SHARE

คัดลอกแล้ว

คงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ไม่กี่ครั้ง กับการเดินไปสุ่มถามเพื่อนร่วมห้องว่า “พ่อเธอทำอาชีพอะไร?” แล้วเขาจะตอบว่า “นายกรัฐมนตรี” วราวุธ ศิลปอาชา เคยเป็นเด็กชายคนนั้น ชายคนที่เกิดมาพร้อมกับนามสกุลที่คนเกือบทั้งประเทศรู้จัก คือลูกชายของอดีตนายก บรรหาร ศิลปอาชา

บทบาทที่เขาได้รับเป็นทั้งแต้มต่อในอาชีพทางการเมือง แต่ขณะเดียวกันเขาก็ไม่ต่างจากลูกไม้ที่หนีไม่พ้นเงาใต้ต้นไม้ใหญ่สักที และนี่คือน้ำหนักที่ชายชื่อ ‘วราวุธ’ ต้องรับไว้บนบ่าทั้งสองข้างตลอดชีวิต

เกียรติยศ ภาระหน้าที่ หรือความรับผิดชอบ 

แม้จะเกิดมาพร้อมกับนามสกุลของนักการเมืองตระกูลใหญ่โต แต่จริงๆ แล้ว วราวุธเองก็มีสิทธิ์เลือกไม่ต่างจากคนที่อื่น เลือกที่จะไปประกอบอาชีพอื่น แทนที่จะมาทำการเมืองและโดนเปรียบเทียบความสามารถกับผู้เป็นพ่อ

แต่วราวุธมองว่า การเกิดเป็นลูกอดีตนายกฯ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้เขาอยากถอยห่างจากอาชีพทางการเมือง และยังมองว่านี่คือเกียรติ เกียรติที่เขาพร้อมโอบรับมันไว้อย่างเต็มใจ

ซึ่งมันอาจถูกมองว่าเป็น ‘พริวิเลจ’ ที่ได้เป็นที่รู้จัก ได้รับความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจจากประชาชนโดยไม่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ก้าวแรกเหมือนเพื่อนร่วมอาชีพคนอื่นๆ 

แต่คำว่า ‘พริวิเลจ’ ก็เคยทำให้เขาตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะโยนมันทิ้งไป หรือใช้เป็นบันไดไต่ขึ้นต่อ ซึ่งหลังจากคุณพ่อเสียชีวิต วราวุธตัดสินใจปีน ‘บันไดของตัวเอง’ แน่นอนว่าเขาย่อมโดนเปรียบเทียบ 

แต่วราวุธอยากบอกประชาชนหลายๆ คนว่า คุณพ่อเริ่มต้นอาชีพมากว่า 40 ปี จนกระทั่งเดินทางไปถึงจุดเส้นชัย แต่เขาเพิ่งมาทำงานเต็มตัวเพียง 3 ปี “ดังนั้น ผมยังมีเส้นทางอีกยาวไกลให้เดินต่อ” แต่นั่นแหละ คือข้อดีและข้อเสีย จากการเป็นลูกชายของ บรรหาร ศิลปอาชา

 

บ้านใหญ่ศิลปอาชา และระบบอุปถัมภ์

“Patronage System” คือคำภาษาอังกฤษที่วราวุธใช้อธิบายความหมายของระบบอุปถัมภ์ วราวุธเองยอมรับว่าตัวเองก็มีบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับมัน แต่เขามองว่าในบริบทสังคมไทย ระบบอุปถัมภ์มีทั้งข้อดี และข้อเสีย 

ในส่วนของข้อดี คือมันทำให้สังคมรอบบ้านเป็นสังคมแห่งการเกื้อกูลและช่วยเหลือกัน แต่หากพินิจอย่างถี่ถ้วน ทุกการช่วยเหลือมักตามมาด้วยคำว่า ‘หนี้บุญคุณ’ ซึ่งสิ่งนี้จะปรากฏออกมาเมื่อมีผลประโยชน์บางอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง และเมื่อคุณมีอำนาจในการสร้างผลประโยชน์นั้น

