SHARE

คัดลอกแล้ว

ถ้าให้พูดตามนิยามแล้ว ‘เบร็กซิท’ (Brexit) คือการที่สหราชอาณาจักรขอลาออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป

แต่หากจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ‘เบร็กซิท’ คือการบอกเลิกครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ จากสองฝ่ายที่เคยผูกมิตรกันมาเกือบ 50 ปี ส่งผลกระทบมหาศาลต่อคนหลายล้านคน

การบอกเลิกในครั้งนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วทำไมการลดความสัมพันธ์ระหว่างกันถึงใช้เวลายืดเยื้อหลายปี วันนี้ workpointTODAY จะสรุปการแยกทางตามสไตล์เบร็กซิทที่เป็นยิ่งกว่าความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่ายที่สุด

🇬🇧 🇪🇺 จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ 🇬🇧 🇪🇺

▫️ จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ต้องย้อนไปเกือบ 70 ปีที่แล้ว เมื่อปี 2494 ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มี 6 ชาติในยุโรปทำความร่วมมือเพื่อค้าขายเหล็กและถ่านหินต่อกัน ความร่วมมือทางการค้าตรงนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ชาติยุโรปมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น

▫️ 6 ชาติที่ว่าได้แก่เบลเยียม ฝรั่งเศส อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์และเยอรมันตะวันตก จะเห็นได้ว่าไม่มีสหราชอาณาจักรอยู่ในนี้ แต่อย่างที่บอกว่า ความร่วมมือในการค้าขายเหล็กและถ่านหินในตอนนั้น เป็นจุดเริ่มต้นให้ชาติยุโรปกระชับความสัมพันธ์กันมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ยุโรปได้กลายเป็นประชาคมยุโรป ลักษณะคล้ายๆ กับอาเซียนที่เป็นประชาคมอาเซียน และสหราชอาณาจักรก็เริ่มสนใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในนั้น

▫️ สหราชอาณาจักรเข้าร่วมเป็นสมาชิกของประชาคมยุโรปอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2516 และอยู่ร่วมกันมาพร้อมๆ กับพัฒนาการความสัมพันธ์ จากประชาคมยุโรป เป็นสหภาพยุโรป ที่มีความแน่นแฟ้นขึ้นในทุกๆ เรื่องตั้งแต่เรื่องการค้า พรมแดน ไปจนถึงเรื่องการเมือง

▫️ ความใกล้ชิดที่ถูกมองว่าใกล้ชิดกันเกินไป ทำให้เกิดความคิดว่า การร่วมมือที่แนบแน่นกับยุโรปอาจไม่ใช่เรื่องที่ดี และความพยายามแยกตัวของสหราชอาณาจักรก็ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นกระแสมาตลอดช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา

▫️ แต่กระแสแยกตัวไม่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีเท่าไหร่ในช่วงแรก เสียงของประชาชนจากการทำประชามติเมื่อปี 2518 ชี้ขาดว่า ไม่อยากแยกตัวจากยุโรป ซึ่งในตอนนั้นยังเป็นเพียงประชาคมยุโรป ขณะที่พรรคการเมืองที่สนับสนุนการแยกตัวก็ไม่ได้รับความนิยมในการเลือกตั้งทั่วไป

▫️ ไม่เหมือนกับเมื่อปี 2559 หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ที่ผลการลงประชามติบอกว่า สหราชอาณาจักรควรลาออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปได้แล้ว

🇬🇧 🇪🇺 กระแสอยากแยกตัว 🇬🇧 🇪🇺

▫️ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ กระแสอยากให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้ชัดจากการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะการเลือกตั้งบุคคลเข้าไปเป็นตัวแทนในรัฐสภายุโรปที่พรรคการเมืองที่เรียกกันว่า UKIP ซึ่งมีจุดยืนให้แยกตัว มีคะแนนนิยมสูงขึ้น เทียบชั้นพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างพรรคแรงงานและพรรคอนุรักษ์นิยม

▫️ ทำไมกระแสแยกตัวถึงกลับมารุนแรงในช่วงหลัง?

