Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

เวลาหนึ่งทุ่มตรง เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา เพจเรียนต่อไหนดี พื้นที่สื่อสารทางเฟซบุ๊กซึ่งระบุจุดประสงค์ว่า “เป็นห้องแนะแนวการเรียนต่อสำหรับน้องๆ” นำเสนอเนื้อหาในหัวข้อ “รีวิวความน่าเรียน 17 สาขาคณะอักษร” เวลาผ่านไปหลายวัน หน้าเพจนี้ได้กลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์บนโซเชียลมีเดียทั้งในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ โดยเฉพาะประเด็นการแนะนำสาขาวิชาต่าง ๆ พร้อมคำอธิบายโดยสังเขปและให้คะแนนประกอบจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

 

 

สาขาวิชาไหนน่าสนใจ วัดได้ด้วยตัวเลข?

“มันไม่สามารถวัดได้ว่าเอกใดน่าเรียนมากกว่าเช่น เช่นการให้(คะแนน) 10, 9.5 หรือ 8”  พิรญาณ์ พงศ์พุทธชาติ บัณฑิตคณะอักษรศาสตร์กล่าว “ตัวเลขเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ เพราะฉะนั้นต้องมีวิธีการวัดที่แน่ชัด แต่เรื่องน่าเรียนหรือน่าสนใจมันเป็นคำเชิงคุณภาพ คล้าย ๆกับคำว่าสวยว่าแต่ละคนมีการตัดสินที่ไม่เหมือนกัน”

พิริญาณ์ ซึ่งจบจากภาควิชาภาษาตะวันตก (ภาษาเยอรมัน) ยกตัวอย่างผ่านประสบการณ์ของเธอ ว่าคนที่เลือกเรียนภาษาเยอรมันโดยมีความชอบวิชาภาษาตะวันตกเป็นพื้นฐานอยู่แล้วก็จะมองว่าภาษาตะวันออกไม่น่าเรียน และเสริมว่าเรื่องความน่าเรียนยังแปรผันตามปัจจัยด้านเวลา “เช่นเอกเยอรมันปี 2557 ก็ไม่เหมือนปีอื่น การเรียนไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่วิชาแต่ขึ้นอยู่กับครูคนสอนด้วย”

พิริญาณ์ไม่ใช่คนเดียวที่คิดเช่นนี้ เสียงสะท้อนในโซเชียลมีเดียหลายเสียงกล่าวเหมือนกัน ผู้แสดงความคิดเห็นใต้โพสต์จำนวนมากสอบถามถึงเกณฑ์การให้คะแนนผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งบอกว่าแม้ตนเองเป็นนิสิตอักษรเองก็รีวิวให้คะแนนเช่นนี้ไม่ได้ เนื่องจากแต่ละสาขาก็มีคุณค่าตามความสนใจของบุคคล

“หรือถ้าอยากทำให้สามารถวัดได้จริง ๆ ต้องมีข้อมูลเชิงสถิติให้มากกว่านี้ ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก ข้อมูลเชิงสถิติที่ควรจะมีโดยเพื่อเป็นหลักฐานรองรับการตัดสินใจเรียนแต่ละภาษา ก็ควรต้องมีอัตราการเรียน อัตราการได้งาน อัตราเงินเดือน การประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่ควรมีความพึงพอใจในชีวิตของตนเองด้วยเพื่อที่จะบอกว่าเอกนี้น่าเรียน หรือเอกนี้ไม่น่าเรียน”

“แต่ก็เข้าใจนะว่าเขาอาจจะมีเจตนาที่ดีในการที่จะให้คนนอกรู้จักว่าคณะอักษรไม่ใช่แค่สอนภาษานะ มันก็ยังมีเอกอื่นด้วย ก็คิดว่าเขาอาจจะมีเจตนาแบบนี้เพื่อให้คนนอกรู้จักคณะเรามากขึ้น แค่วิธีการยังผิดไปนิดหนึ่ง”

ให้ข้อมูลเบื้องต้น เพื่อขยายโอกาสการรับรู้?

เมื่อฟังความจากฝ่ายหนึ่งแล้ว ทีมข่าวเวิร์คพอยท์เห็นว่าบททความนี้จะไม่มีทางเป็นธรรมได้เลยหากเราไม่ได้ฟังเสียงจากฝ่ายที่ถูกกล่าวหา แอดมินเพจ “เรียนต่อไหนดี” ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยตอบกลับมาในเวลาไม่นานหลังเราติดต่อไป

“ผมไม่มีหรอกครับเวลาไปวิจัยหรือว่าไปทำรีเสิร์ชว่าคนร้อยคนให้คะแนน นำมาเฉลี่ยเหมือนทำรายงานส่งครู” เขาบอกกับเวิร์คพอยท์ โดยชี้ว่าเลือกทำเนื้อหาที่ให้คะแนนเป็นตัวเลข เนื่องจากทำให้ผู้รับสารเห็นภาพชัดเจน ซึ่งหากดูตามเนื้อหาเก่า ๆ แล้วก็จะพบว่าเพจทำเนื้อหาแนวนี้มาตลอด

