Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

จากความสำเร็จของคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีที่สาดซัดไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ BTS สู่ Parasite จนมาถึงซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ที่มีจำนวนผู้ชมขึ้นแท่นอันดับหนึ่งตลอดกาลอย่าง Squid Game สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของอดีตประเทศที่ผู้นำเคยเป็นกังวลว่าจะถูกครอบงำจากวัฒนธรรมจีนและญี่ปุ่น สู่ประเทศที่มี Soft Power ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก

แต่ความสำเร็จของเกาหลีในด้าน Soft Power ไม่ได้เป็นความสำเร็จจากผู้สร้างเพียงไม่กี่คนที่มีชื่อเสียงโด่งดังบนเวทีโลก แต่เป็นผลจากความพยายามของรัฐบาลในการขยายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในระยะยาว และกลายเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้เกาหลีใต้มีบทบาทในการเมืองโลกร่วมสมัย ได้เผยแพร่อุดมการณ์ประชาธิปไตยควบคู่กับวัฒนธรรมสมัยนิยมที่แพร่หลาย

หลายคนเริ่มมองเห็นเกาหลีใต้ในช่วงเวลาที่ประสบความสำเร็จแล้ว แต่ก่อนหน้าวันนี้จะมาถึงในเส้นทางอันยาวนานกว่า 23 ปี เกาหลีใต้ลงมือทำอะไรไปแล้วบ้างอาจจะยังไม่มีใครรู้ และอยากลองชวนให้ถอดบทเรียนดูว่า ‘ไทย’ ขยับมาได้ไกลแค่ไหนใน 23 ปีที่ผ่านมา

1) จุดเริ่มต้นของความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ เกิดขึ้นขณะที่ทั้งเอเชียกำลังเผชิญกับภายใต้วิกฤตทางการเงินในช่วงปี 1998 ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลประธานาธิบดี ‘คิมแดจุง’ เกาหลีใต้ได้เริ่มต้นยุคฟื้นฟูวัฒธรรมเกาหลีใต้ ผ่านการกำหนดนโยบายของรัฐบาลให้ ‘สื่อ’ และ ‘วัฒนธรรมป๊อป’ เป็นเป้าหมายในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้แผน ‘Hallyu Industry Support Development Plan’ ที่ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเกาหลีใต้เป็น 290,000 ล้านดอลลาร์ในสองปี เหนือกว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่มีมูลค่า 280,000 ล้านดอลลาร์

2) นอกจากกำหนดเป้าหมายแล้ว ระหว่างนั้นรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ขยายงบประมาณสำหรับ ‘อุตสาหกรรมวัฒนธรรม’ จาก 14 ล้านดอลลาร์ในปี 1998 เป็น 84 ล้านดอลลาร์ในปี 2001 โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ใช้รูปแบบความร่วมมือรัฐ-เอกชน แบบเดียวกับที่พัฒนาขึ้นเพื่อขยายอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตสินค้าทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมฯ ของเกาหลีใต้ได้ร่วมกับภาคเอกชนในการพัฒนาแผนธุรกิจที่ออกแบบมาเพื่อขยายตลาดต่างประเทศให้กับซีรีส์ ภาพยนตร์ และเพลง พร้อมจัดสินเชื่อให้เอกชนและจัดการฝึกอบรมให้กับศิลปิน

3) และในยุคของ ‘รัฐบาลคิมแดจุง’ เกาหลีใต้ก็ได้รับความสำเร็จแรกจากการออกฉายของซีรีส์ ‘Winter Sonata’ เกี่ยวกับความรักสะเทือนอารมณ์ของหนุ่มสาวสองคนในปี 2002 ที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลก โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากข้อตกลงระหว่างรัฐบาลเกาหลีและบริษัทด้านบรอดคาสต์ในต่างประเทศ แค่ในญี่ปุ่น Winter Sonata ก็ทำยอดขายไปกว่า 3.5 ล้านเหรียญฯ แล้ว และนักแสดงของเรื่องก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามมีแฟนคลับรอรับหลายพันคนในการเยือนโตเกียว ในปีเดียวจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเกาหลีใต้ก็เพิ่มขึ้น 75%

