Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มีนายกรัฐมนตรีทรงอำนาจมากที่สุด คือ ยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 พรรคไทยรักไทยที่มาพร้อมสโลแกน “คิดใหม่ ทำใหม่” ได้เสียง ส.ส.ถึง 248 จาก 500 คน และเริ่มต้นการบริหารประเทศโดยได้รับเสียงสนับสนุนจากทุกกลุ่มในสังคม ที่ฝากความหวังจะพาประเทศไปข้างหน้าหลังจากบอบช้ำจากพิษต้มยำกุ้ง

แต่ด้วยบุคลิกที่เป็นคนมั่นใจตนเอง และไม่ค่อยฟังคนอื่น จึงเริ่มบ่มเพาะกระแสต่อต้าน และเกิดวาทกรรม เช่น เผด็จการรัฐสภาเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาล ทักษิณ1 สามารถอยู่ได้จนครบเทอม 4 ปี และเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งที่ 2 ด้วยการควบรวม กลุ่มชลบุรี กลุ่มบุรีรัมย์ จากพรรคชาติไทย และพรรคชาติพัฒนา จนผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 248 ได้มากถึง 376 จาก 500 คน สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ภาพจาก wikipedia.org)

แต่รัฐบาลชุดนี้ก็ถูก ปฏิบัติการจากกลุ่มต่อต้านระบอบทักษิณ ที่นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โจมตีอย่างหนักโดยเฉพาะประเด็นการขายหุ้นให้เทมาเส็ก จนตัดสินใจยุบสภาเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2549 และกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ 2 เมษายน 2549 หลายฝ่ายมองว่าเป็นความพยายามชิงความได้เปรียบกลับคืนมา โดยใช้เสียงประชาชนเป็นการรับรอง

ภาพจาก wikipedia.org

จากปัญหาความขัดแย้งก่อนหน้า พรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น คือ พรรคประชาธิปัตย์ ชาติไทยและมหาชน ตัดสินใจจะบอยคอต ไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้พรรคไทยรักไทย เจอเงื่อนไขในข้อกฎหมายคือ ในเขตที่ส่งผู้สมัครเพียงพรรคเดียว ผู้สมัครต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 20% จึงจะได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องยากมากในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์

สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เคยเล่าถึงเรื่องนี้ภายหลังในหนังสือ “The Power of Change” ว่า ทักษิณ ได้ติดต่อมาขอนัดคุยกันสองต่อสองขอให้ประชาธิปัตย์ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ประเทศถึงทางตัน สุเทพ อ้างว่า เขาเสนอให้ทักษิณนัดหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านมาประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อทำสัตยาบันว่าหลังเลือกตั้งจะปฏิรูปการเมือง จนทักษิณตอบตกลง แต่สุเทพบอกว่า ถึงเวลาทักษิณกลับเบี้ยวนัด ไปเจรจากับพรรคเล็กๆ ให้ลงสมัคร

สุเทพ ยังระบุต่อมาว่า จนเมื่อติดขัดอุปสรรค ทักษิณจึงได้ส่งบุคคลสำคัญมาขอพบเขาอีกครั้ง โดยยอมทุกอย่างขอให้ประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้ง สุเทพ เล่าในหนังสือว่า เขาขอให้ทักษิณและอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลแล้วทำสัตยาบันที่จะปฏิรูปการเมือง โดยทักษิณตอบตกลงกับเขาแต่ถึงเวลาก็ไม่มาตามนัด

การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ยังคงเดินหน้าไป โดยมีเฉพาะพรรคไทยรักไทยและพรรคเล็ก เดินหน้าเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ส่วนสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่บอยคอต ใช้เวลาไปติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด

ถาวร เสนเนียม ในวันฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น (ภาพจาก 99 วันอันตราย ทำไม กกต.ติดคุก)