“สมมติว่าเป็นภาษาจีนกับภาษาญี่ปุ่น ผมว่าจีนมันใช้เยอะกว่า ผมก็ให้จีนเต็ม 10 แล้วใช้ญี่ปุ่นรองลงมา” เขาอธิบายเกณฑ์การให้คะแนน พร้อมทั้งชี้ว่าได้ระบุเกณฑ์การให้คะแนนไว้ที่ท้ายโพสต์แล้วว่าให้จากประสบการณ์ส่วนตัว และกล่าวว่าเป็นการให้คะแนนตามสายตาของบุคคลภายนอก เนื่องจากหากต้องเรียนเองทั้งหมดก็คงไม่มีใครทำเพจได้ อีกทั้งเป้าหมายผู้ชมก็เป็นนักเรียนในชั้นมัธยม และเป็นเด็ก “ชนบท” ซึ่งปกติแล้วไม่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลที่มากพอ

“จริง ๆ ผมเข้าใจว่าเขาอาจจะไม่ได้เข้าใจแนวคิดว่าเพจผมไม่ได้ทำมาเพื่อนักศึกษามหาวิทยาลัย แต่ทำขึ้นมาเพื่อเด็ก ม.1-ม.6 ที่เขาไม่ได้รู้ว่าจะเรียนต่ออะไรดี แล้วเขาไม่รู้เลยว่ามันมีสาขาอะไรบ้าง” เขาชี้แจง “ยิ่งเป็นเด็กชนบทยิ่งไม่รู้อะไรเลย ผมทำเพจมาเพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนี้”

แอดมินยกตัวอย่างกลุ่มเป้าหมาย ว่าหากนักเรียนชั้นม. 3 ซึ่งเป็นชั้นปีที่ต้องเลือกสายวิชาต้องการเรียนอักษรศาสตร์ การชมเพจจะทำให้เขารู้ว่าหากจะเรียนอักษรต้องเรียนศิลป์ภาษา “ม.3 เข้าไปดูหลักสูตรไม่เป็นหรอกครับ ถูกไหม?”

เราถามว่าหลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เขารู้สึกอย่างไร แอดมินเพจตอบว่า “ผมน่าจะทำสื่อพลาดไปนิดหนึ่ง” โดยกล่าวว่าความตั้งใจดั้งเดิมของเขาคือการเผยแพร่เนื้อหาว่า คณะอักษรศาสตร์มีเรียนอะไรบ้าง ซึ่งคณะอักษรศาสตร์มี 2 ที่ด้วยกัน จึงตัดสินใจทำแยกเป็นอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และอักษรศาสตร์ ศิลปากร

“(หากปรับเนื้อหาใหม่ได้) ผมจะไม่ปรับการให้คะแนนนะ แต่จะตัดคำว่าจุฬาฯออก เพราะพอเป็นจุฬาฯก็เป็นการเจาะจงว่าคณะนี้เลย สาขานี้เลย ซึ่งผมเข้าใจนะ ก็เหมือนว่าบอกว่าสาขาคุณไม่น่าสนใจเท่าสาขาอีกสาขาหนึ่ง มันก็จะมีอารมณ์อยู่แล้ว ผมเข้าใจ”

นอกจากนี้ก็ได้เชิญชวนให้ผู้มีประสบการณ์มาให้ข้อมูล หากไม่ถูกก็แก้ได้ หากรู้สึกว่าคะแนนต่ำไปก็ช่วยกันนำเสนอสิ่งที่น่าสนใจได้ “ผมไม่รู้ทุกสาขา แต่คุณเรียนจริง คุณรู้ดีกว่าผมอยู่แล้ว คุณพิมพ์มาเลย เด็กเขามาอ่านก็มาเห็น เขาก็ได้ประโยชน์”

เนื้อหาที่คิดมาให้ว่า “ดี” สำหรับคุณ

มุกดาภา ยั่งยืนภราดร บัณฑิตอักษรศาสตร์อีกคนหนึ่งชี้ว่าเราสามารถทำความเข้าใจปรากฏการณ์นี้ได้ด้วยการมองทั้งสองด้าน

“ต้องถามก่อนว่าทำเนื้อหารีวิวแบบนี้ใช้อะไรเป็นบรรทัดในการใช้ขีดวัดว่าสิ่งนี้คือดีหรือไม่ดีสำหรับเขา เขารู้ได้อย่างไรแล้วจะมีอะไรมายืนยันความชอบธรรมได้ว่าบรรทัดที่เขาใช้มันเข้าได้กับทุกคน” มุกดาภาเริ่ม การให้สัมภาษณ์ด้วยประเด็นคล้ายคลึงกับพิริญาณ์ ก่อนนำไปสู่ประเด็นใหญ่

