Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ออนไลน์ครีเอเตอร์กลายเป็นธุรกิจแห่งยุคสมัยที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจนใครต่อใครก็เริ่มผันตัวมาสู่แวดวงนี้ แต่ในบรรดาคอนเทนต์ออนไลน์ที่ผุดขึ้นมาจำนวนมหาศาล มีกี่คอนเทนต์กันที่เราคลิกเข้าไปดูแล้วจดจำมันได้ แถมยังติดใจจนเฝ้ารอคอนเทนต์ต่อไปของครีเอเตอร์เจ้านั้น?

โอกาสนี้เราได้พูดคุยกับคนหนึ่งที่เรียกได้ว่า ‘ทำสำเร็จ’ แถมยังสามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นที่วางแผนไว้ว่าจะไม่ใช่แค่ในประเทศไทย เขาคือ ‘เหว่ง-ภูศณัฎฐ์ การุณวงศ์วัฒน์’ คุณพ่อแห่งเพจ Little Monster ที่นำเสนอเรื่องราวสุดน่ารักฉบับพ่อแม่ลูกร่วมกับ ‘ตุ๊ก-นิรัตน์ชญา การุณวงศ์วัฒน์’ และลูกๆ อย่างน้องจิน-น้องเรนนี่ จนมียอดไลค์ทะลุ 2.7m และหากนับที่ยอดผู้ติดตามเพจก็พุ่งไปถึง 3.1m เลยทีเดียว

(เรียงจากซ้าย-ไปขวา) ‘พ่อเหว่ง-ภูศณัฎฐ์ การุณวงศ์วัฒน์’ ‘แม่ตุ๊ก-นิรัตน์ชญา การุณวงศ์วัฒน์’ และลูกๆ อย่างน้องจิน-น้องเรนนี่ (ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก: Little Monster)

เขายังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง เทพลีลา ที่มักจะหยิบป๊อปคัลเจอร์ใกล้ตัวมาเล่าในแบบกวนๆ เช่น ให้ผู้ชายมาทายราคาสกินแคร์ผู้หญิง, คุยเรื่องนิยายวาย, ทายศัพท์ติ่งเกาหลี, คุยข้อมูลเว็บหนังโป๊เชิงลึก ฯลฯ พวกเขาสะสมแฟนๆ มาเรื่อยๆ จนมียอดซับสไครบ์ทางยูทูบอยู่ที่ 570k และยอดไลค์เพจเฟซบุ๊กอีกกว่า 626k กับยอดผู้ติดตามเพจ 954k เชื่อว่าชาวโซเชียลมีเดียยังไงก็น่าจะเคยผ่านตาคอนเทนต์ของเขาและทีมมาแล้วแน่ๆ

ในยุคที่การแข่งขันของตลาดคอนเทนต์ออนไลน์พุ่งสูงขนาดนี้ ที่เราพูดได้เต็มปากว่างานของเขาประสบความสำเร็จนั้น นับทั้งจากจากยอดผู้เข้าชม/เอนเกจเมนต์ในแต่ละคอนเทนต์ และการยืนระยะในใจผู้ติดตาม แม้ในช่วงเวลาของโควิด-19 ที่ทุกคนต้องอยู่ติดบ้านและหลายคนก็เริ่มหันมาทำคอนเทนต์ออนไลน์ แต่คอนเทนต์ของเขายังเดินต่อได้อย่างแข็งแรง

ความแข็งแรงของคอนเทนต์นี้เองที่นำมาซึ่งสปอนเซอร์เจ้าต่างๆ ทั้งในเทพลีลาและ Little Monster รวมถึงการต่อยอดแบรนด์ Little Monster ไปสู่สินค้าเมอร์เชนไดซ์ของคาแรกเตอร์เจ้าตัวเขียวสุดน่ารักที่ใครเห็นเป็นต้องจำได้ รวมถึงแบรนด์และแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่งอกเงยขึ้นมาจากการริเริ่มของภูศณัฎฐ์ ที่จะมาบอกเล่าถึงแง่มุมทางธุรกิจของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ตั้งแต่จุดเริ่มต้น