หนึ่งในนั้นคือ ถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา เขาบันทึกในหนังสือ “99 วันอันตราย ทำไม กกต.ติดคุก” ว่า เริ่มได้รับเบาะแส พรรคใหญ่นัดหมายพรรคเล็กให้ไปรับเงินเพื่อส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงแข่งในเขตที่คาดว่าจะได้คะแนนเสียงไม่ถึง 20%

ที่สุดเมื่อถึงเลือกตั้ง 2 เมษายน มีถึง 40 เขต ที่ผู้สมัครพรรคไทยรักไทย ลงสมัครเพียงคนเดียวและฝ่าด่าน 20% ไปไม่ได้ โดย 38 เขตอยู่ในพื้นที่ภาคใต้

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 4 คน ที่ประกอบด้วย พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ, นายปริญญา นาคฉัตรีย์, นายวีระชัย แนวบุญเนียร และ พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ (ส่วนอีกคน คือ นายจรัล บูรณพันธุ์ศรี เสียชีวิตและยังไม่มีการสรรหาคนใหม่มาแทน) ตัดสินใจให้มีการรับสมัครใหม่อีกครั้ง ในวันที่ 8-9 เมษายน โดยไม่ห้ามการที่ผู้สมัครพรรคเล็กที่แพ้ในพื้นที่หนึ่งต่อผู้สมัครพรรคไทยรักไทยแล้ว จะย้ายเขตมาสมัครใหม่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ (จนถูกเรียกว่า “เวียนเทียน” ) และประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในวันที่ 23 เมษายน เพื่อให้ได้ ส.ส.ครบ เปิดสภาได้ แต่ก็ยังได้ไม่ครบจนต้องเปิดเลือกตั้งใหม่รอบ 3 วันที่ 29 เมษายน ในอีก 14 เขตพื้นที่ภาคใต้

ระหว่างนั้น 18 เมษายน ถาวร เสนเนียม ได้ยื่นฟ้อง กกต. ต่อศาลอาญาว่าการเลือกตั้งเมื่อ 2 เมษายน รวมทั้งการเปิดรับสมัคร 8-9 เมษายน มีการกระทำผิดกฎหมายและมีความพยายามช่วยพรรคไทยรักไทยให้ชนะเลือกตั้ง ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง 29 พฤษภาคม
ถาวร ยังยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอไต่สวนฉุกเฉินให้ระงับการเลือกตั้งครั้งที่ 3 วันที่ 29 เมษายน (โดยศาลปกครองสุงสุดมีคำสั่งระงับการเลือกตั้งเมื่อวันศุกร์ที่ 28 เมษายน)

ถาวร เขียนเล่าไว้ว่า การสู้คดีนี้นอกจากใช้ทีมงานเตรียมข้อกฎหมายอย่างละเอียดแล้ว เขายังได้ เอกสารสำคัญจากคนใน กกต.เอง ที่แอบส่งมาให้เขาด้วย โดยระยะแรกแหล่งข้อมูลที่ไม่เปิดเผยตัวใช้วิธีส่งอีเอ็มเอสเอกสารไปที่บ้านถาวร จนครั้งต่อๆ มาเพื่อความรวดเร็วได้เปลี่ยนมาใช้วิธีนำเอกสารไปวางไว้ยังจุดนัดหมายเช่น วางไว้ห้องน้ำอาคาร แล้วให้ถาวรส่งคนไปรับ โดยได้เอกสารแม้กระทั่งที่ กกต.ประชุมตอนเช้า ตกช่วงบ่ายวันเดียวกัน ทีมงานของถาวรก็ได้รับเอกสารนั้นแล้ว จนจบคดีถาวรบอกว่า บุคคลผู้นั้นก็ไม่ได้แสดงตัวและเขาก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร

ปริญญา นาคฉัตรีย์ (แฟ้มภาพ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น)