▫️ อย่างที่บอกไปว่า เมื่อชาติสมาชิกยุโรปกระชับความสัมพันธ์กันแน่นแฟ้นขึ้นเป็นสหภาพยุโรป ทำให้มีผลผูกพันมากกว่าแค่ข้อตกลงการค้าทั่วๆ ไป แต่ยังรวมถึงเรื่องการเมือง นโยบาย กฎหมาย และพรมแดนที่ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย

▫️ หลายคนไม่ชอบการอยู่ใต้ร่มของสหภาพยุโรป ตัวอย่างที่ใกล้ตัวผู้คนที่สุดคือเรื่องพรมแดนที่มีเขตแดนเป็นเพียงเส้นแบ่งพื้นที่ประเทศ แต่ให้สิทธิ์พลเมืองยุโรปเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี ตรงจุดนี้เองที่เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ทำให้หลายคนไม่พอใจ เพราะทำให้มีแรงงานจากชาติอื่นๆ ในสหภาพยุโรป เข้าไปทำงานในสหราชอาณาจักร ด้วยค่าแรงถูกกว่าพลเมืองในประเทศ

▫️ การแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปถูกถามอีกครั้งในการลงประชามติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 และผลการลงประชามติก็ชี้ว่า ผู้มีสิทธิ์ลงประชามติให้แยกตัวมากถึง 51.89% ขณะที่คนลงคะแนนให้อยู่กับสหภาพยุโรปต่อมีสัดส่วน 48.11%

▫️ ถ้าไปดูแผนที่ว่าจุดไหนโหวตให้อยู่ต่อ จุดไหนโหวตให้แยกตัว เห็นได้ชัดว่าคนโหวตให้ออกจากสหภาพยุโรปส่วนใหญ่อยู่ทางตอนกลางและตอนใต้ ซึ่งจากการวิจัยในเวลาต่อมาพบว่า ผู้ลงคะแนนให้ออกจากสหภาพยุโรปส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ที่มีค่าแรงต่ำ อัตราการว่างงานสูง บางพื้นที่เป็นแหล่งที่มีแรงงานข้ามชาติจากประเทศยุโรปตะวันออกเข้าไปทำงาน นอกจากนี้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เทคะแนนให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปคือผู้สูงอายุ

▫️ ถ้าเจาะลึกลงไปจะพบเหตุผลของทั้งสองฝ่าย โดยในฝ่ายลงคะแนนให้แยกตัวระบุว่า การแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปจะทำให้สหราชอาณาจักรมีระบบตรวจคนเข้าเมืองที่ดีขึ้น มีกระบวนการควบคุมชายแดนที่ดีขึ้น มีระบบสวัสดิการที่เป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และที่สำคัญการแยกตัวจะทำให้สหราชอาณาจักรมีอำนาจควบคุมกฎหมายของตัวเองเสียที

▫️ ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนให้อยู่ต่อมองว่า การอยู่กับสหภาพยุโรปจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น มีบทบาทการลงทุนในต่างประเทศและมีอิทธิพลในประชาคมโลก

▫️ ทันทีที่ผลการลงประชามติชี้ว่า สหราชอาณาจักรควรออกจากสหภาพยุโรป ทำให้นักการเมืองฝ่ายสนับสนุนการแยกตัวประกาศชัยชนะ พร้อมระบุว่านี่คือการประกาศเอกราชของสหราชอาณาจักร

▫️ ขณะที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนคือสก็อตแลนด์ ประกาศว่าหากสหราชอาณาจักรแยกตัวจากสหภาพยุโรป สก็อตแลนด์ก็อาจทำประชามติแยกตัวจากสหราชอาณาจักร เพื่อเป็นประเทศเอกราช แล้วไปเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแทน

▫️ ในช่วงเวลาไม่กี่ปีหลังประชามติแยกตัวจากสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักรเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 3 คน ผ่านสถานการณ์การเมืองที่ไร้เสถียรภาพ จนกระทั่งมาถึงนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือนายบอริส จอห์นสัน ซึ่งสนับสนุนแนวคิดแยกตัวมาตั้งแต่แรก

🇬🇧 🇪🇺 ช่วงเปลี่ยนผ่านหลังแยกทาง 🇬🇧 🇪🇺

▫️ วันที่ 31 มกราคม 2563 เป็นวันที่สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป แต่การ ‘เบร็กซิท’ หรือการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ไม่ได้เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เพราะภายใต้การรวมตัวกันที่มีอยู่เดิม มีประเด็นซับซ้อนมากมายที่ตกลงกันให้ได้

▫️ ทั้งสองฝ่ายให้เวลา 11 เดือนเพื่อเจรจาต่อรองกันถึงความซับซ้อนเหล่านี้ว่าจะเอาอย่างไรต่อ ซึ่งจะหมดเวลาในสิ้นปีนี้

▫️ สิ่งที่หลายคนกังวลที่สุดคือ ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ และต้องแยกทางกันแบบไม่ได้ตกลงอะไรกันเลย ซึ่งนั่นจะส่งผลให้เกิดความโกลาหลในปีหน้าอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องการค้าระหว่างกัน ที่ต้องไปใช้กรอบการค้าขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งแม้จะเป็นเกณฑ์มาตรฐาน แต่ก็เป็นเกณฑ์ที่สูงกว่าข้อตกลงการค้าที่ทั้งสองฝ่ายเคยมีต่อกัน