Little Monster คุณแม่ลุยก่อน คุณพ่อเสริมทัพ

ก่อนจะมาร่วมทำเพจ Little Monster อย่างเต็มตัว ภูศณัฎฐ์ จับธุรกิจอื่นๆ มาก่อน เขาเคยทำโปรเจกต์ใหญ่อย่างแอนิเมชั่น ‘9 ศาสตรา ในฐานะครีเอทีฟมาร์เก็ตติ้งและโปรดิวเซอร์ ทั้งยังเคยเปิดบริษัทสถาปนิกและบริษัทรับเหมาจนกระทั่งถึงจุดอิ่มตัว จึงหันมาสู่โลกคอนเทนต์ออนไลน์ โดยตอนที่เขาลาออกจากบริษัท เพจ Little Monster ก็มีอายุ 2 ปีแล้ว จากที่เคยช่วยภรรยาขายเสื้อ แพ็คของ ตอบลูกค้า ฯลฯ เขาก็มาช่วยทำคอนเทนต์อย่างเต็มตัวจนเพจขยับขยายมาถึงตอนนี้

“จากที่เล่าเรื่องกันง่ายๆ ผ่านตัวอักษรกับภาพประกอบ เราเริ่มวางแผนทำสตูดิโอเล็กๆ แถวสีลม ผมเริ่มทำเบื้องหลังอื่นๆ เพิ่มลูกเล่นเป็นโมชั่นกราฟิก เริ่มเอาทีมตัดต่อเข้ามา ทำแอนิเมชั่น จนถึงจุดหนึ่งตุ๊กบอกว่า ทำไมพี่เหว่งไม่ลองถ่ายตัวเองเล่นกับลูกล่ะ เพราะเขาเห็นโมเมนต์นี้แล้วน่ารักดี ก็ถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือสั้นๆ ตัดต่อเอง แล้วผลปรากฏว่าฟีดแบ็กดี เราก็เริ่มเห็นโอกาส นั่นเลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ถ่ายวิดีโอมาเรื่อยๆ”

ในเวลาไล่เลี่ยกันเขายังร่วมกับ ‘เติร์ด-ภูวดล อ่องศรี’ ทำเพจเทพลีลาขึ้น จนถึงตอนนี้เขามีทีมงานที่ร่วมทำทั้งสองแบรนด์อยู่กว่า 33 ชีวิต หลายครั้งที่เราเห็นการครอสจักรวาล บางครั้งน้าเติร์ดก็มาเล่นกับหลานๆ ให้พวกเราเห็นใน Little Monster บางครั้งสองพี่น้องก็โผล่ไปเล่นในเทพลีลา ซึ่งการ collaborate ระหว่างแบรนด์ออนไลน์ก็ยิ่งช่วยดึงคนดูกลุ่มใหม่ๆ ให้กันและกันได้เป็นอย่างดี (เหว่งยังแอบกระซิบว่ากำลังจะผุดแบรนด์ใหม่ที่เป็นการร่วมทุนกันระหว่างเทพลีลาและ Little Monster อีกด้วย)

(ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก: Little Monster)

ภารกิจสำคัญ : maintain ยอดเอาไว้ ไม่ให้ตก

หลังจากที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด ผู้คนอยู่บ้านกันมากขึ้น หลายคนหันมาทำคอนเทนต์ออนไลน์ จนกลายเป็น red ocean แต่ละคอนเทนต์แย่งความสนใจจากคนดูด้วยกันเอง ครีเอเตอร์บางส่วนอาจจะร้อนๆ หนาวๆ ขณะที่ภูศณัฎฐ์มองว่า

“ผมว่ามันมีผลอยู่แล้ว แต่ถามว่าโดยลักษณะการทำคอนเทนต์ ไม่ว่าจะมีโควิดหรือไม่ ถ้าเรายังอยู่ที่เดิม ทำแต่คอนเทนต์แบบเดิมตลอดเวลา ไม่ได้มีการพัฒนา คนดูจะเบื่ออยู่แล้ว ไม่ต้องมีใครที่มาแข่งกับเราหรือมีช่องใหม่ๆ เพจใหม่ๆ ขึ้นมาหรอก เราก็จะหายไปเอง

ดังนั้นต่อให้มีคนลุกขึ้นมาทำอีกมากมาย แต่สิ่งสำคัญคือคอนเทนต์เรายังเอาชนะใจคนดูเราอยู่ได้หรือเปล่า เราคิดอะไรไว้ในคอนเทนต์มากน้อยแค่ไหน คอนเซปต์เราดีไหม ตัวเรื่องเราดีแค่ไหน มันคือสูตรสำเร็จของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน อย่าง Little Monster เด็กๆ เขาเป็นตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้นมันจึงอยู่ที่เราว่าจะผูกเรื่อง เล่าเรื่องแบบไหนแล้วล่ะ”

