SHARE

คัดลอกแล้ว

บทสรุป/ประเด็นสำคัญ

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการศึกษาไทยอย่างรุนแรง เพราะเป็นการซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่แต่เดิม คือ (1) คุณภาพการศึกษา และ (2) ความเหลื่อมล้ำสูง เพิ่มความยากลำบากต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และสถานศึกษา

หากต้องการประคับประคองการศึกษา และการเรียนรู้ในระหว่างที่นักเรียนและบุคลากรทางการศึกษายังไม่ได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง รัฐบาลควรออกมาตรการทั้งหมด 6 มาตรการ (ตามรายละเอียดในบทความ) เพื่อดูแลอย่างทั่วถึง เพียงพอ และทันที ตั้งแต่การเยียวยา การสนับสนุนให้ปรับรูปแบบการเรียนออนไลน์ การสร้างทางเลือกใหม่ ๆ ในการเรียนรู้ ตลอดจนการช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างต่อเนื่องภายใต้ข้อจำกัดในสถานการณ์การแพร่ระบาด พร้อมกับหาวิธีการนำเด็กที่หลุดออกจากระบบแล้วให้กลับเข้าสู่ระบบ อีกทั้งป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกนอกระบบไปมากกว่าเดิม

ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมารัฐบาลจึงควรดำเนินการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างฉับพลันทันที ควบคู่ไปกับการวางแผนสำหรับระยะหลังการระบาด ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องได้รับการเยียวยา โดยเฉพาะนักเรียนที่ควรได้รับการฟื้นฟู และชดเชยการเรียนรู้ที่ถดถอยไปช่วงโควิด (learning loss) เพื่อให้นักเรียนในฐานะทรัพยากรมนุษย์มีพัฒนาการการเรียนรู้ตามวัย นอกจากนี้อาจต้องออกแบบการศึกษารูปแบบใหม่ ที่ไม่ย้อนกลับไปสู่ปัญหาที่เรื้อรังมาตั้งแต่ก่อนโควิด

บรรยากาศการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ที่ขาดอุปกรณ์ส่งเสริมการสอนที่มีประสิทธิภาพ

ขอบเขตของปัญหา และผลกระทบ

การศึกษาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อขับเคลื่อนประเทศ และเป็นช่องทางสำคัญในการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนได้มีจุดเริ่มต้นที่ดีของชีวิต แต่การศึกษาไทยมีปัญหามาตั้งแต่ก่อนโควิด ทั้งด้านคุณภาพ เช่น คะแนนจากผลประเมิน PISA ที่ตามหลังหลายประเทศในภูมิภาค ASEAN และ ความเหลื่อมล้ำ เช่น ความแตกต่างในความพร้อม และทรัพยากรในการจัดการศึกษาของแต่ละโรงเรียน

วิกฤตโควิดทำให้การเรียนที่โรงเรียนต้องหยุดชะงักไปตั้งแต่ต้นปีการศึกษา 2563 และ ทำให้นักเรียนทั่วประเทศต้องเรียนผ่านช่องทางอื่นเป็นหลัก เช่น ออนไลน์ โทรทัศน์ดาวเทียม  วิกฤตนี้นอกจากจะทำให้ปัญหาคุณภาพ และความเหลื่อมล้ำที่ทับถม ซับซ้อนมานานแล้วหนักหนาสาหัสกว่าเดิม ทั้งนี้ยังดูเหมือนว่าการเรียนออนไลน์อาจส่งผลกระทบที่กว้างขวางต่อทั้งระบบการศึกษา และหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้ :

A. นักเรียนในครอบครัวรายได้น้อย มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ: สภาวะ “ยากจนเฉียบพลัน” ของหลายครอบครัว ทำให้ประเทศไทยมีนักเรียนอย่างน้อย 6,500 คน ที่ไม่ได้เรียนต่อและต้องหลุดออกนอกระบบการศึกษาเพราะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องได้ โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาคาดการณ์ว่าจำนวนนี้อาจสูงขึ้นถึง 65,000 คน ภายในปลายปีการศึกษา

