SHARE

คัดลอกแล้ว

ประเมินว่าถ้าธุรกิจต่าง ๆ หันมาใช้รถบรรทุกไฟฟ้าจะช่วยลดปัญหาก๊าซเรือนกระจกได้ เทียบให้เห็นภาพคือ ถ้าแต่ละวันเปลี่ยนจากรถบรรทุกเครื่องยนต์สันดาป มาใช้รถบรรทุกไฟฟ้าได้สัก 1,000 คันต่อวันก็จะเท่ากับปลูกต้นไม้มากถึง 6 ล้านต้น

ตอนนี้เลยได้เห็นหลายประเทศเตรียมแผนมุ่งไปสู่การใช้ รถบรรทุกไร้มลพิษ หรือ Zero Emission Truck แผนนี้เป็นข้อตกลงระดับโลกที่ให้ประเทศที่เข้าร่วมมีเป้าหมายให้ใช้รถบรรทุกมลพิษ 30% ของยอดขายรถบรรทุกและรถบัสทั้งหมดภายในปี 2573 และให้ใช้รถบรรทุกไร้มลพิษ 100% ในปี 2583

มีประเทศที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่าง สหรัฐอเมริกา จีน สหราชอาณาจักร ตุรกี สวิตเซอร์แลนด์ โปรตุเกส นอร์เวย์ นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก ไอร์แลนด์ ฟินแลนด์ โดมินิกัน เดนมาร์ก โครเอเชีย แคนาดา เบลเยี่ยม ชิลี ออสเตรีย เป็นต้น

ส่วนไทยยังไม่ได้ติดเข้าไปในกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ก็จริง แต่ถ้าไปดูว่าตอนนี้เรามีรถบรรทุกไฟฟ้าใช้อยู่ที่ไหน จะพบว่ามีการใช้กันอยู่ในการวิ่งขนส่งภายในท่าเรือแหลมฉบังมากที่สุด

ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือน้ำลึกหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของเรา ซึ่งถ้าไปดูแผนก็มีความพยายามจะพัฒนาเป็น “ท่าเรือสีเขียว” ที่เรียกว่า Green Port ซึ่งเป็นเทรนด์ท่าเรือเศรษฐกิจทั่วโลกที่ต่างประเทศก็จะหันไปทางนี้กันมากขึ้น และแผนท่าเรือสีเขียวที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นมีมากมาย หนึ่งในแผนคือต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบขนส่งภายในท่าเรือ และภายในท่าเรือก็ต้องหันมาใช้พลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้น ดังนั้น รถบรรทุกไฟฟ้า เลยเป็นคำตอบหนึ่ง

โดยปกติรถบรรทุกเครื่องยนต์สันดาปที่ใช้กันทั่วไปก็จะเข้ามารับช่วงต่อขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ในบริเวณท่าเรือ แต่ถ้าเปลี่ยนมาใช้เป็นรถบรรทุกไฟฟ้าจะช่วยลดการสิ้นเปลืองน้ำมันดีเซลได้และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ด้วย

ข้อมูลจาก Krungthai Compass ประเมินว่า หากท่าเรือแหลมฉบังของไทย หันมาปรับใช้รถบรรทุกภายในท่าเรือเป็นรถบรรทุกไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อย 10% หรือใช้ให้ได้ประมาณ 1,000 คันต่อวัน จะช่วยลดการสิ้นเปลืองของน้ำมันดีเซลได้ถึง 50 ล้านลิตรต่อปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 4.8 หมื่นตัน เท่ากับการปลูกต้นไม้ 6 ล้านต้น

ทั้งยังส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเช่น ธุรกิจผลิตรถบรรทุกและหัวรถจักรไฟฟ้า ชิ้นส่วนและแบตเตอรี่ก็จะเติบโตตามด้วย

ทีนี้เรามาดูว่าทั่วโลกใช้รถบรรทุกไฟฟ้ากันแค่ไหน

ถ้าดูข้อมูลจนถึงสิ้นปี 2565 ยอดขายรถบรรทุกไฟฟ้าทั่วโลกอยู่ที่ 6 หมื่นคัน ส่วนใหญ่เป็นรถบรรทุกไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่ (BEV) โดยประเทศจีนครองส่วนแบ่งตลาดการผลิต และจำหน่ายรถบรรทุกไฟฟ้ามากที่สุดในโลก (ปีที่แล้วยอดขายรถบรรทุกไฟฟ้าในจีนอยู่ที่ 5.2 หมื่นคัน)

พอไปไล่ดูตามท่าเรือใหญ่ ๆ ของจีน ก็จะเห็นว่าเริ่มนำรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนท่าเรือสีเขียว Green Port เช่นกัน อย่าง ท่าเรือฝางเฉิงก่าง ในเขตปกครองตนเองกว่างซี ใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า 10 คัน สำหรับขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ภายในท่าเรือมาใช้ ช่วยลดการสิ้นเปลืองของน้ำมันดีเซล 2 แสนลิตรต่อปี

