วันนี้เราจะพาไปดูบ้านรีโนเวทเล่นระดับในย่านกวางโจวประเทศจีน ที่สามารถเปลี่ยนจากอาคารหลังเก่าที่สร้างราวปี 1930 ให้กลายเป็นบ้านในฝันหลังใหม่ของคู่รักข้าวใหม่ปลามัน ได้อย่างอบอุ่น เจ้าของบ้านได้ซื้อบ้านเก่าหลังหนึ่ง อายุร่วม 90 ปี โดยมีความต้องการที่จะเปลี่ยนบ้านเก่าหลังนี้ให้กลายเป็นดั่งเรือนหอของพวกเขา แต่ทว่าสภาพเดิมของบ้าน เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีความปลอดภัยและน่าอยู่เลย อีกทั้งยังมีปัญหาอื่น ๆ ให้ต้องแก้ไขจำนวนมาก เช่นปัญหาปลวกสร้างความเสียหายกับตัวบ้าน และปัญหาน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกทำให้เกิดน้ำท่วมบ้านบ่อยครั้ง ปัญหาการขาดพื้นที่สีเขียวในเขตชุมชนแอัด อีกทั้งตัวบ้านเดิมยังมีปัญหาในเรื่องของแสงสว่างภายในที่ไม่เพียงพอ และต้องแชร์กำแพงกับบ้านข้าง ๆ ปัญหาทั้งหมดกลายเป็นโจทย์ให้สถาปนิกต้องคิดและแก้ไขมันอย่างหนัก

โจทย์ของทางสถาปนิกที่ต้องคิดนอกเหนือจากการแก้ปัญหาข้างต้น คือความต้องการที่จะเปลี่ยนอาคารหลังเก่าหลังนี้ให้กลายมาเป็น “บ้าน” อีกครั้งที่มีความหมายแฝงในเรื่องของครอบครัว ความสัมพันธ์ และความอบอุ่น อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่สถาปนิกต้องการสร้างให้กับบ้านหลังนี้คือการสร้างสมดุลระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อม ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
จากโจทย์ทั้งหมดเรามาดูรายละเอียดการตกแต่งและการแก้ปัญหาที่น่าสนใจของทีมสถาปนิก INSPIRATION GROUP ว่าสามารถรังสรรค์บ้านหลังนี้ให้ออกมาสวยและน่าอยู่ได้อย่างไรกัน

แก้ปัญหาน้ำท่วมบ้าน
.
หนึ่งในปัญหาของบ้านหลังนี้คือเรื่องของสภาพภูมิอากาศที่มีฝนตกชุก ทำให้เกิดปัญหาความชื้นและน้ำท่วมขังอยู่ตลอด วิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวสถาปนิกเลือกการเพิ่มระดับความสูงของบ้านให้สูงขึ้นอีก 80 เซนติเมตรจากพื้นเดิม เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมมาถึงตัวบ้าน

สร้างบรรยากาศสีเขียว
อีกหนึ่งปัญหาในย่านชุมชนแออัด คือปัญหาการขาดแคลนพื้นที่สีเขียว ทางทีมดีไซน์จึงอยากจะให้เกิดการเชื่อมต่อกันระหว่างผู้อยู่อาศัยและธรรมชาติให้มากขึ้น โดยการปลูกต้นไม้บริเวณหน้าบ้านและระเบียงบ้านเพื่อช่วยเพิ่มบรรยากาศ ความร่มลื่น และเพิ่มธรรมชาติให้กับผู้คนในบ้าน

หน้าต่างบานใหญ่สองชั้น
หน้าต่างบานใหญ่ หนึ่งในวิธีการเพิ่มแสงให้กับบ้าน จากเดิมที่ตัวบ้านเป็นทาวน์เฮ้าส์ ติด ๆ กันทำให้ไม่สามารถมีแสงเข้าได้เพียงพอ จากข้อจำกัดเรื่องหน้าต่าง การรีโนเวทในครั้งนี้จึงเลือกใช้ หน้าต่างบานใหญ่สูงเป็นพิเศษ เพื่อเพิ่มแสงสว่างภายในบ้านอย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนั้นแล้วยังสามารถสร้าง สร้างความโดดเด่นให้บ้านแตกต่างได้เป็นอย่างดี

ห้องนั่งเล่นมีมิติ
พื้นที่ห้องนั่งเล่นเป็นเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างสมาชิกในบ้าน ให้มาสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ที่สามารถมองลงมาได้จากทุกส่วนของตัวบ้าน แม้จะอยู่ที่ชั้นสองก็ตาม มุมโซฟาถูกทำให้ต่ำกว่าพื้นทางเดิน ทำให้เกิดมิติ สร้างความคลื่นไหวภายในตัวห้อง ประดับประดาสร้างบรรยากาศไปด้วยไฟหลืบบริเวณใต้โซฟาช่วยเพิ่มแสงสว่างเล็กน้อยยามค่ำคืน พร้อมทั้งการเลือกใช้ตู้ built-in ในการตกแต่งทำให้บ้านดูเป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมทั้งสามารถเก็บของได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอีกด้วย

แสงสาดส่องจากบนฟ้า
ข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ แคบจากโครงสร้างเดิมพร้อมปัญหาเรื่องการแชร์กำแพงกับบ้านข้าง ๆ ทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องของแสงสว่างภายในอาคาร สิ่งที่ทางทีมดีไซน์ปรับแก้ไขที่น่าสนใจคือ การเว้นช่องว่างระหว่างโครงสร้างภาในบ้าน ทำให้สามารถติดกระจก skylight บริเวณด้านบนเพื่อดึงแสงธรรมชาติเข้ามายังตัวบ้านได้อย่างเต็มที่ในแต่และห้อง ทำให้เกิดการลื่นไหลของแสงได้ตลอดทั้งวัน และสร้างเฉดสีจากองศาที่แตกต่างของแสงจากดวงอาทิตย์ในแต่ละช่วงเวลา

อยากมีระดับต้องเล่นระดับในบ้าน
Split level บ้านเล่นระดับ จุดเด่นของบ้านที่ช่วยทำให้บ้านพื้นที่จำกัด สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยแบ่งฟังก์ชันของห้องต่าง ๆ ให้ดูชัดเจน และดูไม่อึดอัด ด้วยการเล่นกับระดับความสูงของห้องที่แตกต่างกัน ทำให้พื้นที่แต่ละชั้นมีความโปร่งโล่ง ถูกเติมเต็มด้วยแสงและอากาศในแต่ละพื้นที่ อีกทั้งยังสามารถมองไปยังส่วนต่าง ๆ บ้านได้อีกด้วย

บันไดพื้นที่เชื่อมต่อ
บันไดเป็นชุดเชื่อมต่อในแต่ละชั้น นอกจากนั้นยังช่วยให้เกิดพื้นที่เปลี่ยนผ่านระหว่างห้องต่าง ๆ สร้างความเป็นสัดเป็นส่วนของบ้านมากขึ้น อีกทั้งระดับความสูงของบันไดประมาณครึงชั้นทำให้ไม่เหนื่อยมากเวลาเดินขึ้นลง

อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.archdaily.com/…/come-into-the-light-inspiration…