ภาพที่วราวุธอธิบายการทำงานของระบบอุปถัมภ์ได้ชัดเจนที่สุด คือ สังคมต่างจังหวัด ที่พ่อแม่มักฝากลูกหลานเข้าโรงเรียน หรือเครือญาติฝากคนสนิทเข้าทำงาน มีตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ

และนักการเมืองก็มักจะเป็นเป้าหมายของการฝากฝัง ซึ่งอีกนัยหนึ่ง วราวุธอธิบายว่ามันคือสัญญาณว่าประชาชนกำลังเชื่อถือและเชื่อใจนักการเมืองคนนี้ และนำมาสู่การไว้วางใจให้ไปทำงานในสภา

ถึงเช่นนั้น การหลงระเริงไปกับประโยชน์และผลตอบแทนของระบบอุปถัมภ์อาจเป็นตัวฉุดรั้งสังคมไม่ให้เดินไปข้างหน้า วราวุธบอกว่าสังคมไทยกับระบบอุปถัมภ์ เติบโตคู่กันจนแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือ “คุณจำเป็นต้องมีจริยธรรมด้วย”

วราวุธอธิบายหลักการทำงานของมันว่า หากใครมาร้องขอความช่วยเหลือจากคุณ แล้วคุณมอบให้เขา มันจะเกิด ‘หนี้บุญคุณ’ แต่ผู้ใหญ่คนหนึ่งสอนเขาว่า การจะทำให้วงจรหนี้บุญคุณยุติลงได้คือ การหยุดทวงหนี้บุญคุณจากอีกฝ่าย 

“ถ้าผมเคยช่วยเหลือคุณ แล้ววันหนึ่งผมอยากให้คุณช่วยผมกลับ 

ผมบอกคุณว่า ผมขอทวงสิ่งที่คุณติดหนี้ผมอยู่คืน

นั่นคือวันที่วงจรหนี้บุญคุณเป็นโมฆะ”

สำหรับเรื่องอุปถัมภ์ วราวุธเสริมด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า “ตลอดเวลา 3 ปีครึ่งที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่เคยมีสักครั้งเดียว ที่ผมปล่อยให้ระบบอุปถัมภ์มามีอิทธิพลต่องานของผม จนถึงวันนี้ ผมไม่เคยมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชัน”

เขาเล่าในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะถ้าโอนอ่อนให้ระบบอุปถัมภ์ ปัญหา Climate Change จะไม่ถูกแก้ไข และมันเป็นสิ่งที่ทุกคน นับล้าน ทั่วโลก จะได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน 

“Climate Change และธรรมชาติไม่สนใจหรอกว่า ใครเป็นหนี้บุญคุณใคร

ทุกคน ทุกสิ่ง ทุกอย่าง เท่าเทียมกันทั้งหมด”

“เมื่อถึงเวลาที่ธรรมชาติโจมตี มันโจมตี

เมื่อถึงเวลาที่น้ำจะท่วม มันท่วมทุกที่อย่างทั่วถึง

เมื่อถึงเวลาที่มันจะแห้งแล้ง ทุกคนจะโดนไม่ต่างกัน”

 

“พ่อ” คือช่วงเวลาที่อยากย้อนไปแก้ไขมากที่สุด

การแต่งงานของวราวุธกับภรรยาเมื่อราวเกือบ 30 ปีก่อนไม่เป็นที่ยอมรับของบรรหาร ในงานแต่ง จึงไม่ปรากฏภาพของพ่อเจ้าบ่าวนั่งเป็นเจ้าพิธี และยิ่งกว่านั้น ยังเป็นเหตุผลที่ทำให้พ่อลูกคู่นี้ไม่ได้คุยกันนับตั้งแต่วันนั้นจวบจนเป็นเวลา 3 ปี