B. นักเรียนในระบบการศึกษา กำลังเผชิญสภาวะเรียนรู้ถดถอย (learning loss) จากข้อจำกัดเรื่องการเรียนออนไลน์: การเรียนออนไลน์มีอุปสรรคทั้งในเรื่องของ (1) การเข้าถึงการเรียนออนไลน์ เนื่องจากนักเรียนหลายคนยังคงขาดแคลนอุปกรณ์ อินเทอร์เน็ต หรือสภาพแวดล้อมในบ้านที่เอื้อต่อการเรียน และ (2) การจัดการเรียนออนไลน์ให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากบางทักษะมีความเฉพาะเจาะจงมีความยากลำบากที่จะสอนผ่านออนไลน์ เช่น การทำงานฝีมือ การทดลองทางวิทยาศาสตร์  นอกจากนี้การปรับตัวเพื่อจัดการเรียนการสอนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพนั้นยังขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงเรียน และครู ซึ่งภายในประเทศไทยแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกันสูง

C. นักเรียนเกิดปัญหาสุขภาพจิต และความเครียดสะสมจากการเรียนออนไลน์: การสำรวจขององค์การยูนิเซฟ (UNICEF) เผยว่าเด็กและเยาวชนกว่า 7 ใน 10 คน กล่าวว่ามีความเครียด วิตกกังวลและเบื่อหน่าย เพิ่มขึ้นจากโควิด โดยส่วนหนึ่งของความเครียดมาจากทั้งการขาดโอกาสในการเข้าสังคม ความเหนื่อยล้าจากการนั่งเรียนหน้าจอทั้งวัน การถูกสั่งการบ้านที่เยอะขึ้น หรือความกังวลด้านการเรียนและการสอบเพื่อโอกาสในการเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

นักเรียนเรียนออนไลน์

D. ภาระงานด้านการสอนและด้านธุรการที่สูงขึ้นของครูผู้สอน: ภาระงานของครูสูงขึ้นในช่วงโควิด เพราะ (1) ต้องปรับตัวเพื่อเรียนรู้ทักษะการสอนออนไลน์และการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อวางแผน ออกแบบการสอนในภาวะคับขัน และมีอุปสรรคในการจัดการจำนวนมาก (2) งานซ้ำซ้อนที่บางครั้งเกิดขึ้นจากคำสั่งของรัฐ เช่น แบบสอบถาม การสำรวจติดตามข้อมูลนักเรียน หรือ (3) การมีระบบงานที่ไม่ยืดหยุ่น เน้นสอนตามความสามารถรายบุคคล เช่น การทำสื่อการสอนตามอัตภาพ (4) การต้องทำงานอย่างโดดเดี่ยวภายใต้สถานการณ์ที่ท้าทาย ขาดกระบวนการในเชิงการพัฒนาวิชาชีพ

E. ภาระการดูแลลูกที่สูงขึ้นของผู้ปกครอง: ผู้ปกครองส่วนใหญ่แบกรับภาระมากขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ เพราะบางครอบครัวต้องแบ่งหน้าที่มาดูแลลูกที่บ้าน (โดยเฉพาะเด็กเล็ก) ทั้งที่ต้องทำงานมากขึ้น รายได้ครอบครัวลดลง ในขณะที่หลายครอบครัวต้องเผชิญความเครียดจากการต้องดูแลการเรียนของลูกด้วยตัวเองและทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยครู (เพราะลูกไม่เข้าใจบทเรียนที่เรียนออนไลน์) ทั้งที่หลายคนอาจไม่เข้าใจเนื้อหาเรียนรู้ และไม่ทราบวิธีการสอนบุตรหลานของตน 

F. ปัญหาทางการเงินของสถานศึกษา อาจนำไปสู่การตกงานของบุคลากรและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นของนักเรียน/นักศึกษา: ครูของรัฐบางส่วน โดยเฉพาะครูอัตราจ้างมีปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายเงินเดือนที่ล่าช้า ครูลูกจ้างที่เพิ่งจบใหม่หลายคนต้องถูกเลิกสัญญาจ้าง นิสิต/นักศึกษาที่จบครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์รอสอบบรรจุอย่างไม่มีกรอบเวลาที่แน่นอน อีกทั้งครูเอกชนหลายแห่ง มีความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างจากการที่โรงเรียนเอกชนสามารถเก็บค่าเทอมได้น้อยลงกว่าเดิมหลายเท่าตัว ในขณะที่ข้อจำกัดทางการเงินทำให้สถาบันอุดมศึกษาไม่สามารถลดค่าเทอมหรือค่าที่พักให้นักศึกษาได้ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับโอกาสที่สูญเสียไป เช่น การเข้าถึงห้องสมุด การทำกิจกรรมชมรม การเข้าถึงห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ 

