SHARE

คัดลอกแล้ว

explainer เรื่องการแบกเสลี่ยงพระเกี้ยวใน งานบอลจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ แม้จะเป็นเรื่องภายในรั้วมหาวิทยาลัย แต่กลายเป็นประเด็นสำคัญ จนถึงขั้นนายกรัฐมนตรีต้องออกมาพูดถึง

เรื่องนี้ ในสายตาของศิษย์เก่า กับ ศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยก็มองเห็นไม่ตรงกัน เหตุการณ์ทั้งหมด workpointTODAY จะสรุปทุกมิติให้เข้าใจง่ายใน 14 ข้อ

1) งานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ เป็นการแข่งขันประจำปีระหว่าง 2 มหาวิทยาลัย เริ่มต้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2477 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการสร้างความปรองดองกัน ระหว่าง 2 สถาบัน คล้ายคลึงกับ การแข่งเรือพายประเพณีของ มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ของประเทศอังกฤษ

2) ในปี พ.ศ.2507 มีการจัดกิจกรรมเพิ่มเติมก่อนฟุตบอลเตะ คือใส่พิธีการ “อัญเชิญพระเกี้ยวจำลอง” ลงในขบวนพาเหรดของฝั่งจุฬาฯ โดยจะให้ตัวแทนนิสิตอัญเชิญพระเกี้ยวเข้ามาในสนาม ซึ่งในแต่ละปี การอัญเชิญพระเกี้ยวจะได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นอย่างมาก

โดยวิธีการก็คือ ฝั่งจุฬาฯ จะนำพระเกี้ยวจำลองที่จัดทำขึ้น บวกกับนำนิสิตที่คัดเลือกมา ชาย 1 คน หญิง 1 คน ขึ้นไปอยู่ใน “เสลี่ยง” ขนาดใหญ่ โดยเสลี่ยงบวกคน คาดกันว่า มีน้ำหนักรวมประมาณ 250-300 กิโลกรัม

ในแต่ละปี ผู้คนก็จะเฝ้าดูว่า นิสิตชาย-หญิงคนไหน ที่จะได้รับคัดเลือกให้อัญเชิญพระเกี้ยว โดยหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า “ในงานฟุตบอลประเพณี ไม่สามารถให้นิสิตจุฬาฯ ทุกคนอัญเชิญพระเกี้ยวได้หมด ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคัดเลือกนิสิตที่มีความเหมาะสม มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งรูปร่าง หน้าตา บุคลิคภาพ การวางตัว กิริยามารยาท ผลการเรียน … ซึ่งนิสิตที่ทำหน้าที่อัญเชิญพระเกี้ยวนี้ ถือได้ว่าเป็นภาพลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย”

คำแปลง่ายๆ ของหอประวัติฯ คือคนที่จะถูกคัดเลือกมาอัญเชิญพระเกี้ยวได้ ต้องหน้าตาดี และมีความเพียบพร้อม ในอดีต เราจึงเห็นดาราดังอย่าง แอฟ-ทักษอร และ แต้ว-ณฐพร ได้รับหน้าที่อัญเชิญมาแล้วในครั้งที่ผ่านๆ มา

3) ในขณะที่สายตาของประชาชนจะโฟกัสไปที่ตัวพระเกี้ยวและคนอัญเชิญพระเกี้ยว แต่องค์ประกอบที่สำคัญเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้รับความสนใจมากนัก คือ “คนแบกเสลี่ยง” กล่าวคือ การแบกพระเกี้ยว และนิสิต 2 คน คาดว่ามีน้ำหนักรวม 250-300 กิโลกรัม ดังนั้น ต้องใช้คนจำนวน 50-60 คน เป็นอย่างน้อย ในการแบกเสลี่ยงเข้ามาในสนาม

4) ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการแบกเสลี่ยงมาตลอดหลายปีหลัง คือ “หาคนอยากแบกไม่ได้” กล่าวคือ นี่เป็นงานที่หนักมาก ต้องใช้พลังแบกของหนัก 250 กิโลกรัม ยาวนานกว่า 2 ชั่วโมงท่ามกลางแดดร้อน และไม่ใช่แค่แบกในวันแข่งจริงเท่านั้น ยังต้องใช้เวลากับการฝึกซ้อมอีกหลายวัน

ความหนักหนาในการแบกก็ประเด็นหนึ่ง แต่คนที่เคยแบกเสลี่ยงพระเกี้ยวมาแล้ว อธิบายว่า คนแบกเหมือนเป็นแค่แรงงาน ทำหน้าที่เสร็จก็ได้สิ่งตอบแทน แค่ข้าว 1 กล่อง ทีมคนแบก ไม่ได้รับการเชิดชูหรือถูกจดจำใดๆ แม้แต่รูปถ่ายก็มีไม่มาก เพราะคนอื่นๆ ในสนามไปสนใจคนที่ทำหน้าที่อัญเชิญกันหมด และเมื่อเกิดความรู้สึกไม่เท่าเทียม และไม่เห็นคุณค่าในงานที่ทำ นั่นทำให้นิสิตในรุ่นใหม่ๆ หาคนแบกเสลี่ยงยากขึ้นเรื่อยๆ