▫️ ในปีนี้เราจึงเห็นภาพสินค้าหลายชนิดขาดตลาด เพราะผู้คนซื้อไปกักตุน กลัวว่าปีหน้าถ้าสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปแยกตัวกันแบบไม่มีข้อตกลง สินค้าจากนอกประเทศจะเข้ามาขายไม่ได้ หรือมีราคาแพงขึ้นมาก

▫️ จนกระทั่งไม่ถึง 1 สัปดาห์ก่อนสิ้นปี เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. นายบอริส จอห์นสันประกาศว่าทั้งสองฝ่ายเห็นชอบข้อตกลงการค้าระหว่างกันแล้ว โดยข้อตกลงนี้จะเป็นหนึ่งในข้อตกลงการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าถึง 660,000 ล้านปอนด์ หรือราว 26.8 ล้านล้านบาทต่อปี

▫️ แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด แต่แหล่งข่าวในรัฐบาลอังกฤษยืนยันว่า ข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรปนี้จะเป็นข่าวดีให้กับทุกธุรกิจและทุกครอบครัวในสหราชอาณาจักร เนื่องจากเนื้อหาส่วนใหญ่ของข้อตกลงยึดตามสิทธิ์ที่สหราชอาณาจักรเคยได้รับจากสหภาพยุโรป เช่นเดียวกับฝ่ายสหภาพยุโรปที่ชี้ว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีความยุติธรรม เป็นธรรม และสมเหตุสมผลต่อทั้งสองฝ่าย

▫️ นอกจากเรื่องอัตราภาษี และโควต้านำเข้า-ส่งออกสินค้าแล้ว หลายฝ่ายบอกว่า เรื่องสำคัญในการเจรจาเรื่องหนึ่งอย่างไม่น่าเชื่อ และตกลงกันลำบากคือเรื่องการประมง เนื่องจากเดิมทีสหภาพยุโรปมีสิทธิ์ 25% ในการทำประมงบนน่านน้ำสหราชอาณาจักร ส่วนสหราชอาณาจักรได้ใช้สิทธิ์จับปลาในน่านน้ำตัวเองแค่ 50% แต่ในกรณีที่สหราชอาณาจักรไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปแล้ว สิทธิ์ที่เคยได้ก็ต้องคืนกลับไป

▫️ ทางสหภาพยุโรปเรียกร้องว่า อยากจะทยอยคืนสิทธิ์มากกว่า ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังไม่มีความแน่ชัดว่าทั้งสองฝ่ายตกลงกันอย่างไร ต้องรอการเปิดเผยข้อตกลงอย่างเป็นทางการอีกรอบ

🇬🇧 🇪🇺 ตกลงกันได้แล้วยังไงต่อ 🇬🇧 🇪🇺

▫️ หลังได้ข้อตกลงระหว่างกัน ทั้งสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปต้องนำข้อตกลงกลับไปให้ฝ่ายของตนเองเห็นชอบอีกครั้ง ซึ่งความเคลื่อนไหวในสหราชอาณาจักรหลังจากนี้คือการที่รัฐสภาจะต้องลงมติผ่านข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งคาดว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะเสียงส่วนใหญ่เป็นของพรรคอนุรักษ์นิยมของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน

▫️ ขณะที่พรรคแรงงาน ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวมาตั้งแต่ต้นระบุว่า จะลงมติเห็นชอบข้อตกลงดังกล่าวเช่นกัน เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ดีกว่าการแยกทางแบบไม่มีเงื่อนไขใดๆ ติดตัว

▫️ หลายฝ่ายกังวลถึงการเห็นชอบจากสหภาพยุโรปมากกว่า เพราะต้องผ่านการยินยอมจากผู้นำชาติสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ชาติ ก่อนจะนำเข้าสู่รัฐสภายุโรป โดยกังวลว่ากระบวนการหลายขั้นตอนอาจทำไม่ทันสิ้นปี เพราะนอกจากจะติดวันหยุดยาวช่วงเทศกาลคริสต์มาสแล้ว ยังเผชิญอุปสรรคจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย

▫️ สิ่งที่ทุกคนรอคอยคือการเปิดเผยรายละเอียดข้อตกลงทั้งหมด เพราะทุกคนอยากนำมาเปรียบเทียบว่า การออกจากสหภาพยุโรปในครั้งนี้ มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้างที่หลงเหลืออยู่หรือเพิ่มเติมขึ้นมา และมันคุ้มค่าหรือไม่ เมื่อเทียบกับสิ่งที่หลายคนชี้ว่า สหราชอาณาจักรได้เอกราชในการปกครองประเทศ และมีสิทธิ์กำหนดชะตาชีวิตตัวเองกลับคืนมา

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า