SHARE

คัดลอกแล้ว

หากใครติดตามข่าวในโลกออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมา คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ตู้ปันสุข” ซึ่งสร้างกระแสไวรัลไปทั่วประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ ซึ่งนับจากวันที่ตู้ปันสุข ตู้แรกปรากฏขึ้นในประเทศไทย มาจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลาเดือนกว่า ๆ แล้ว หนึ่งในผู้คิดริเริ่ม โครงการตู้ปันสุข (The Pantry of Sharing) คือ “สุภกฤษ กุลชาติวิจิตร” หรือโค้ชแบงค์ นักธุรกิจเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ‘รู้รอบตอบโจทย์ธุรกิจ’ ที่ร่วมกับกลุ่ม ‘อิฐน้อย’ นำแนวคิดการตลาดมาปรับใช้ช่วยเหลือสังคม

จากแรงบันดาลใจที่ต้องการช่วยเหลือคนอื่น สู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว ผมเห็นตู้นี้ในเฟซบุ๊ก และในยูทูป เป็นโครงการหนึ่งที่เรียกว่า Little Free Pantry ของ Jessica Mcclard ในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นโมเดลที่มีลักษณะของการแบ่งปันกันในชุมชน ซึ่งตู้ของโครงการ Little Free Pantry นี้จะมีลักษณะเหมือนตู้ยาตู้เล็ก ๆ ที่มีความลึก ส่วนใหญ่จะทำด้วยไม้ คล้าย ๆ กับตู้รับจดหมายฝรั่ง ซึ่งจุดประสงค์หนึ่งของเค้าคือการแบ่งปันให้กับคนไร้บ้าน และอีกจุดประสงค์หนึ่งคือแบ่งปันกับคนในชุมชนด้วยกัน พอถึงช่วงวิกฤตโควิด-19 ในกลุ่มเพื่อน ๆ ก็มีการจุดประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมา คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับสังคมเรา น่าจะช่วยคนได้ไม่มากก็น้อย

ผมก็เลยลองเอาวีดีโอในยูทูปมาถามความเห็นว่าถ้ามีตู้นี้ในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ปรากฏว่า 180 คอมเม้นท์ จาก 200 คอมเม้นท์ คือกว่า 90% บอกว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ คิดว่าของน่าจะหาย เผลอ ๆ อาจจะหายทั้งตู้เลยด้วยซ้ำ แต่เราก็ลองทำดูครับ และถ่ายวีดีโอว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งวีดีโอตัวนี้เองที่เป็นไวรัลในเวลาต่อมา

“สุภกฤษ กุลชาติวิจิตร” หรือโค้ชแบงค์ นักธุรกิจเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก รู้รอบตอบโจทย์ธุรกิจ

ระยะเวลาเพียงแค่เดือนเศษ กับปริมาณตู้ที่เพิ่มจาก หนึ่งถึงพัน

“ตู้ปันสุข” ตู้แรกวางไว้ที่ ร้านประจักษ์เบเกอร์รี่ สุขุมวิท 71 พระขโนง วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2563 มาถึงวันนี้ ผมก็ไม่รู้ว่าจำนวนตู้จริงๆ เป็นเท่าไหร่ ที่เราตามหาได้จากแฮชแท็ก หรือจากที่มีคนมาบอก ก็น่าจะประมาณ 1,300-1,400 ตู้ แต่ว่ามันอาจจะมีตู้ที่เราไม่รู้อยู่ด้วย ผมเข้าใจว่าตอนนี้ตามสถานีตำรวจ และตามส่วนกลางของแต่ละอำเภอก็เริ่มมีการทำ “ตู้ปันสุข” ขึ้นมาเพิ่ม เนื่องจากทางการสั่งการลงไป คิดว่าเผลอ ๆ อาจจะถึง 1,900-2,000 ตู้เลยทีเดียว