4) เมื่อก้าวเข้าสู่รัฐบาลต่อมา เกาหลีใต้ก็เร่งใช้ประโยชน์จากความสำเร็จของ Winter Sonata ‘รัฐบาลโนมูฮยอน’ รับตำแหน่งในปี 2003 ได้สร้างวลี ‘Creative Korea’ พร้อมเพิ่มเงินอุดหนุนทางด้านวัฒนธรรม เช่นเดียวกับ ‘ลีมยองบัก’ ที่เข้ารับตำแหน่งในปี 2008 ก็ให้ความสำคัญกับการส่งออกทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างภาพลักษณ์และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษกับอุตสาหกรรมอาหารเกาหลีอย่างเช่นกิมจิ

5) ในยุคต่อมาของ ‘รัฐบาลพัคกึนเฮ’ ประกาศว่า “การส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม” จะเป็นหนึ่งในนโยบายหลักในการบริหารงาน และเพราะช่วงเวลานี้ตรงกับความสำเร็จของเพลง ‘Gangnam Style’ จาก ‘Psy’ ที่มีผู้ชมบนยูทูบกว่า 4 พันล้านครั้ง จึงทำให้รัฐบาลปรับแผนเลือกทุ่มเงินหลายล้านดอลลาร์ให้กับกระทรวงวัฒนธรรมฯ 

6) จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบันอย่าง ‘รัฐบาลประธานาธิบดีมุนแจอิน’ ที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 2017 นอกจากสนับสนุนทางด้านวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องด้วยเงินอุดหนุนและเพิ่มแรงจูงใจด้านภาษีแล้ว รัฐบาลมุนแจอินยังได้ใช้ Soft Power ที่มีในมือยกระดับ ‘สถานะ’ ระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ โดยเริ่มนโยบาย ‘New Southern Policy’ ยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับอินเดียและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างตลาดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของวัฒนธรรมเคป๊อป

7) ในยุคเดียวกันนี้เองก็ได้สร้างประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเคป๊อปบนพื้นที่ระหว่างประเทศ ทั้งการนำศิลปินอย่าง Red Velvet และ Baek Ji-young ขึ้นแสดง ณ กรุงเปียงยาง เกาหลีเหนือ ในการประชุมสุดยอดผู้นำ 2018 ระหว่างเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ และรัฐบาลมุนแจอินยังได้แต่งตั้ง ‘BTS’ บอยแบนด์ชื่อดังให้เป็น ‘ทูตพิเศษของประธานาธิบดี’ ต่อสหประชาชาติเพื่อคนรุ่นหลังและวัฒนธรรม และมีผู้ติดตามชมสุนทรพจน์ของ BTS บนเวทียูเอ็นกว่าล้านคน

8) สุดท้ายเมื่อมามองย้อนกลับไปที่ ‘ผลลัพธ์’ ที่เกาหลีใต้ได้รับจากนโยบายผลักดันการส่งออกทางวัฒนธรรมก็มีมากมายจนนับไม่ถ้วน ในปี 2019 มูลค่าการส่งออกวัฒนธรรมป๊อปรวมถึงเกมคอมพิวเตอร์ ทัวร์ดนตรี และเครื่องสำอางสูงถึง 12,300 ล้านดอลลาร์ จาก 189 ล้านดอลลาร์ในปี 1998 หรือว่าเพิ่มขึ้นกว่า 65 เท่า จำนวนแรงงานด้านวัฒนธรรมของเกาหลีใต้มีจำนวนกว่า 6 แสนคนในปี 2017 คิดเป็น 3% ของแรงงานทั้งหมด

9) แค่เพียงบอยแบนด์ ‘BTS’ หรือในชื่อเกาหลีว่า ‘บังทันโซนยอนดัน’ เพียงวงเดียวก็ทำหน้าที่ราวกับ ‘โรงไฟฟ้าทางเศรษฐกิจ’ จากการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจกว่า 3.5 พันล้านดอลลาร์ต่อปี โดยในปี 2017 มีนักท่องเที่ยวราว 8 แสนคนหรือ 7% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดของเกาหลีใต้เดินทางเข้าสู่ประเทศเพียงเพราะชอบวง ‘BTS’