การแต่งงานอาจเป็นต้นเหตุของการไม่ลงรอย แต่อีโก้คือสิ่งที่ทำให้ความขัดแย้งดำเนินต่อไป นั่นคือสิ่งที่วราวุธพูดระหว่างการสัมภาษณ์ แต่ถึงอย่างนั้น วราวุธยังพูดติดตลกว่า ถ้าย้อนกลับไป ผมจะเลือกแต่งงานเหมือนเดิมอยู่ดี

ด้วยการเกิดมาพร้อมกับบทบาทลูกชายของนายกฯ ทำให้วราวุธ (อาจจะ) เคยชินกับการเลี้ยงดูแบบเข้มงวดมาตลอด ไม่ใช่แค่การใช้ชีวิต แต่ยังรวมไปถึงการมีส่วนร่วมในการเมืองตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งเขาไม่เคยเข้าใจเหตุผลอะไรก็ตามที่พ่อกีดกันเขาจากชีวิตที่เขาอยากลองย่างกรายเข้าไปสักครั้ง

จนกระทั่งวันนี้ ที่ ท็อป-วราวุธ ลงมาอยู่ในสนามการเมืองเอง ลงมาอยู่ในจุดเดียวกับที่พ่อเคยยืน เขาเข้าใจทุกอย่างเสียยิ่งกว่าเข้าใจ “มาถึงตอนนี้ ผมเข้าใจแล้วว่า ท่านพยายามปกป้องผมจากอะไรก็ตาม ที่อาจกลายเป็นกับดักฉุดรั้งผมในอนาคต” สิ่งเหล่านั้นอาจทำให้วันนี้ เขาเป็นวราวุธอีกคนในสายตาประชาชน และนี่อาจจะเป็นเหตุการณ์ที่บรรหารมองเกมออกตั้งแต่แรก

วราวุธเล่าว่า หากย้อนกลับไปทำอะไรได้สักอย่างหนึ่งในชีวิต เขาจะย้อนกลับไปในวันที่ 23 เดือนเมษายน พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นวันที่บรรหารเสียชีวิต “ผมอยากย้อนกลับไปเพื่อบอกลาท่าน และบอกว่าผมรักท่าน” และอยากให้ตัวเองมีโอกาสแก้ตัวในช่วงเวลา 3 ปีที่สูญเสียไป

“ผมอยากให้ตัวเองมีโอกาสได้แสดงความซาบซึ้งกับท่านมากกว่านี้

ผมไม่ได้อยากจะพูดขอบคุณกับท่าน ในตอนที่ท่านจากไปแล้ว

ผมหมายถึงตอนนี้ ผมได้แต่พูดขอบคุณกับรูปปั้นคุณพ่อ

ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจากข้างบนนั้น ท่านได้ยินคำพูดของผมหรือเปล่า”

วราวุธในวันนี้ทั้งในบทบาทของพ่อและลูกที่สูญเสียพ่อไปแล้ว อยากถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเองเป็นบทเรียนให้กับผู้อ่านทุกคนที่เดินทางมาด้วยกันถึงตรงนี้ว่า จงใช้เวลากับคนที่รักให้คุ้มค่าให้มากที่สุด

เพราะเวลาน่าจะเป็นทรัพยากรเดียวในโลก ที่ยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนไหนหาทางทดแทนได้ 100% เพราะฉะนั้น จงใช้สิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตคุณ ไปกับคนที่มีค่าที่สุดในชีวิตคุณ

เพื่อที่วันหนึ่ง มองย้อนกลับไปแล้วจะเห็นแต่ความทรงจำที่มีความสุข มากกว่ามองไปแล้วเห็นความว่างเปล่าที่น่าเสียดาย

ติดตามบทสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษฉบับเต็ม : https://youtu.be/Uxue8yKNu2E

ติดตามบทสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษฉบับไฮไลต์ : https://youtu.be/KIdCBM6rp7I

สำนักข่าว TODAY
สำนักข่าวออนไลน์ เปิดความรู้ ดูทูเดย์

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า