ในระหว่างขั้นตอนการสืบพยาน พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ ได้ลาออกจากตำแหน่ง กกต. ถาวรจึงได้แจ้งต่อศาลขอถอนฟ้อง พล.อ.จารุภัทร โดยระบุว่าที่ฟ้อง กกต.เพื่อจะให้หลุดจากการทำหน้าที่เพื่อจะได้มีการสรรหา กกต.ชุดใหม่ มาจัดการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม ดังนั้น จึงเหลือ กกต.อีก 3 คนที่ไม่ลาออกและเดินหน้าสู้คดีต่อ

ในคำฟ้องและการนำสืบของนายถาวร มีประเด็น เช่น
– กกต.กำหนดวันเลือกตั้งหลังวันยุบสภาเป็นเวลาเพียง 37 วัน น้อยกว่ากรณีต้องเลือกตั้งในกรณีที่สภาหมดวาระที่กำหนดภายใน 45 วัน เพื่อเป็นคุณแก่พรรคไทยรักไทย
– จัดคูหาเลือกตั้งหันหน้าไปทางผนังและหันด้านหลังออก ทำให้การลงคะแนนไม่เป็นไปโดยลับ
– มีการติดหมายเลขผู้สมัครไว้ผนังด้านหน้าผู้มีสิทธิลงคะแนน ซึ่งมีถึง 281 เขต ที่มีผู้สมัครพรรคไทยรักไทยคนเดียว
– แก้ไขบัตรเลือกตั้ง ให้ช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนที่เคยอยู่ด้านบนมาไว้ด้านล่าง เพื่อให้เห็นชัดว่า ผู้ลงคะแนนกาเลือกพรรคไทยรักไทย ที่ได้หมายเลข 2 ที่อยู่หัวกระดาษหรือกาไม่ประสงค์ลงคะแนนที่อยู่ท้ายกระดาษ ซึ่งไปสอดคล้องกับการจัดคูหาแบบหันหลังออกทำให้สังเกตได้ง่าย
– เปิดรับสมัครผู้สมัครเพิ่มเติมจากที่เคยสมัครไว้ และให้ผู้สมัครจากเขตหนึ่งหมุนเวียนไปลงอีกเขตได้ โดยอ้างว่าไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เพื่อช่วยผู้สมัครพรรคไทยรักไทยที่ได้คะแนนไม่ถึง 20%

ทีมงานกฎหมายของนายถาวร เสนเนียม (ภาพจาก 99 วันอันตราย ทำไม กกต.ติดคุก)

ด้านฝ่าย กกต.นำสืบว่า
– กรณีกำหนด 37 วัน ได้สอบถามไปยัง 3 พรรคการเมือง คือ ประชาธิปัตย์,ชาติไทยและมหาชน แล้ว โดยหากพร้อมลงเลือกตั้ง พร้อมจะเจรจากับรัฐบาลให้ขยายวันให้ แต่ทั้ง 3 พรรคยืนยันไม่ส่งผู้สมัคร
– การจัดคูหาโดยหันหน้าเข้าผนังและหันหลังออก เคยมีการจัดคูหาลักษณะแบบนี้มาแล้วในสมัยที่กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น และไม่มีการคัดค้านว่าไม่สุจริตและยุติธรรม
– การติดหมายเลขผู้สมัครในผนังคูหาเลือกตั้งเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง
– การแก้ไขช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนเพราะเคยมีการร้องเรียนจากพรรคการเมืองว่าช่องดังกล่าวไปตรงกับหมายเลขบางพรรคทำให้เกิดการเข้าใจผิด และมีการนำบัตรที่แก้ไขนี้ไปใช้ในการเลือกตั้งครั้งอื่นก่อนหน้านี้แล้ว

