอื่น คือการถ่ายทอดเทคโนโลยี หลักประกันเรื่องการส่งกำลังบำรุง และอะไหล่ ที่กองทัพให้ความสำคัญจุดนี้ ถ้าเทียบง่ายๆ คือ หัวเหว่ยรุ่นใหม่ ไม่ใช่ซัมซุง ไอโฟน  คือเทคโนโลยี ไม่ต่างกัน อยู่ที่อนาคตว่าการใช้งานจะคงทน เสถียร มีศูนย์ซ่อมและการดูแลหลังการขายดีไหมเท่านั้น” ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธรายหนึ่งกล่าว.

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า