Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ใกล้ช่วงเดดไลน์ที่จะชี้ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ ยิ่งน่าห่วงและมีคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหรือไม่  หรือจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. 2561 ตามที่  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้คำมั่นสัญญาไว้หรือเปล่า

 

สัญญาณที่ออกมาในช่วงนี้ทำเอาหลายคนหายใจหายคอไม่ทั่วท้อง เพราะอ่านอย่างไรก็คล้ายกับจะบอกว่า “มีใครบางคน” ยังไม่พร้อมกับการเลือกตั้ง

 

 ต้องบอกว่าที่ผ่านมา “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี”  และทีมงานน่าจะพออ่านเกมออกว่าขณะนี้คะแนนนิยมของรัฐบาลไม่ดีนัก  จนไม่น่าจะเพียงพอกับอนาคตไม่ว่าจะในรูปแบบไหน ทั้งในสถานะ นายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง หรือการอยู่ในสถานะกุมอำนาจอยู่เบื้องหลัง

  

 การข่าวขณะนี้ตรงกันว่า หากมีการเลือกตั้งยากที่จะเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้  แม้กติกาจะเขียนเปิดทางนายกฯ คนนอก แต่กว่าจะไปถึงขันนั้นต้องฝ่าด่านเลือกตั้งไม่ให้เพื่อไทยกวาดเสียงข้างมากได้เสียก่อน

 

เราจึงเห็นนายกรัฐมนตรีเร่งลงพื้นที่  ทั้งประชุม ครม. สัญจร  ทั้งพบปะประชาชน แบกถุงงบประมาณลงไปหว่านแจกชาวบ้าน หรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ที่สุดแล้วก็เหมือนกระบุงก้นรั่ว เพราะคนที่อยู่ข้างหลังนั้นสร้างแต่ภาพลบ ข่าวทุจริตการเอื้อประโยชน์และความไม่โปร่งใส ล้วนแล้วแต่บั่นทอนความเชื่อมั่น มิพักต้องพูดถึงเศรษฐกิจ ที่แม้จะพร่ำบอกว่าดีขึ้นเพียงใด แต่ชาวบ้านร้านตลาดย่อมรู้ดีว่าเงินในกระเป๋าของเขานั้นเป็นอย่างไร

 

เราจึงเห็นย่างก้าวแห่งการเคลื่อนไหวที่สอดประสาน และมีเป้าหมายที่ถูกมองว่าปลายทางอยู่ที่การขยับ โร้ดแม็พ จนกว่ารัฐบาลจะมีความพร้อมในการลงสู่สนามเลือกตั้ง

 

แต่เมื่อ “โร้ดแม็พ” ที่ถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญระบุชัดว่าต้องเลือกตั้งไม่เกิน 150 วันหลังจากกฎหมายสำคัญ 4 ฉบับประกาศใช้  นั่นคือ กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายสรรหา ส.ว. และกฎหมาย กกต. สิ่งเดียวที่ทำได้คือ ต้องเลื่อนผ่านกระบวนการทางกฎหมายเท่านั้น

 

ที่ผ่านมาเราเห็นสิ่งที่สร้างความกังขาแต่ยังหาคำตอบไม่ได้คือ “เหตุใด คสช. ไม่ยอมปลดล็อกพรรคการเมือง” ทั้งๆ ที่กฎหมายพรรคการเมืองก็ประกาศใช้ และมีเงื่อนเวลากำกับว่าอะไรที่ทำได้หรือต้องทำ และหากเกินเวลาก็ย่อมส่งผลต่อการมีอยู่ของพรรค หรือการส่งสมาชิกลงรับสมัครเลือกตั้ง”

 

และสัปดาห์ที่ผ่านมาเรื่องราวก็ถึงบางอ้อเมื่อมีสามผู้เล่นที่เปิดเกมผ่านระบบกฎหมาย และไขปริศนาเช่นว่า

 

คนแรกคือ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” แกนนำกลุ่มมัชฌิมา ที่ออกมาเสนอให้แก้ปัญหา โดยขอให้ประกาศ “งดใช้รัฐธรรมนูญ” บางมาตรา  และขอให้ ส.ส. ที่จะลงเลือกตั้งไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง

 

ต้องบอกว่าหากมีการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองนั้น ต้องกระทบกับโร้ดแม็พเลือกตั้ง เพราะมีกระบวนการต่างๆ ซึ่งหากกฎหมายฉบับอื่นผ่านสภาครบแล้ว ก็ต้องถือว่านาฬิกาเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญได้เดินขึ้น การจะหยุดลงเพื่อรอแก้กฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งก็ต้องทำผ่านการ “งดใช้รัฐธรรมนูญ” นั่นเอง