“ทีนี้พอมันเป็นการเรียน อาจจะไม่ใช่แค่อักษรฯ แต่เป็นคณะใดใดก็ตาม ศาสตร์ใดใดก็ตาม ถ้ามองบรรทัดในแง่ที่มันเป็นเชิงนามธรรมนิดหนึ่ง เรามองว่ามันคือการให้คุณค่า เหมือนแต่ละคนก็มองคุณค่าของชีวิตตัวเองไม่เหมือนกัน”

เธอบอกว่าการให้คุณค่าของแต่ละคน ดูได้จากการถามตัวเองว่าเลือกเรียนคณะนี้เพราะอะไร คนหนึ่งคนให้ความสำคัญกับอะไร หรือชอบอะไรในคณะคณะหนึ่ง “ต่างคนก็มีเหตุผลของตัวเอง แล้วมันก็ไม่ได้บอกได้ว่าคุณค่าของใครสักคนนึงมันดีกว่าหรือเหนือว่าของใครอีกคนหนึ่ง หรือว่าเอาคุณค่าของคนหนึ่งไปตัดสินของคนอื่นได้”

มุกดาภาอธิบายว่าเธอพอจะเข้าใจผู้ทำคอนเทนต์ ว่าพยายามคิดมาแล้วว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ดีสำหรับผู้อ่าน

“ไม่รู้ว่าเหตุผลเบื้องหลังคืออะไร แต่ว่าเนื้อหาของเพจเหมือนการเอาคุณค่าสิ่งที่เขาคิดว่าดีมาใช้เป็นบรรทัดฐานแล้วก็บอกว่าเส้นนี้เราคิดมาแล้วนะ คือสิ่งที่เราบอกว่ามันดีกับคุณมันก็เลยน่าจะเป็นประโยชน์กับคุณ”

แต่อีกด้านหนึ่ง เธอก็เข้าใจนิสิตนักศึกษาและศิษย์เก่าอักษรศาสตร์ที่ต้องการกำหนดคุณค่าของตนเอง

“เอาจริงคือเด็กอักษรฯ ก็รู้สึกว่า คุณค่าในชีวิตเรามันก็ไม่เหมือนกันบางคนอาจจะเลือกเรียนเพราะว่าชอบ หรือแค่เรียนเพราะมีความสุข ความสุขก็เป็นคุณค่าอย่างหนึ่งได้เหมือนกัน นี่คือสิ่งที่เรามอง เราก็เลยรู้สึกว่าเนื้อหาแบบนี้ก็ค่อนข้างสร้างกระแส พอเป็นเด็กอักษรด้วยก็เลยยิ่งทำให้เกิดประเด็นถกเถียงเพราะเราก็ไมได้รู้สึกว่าอยากให้ใครเอาคุณค่ามาสวมให้เรา”

“เอาข้อมูลมาแสดงให้เห็น จะเป็นตัววิชาที่เรียนหรือข้อมูลอย่างละเอียดก็จะดีกว่า”

ประเด็นที่พิริญาณ์และผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่มีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาดังกล่าวเป็นห่วงที่สุด คือจะส่งผลกระทบถึงผู้ปกครองและนักเรียนที่กำลังตัดสินใจเลือกที่ศึกษาต่อ จะได้รับ “การชี้นำที่ผิด” ปิติพน ตันสุวรรณโสภณ นักเรียนชั้นม. 6  ที่กำลังจะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในปีการศึกษานี้ก็เห็นด้วยในประเด็น

ปิติพนเชื่อว่าการทำให้ข้อมูลเป็นข้อมูลเชิงตัวเลข ทำให้ง่ายต่อการจดจำ และยิ่งทำให้คนเชื่อข้อมูลดังกล่าวได้ง่าย

“ส่วนตัวเชื่อว่าถ้าคนเห็นพวกตัวเลขเปรียบเทียบแบบนี้มันจะทำให้คนเก็บข้อมูลง่ายแล้วก็เชื่อเลยก็เลยคิดว่าอันตรายพอสมควร เพราะเราก็ไม่รู้ว่าข้อมูลนี้มันจริงแค่ไหนแต่มันทำให้ง่ายต่อการเก็บข้อมูลไปแล้วโดยเฉพาะเด็กที่อยากเรียนต่อ”

สำหรับเขาที่เป็นนักเรียนชั้น ม.6 เองแล้ว คิดว่าการแนะนำคณะควรเป็นการเอาข้อมูลมาแสดงให้เห็น จะเป็นตัววิชาที่เรียนหรือข้อมูลอย่างละเอียดก็จะดีกว่า