ถ้าถามผมว่าผลตอบรับเป็นอย่างไร ลองสมมติว่ามีตู้ปันสุข 2,000 ตู้ ลองตีเป็นเลขกลม ๆ นะครับ ผมเคยไปนั่งดูตามตู้ อย่างที่ประจักษ์เบเกอร์รี่ เห็นว่ามีคนมากกว่า 20 คนเข้ามาที่ตู้ในแต่ละวัน ถ้ามีคนได้รับประโยชน์จากตู้นี้ตู้ละ 20 คน เท่า 40,000 คนต่อวัน หรือ 1,200,000 คน ต่อเดือน นี่คือตัวเลขคร่าว ๆ ที่แสดงให้เราเห็นว่า “ตู้ปันสุข” ช่วยคนได้เยอะเพียงไร

อายุของ “ตู้ปันสุข” คือดัชนีชี้วัดความศรัทธาในการให้และรับของคนในชุมชน

ลักษณะโมเดลที่เราวางไว้ เราไม่สามารถกำหนดอายุของตู้ได้ เพราะอายุของตู้นี่เกิดจาก 2 ปัจจัย ปัจจัยแรก คือ ความคงทนของตู้ คือสภาพดี ไม่หาย ส่วนปัจจัยที่สอง คือคนในชุมชนนั้น ยังศรัทธาต่อการให้และการรับไหม นี่คือสองสิ่งที่เป็นตัวกำหนดว่าตู้จะอยู่นานหรือไม่นาน

สมมติว่าตู้ไม่หาย และคนในชุมชนยังศรัทธาต่อการให้และการรับ มีการดูแลตู้อย่างดี กวดขันและอธิบายให้คนในชุมชนทราบและเข้าใจ ตู้นั้นก็จะอยู่นาน แต่ก็อาจจะมีบางตู้ในบางจุด อย่างที่เราเห็นข่าว มีคนโกยบ้าง ตู้ชำรุดเสียหายบ้าง เคาะประตูเรียกบ้าง เค้าก็ไม่อยากตั้งตู้แล้ว ตู้นั้นก็จะหมดอายุภายในวันสองวันนั้นเลย

ในต่างประเทศ โปรเจ็คนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2016 คือประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว เราจึงคาดการณ์ว่าตู้ที่มันอยู่ได้ดี มันจะอยู่ยาวไปเรื่อย ๆ ต่อให้ตัวตู้มันจะโดนฝน โดนน้ำพังไป ถ้าคนยังศรัทธาต่อการให้และการรับ เดี๋ยวก็จะมีการซ่อมตู้หรือหาตู้ใหม่มาวาง แต่ในทางกลับกัน หากชุมชนไหนคนไม่ศรัทธา ต่อให้มีตู้ก็อาจจะเป็นตู้ร้างก็ได้

“ตู้ปันสุข” ไม่ใช่แค่ตู้กับข้าว

หากพินิจพิจารณาลึกลงไปแล้ว “ตู้ปันสุข” มีหลากหลายมิติที่น่าสนใจให้มอง อย่างแรกที่คุณสามารถเห็นได้จากตู้ปันสุข คือไม่ว่าคุณจะอยู่ในระดับไหน ก็สามารถเป็นผู้ให้และรับได้

ตัวอย่างเช่น บางตู้มีดาราเอาของมาให้ มีรถหรูมาจอดเอาของลงมามากมาย หรือมีอยู่ตู้นึงมีแท็กซี่คันนึงวนมาหยิบของไป วันถัดมากลับของเอามาใส่ ผมก็ถามดู เขาบอกเมื่อวานวิ่งรถไม่ได้กำไรเลย จึงต้องมาหยิบของไป แต่วันนี้พอได้กำไรบ้าง จึงเอาของมาใส่คืน ซึ่งตรงนี้คุณจะเห็นว่า เราทุกคน ไม่ว่าใครก็ตาม สามารถเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับได้