เมื่อลองคลิกเข้าไปดูคลิปล่าสุดขณะเขียนบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เราก็ได้เห็นคลิปที่บ้าน Little Monster ตั้งโจทย์พูดภาษาอังกฤษกันตลอดทั้งวันโดยมีอุปสรรคเล็กๆ คือคุณพ่อที่ไม่ค่อยคล่องเรื่องสำเนียง ในคลิปเดียวกันนั้นเราได้เห็นความจริงใจของคุณพ่อเหว่งที่พูดภาษาอังกฤษสำเนียงไทยๆ ไม่ต้องใส่ใจแกรมม่า รวมถึงสกิลสปีกกิ้งระดับเทพของคุณแม่ตุ๊ก ความน่ารักและสำเนียงเยี่ยมๆ ของน้องจิน น้องเรนนี่ การหยอกล้อกันในครอบครัว รวมถึงความน่ากินของคอร์นด็อกโฮมเมดที่ทอดให้เห็นกันจะจะ เรียกได้ว่าดูแล้วอบอุ่น ยิ้มตาม และเผลอคลิกดูคลิปต่อไปโดยไม่กดข้ามเป็นที่เรียบร้อย แน่นอนว่าทั้งหมดผ่านการคิดมาแล้วเป็นอย่างดี

ขายของอย่างไร ให้คนรัก

นอกจากการคิดคอนเทนต์ใหม่ๆ อีกหนึ่งหัวใจสำคัญของธุรกิจออนไลน์ครีเอเตอร์ก็คือการ ‘ขายของ’ ซึ่งแต่ละคนก็มีแนวทางการขายที่ต่างกันออกไป บางเจ้าอ้อมแล้วอ้อมอีกแล้วค่อยวกมาขาย บางเจ้าเล่นใหญ่ขายกันโต้งๆ

“สำหรับผม อยากทำให้มันดีพอจนคนดูรู้สึกว่ามันเป็นการเล่าเรื่องที่โอเค ไม่ใช่ว่าจ้องแต่จะหาวิธีขายอะไรขนาดนั้น คือถ้าจะขายผมจะขายตรงๆ ไปเลย จะไม่พยายามไทอินอะไรประหลาดๆ อยากให้มันธรรมชาติที่สุด”

นอกจากขายของให้สปอนเซอร์ทั้งหลายแล้ว ทางฝั่ง Little Monster เองยังขายสินค้าเมอร์เชนไดซ์ต่างๆ เช่นตุ๊กตา หรือเสื้อผ้าที่งอกเงยขึ้นมาจากคาแรกเตอร์น้องตัวเขียวประจำเพจ และตอนนี้พวกเขากำลังวางแผนพามันไปต่อให้ไกลกว่าเดิม

“ตอนนี้เราก็เริ่มมองว่าแบรนด์ Little Monster มันจะเติบโตไปในทางไหน ถ้าเรามองก็คือมันจะเป็นสื่อพัฒนาการเด็ก มีเรื่องการเรียนการสอน มีเมอร์เชนไดซิ่งที่อาจจะไม่ได้อยู่แค่ไทย อาจจะไปสู่ประเทศต่างๆ ที่เราพอจะมีกำลังทำได้ เราก็ต้องลงทุนมากขึ้น ดังนั้นการสร้างแบรนด์นี้อาจจะไม่ได้รองรับอยู่แค่วิดีโอ เราคงไม่ได้ถ่ายวิดีโอไปจนถึงอายุ 50 หรอก เดี๋ยวก็หงอก หน้าเหี่ยว ต้องโบท็อกซ์อีกแล้ว ดังนั้นเราก็ต้องวางแผน มันจะถึงจุดนั้นหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ แต่ต้องวางแผนและต้องพยายามทำมัน

ทีนี้มันอาจจะมีที่เจ๊งไปบ้าง การลงทุนที่สูญเปล่าบ้าง แต่มันคือการทดลองไง เราต้องยอม แต่เมื่อถึงจุดที่มันไม่ได้แล้วก็ตัด ไม่ได้สำเร็จไปทุกครั้ง”

บุกตลาดต่างประเทศ

จากแผนข้างต้น การสื่อสารไปยังพื้นที่อื่นๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นนอกจากเพจภาษาไทยแล้ว ตอนนี้ Little Monster ยังมีเพจภาษาอังกฤษ ภาษาเวียดนาม และภาษาจีน (ฐานแฟนในไต้หวัน) รวมถึงโปรดักต์อื่นๆ เช่นแอปพลิเคชั่นที่กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ

“Little Monster ที่เป็นภาษาจีนไต้หวัน เริ่มมาได้ 2-3 ปีแล้ว ก็มียอดคนตามสองแสนกว่า อันนี้เราหุ้นกับน้องคนหนึ่งช่วยดูแลในฝั่งไต้หวัน ก็มีสปอนเซอร์เข้ามาบ้าง ไม่ได้มากมาย แค่พอเลี้ยงตัวเองได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือคอมมิวนิตี้ของคนไต้หวัน ที่อย่างน้อยสองแสนกว่าคนต้องเคยเห็นคาแรกเตอร์ตัวนี้ และรู้ว่าเพจนี้คืออะไร

แล้วเราก็เลยเริ่มต้นเพจ Little Monster ที่ทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษหมด แล้วก็ต่อที่ภาษาเวียดนาม ซึ่งทั้งอังกฤษและเวียดนามเราคิดตั้งแต่ปลายปี 2019 แล้วมาเริ่มจริงๆ ช่วงเดือนมีนาคมปีนี้ ตอนนี้เวียดนามเรายังจับจุดอยู่ ก็ส่งคอนเทนต์ที่เราคิดว่าดีลงไป ก็มีคนตามอยู่ประมาณสี่พันคน แต่ภาษาอังกฤษนี่ตอนนี้ยอดไปถึงสามหมื่นแล้ว กระโดดจากยอดหลักพันไปที่สามหมื่นกว่าในเวลาอาทิตย์เดียวเอง

การทำคอนเทนต์มันเป็นแบบนี้ เราไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เราส่งออกไปมันจะโดนเมื่อไหร่ มันก็อยู่ระหว่างทดลอง แล้วคิดว่าจะมีหลายภาษามากขึ้น เพื่อสร้างฐานของคาแรกเตอร์ Little Monster ที่คุยกันเรื่องลูก เรื่องครอบครัว ในฐานะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่”

ออนไลน์ = อาวุธสำคัญของ SME

เหว่ง-ภูศณัฎฐ์ ฝากคำแนะนำถึงเหล่าคนทำธุรกิจ SME ซึ่งเขาย้ำว่าการทำออนไลน์จำเป็นมากๆ สำหรับยุคนี้ ยิ่งวิกฤติโควิด-19 ยิ่งเป็นการกระตุ้นว่าทุกคนจะต้องเอาตัวเองลงมาในตลาดออนไลน์ได้แล้ว

“ข้อดีอย่างหนึ่งคือเราสามารถทำมาร์เก็ตติ้งในราคาที่ไม่ต้องสูงมากนัก มีคนเห็นสินค้าชัดเจน บอกอะไรก็ได้ชัดเจน ที่สำคัญคือเราต้องดูว่าเราทำมันเป็นไหม ทำได้แค่ไหน เราต้องเรียนรู้เพิ่ม และถ้าเราจะมาอยู่บนออนไลน์แล้วจะทำให้คนสนใจเราได้ยังไง

มันก็คือการคิดคอนเทนต์ต่างๆ นั่นแหละ อย่างที่เราคุยกันมาตั้งแต่ต้น ที่สำคัญคือเทคนิคต่างๆ อย่างการบูสต์โพสต์ การเข้าใจสแตทต่างๆ ของแพลตฟอร์มที่คุณมี พวกนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต้องเรียนรู้ ผมอาจจะเรียนรู้น้อย เพราะผมแก่ แต่ผมก็มีทีมที่ผมฝากบอกว่าช่วยศึกษาเรื่องนี้หน่อย เราต้องมีทีมที่ช่วยๆ กัน ดังนั้นทุกคนน่าจะต้องกลับไปมองสินค้าของตัวเองให้ดีว่าเราจะยืนอยู่บนตลาดออนไลน์ได้ด้วยอะไร แล้วก็เริ่มทำคอนเทนต์ขึ้นมา”

เขายังทิ้งท้ายอีกว่า

“หลังผ่อนปรนล็อกดาวน์แล้วมันอาจไม่ได้กลับมาเหมือนเดิมเร็วนัก โควิด-19 มันเข้ามา เราก็ต้องพัฒนาตัวเองและมองหาโอกาสเสมอๆ อย่าไปถอดใจอะไรง่ายๆ สู้ไปก่อน ยังไงมันจะดีขึ้น ซึ่งการจะดีขึ้นมันก็อยู่ที่เรา ท้อแท้ก็ได้นิดหนึ่ง แต่อย่าไปเยอะ ลองหากำลังใจจากคนที่รักเราดู มันจะช่วยได้ครับ”

 

 

อ่านเพิ่มเติม: 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า