โดยเขาเห็นด้วยกับมุกดาภาว่าการให้คะแนนมันเป็นเรื่องของที่เป็นการตีค่าและรู้สึกว่าแต่ละสาขาวิชาก็มีจุดเด่นของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน

แม้แต่แนะแนวกันเองในคณะก็ทำได้ไม่ง่าย

ปัจจุบันคณะอักษรศาสตร์เปิดรับนิสิตเข้าศึกษา 4 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่

  1. รับสมัครสอบตรงเพื่อเข้าสาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมนานาชาติ หลักสูตรนานาชาติ (BALAC)
  2. รับสมัครสอบตรงรอบพิเศษเพื่อคัดนักเรียนที่มีความสนใจเฉพาะ เพื่อเข้าเรียนใน  “เอก” ใดเอกหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น โครงการสู่ความเป็นเลิศด้านภาษาและวรรณคดีไทย หรือรับสมัครนักเรียนที่ผ่านการทดสอบภาษาฝรั่งเศสระดับ B1 เพื่อสอบเข้าศึกษาต่อในภาควิชาภาษาตะวันตก (ภาษาฝรั่งเศส) เป็นต้น
  3. รับสมัครสอบตรงโดยใช้คะแนนวัดระดับพื้นฐานสายศิลป์-ภาษา และพื้นฐานวิทยาศาสตร์โดยไม่ได้ระบุสาขาวิชาที่จะศึกษา

และ 4. รับสมัครโดยใช้คะแนนวัดระดับพื้นฐานวิทยาศาสตร์ ที่มีทั้งแบบระบุสาขาวิชาที่จะศึกษาเลย​(ภูมิศาสตร์) และยังไม่ระบุ

นิสิตกลุ่มใหญ่ที่สุดที่เข้ามาในชั้นปีที่ 1  คือนิสิตที่ยังไม่มีคำตอบให้ตนเองชัดเจนว่าจะเรียนสาขาวิชาอะไร เรียนวิชาบังคับพื้นฐานเป็นเวลา 1 ปีแล้วจึงค่อยตัดสินใจเลือกสาขาวิชาที่ตนจะสังกัดในชั้นปีที่ 2 ซึ่งตามปกติแล้ว ส่วนกิจการนิสิตของคณะจะจัดโครงการนิเทศเอก-โท โดยให้นิสิตได้พบกับอาจารย์เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนเลือกวิชาที่ตนจะศึกษา

“ทางกอศ. (คณะกรรมการนิสิตคณะอักษรศาสตร์) ก็มีโครงการที่เกี่ยวข้อง คือโครงการแนะแนวเอกโทให้กับน้องปีหนึ่ง” ชยกร อุดมวงษ์ คณะกรรมการนิสิตคณะอักษรศาสตร์ฝ่ายวิชาการแนะนำโครงการเมื่อเราถามถึงการแนะแนวการเลือกสาขาวิชาภายในคณะ โดยชี้ว่ามีการจัดพื้นที่ให้นิสิตชั้นปีที่ 1 และพี่ในสาขาวิชาเอก-โทต่าง ๆ มาพบปะกัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนว่าเอกนี้เรียนอย่างไร ทักษะที่ควรจะมีในการเลือกเอกนี้ ไม่ใช่แค่พูดเรื่องหลักสูตร และ “น้อง” เอง ก็สามารถถามคำถามจาก “พี่” ได้โดยตรง

ชยกรบอกว่าที่ต้องให้นิสิตในสาขาวิชานั้น ๆ มาพบปะพูดคุยเองเพราะบางเรื่องอาจารย์ที่มาทำการนิเทศเอก-โทก็ไม่สามารถให้คำแนะนำได้ “บางทีอาจารย์พูดในมุมมองของอาจารย์ ซึ่งอาจารย์ไม่ได้เรียน พอเป็นนิสิตมาเรียน บางเอกก็ต้องมีการจัดรรเวลา การทำรายงาน คุยกับรุ่นพี่ก็จะสามารถเข้าถึงบรรยากาศของการเรียนได้มากกว่า เป็นเทคนิกในการเรียนต่าง ๆ นิสิตก็จะรู้มากกว่าอาจารย์”

ฝ่ายวิชาการ กรรมการนิสิตคณะอักษรศาสตร์บอกว่าสำหรับน้อง ๆ ที่ยังเรียนหนังสืออยู่ งานที่จะแนะแนวได้อย่างรอบด้านคืองานเปิดบ้าน หรือ Open House ที่จัดเป็นประจำทุกปี มีนิทรรศการของแต่ละเอกและนิทรรศการกลาง มีการแนะแนวตลอดทั้งงานจากนิสิตที่ผ่านการเรียนมาเองเพื่อให้ได้รับข้อมูลอย่างรอบด้านประกอบการตัดสินใจที่มีผลต่อชีวิตมากครั้งหนึ่ง

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า