ส่วนการเปิดรับสมัครในในเขตที่ผู้ลงเลือกตั้งพรรคเดียวได้คะแนนไม่ถึง 20% เพราะเห็นว่ากระบวนการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่คือ เริ่มตั้งแต่การรับสมัคร และการให้ผู้สมัครจากเขตหนึ่งย้ายไปลงอีกเขตหนึ่งได้ เพราะพิจารณาแล้วไม่มีบทบัญญัติใดห้ามไว้ และพิจารณาว่าการเลือกตั้ง 2 เมษายน และ 23 เมษายน ถือเป็นการเลือกตั้งคนละคราว จนเมื่อทราบว่า ศาลฎีกามีคำสั่งห้ามลงสมัครซ้ำแบบย้ายเขตวันที่ 18 เม.ย. 2549 จึงได้รีบส่งโทรสารไปแจ้งผู้อำนวยการเลือกตั้งที่เกี่ยวข้อง

ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ วันที่ 25 กรกฎาคม 2549 โดยพิพากษาว่าจำเลยจัดการเลือกตั้งโดยไม่สุจริตและไม่เที่ยงธรรม ช่วยเหลือพรรคไทยรักไทย ให้จำคุก กกต.ทั้ง 3 คนๆ ละ 4 ปีและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี โดยส่งตัวตั้ง 3 คนไปที่ เรือนจำลาดยาว

(ภาพจาก หนังสือ คำแถลงการณ์ปิดคดีพรรคประชาธิปัตย์)

ในคำพิพากษาส่วนหนึ่งได้มีการอ้างอิงถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อ 8 พฤษภาคม 2549 ให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองกลางพิพากษาให้เพิกถอนการเลือกตั้งครั้งนั้น

โดยศาลอาญาตัดสินว่า การกำหนดการเลือกตั้งใหม่โดยให้มีการรับสมัครใหม่ ขัดต่อ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ที่ให้อำนาจ กกต.แค่ย่น ขยายเวลา หรืองดเว้น ไม่ได้ให้อำนาจรับสมัครใหม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการช่วยเหลือผู้สมัครพรรคไทยรักไทยให้มีคู่แข่งเลือกตั้ง หลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ที่ต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยใน 38 เขตผู้สมัครพรรคไทยรักไทยได้คะแนนเสียงน้อยกว่า ร้อยละ 10

ทั้งยังระบุถึงความพยายามอื่นๆ ในการช่วยผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทย โดยคำพิพากษาระบุว่า การอ้างว่าทำไปโดยสุจริต เป็นการใช้ดุลยพินิจในการตีความกฎหมายไม่ได้ ทั้งการที่จำเลยจบการศึกษาปริญญาโท ผ่านการทำงานในฐานะผู้ใช้กฎหมายมาไม่น้อยกว่า 30 ปีหากมีข้อสงสัยควรศึกษาเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นๆ

“การกระทำของจำเลยทั้ง 3 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นคุณแก่ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยและเป็นโทษแก่ผู้สมัครพรรคการเมืองอื่น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหน้าที่และไม่สุจริต ทำให้โจทก์ ประชาชนและประเทศชาติได้รับความเสียหาย…”

หลังศาลขังครบ 3 วัน ก็ให้อนุญาตประกันตัว ต่อมามีการสู้คดีจนถึงชั้นฎีกา โดยระหว่างนั้น นายวีระชัย แนวบุญเนียร เสียชีวิต เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555 ด้วยโรคไตวายจึงเหลือผู้ที่ต้องมาฟังคำพิพากษา 2 คน คือ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ และ นายปริญญา นาคฉัตรีย์

13 มิถุนายน 2556 ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ยกฟ้อง กกต.ทั้ง 2 คน เพราะพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายถาวร เสนเนียม ซึ่งเป็นโจทก์ ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงที่จะฟ้องจำเลยได้ ซึ่งเมื่อวินิจฉัยดังนี้จึงไม่ต้องวินิจฉัยข้อปัญหาอื่นอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทั้ง พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ และนายปริญญา นาคฉัตรีย์ จะถูกจำคุกในอีกคดีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 เช่นกัน จากคำพิพากษาในอีก 3 ปีให้หลัง

โดยผู้ฟ้องคดีนั้นชื่อว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ

(โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป)

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า