10) นอกจากนั้น Soft Power ยังส่งผลในเรื่องละเอียดอ่อนมากๆ อย่างทำให้ชาวโลกมองว่า แม้เกาหลีใต้จะมีขนาดเล็กและไม่มีภัยคุกคาม แต่กลับเป็นประเทศที่เจ๋งมากขึ้นเรื่อยๆ สินค้าเกาหลีเองก็รับได้การยอมรับในหมู่ชาวอเมริกันมากกว่าสินค้าญี่ปุ่นและจีน แม้จะมีภาวะเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าคนอเมริกัน 77% มีมุมมองบวกต่อเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นจากตัวเลข 46% ในปี 2003 และเหนือกว่าพันธมิตรดั้งเดิมของอเมริกันอย่างออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร รวมถึงทำให้คำกล่าวอ้างทางลบต่อเกาหลีใต้ของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ไม่สามารถปลุกความไม่พอใจต่อเกาหลีใต้ได้

11) สำหรับสังคมวัฒนธรรม ‘ภายใน’ ประเทศเกาหลีใต้เองก็เปลี่ยนแปลงไปเพราะ Soft Power เช่นกัน เพราะในเกาหลีใต้ วัฒนธรรมขงจื้อ-เคารพผู้อาวุโสได้พ่ายแพ้ต่อค่านิยมรักในตัวตนและอิสระ แม้ประชากรจะมีอายุมากขึ้นและวัยแรงงานลดน้อยลง หนุ่มสาวเกาหลีเลือกอาชีพทางศิลปะและสร้างสรรค์มากกว่าเป็นพนักงานกินเงินเดือนในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งหมดช่วยให้เกาหลีใต้สามารถเร่งการเปลี่ยนแปลงที่ยาก อย่างการก้าวข้ามอุตสาหกรรมหนักไปสู่อุตสาหกรรมที่เน้นทรัพย์สินทางปัญญา ความคิดสร้างสรรค์มีความสำคัญกับ ‘เทคโนโลยี’ ไม่ต่างกับศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบริษัทเกาหลีต้องเริ่มแข่งกับบริษัทที่มีความก้าวหน้าสู่ในสหรัฐฯ อย่าง Apple, Alphabet และ Amazon

13) นอกจากนั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมา ‘เกาหลีใต้’ ยังได้ใช้การส่งออกทางวัฒนธรรมยืนหยัดความเชื่อในอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ แม้จะต้องเผชิญหน้ากับการแบนจากประเทศกลุ่มเป้าหมายอย่างจีนในปี 2017 ก็ตาม และงานสร้างสรรค์ของเกาหลีใต้เองยังได้ส่งแรงกระเพื่อมในความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ รวมถึงทำให้ ‘เกาหลีใต้’ เป็นประเทศเล็กๆ ที่เจ๋งและสุดคูลขึ้นเรื่อยๆ

อะไร คือ สิ่งกีดขวางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย

‘ภาณุ อารี’ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศ บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชันแนล จำกัด ได้อธิบายไว้ว่า หากเปรียบเทียบงบประมาณของทั้งสองประเทศจะเห็นว่างบประมาณของทั้งสองประเทศต่างค่อยๆ เพิ่มขึ้นตลอดช่วงเวลา 23 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของงบประมาณด้านวัฒนธรรมของเกาหลีและไทยใต้สอดคล้องกับการเติบโตของทุกอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ภายในประเทศ 

แต่ในขณะที่เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการส่งออกวัฒนธรรม ไทยกลับประสบปัญหาในการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้สามารถส่งออกได้ เนื่องจากปัญหาการด้านวิสัยทัศน์และความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่ถูกต้อง

ตลกร้ายของศิลปินไทย กับความเข้าใจผิดในการส่งออกวัฒนธรรม

บุคลากรในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยมีความรู้ความสามารถที่พร้อมต่อการทำงานในระดับโลก และมันก็เป็นตลกร้ายเช่นกันที่ศิลปินไทยหลายๆ คนสามารถออกไปประสบความสำเร็จในระดับโลกได้โดยปราศจากความช่วยเหลือของรัฐบาลอย่างเช่นภาพยนต์ฉลาดเกมโกงหรือนักร้องไทยชื่อดังภูมิ วิภูริศ แต่ผลงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลส่วนใหญ่กลับไม่ประสบความสำเร็จ