5) วันที่ 23 ตุลาคม 2564 องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) ออกแถลงการณ์ว่า “รูปแบบกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว เป็นภาพแทนของวัฒนธรรมแบบศักดินา ที่ยกกลุ่มคนหนึ่งสูงกว่าอีกกลุ่ม พร้อมสัญลักษณ์ของศักดินาคือ ‘พระเกี้ยว’ บนเสลี่ยง”

พร้อมทั้งตั้งคำถามว่า กระบวนการคัดเลือกผู้อัญเชิญ มองไปแต่มาตรฐานความสวยหรือเปล่า ในยุคที่สังคมกำลังต่อต้าน Beauty Privilage เช่นเดียวกับประเด็น “คนแบก” ที่มีการบังคับโดยใช้เหตุผลเรื่องการให้คะแนนมากดดัน

ดังนั้นอบจ. จึงมีมติ 29-0 เสียง ให้ยกเลิกกิจกรรม คัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยว และการแบกเสลี่ยงในฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งต่อไป

6) สำหรับอบจ. เป็นการรวมตัวกันของ นิสิตที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง รวมกับตัวแทนนิสิตจาก 18 คณะของมหาวิทยาลัย โดยปัจจุบัน นายกฯ อบจ. คือนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล จากคณะรัฐศาสตร์

การตัดสินใจของอบจ. จึงมีลักษณะคล้ายระบบการเมือง กล่าวคือ นักศึกษาปัจจุบัน เลือกตัวแทนมาเป็นอบจ. และจากนั้นก็ให้อบจ. ตัดสินใจในเรื่องสำคัญแทนตัวเอง และในครั้งนี้ อบจ. ตัดสินใจยกเลิกการแบกเสลี่ยง ด้วยมติเอกฉันท์

7) สำหรับดราม่าในเรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะความเห็นแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกคือ ฝ่ายสนับสนุนอบจ. กล่าวคือ เคารพในระบอบประชาธิปไตย ในเมื่อเป็นมติของคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งของนิสิต เมื่อการโหวตเป็นแบบนี้ ก็ควรจะยอมรับผลไป ถ้าหากในอนาคตนิสิตรุ่นใหม่เห็นต่าง แล้วโหวตให้กลับมาแห่พระเกี้ยวอีกรอบ ถึงตรงนั้นค่อยนำพระเกี้ยวกลับมาแห่ก็ได้

8) แต่อีกฝ่ายคือ ฝ่ายต่อต้านอบจ. โดยวิจารณ์ว่า การไม่ยอมอัญเชิญพระเกี้ยวเข้าสู่สนามในงานบอลประเพณี คือการลดคุณค่าของพระเกี้ยวลง นอกจากนั้นยังรับไม่ได้ กับแถลงของอบจ. ที่กล่าวว่า “สัญลักษณ์ของศักดินาคือพระเกี้ยวบนเสลี่ยง”

วินทร์ เลียววารินทร์ นักเขียนซีไรต์ ที่เป็นนิสิตเก่าจุฬาฯ เขียนโพสต์ว่า “พระเกี้ยวไม่ใช่ และไม่เคยเป็นสัญลักษณ์ของความไม่เสมอภาค ตรงกันข้าม มันเป็นสัญลักษณ์ของความเสมอภาคทางการศึกษา ไม่ว่าคนในฐานะใดก็ได้เล่าเรียนเท่ากัน”

กล่าวคือในอดีตประเทศไทยยังไม่มีสถาบันอุดมศึกษาสำหรับพลเรือน แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันแรกที่ประชาชนสามารถเล่าเรียนได้แล้วเอาไปประกอบอาชีพของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเรียนแล้วรับราชการเท่านั้น

9) สำหรับ “พระเกี้ยว” นั้น นี่คือเครื่องประดับศีรษะของพระราชโอรส และพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ และเป็นสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 5 โดยตามประวัติศาสตร์แล้ว รัชกาลที่ 6 ได้มอบพระเกี้ยวให้ใช้เป็นตรามหาวิทยาลัย ซึ่งทางจุฬาฯ ก็ได้ปลูกฝังค่านิยมให้นิสิตในทุกยุคสมัยว่า ให้มีความเคารพพระบรมราชสัญลักษณ์ที่ได้รับพระราชทานมา

เมื่อพระเกี้ยว มีคุณค่าที่เชื่อมโยงกับรัชกาลที่ 5 ดังนั้นการที่ลดความสำคัญของพระเกี้ยวลง ไม่ยอมนำไปเทิดทูนไว้ในงานบอล ทำให้กลุ่มศิษย์เก่าส่วนหนึ่งจึงมองว่าเป็นการลดทอนคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อมหาวิทยาลัยด้วย

10) นอกจากนั้นยังมีข้อสังเกตว่า การแถลงของอบจ. ยังเลือกประกาศในวันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันปิยมหาราช หรือวันคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ 5 อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ในปีหน้า (2565) ก็ยังไม่มีการจัดแข่งขันฟุตบอลประเพณี เนื่องจากต้องเลื่อนไปเพราะเหตุโควิด ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอะไรเลย ที่ต้องมาประกาศในวันที่ 23 ตุลาคมของปี 2564