     

แม้ “สมศักดิ์” จะไม่บอกชัดว่าอยากให้ “งดใช้” มาตราไหน แต่จะออกรูปไหนก็ย่อมมีผลต่อวันเลือกตั้ง

ตามด้วย “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ที่คราวนี้มาในนามผู้จัดตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป ก็เสนอต่อ สนช. ให้แก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่ง สนช. ก็รับลูกไว้ แม้ไม่บอกว่าจะทำหรือไม่ แต่การรับไว้พิจารณาและตั้งกรรมการศึกษาก็ย่อมทำให้เห็นว่าขณะนี้ประตูเปิดเล้ว และ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช. เองก็รับว่าหากแก้ไขย่อมกระทบโร้ดแม็พเลือกตั้ง

 

และตบท้ายด้วย”สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตเลขาธิการ กปปส. อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ก็ขอให้แก้กฎหมายฉบับเดียวกัน 

 

น่าสนว่าทั้งหมดใช้เส้นทางเดียวกัน และจะส่งผลแบบเดียวกัน

 

“สุเทพ เทือกสุบรรณ” นั้นใครๆ ก็รู้ว่าเขามีบทบาทเป็น “ผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ” ของรัฐบาลทหาร โดยเป็นทั้งผู้ออกบัตรเชิญทหารเข้าสู่อำนาจผ่านการชุมนุมช่วงปี 2556-2557 และหลังจากนั้นก็ยังประกาศหนุนหลังรัฐบาลอย่างเต็มที่

 

เช่นเดียวกับ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ที่เข้ามารับงานกับ รัฐบาล คสช. หลายคร้ั้ง ไม่ว่าจะเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นยังเป็นตัวเปิดเกมสำคัญหลายๆ ครั้ง  แม้หลายคนมองอย่างไม่น่าเชื่อถือ แต่ประเด็นทางการเมืองที่เป็นเรื่องชี้ขาดก็เริ่มมาจากเขา หรือกระทั่งการเดินหน้าจัดการกับธรรมกายก็เปิดจากเขา ที่สำคัญท่าทีของเขาเป็นประตูที่เปิดให้รัฐบาลใช้เดินสู่เรื่องราวต่างๆ

 

 ขณะที่ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” เองนั้นแม้เป็นนักการเมือง แต่ก็มีความใกล้ชิดกับคนในรัฐบาลปัจจุบันโดยเฉพาะ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์”  หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

 

จึงเห็นได้ไม่ยาก ทุกตัวละครนั้นมีที่มาที่ไปและมีบทบาทสำคัญ  เราจึงเห็นการเคลื่อนไหวที่เป็นกระบวนการตั้งแต่การไม่ยอมปลดล็อกพรรคการเมืองทั้งๆ ที่กฎหมายมีผลบังคับใช้และมีเงื่อนเวลาขีดเส้น ตามมาด้วยการเสนอแก้กฎหมายที่ยังไม่เคยใช้ โดยคนกันเอง และสุดท้ายอาจจะนำไปสู่การขยับวันเลือกตั้งออกไป

 

นอกจากตัวละครที่ว่ายังมี “ตัวละครลับ” คือ สนช. บางกลุ่มที่กำลังเดินเกมอีกทางเพื่อคว่ำร่างกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งหากทำสำเร็จ ก็ไม่รู้ว่าจะได้เลือกตั้งกันอีกเมื่อไหร่ เพราะเงื่อนไขของการเลือกตั้งตามโร้ดแม็พถูกตัดตอนทำแท้งไปเสียแล้ว

 

แต่ทั้งหมดต้องบอกว่า คำตอบจะเฉลยโดย คสช. เอง เพราะแม่น้ำทั้ง 5 สายที่ทำงานกับรัฐขณะนี้ ล้วนแต่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ คสช. ทั้งสิ้น หาก คสช. แสดงความตั้งใจจริงจะเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 2561 ตามคำมั่นสัญญา ทุกองคาพยพย่อมปฏิบัติตาม

 

 และในทางตรงข้ามหากพวกเขาต้องการยื้อเวลาออกไป เหล่าแม่น้ำ 5 สายก็พร้อมจะรับคำบัญชา และทำทุกทางเพื่อยืดเวลาออกไป  

 

หากเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปจึงไม่ใช่ความรับผิดชอบของใครอื่นทั้งสิ้น

   

บทความโดย “อสรพิษ”

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า