ส่วนท่าเรือเทียนจิน ท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดทางเหนือของจีน ที่พัฒนาเป็นทั้งท่าเรืออัจฉริยะและท่าเรือสีเขียวไปในตัว ร่วมกับหัวเหว่ย นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ควบคุมเครนยกตู้คอนเทนเนอร์ด้วยระยะไกลผ่านเทคโนโลยี 5G และระบบนำทางผ่านดาวเทียม โดยใช้ควบคู่กับรถบรรทุกไฟฟ้า 50 คัน และรถบรรทุกไฟฟ้าไร้คนขับ 31 คัน รวมทั้งยังมีรถบรรทุกเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน 30 คัน ทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ไฟฟ้าประดิษฐ์เพื่อการขนส่งอีก 75 ตัว ในการขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ภายในท่าเรือ

ข้ามไปดูยุโรป ตัวอย่างจากท่าเรือโกเธนเบิร์กในสวีเดน ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศแถบนอร์ดิก ตอนนี้กำลังมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในสถานีชาร์จไฟฟ้าและสถานีไฮโดรเจน สำหรับรถบรรทุกหนักในท่าเรือ พอพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทำให้บริษัทขนส่งสินค้าหลายบริษัทในท่าเรือโกเธนเบิร์กก็หันมาใช้รถบรรทุกไฟฟ้ามากขึ้น

อนาคตเราจะได้เห็นการเติบโตของรถบรรทุกไฟฟ้ามากขึ้น ประโยชน์หลักเลยคือสามารถลดค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง เช่นที่เราเห็นข่าวว่า ภายในปีหน้า รถกระจายสินค้าเข้า 7-Eleven 100 คันจะเป็นรถบรรทุกไฟฟ้า

วันนี้ประเทศไทยมีรถบรรทุกจดทะเบียน 1,232,870 คัน เป็นรถบรรทุกไฟฟ้า 108 คัน (สถิติจนถึงปัจจุบันปี 2566)

บริษัทผู้ผลิตรถบรรทุกไฟฟ้าในไทยหลัก ๆ ตอนนี้คือ บริษัท Thai EV ที่ผลิตยานยนต์ที่ใช้งานขนส่งเชิงพาณิชย์ทุกรูปแบบ และบริษัท NEX Point จำกัด บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรถบัสและรถบรรทุกไฟฟ้าที่มีแผนจะลงทุนร่วมกับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ในการก่อตั้งโรงงานผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกในไทย ในเขตพื้นที่อีอีซี

อย่างไรก็ตามการใช้รถบรรทุกไฟฟ้าให้แพร่หลายก็ยังมีอุปสรรค

อุปสรรคสำคัญที่ว่า คือแบตเตอรี่ ตอนนี้มีการพยายามนำเทคโนโลยีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ หรือ (Battery Swapping) มาใช้เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการเข้าชาร์จไฟฟ้า ทำให้สามารถเพิ่มรอบการขนส่งสินค้าได้มากขึ้น

นึกภาพว่าการรอชาร์จแบบ Plug-in ของรถบรรทุกไฟฟ้าปัจจุบันนี้จะใช้ระยะเวลาชาร์จนานถึง 3 ชั่วโมง และสามารถวิ่งได้ต่อเนื่อง 6 ชั่วโมง (วิ่งได้สูงสุดไม่เกิน 350 กิโลเมตร) แต่ถ้าใช้กรณีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่จะใช้ระยะเวลาเพียง 3-5 นาที เสียเวลาชาร์จน้อยลง ทำให้วิ่งได้รอบเดียว 700 กิโลเมตร และประหยัดเวลารอชาร์จด้วย

วิธีนี้ช่วยลดความเสื่อมสภาพของแบตเตอรี่ ซึ่งส่งผลต่ออายุการใช้งานและราคาขายต่อของรถบรรทุกไฟฟ้า ซึ่งแบตเตอรี่ของรถบรรทุกไฟฟ้าประเมินว่าจะต้องเปลี่ยนทุก 8 ปี หรือ 800,000 กิโลเมตร

หากจะทำแบบนี้ในอนาคตจะต้องมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่มีต้นทุนสูงอยู่นั่นเอง หรืออย่างน้อยก็อาจมีธุรกิจบริการให้เช่าแบตเตอรี่สำรองขึ้นมา หากมีการพัฒนาเทคโนโลยีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้เสถียรแล้ว

โดยรวมหากดูต้นทุน ค่าบำรุงรักษารถบรรทุกไฟฟ้าต่อคัน ค่าใช้จ่ายเปลี่ยนแบตเตอรี่ ทุก 8 ปี (แบตเตอรี่ราคา 3 ล้านบาท) คิดเป็น 60% ของค่าดูแลรักษาทั้งหมด ค่าเปลี่ยนมอเตอร์ไฟฟ้า อยู่ที่ 4.5 แสนบาท ซึ่งจะเปลี่ยนทุก 10 ปี
หากพิจารณาต้นทุนกับค่าเชื้อเพลิงและปัจจัยต่าง ๆ ก็ต้องดูว่าจะคืนทุนได้ในปีที่เท่าไหร่ ซึ่งก็ประเมินว่าปีที่ 4 น่าจะคืนทุนได้

ทำให้เชื่อได้ว่าอนาคตการใช้รถบรรทุกไฟฟ้าก็จะเป็นอีกเทรนด์ที่ตามมาในภาคธุรกิจขนส่งอย่างแน่นอน

 

ขอบคุณข้อมูลประกอบจากศูนย์วิจัย Krungthai Compass

 

บทความโดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า