11) ดังนั้นในเรื่องนี้ จำเป็นต้องแยกเป็น 3 ประเด็น ประเด็นแรกคือเรื่อง “การยกเสลี่ยงพระเกี้ยว” ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ในยุคที่เด็กนักศึกษายุคใหม่ มองว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่ก่อประโยชน์ใดๆ ให้พวกเขา เรื่องนี้สามารถหาทางแก้ไขอย่างอื่นเช่น นำพระเกี้ยว หรือและคนอัญเชิญ ขึ้นรถยนต์ได้หรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องหาคนมาแบกหาม

และถ้าคำตอบคือ “จำเป็นต้องแบก” จะมีวิธีการใดๆ ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระใช้แรงงานของนักศึกษาได้หรือไม่

ชนินทร์ พรมอยู่ อดีตนิสิตที่เคยทำหน้าที่จัดหาคนแบกเสลี่ยงในงานบอลประเพณีครั้งที่ 72 อธิบายกับ workpointTODAY ว่า “ตามธรรมเนียมเดิมแล้ว คนแบกเสลี่ยงจะเป็นเด็กปี 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่ในช่วงหลังเด็กก็ไม่อยากทำแล้ว เพราะเขาไม่เห็นคุณค่า เราไปหาเด็กวิศวะมาได้ 30 คน ซึ่งไม่พอ จากนั้นก็เลยประกาศเปิดให้คณะไหนก็ได้ ปีไหนก็ได้ มาอาสาแบกเสลี่ยง แต่ก็มีคนสมัครเพิ่มแค่ 5-6 คน จากนิสิตเป็นหมื่นๆ คน ดังนั้นเราเลยเข้าใจว่า ไม่ใช่แค่เด็กวิศวะนะ แต่ใครๆ ก็ไม่อยากทำหน้าที่นี้ทั้งนั้น”

12) ประเด็นที่ 2 คือ “รูปแบบของแบกเสลี่ยง” เป็นวัฒนธรรมที่มองคนไม่เท่ากันจริงหรือไม่ กับภาพของคนที่ได้รับเลือก 2 คนอยู่ด้านบนสุด ได้ทั้งชื่อเสียง และเกียรติยศ แต่ต้องมีคนอีกจำนวนหนึ่งแบกหามพวกเขาไว้ โดยที่ไม่ได้รับอะไรตอบแทนกลับมาเลย

ฝ่ายที่คิดว่าควรกำจัดการแบกเสลี่ยงทิ้งก็มี แต่ฝ่ายที่บอกว่าควรเก็บไว้ก็มี เพราะมันเป็นสตอรี่ เป็นเรื่องราว หลายๆ ประเทศก็มีกิจกรรมลักษณะนี้ อย่างในประเทศญี่ปุ่น ก็มีการแบก “มิโคชิ” ซุ้มประทับของเทพเจ้าในงานเทศกาลฤดูร้อน ซึ่งเป็นงานที่ใช้แรงเช่นกัน

คำถามคือ ประเพณีที่ทำกันมาอย่างยาวนาน ควรรักษาไว้ต่อไป หรือควรเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าหากคนรุ่นใหม่มองว่ามันล้าสมัยไปแล้ว

13) และประเด็นที่ 3 คือ “พระเกี้ยว” เป็นเครื่องหมายของศักดินา จริงหรือไม่ กล่าวคือพระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย ควรจะถูกให้คุณค่าไว้ตามเดิมหรือเปล่า

ศ.ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ นายกราชบัณฑิตยสภา อธิบายว่า ในอดีตรัชกาลที่ 5 ยกเลิกระบบไพร่ทาส ขัดใจผลประโยชน์ขุนนางทั้งแผ่นดิน ก็แต่เลือกจะทำ แม้จะเสี่ยงต่อเสถียรภาพในการครองบัลลังก์ก็ตาม รวมถึงยกเลิกวัฒนธรรมการหมอบคลาน ดังนั้นพระเกี้ยวที่เป็นวัตถุตัวแทนของรัชกาลที่ 5 ไม่ได้สื่อถึงความเป็นศักดินา แต่เป็นสัญลักษณ์ของความเสมอภาค และเสรีภาพของคนไทยต่างหาก

14) นี่คือดราม่าสำคัญที่ต้องถกเถียงกันต่อไปเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ตอนนี้ทั้งศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน ต่างเห็นแย้งกันไปคนละทิศละทาง

ในเบื้องหน้าอาจจะเป็นแค่ “แบกหรือไม่แบก” พระเกี้ยว แต่ในเบื้่องหลัง มันเป็นการต่อสู้ของอนุรักษ์นิยม ปะทะฝ่ายหัวก้าวหน้า รวมถึงเป็นการโต้แย้งในเรื่องการให้คุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่แตกต่างกันของคนทั้ง 2 เจเนเรชั่นด้วย

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า