ข้อเสนอ/ แนวทางแก้ไข ปัญหา

ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำเป็นต้องมองการแก้ปัญหาการศึกษาใน “ระยะยาว” เพื่อไม่เพียงแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่วางแผนสำหรับอนาคตที่จะมาถึงด้วยเช่นกัน โดยอาจสามารถกำหนดเป้าหมายของนโยบายการศึกษาสำหรับแต่ละช่วงหรือ Phase ดังต่อไปนี้:

ข้อเสนอเพื่อเริ่มดำเนินการในการประคับประคองการศึกษาใน Phase 1-RETAIN   ขอให้พิจารณาดำเนินการมาตรการ 6 ข้อ ดังนี้ 1. Return 2. Reduce 3. Replicate 4. Revise 5. Reallocate 6. Refinance มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

1. Return: เร่งจัด “โรงเรียนออนไลน์หลังที่สอง” เพื่อช่วยให้เด็กที่หลุดออกจากระบบไปแล้ว สามารถ “กลับ” กลับเข้าสู่ระบบในวันที่สถานการณ์โควิดคลี่คลายโดยที่การเรียนรู้ไม่ขาดช่วง

    • จัดส่ง “โรงเรียนในกล่อง” ให้นักเรียนทุกคนที่หลุดอกกจากระบบ ซึ่งประกอบไปด้วย
      • อุปกรณ์ (มือถือ / แท็บเล็ต)
      • ซิมอินเทอร์เน็ต
      • สื่อการเรียนการสอนออนไลน์ ที่รวบรวมจากแพลตฟอร์มที่มีอยู่แล้ว
    • ออกแบบหลักสูตรการสอนเฉพาะสำหรับนักเรียนกลุ่มนี้ ซึ่งประกอบไปด้วยการรวบรวม
      • ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา เพื่อออกแบบแผนการจัดการสอน การประเมินผลการเรียนรู้
      • ครูอาสา เพื่อมาประกบและดูแลการเรียนรู้ของนักเรียน โดยอาจมาจากกลุ่มนักศึกษาครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ ที่ยังเรียนอยู่ หรือ เพิ่งจบใหม่และยังไม่ได้ทำงาน (โดยกำหนดให้รัฐเป็นผู้จ้าง หรือ เพิ่มกิจกรรมนี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรของคณะ)
    • เงินเยียวยานักเรียนอย่างน้อย 6,000 บาทต่อปี เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในปีการศึกษาถัดไปที่นักเรียนกลับเข้าไปเรียนในโรงเรียนได้ (จากที่ กสศ. ประเมินว่าค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาต่อปี  ซึ่งระดับประถมอยู่ที่ประมาณ 3,267 บาท และระดับมัธยมต้นอยู่ที่ประมาณ 6,378 บาท)

2. Reduce: ร่วมมือกัน “ลด” หรือหยุดรูปแบบการสอนแบบเดิมที่อาจไม่จำเป็น เพื่อลดความเครียดของนักเรียนในระบบ

    • ปรับลดเนื้อหาในหลักสูตร เพื่อตัดเนื้อหาในส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป
    • ปรับลดวิธีการสอนที่เด็กต้องมานั่งหน้าจอเพื่อเรียนพร้อมกัน (synchronous learning)
    • ปรับลดภาระงานที่ไม่จำเป็นของครู เพื่อให้มีเวลามากขึ้นในการออกแบบวิธีการสอนใหม่ๆ
    • ปรับลดวิธีการประเมินแบบสรุปผล และหาวิธีการประเมินรูปแบบอื่น (เช่นประเมินพฤติกรรมเชิงประจักษ์ การประเมินความก้าวหน้า การประเมินสมรรถนะ) โดยวัตถุประสงค์ไม่ใช่เพื่อตัดเกรด/จัดอันดับ แต่เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการออกแบบแนวทางการฟื้นฟู ดูแลผู้เรียนในอนาคต

