Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

จากกรณี GISTDA ทดลองส่ง ‘ผัดกะเพรา’ ไปบนชั้นบรรยากาศด้วยบอลลูน สุดท้ายทีมพบกล่องแล้วแต่ผัดกะเพราหายไป การทดลองครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่จะเพื่อกลายเป็นโจ๊กตลก แต่มีที่มาที่ไป หวังผลสู่การพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศเลยทีเดียว

โดยเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้ร่วมกับ ช่องรายการ Retired Working for You (RW4U) จัดกิจกรรมส่งผัดกะเพราขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศด้วยบอลลูนขนาดใหญ่ ซึ่งบอลลูนดังกล่าวจะลอยไปถึงความสูงที่มีบรรยากาศรอบข้างใกล้เคียงกับสภาวะอวกาศ เพื่อทดสอบและศึกษาว่าอาหารไทยขึ้น ชื่ออย่าง ‘ผัดกะเพรา’ จะมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพหรือไม่ ที่ศูนย์การเรียนรู้ทางธรรมชาติบึงบอระเพ็ด แหล่งท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์

นายตติยะ ชื่นตระกูล รองผู้อำนวยการด้านสร้างเสริมพันธมิตรและเครือข่ายองค์ความรู้ของ GISTDA กล่าวว่า การทดลองทางวิทยาศาสตร์อวกาศด้วยบอลลูนขนาดใหญ่ครั้งนี้ของ GISTDA และพันธมิตร จะใช้เป็นต้นแบบและแนวทางในการทดลองงานวิจัยทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ หรือ เป็นการสร้างแพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยด้วยบอลลูน ที่เรียกว่า High-Altitude Experiment Platform

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยในอวกาศ (Space Experiment Platform) ของ GISTDA เพิ่มเติมจากที่ก่อนหน้านี้ได้ให้บริการการส่งงานวิจัยไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS และห้องปฏิบัติการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Micro-X) ที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ซึ่งการทดลองครั้งนี้ นอกจากจะสร้างรูปแบบการศึกษาวิจัยที่ไม่ได้อยู่ในห้องแลปหรือบนพื้นโลกแล้ว ยังเป็นต้นแบบการพัฒนาใช้ประโยชน์ห้วงอากาศที่มีความสูงที่เลยเพดานบินขึ้นไปและไม่ถึงอวกาศ คืออยู่ระหว่าง 30-100 กิโลเมตรจากพื้นโลก ซึ่งนับเป็นอีกก้าวหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย และการใช้บอลลูนขนาดใหญ่ครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีการตั้งฐานวิจัยหรือฐานส่งจรวดในห้วงอากาศสูงให้กับประเทศต่อไปในอนาคต

การศึกษาในครั้งนี้ นอกจากเราจะใช้อาหารในการทดสอบแล้ว เรายังสามารถนำงานด้านชีวะและฟิสิกส์มาทดลองได้ด้วย อาทิ การทดลองทำฟาร์มลอยฟ้าในอวกาศด้วยบอลลูนเพื่อรับบรรยากาศที่สะอาดกว่าบนพื้นโลก เป็นต้น และอาจจะนำไปสู่แนวความคิดใหม่ๆ ของการวิจัยและการทดลองทางเทคโนโลยีที่ไม่ใช่เฉพาะดาวเทียมเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น การทดลองรับส่งสัญญาณของระบบนำทาง การติดตามหรือขับเคลื่อนรถยนต์จากชั้นบรรยากาศอวกาศ ซึ่งเราอาจเรียกรวมๆ ได้ว่า “เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน high altitude platform ของประเทศ อีกทั้งยังสามารถนำไปต่อยอดได้ในเชิงเศรษฐกิจและยกระดับการรับรู้ของสังคมให้รับรู้ว่า การทดลองงานวิจัยด้านอวกาศ การทดลองในเทคโนโลยีอวกาศ ที่เป็นเรื่องธรรมดาและไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป”