และปัญหาสังคมบางอย่าง ตู้ปันสุขอาจจะช่วยได้จริงๆ อย่างที่โรงพัก ปัญหาอย่างนึงที่จะลดลงเลยคือการลักเล็กขโมยน้อย วันนี้ถ้าคุณไม่มีข้าวกิน ไม่ต้องไปขโมยของนะ เดินมาขอมาม่า มาขออะไรทานที่สน.ได้ นอกจากนี้ยังเห็นการนำรถตำรวจ วิ่งเข้าไปในหมู่บ้าน ซึ่งตรงจุดนี้ทำให้ชาวบ้านเกิดความสนิทสนมกับตำรวจ และอาจจะลดการเกิดอาชญากรรมลงได้

มีกรณีหนึ่ง เพื่อนผมซื้อ “ตู้ปันสุข” มาตั้งหน้าบ้าน ซื้อมา 2,000 บาท เขาบอกว่าการแบ่งปันนี่เป็นเหตุผลที่สอง เหตุผลแรกที่ทำ วัตถุประสงค์หลักคือจะเอาไว้สอนลูก เขาให้ขนมลูก 3 ชิ้น แล้วถามลูกว่าจะเก็บไว้กินกี่ชิ้น จะแบ่งให้คนอื่นกี่ชิ้น เค้าใช้ “ตู้ปันสุข” เป็นสื่อการสอนให้ลูกตัวเอง

หรือกรณีของน้องอิคคิว เด็กประมาณ 5 ขวบ ที่หยิบขนมกลับมาที่บ้านแล้วคุณตาถามว่าไปได้ขนมมาจากที่ไหน พอน้องบอกว่าเอามาจาก “ตู้ปันสุข” คุณตาจึงสอนว่า เราไปเอาอย่างเดียวไม่ได้ ให้ไปเก็บมะเขือ เก็บกล้วยหลังบ้าน แล้วเอามาใส่ในตู้ด้วย คุณตาคนนี้ ใช้ “ตู้ปันสุข” เป็นเครื่องมือในการสอนหลานนั่นเอง

นี่คืออีกมิติหนึ่งของการเป็น “ตู้ปันสุข”

อีกมิติหนึ่ง ถ้าหากคุณอยากกินมาม่า 1 ห่อ แต่เปิดตู้มาเจอ มาม่า 2 ห่อ คุณจะหยิบมาหมด หรือจะเหลือไว้ให้คนอื่น ตรงนี้คือการฝึกการยับยั้งชั่งใจ ซึ่งการยับยั้งชั่งใจนี้จะมีผลทำให้ในอนาคตการคอรัปชั่นน้อยลงมั้ย เป็นต้นครับ

ถามว่าก่อนที่จะมาทำ “ตู้ปันสุข” ได้คิดในมิติกว้างขนาดนี้มาก่อนรึเปล่า พวกผมก็คิดมาแล้วในระดับหนึ่ง เพราะว่าแต่ละตู้สามารถเป็นเรื่องราวได้เยอะมาก ๆ แต่ละตู้ แต่ละคนที่มารับ ก็จะมีเรื่องราวเป็นของตัวเอง อย่างคุณยายที่เอาเบี้ยชรามาทำข้าวต้มมัด ถามว่าเรื่องนี้แปลกหรือเปล่า ไม่แปลกนะในต่างจังหวัด แต่ “ตู้ปันสุข” เป็นตัวทำให้มันเด่นชัดขึ้นมาเท่านั้น

เบื้องหลัง “ตู้ปันสุข” คืออิฐก้อนเล็กๆ ที่พยายามส่งต่อแรงบันดาลใจ

 กลุ่มอิฐน้อยที่เป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ เป็นเพื่อนของผมที่ไปปฏิบัติธรรมที่ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ซอยเพชรเกษม 54 เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว สมัยที่ผมเรียนมหาวิทยาลัย ปีที่ 2 อยู่ครับ สมาชิกก็อายุประมาณ 10 ปลาย – 30 ปลาย มาจากหลายมหาวิทยาลัย ซึ่งพวกเราก็รู้จักกัน ไปปฏิบัติธรรม ไปทำความดีร่วมกัน ไปทำบุญด้วยกันอยู่เป็นประจำ