3. Replicate: บูรณาการการจัดการสอนออนไลน์ของแต่ละสถานศึกษา เพื่อโอนถ่ายและแบ่งปันทรัพยากรหรือแนวทางที่มีประสิทธิภาพในบางโรงเรียน ไปสู่โรงเรียนอื่นๆ

    • รวบรวมและแบ่งปันคลิปการสอน สื่อการเรียนการสอน ให้กับครูและโรงเรียนทั่วประเทศสามารถหยบยกไปใช้ได้ ยึดแนวทางการจัดสรรทรัพยากรที่มีให้คุ้มค่า ซึ่งอาจจัดการเป็นแพ็คเก็จให้มีครบทั้งส่วนของการสอน ส่วนของชิ้นงานเพื่อพัฒนาความรู้ และส่วนของการประเมินผล
    • รวบรวมผู้เชี่ยวชาญมาออกแบบวิธีวัดประเมินผลการถดถอยทางการเรียนรู้ ออกแบบใบงานที่เหมาะสมกับสถานการณ์ หรือ คู่มือแนะนำครู ในการนำสื่อการเรียนการสอนไปประกอบการสอน
    • รวบรวมผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนผู้เกี่ยวข้องมาออกแบบกลไกหรือแนวทางความร่วมมือระหว่างครูกับผู้ปกครอง เพื่อลดภาระทั้งสองฝ่าย

4. Revise: ปรับเกณฑ์การสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยให้ความสำคัญหรือใช้สัดส่วนการสอบน้อยลง เพื่อลดความเครียดของเด็ก ม.ปลาย ที่เรียนออนไลน์ติดต่อกันและกังวลเรื่องความพร้อมในการสอบ

    • หาวิธีการประเมินรูปแบบอื่นมาประกอบการพิจารณา เช่น การสัมภาษณ์ การทำจดหมายแนะนำตัว (personal statement) เอกสารแนะนำจากครู (recommendation letter)
    • เพิ่มวิธีการประเมินรูปแบบอื่นเข้าไปเป็นอีกทางเลือกในการคัดเลือก TCAS (เช่น เพิ่มเป็นรอบที่ 6 หรือ ปรับเปลี่ยนวิธี กฎเกณฑ์จากรอบการรับเดิมที่มีอยู่แล้วให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น)

5. Reallocate: สร้างงานที่เป็นประโยชน์ในช่วงโควิดแต่อาจขาดแคลนคน (COVID Jobs Programme) เพื่อเพิ่มทางเลือกสำหรับนักศึกษาให้สามารถเลือกหยุดเรียนและปรับมาฝึกงานแทนได้ เพื่อลดความเครียด เรียนรู้ทักษะใหม่ และเพิ่มรายได้

    • รูปแบบอาจเป็นการจับคู่ระหว่างงานที่รัฐเห็นว่าสามารถทำได้โดยนักศึกษา และสถานศึกษาเห็นว่าเหมาะสมกับหลักสูตรของคณะ โดยรัฐอาจจ่ายค่าตอบแทนให้นักศึกษาที่เข้าฝึกงานตามความเหมาะสม และคณะผู้รับผิดชอบนักศึกษาปรับหลักสูตรให้งานที่ทำส่วนนี้สามารถมีผลต่อระดับผลการเรียนตามรายวิชาที่เน้นการฝึกปฏิบัติ และใช้ยื่นจบการศึกษาได้
    • ตัวอย่างงานที่เข้าข่าย COVID Jobs Programme อาจรวมไปถึง
      • งานดูแลนักเรียนที่หลุดออกจากระบบ สำหรับนักศึกษาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์
      • งานช่วยพัฒนาเครื่องผลิตออกซิเจน สำหรับนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์
      • งาน call center แนะนำการใช้โปรแกรมหรือแอปพลิเคชัน แก่ผู้สูงอายุหรือคนที่ต้องทำงานที่บ้าน
      • งานจัดส่งความช่วยเหลือด้านการแพทย์

6. Refinance: ออกมาตรการสนับสนุนทางการเงินให้กับสถานศึกษาและผู้ปกครอง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเลิกจ้าง หรือค่าใช้จ่ายที่ถูกส่งต่อให้นักเรียน/นักศึกษา