ซึ่งใครๆ ก็สามารถทำการทดลองศึกษาวิจัยและนำไปใช้ประโยชน์ได้ในหลายๆ แขนงสาขาวิชา ตลอดจนด้านธุรกิจ เพราะการส่งบอลลูนกระทำได้ไม่ยากและราคาไม่สูงเท่าการส่งวัตถุออกไปนอกโลกด้วยจรวดขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อ GISTDA สามารถนำเอา high-altitude balloon platform มาให้บริการเพื่อการศึกษาวิจัยด้านอาหารได้แล้ว ก็จะสามารถต่อยอดไปจนถึงการทดลองทางเทคโนโลยีด้านอื่นๆ อาทิ ระบบโลจิสติกส์ ระบบการสื่อสารด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่ครอบคลุมหรือมีเครือข่ายขนาดใหญ่ หรือขยายไปถึงการท่องเที่ยวในชั้นบรรยากาศอวกาศได้ในอนาคตอันใกล้ เป็นต้น

รองผู้อำนวยการฯ กล่าวว่า การส่งบอลลูน high-altitude เพื่อภารกิจด้านวิทยาศาสตร์อวกาศไปที่ชั้นบรรยากาศอวกาศสูงๆ เหนือพื้นโลกหรือเหนือเพดานบินขึ้นไปยังเป็นอะไรที่คนไทยไม่เคยทำ ที่ผ่านมาอาจจะมีการส่งบอลลูนมาบ้าง แต่กับด้านวิทยาศาสตร์อวกาศแล้วครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก และเป็นการเป็นการเริ่มต้น space experiment platform ให้กับประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดไอเดียและนวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างไม่หยุดยั้ง ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่จุดที่เราเริ่มมองเห็นและเข้าใจว่า การขึ้นไปในอวกาศยังมีอะไรอีกมากที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับเราได้ ทั้งทางด้านการศึกษา งานวิจัย เทคโนโลยี ตลอดจนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

โดยการทดลองวิจัยในชั้นบรรยากาศอวกาศ หรือที่ตำแหน่งสูงจากพื้นโลกในระยะตั้งแต่ 30 – 100 กิโลเมตร ก่อนที่จะออกไปสู่อวกาศจริงๆ แบบ 100% จะทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาทั้งในด้านการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อวกาศที่ประเทศเรายังไม่เคยมี เทคโนโลยีอวกาศที่จากนี้เราจะพัฒนาและทดลองได้เองในสภาวะที่ใกล้เคียงอวกาศมากขึ้นเรื่อยๆ อันจะเป็นการพัฒนาชิ้นงานและทดสอบแบบ space grade จริงๆ และนอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนกิจการด้านอวกาศที่ประเทศไทยกำลังจะมี พ.ร.บ. กิจการอวกาศ และการพัฒนาแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติก็จะมีคุณค่าและความสำคัญมากยิ่งขึ้น ตลอดจนแผนการวิจัยในระบบโลกและอวกาศ หรือ Earth Space System (ESS) ที่เป็นแผนชาติด้านการวิจัยขั้นสูง (Frontier Research) ของประเทศด้วย

ขณะที่ ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู วิศวกรชำนาญการของ GISTDA หัวหน้าโครงการ National Space Exploration เปิดเผยว่า จริงๆแล้ว อาหารไทยทุกชนิดและทุกประเภทมีความสำคัญที่ควรจะต้องนำไปทดลองศึกษาถึงคุณค่าทางอาหารในอวกาศ ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้รับความรู้ว่าคุณค่าและสารอาหารแบบไหนที่จะหายไปหรือมีผลกระทบใดๆ ต่อสภาวะในอวกาศแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมและผลักดันให้อาหารไทยที่นอกจะได้ชื่อว่าเป็นครัวโลกแล้วก็จะกลายไปเป็นครัวอวกาศได้ในอนาคตอีกด้วย ซึ่งก็คือการศึกษาด้านอาหารไทยในอวกาศจะนำไปสู่การผลิตอาหารให้กับนักบินอวกาศได้ต่อไปนั่นเอง ดังนั้น เหตุผลที่เราเลือกผัดกะเพรามาใช้ในการทดลองก็เพราะว่าเราสามารถใช้อาหารอะไรก็ได้ในท้องตลาด และผัดกะเพราถือเป็นอาหารพื้นฐานที่ขึ้นชื่อของคนไทยที่รสชาดอร่อย ปรุงง่าย ราคาไม่แพง

การดำเนินงานในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกจริงๆ ที่เราส่งงานวิจัยไปที่ระดับชั้นบรรยากาศอวกาศของโลกด้วยการปล่อยไปกับบอลลูนให้ลอยขึ้นไปที่ความสูงประมาณ 30-33 กิโลเมตร ซึ่งก่อนหน้านี้ GISTDA เคยส่งงานวิจัยไทยไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS มาแล้ว ถ้ายังจำกันได้คือ

“การทดลองปลูกผลึกโปรตีนในอวกาศเพื่อพัฒนายาต้านโรคมาลาเรีย” ของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้รับคัดเลือกจากโครงการวิจัยวิทยาศาสตร์อวกาศและการทดลองในอวกาศ National Space Exploration (NSE) ของ GISTDA และนั่นเป็นครั้งแรกของประเทศที่งานวิจัยไทยไปอวกาศมาแล้วจริงๆ ซึ่งผลการวิจัยยังคงดำเนินการศึกษาอยู่โดยไบโอเทค แต่ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่งานวิจัยไทยจะถูกส่งไปทดลองที่ความสูงดังกล่าว และเป็นชั้นความสูงที่มีสภาวะที่ใกล้เคียงกับอวกาศ ส่วนผลลัพธ์จะออกมาเป็นเช่นไร ผัดกะเพราไทยของเราจะสามารถทานได้ในอวกาศหรือไม่ หรือคุณค่าสารอาหารตัวใดจะหายไปหรือเพิ่มขึ้น ก็ต้องดูผลการวิจัยกันต่อไป แต่สิ่งสำคัญของการดำเนินงานในครั้งนี้ คือ “การสร้างแพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยด้วยบอลลูน ที่เรียกว่า High-Altitude Experiment Platform เพื่อใช้เป็นต้นแบบและแนวทางในการทดลองงานวิจัยทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ” สำหรับผลการทดลองในครั้งนี้จะออกมาเป็นอย่างไร จะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป

ดร.อัมรินทร์ กล่าวเสริมอีกว่า high-altitude balloon ในปัจจุบันยังทำอะไรได้อีกมาก และในระยะเวลาอันใกล้นี้ คนไทยอาจจะได้เห็น GISTDA ทำการพัฒนาท่าอวกาศยานขนาดเล็ก หรือ Small Spaceport ที่ส่งดาวเทียมด้วยจรวดที่มีบอลลูนเป็นฐานยิงจรวด จุดเด่นคือ ไม่เปลืองพื้นที่ประเทศไทย ไม่มีการเวนคืนที่ดิน ประหยัด และปลอดภัย แล้วคอยติดตามชมความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศขั้นสูงที่จะพัฒนาโดย GISTDA และหน่วยงานพันธมิตรต่อไปครับ

(กล่องใส่ผัดกะเพราที่ไปกับบอลลูน ตกลงพื้นตั้งแต่เมื่อวานนี้ และทางทีมงานตามหาเจอช่วงเวลา 13.00 น. ของวันนี้ (11 ก.พ. 2565 ) ที่ ต.หนองกรด อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ แต่ทว่าเจอแต่กล่อง ‘ผัดกะเพรา’ นั้นหายไป ทีมคาดว่า ผู้ที่พบ ‘ผัดกะเพรา’ จานนี้ก่อนจะอดใจไม่ไหว รับประทานไปหมดแล้ว)

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า