จนเมื่อช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้ จึงคิดว่าเราควรจะรวมตัวกันทำอะไรซักอย่างหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โปรเจ็คแรกที่เราทำคือหาหน้ากากอนามัย N-95 และแอลกอฮอล์ในช่วงที่ขาดแคลน ส่งให้โรงพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในกระแส คือโรงพยาบาลที่ไม่ได้ดังแต่ก็ขาดแคลน ส่วนโปรเจ็คที่สองก็คือ “ตู้ปันสุข” ครับ

สำหรับชื่อกลุ่ม “อิฐน้อย” มาจากแนวคิดที่ว่า พวกเราเป็นกลุ่มคนเล็ก ๆ ประมาณ 20 คน ซึ่งเป็นคนธรรมดาไม่ได้เป็นคนใหญ่คนโตอะไร เราก็เป็นแค่ยูนิตเล็ก ๆ ในสังคม ซึ่งการเป็นแค่ก้อนอิฐเล็ก ๆ ก้อนเดียว ไม่สามารถสร้างบ้าน สร้างกำแพงใหญ่ ๆ ได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว แต่อย่างน้อย ๆ อิฐก้อนนี้ สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้อิฐก้อนอื่น ให้ทุกคนเป็นก้อนอิฐของตัวเอง และเราสามารถมารวมกันเพื่อสร้างบ้าน สร้างกำแพง สร้างเมืองได้

อย่างในโปรเจ็คแรก เราก็ไม่ได้สามารถหาหน้ากาก 10,000 ชิ้น 20,000 ชิ้นให้ทุกคนที่คลาดแคลนได้ เราทำเท่าที่เราทำได้ หรือหากเปรียบเทียบว่าเหมือนกับในกรณีของ “ตู้ปันสุข” ซึ่งทั้งหมดเป็นของอิฐน้อยแค่ 5 ตู้ อีกพันกว่าตู้เป็นของคนอื่น เป็นของก้อนอิฐก้อนอื่น ที่มาร่วมกันทำประโยชน์ให้แก่สังคมนั่นเอง

การตลาดออนไลน์ช่วงโควิด-19 และหลังจากนี้ หากไม่ปรับตัว ไม่ศึกษา ก็คงไม่ได้ไปต่อ

ในมุมมองของนักการตลาด ช่วงหลังจากนี้ คำถามของนักการตลาดคือ New normal ที่เป็นอยู่ เป็นแค่ชั่วคราว หรือว่าจะกลับไปเป็นแบบเดิมในระยะยาว อย่างเมื่อวันก่อน ผมคุยกับเพื่อนที่เวียดนาม ตอนนี้ที่เวียดนาม ไม่มีคนใส่หน้ากากและไม่มีคนพูดถึง โควิด-19 แล้ว ผมว่าอันนี้นักการตลาดก็ยังตอบไม่ได้ด้วยซ้ำว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร

ในช่วงนี้ นักการตลาดคงต้องศึกษาว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างไร ต้องอ้างอิงของแต่ละประเทศด้วย อย่างนักการตลาดบางท่านอาจจะอ้างอิงของทางยุโรป อ่านงานวิจัยของทางยุโรป ซึ่งหลาย ๆ ประเทศก็ปลดล็อคดาว์นและมีพฤติกรรมกลับมาใกล้ปกติแล้ว แต่ในแถบเอเชีย หลาย ๆ ประเทศก็ไม่เหมือนกัน