เป็นเพราะหน่วยงานของรัฐยังมีความเข้าใจและวิสัยทัศน์ต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไม่เท่าทันกับพลวัตของโลก ในขณะที่โลกสนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำ การศึกษา ฯลฯ และทำงานสร้างสรรค์ที่สะท้อนผ่านเรื่องราวเหล่านี้ อย่างภาพยนตร์ Parasite ซีรีส์ Squid Game หรือแม้แต่ภาพยนต์ฉลาดเกมโกงและซีรีส์แนนโน๊ะของไทยเองที่ประสบความสำเร็จ

แต่หน่วยงานของรัฐไทยยังคงอยากให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ช่วยโปรโมทอาหารไทย มวยไทย หรือวิถีชีวิตไทยแบบดั้งเดิม และผลงานที่เผยให้เห็นด้านลบของประเทศไทยมักไม่ได้รับการสนับสนุน เนื่องจากความกังวลว่าจะสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้กับประเทศ หลายๆ ครั้งนำมาสู่การเซ็นเซอร์ตัวเองของศิลปินในที่สุด

ปัญหาระบบราชการกับความร่วมมือเอกชน

นอกจากนั้น ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องการจัดสรรบุคลากรในการกำหนดยุทธศาสตร์ทางด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ องค์กรที่เป็นผู้กำหนดนโยบายและคอยสนับสนุนอุตฯ ควรจะต้องมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ เป็นคนในอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง แต่เนื่องจากระบบราชการไทยที่ไม่มีเอกภาพ มีหลายองค์กรร่วมกันดูแลอุตสหกรรมสร้างสรรค์ (4 กระทรวง 1 หน่วยงาน) ทำให้การกำหนดนโยบายด้านงานสร้างสรรค์ไม่มีประสิทธิภาพ

รวมถึงระบบราชการปัจจุบันทำให้ข้าราชการไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่และไม่สามารถผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์โดยอาศัยความรู้และความสามารถของเอกชนได้

อย่างในเกาหลีใต้เอง องค์กรสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์แต่ละประเภทล้วนมีเอกภาพชัดเจน มีองค์กรเดียวต่อกลุ่มประเภท แล้วยังมีเอกชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมจริงๆ ร่วมกำหนดนโยบาย สนับสนุน และส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ ทำให้การกำหนดนโยบายอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจอย่างแท้จริงและเป็นอิสระ

ผลสุดท้ายจึงทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีคนสร้างสรรค์ที่มีความสามารถ แต่หน่วยงานของรัฐกลับยังอยู่ในกรอบ Soft Power เมื่อ 20 ปีที่แล้วและยังตามไม่ทันพลวัตของโลก

“มันน่าเศร้าที่เรามีคนที่มีความสามารถ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน หลายๆ องค์กรอย่างจีดีเอชหรืออย่างคุณภูมิ วิภูริศ เขาคือตัวอย่างของคนเก่ง มีความสามารถ และสามารถผลักดันตัวเองไปสู่ระดับโลกได้ แม้ไม่ได้รับการสนับสนุนมากนัก แต่ยังมีคนตัวเล็กๆ อีกมากมายที่ขาดโอกาส ขาดการสนับสนุน”

ถึงอย่างนั้น ‘ภาณุ’ ก็ยังคงเชื่อว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยยังคงมีความหวัง เพราะคนสร้างสรรค์ไทยมีความพร้อมและมีความสามารถ ขอเพียงเมื่อไรก็ตามที่รัฐมีวิสัยทัศน์และกำหนดพันธกิจทางด้านนี้ อุตสากรรมสร้างสรรค์ไทยก็พร้อมจะเติบโต

ส่วน ‘เกาหลี’ นั้น ภาณุ คิดว่าไม่ได้กำลังแข่งกับใครๆ แล้ว แต่เกาหลีใต้กำลังแข่งกับตัวเองในทุกขณะ เพื่อทำลายสถิติของตัวเองและไปต่อในเส้นทางสายนี้อีกยาวไกลในอนาคต

ที่มา

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า