แต่การตลาดออนไลน์ยังไงก็ต้องมา เพราะคนเริ่มคุ้นชินกับขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งเรื่องนี้มี 2 มิติ คือมิติของการใช้ Tools (เครื่องมือ) อย่างเช่น การยิงแอด เป็นต้น แต่อีกอย่างคือ Psycology หรือจิตวิทยาที่อยู่เบื้องหลังของ Tools นั้น ซึ่งคนยังไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ เช่น เราจะเลือกภาพอย่างไรให้คนอยากซื้อทันที (Neuro-marketing) หรือจะเลือกคำพูดแบบไหน (Copy writing) หรือเมื่อคนทักมาแล้ว จะปิดการขายอย่างไร ที่เรียกว่า C-commerce (Conversation commerce) พวกนี้จะอยู่นอกเหนือจากการกดปุ่ม หรือตัว Tools ซึ่งคนที่จะเปลี่ยนมาขายของออนไลน์จะต้องมาศึกษาเรื่องพวกนี้ด้วย ผมว่ามันต้องทำทั้ง 2 แบบ เพราะเราไม่สามารถอยู่บนแพลตฟอร์มใดเพียงอย่างเดียวได้แล้ว

นอกจากนี้ ของต้องดีก่อน และคนขายต้องมีความรับผิดชอบ การขายของออนไลน์มีข้อเสียอย่างหนึ่งคือคนไม่ได้จับของ ซึ่งพอคนสั่งไปแล้วของไม่ตรงปก คุณภาพไม่ได้ มันเคลมลำบากกว่าออฟไลน์ ดังนั้นถ้าอยากขายดีต้องสร้าง Trust ให้ลูกค้าไว้ใจคุณก่อน

เคยมีคนถามว่า ในช่วงโควิด-19 หรือหลังจากนี้ Branding สำคัญไหม จริงๆ แล้วสำคัญมาก เพราะว่า Branding คือส่วนที่สื่อถึงคำว่า Trust

อย่างตอนนี้ เจลแอลกอฮอล์มีมากมาย แต่มันจะมีบางยี่ห้อที่ความเข้มข้นไม่ถึง 70% หรือที่มีการเรียกคืนต่างๆนาๆ คือคุณต้องสร้าง Branding และ trust เพื่อให้สามารถขายดีในโลกออนไลน์ ลูกค้าเชื่อว่าของ ๆ คุณคุณภาพดี ตรงปก และคุณมีความรับผิดชอบต่อสินค้าของตัวเอง

ในช่วงวิกฤตนี้ที่ Demand ลดลง ความต้องการของลดลง สิ่งที่ผมจะแนะนำอย่างแรกคือตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นทั้งหมดออก อย่างที่สองคือจะต้องดูว่าอะไรสามารถเปลี่ยนมาเป็นดิจิตัลได้ และอย่างที่สามคุณจะต้องตามหาลูกค้าเก่า เพราะลูกค้าเก่า Trust ถูกสร้างมาแล้ว ข้อมูลมีอยู่แล้ว จะซื้อง่ายกว่าลูกค้าที่ยังไม่รู้จักเราเลย แนะนำให้ลองโทรไปติดตาม หรืออาจจะเสนอการแก้ปัญหา และการอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมให้กับลูกค้าเก่า นอกจากนี้ยังต้องถามว่า กลุ่มลูกค้าเก่า จะสามารถแนะนำลูกค้าอื่นๆ ได้อีกไหม ในช่วงที่การแข่งขันสูง คุณต้องเริ่มต้นจากคนที่เค้า Trust คุณก่อน มันง่ายกว่าครับ

หากพิจารณาแล้ว “ตู้ปันสุข” จึงไม่ใช่เพียงแค่ตู้กับข้าวแห่งการแบ่งปัน อย่างที่คุณสุภกฤษ กุลชาติวิจิตร กล่าวไว้จริง ๆ เพราะ “ตู้ปันสุข” เป็นก้อนอิฐก้อนเล็กที่อัดแน่นไปด้วยแรงบันดาลใจในการทำความดี ที่พร้อมจะส่งต่อให้ก้อนอิฐก้อนข้างๆ และข้าง ๆ ขยายวงออกไปในสังคมเรื่อยไป

 

 

สัมภาษณ์โดย: พชร โอภาสเสรีผดุง

เรียบเรียงโดย: พราวพร (นามปากกา)

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า