    • มาตรการสำหรับสถานศึกษา:
      • ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ พักชำระหนี้ แก่สถานศึกษาเพื่อลดค่าใช้จ่าย
      • ร่วมจ่ายค่าแรงครูในโรงเรียนเอกชน เพื่อพยุงการจ้างงานครูเอกชน
      • แก้กฎกระทรวง เพื่อเพิ่มอิสรภาพของโรงเรียนในการใช้งบประมาณ (ซึ่งอาจควบคู่กับการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้มีความโปร่งใสในการตรวจสอบโดยผู้ปกครองและนักเรียน)
    • มาตรการสำหรับผู้ปกครอง
      • ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ พักชำระหนี้ แก่ผู้ปกครองเพื่อลดค่าใช้จ่าย
      • เยียวยาผู้ปกครองถ้วนหน้า
      • จัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่ม หรือพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ

 เพื่อเตรียมการสำหรับ Phase 2 – RECOVER และ Phase 3 – RE-MAKE ในภายภาคหน้า ขอให้พิจารณาดำเนินการมาตรการดังต่อไปนี้

  1. เตรียมการสำหรับ Phase 2: ออกแบบ หลักสูตร/แผนการสอนชั่วคราว สำหรับการชดเชยการเรียนรู้ที่ถดถอยที่เกิดขึ้นใน Phase
    • ออกแบบเครื่องมือการประเมิน/วัดผลการเรียนรู้ถดถอยในกลุ่มนักเรียน และอบรมครูในการใช้เครื่องมือ
    • ออกแบบ “หลักสูตรฟื้นฟู” ที่จะนำมาใช้ชั่วคราว ซึ่งอาจรวมถึงการตัดบางบทเรียน/ตัวชี้วัดที่ไม่จำเป็น และการย้อนไปสอนบางบทเรียนที่สำคัญจากปีก่อนหน้านี้ (ที่นักเรียนต้องเรียนออนไลน์)
    • เพิ่มและจัดสรรการสอนภาคพิเศษ ในรายวิชาที่สถาบันประเมินแล้วว่าผู้เรียนไม่สามารถได้เรียนรู้ได้เต็มที่ในช่วงโควิดระบาด ซึ่งอาจเป็นวิชาที่มีความลุ่มลึกในเชิงทักษะ ความชำนาญ 
  1. เตรียมการสำหรับ Phase 3: ถอดบทเรียนจากโควิด เพื่อแก้ปัญหาที่เรื้อรังและออกแบบการศึกษารูปแบบใหม่
    • ปฏิรูปหลักสูตร – ตัดวิชาหรือบทเรียนที่ไม่จำเป็นอย่างถาวร / ลดเวลาเรียน / เน้นพัฒนาทักษะ-สมรรถนะมากกว่าอัดฉีดความรู้ / เพิ่มความยืดหยุ่นในการเลือกวิชา / ลดการสอบ / ทำให้ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยตรงกับเนื้อหาที่เรียนในโรงเรียน
    • บูรณาการเทคโนโลยีกับครู – รับรองสิทธิในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต / นำเทคโนโลยีมาเพื่อประกอบการเรียนการสอนที่โรงเรียนเพื่อสร้างการเรียนรู้แบบผสมผสาน / พัฒนาครูให้ตรงกับบทบาทใหม่ที่เข้ากับหลักสูตรฐานสมรรถนะ
    • กระจายอำนาจไปสู่โรงเรียนมากขึ้น – ด้านการบริหารงบประมาณ / การบริหารบุคลากร / การทำหลักสูตรที่เน้นความเหมาะสมตามบริบทที่แตกต่างกัน
    • ขยายสวัสดิการอย่างครบวงจร – เช่น การเรียนฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายแอปแฝง / การสนับสนุนมื้ออาหารที่ครอบคลุม (มื้อเช้า-มื้อเที่ยง) / เบี้ยเด็กเล็กถ้วนหน้า / การสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่นๆ
    • คุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพนักเรียน – เช่น การคุ้มครองจากการโดนทำโทษที่รุนแรงต่อกายและใจ / การคุ้มครองจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

 

Covid Policy Lab: Policy Memo นโยบายผู้บริหาร สำหรับประเทศยุคโควิด

Covid Policy Lab คือคอลัมน์พิเศษที่รวบรวมข้อเสนอนโยบายในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ส่งตรงถึงผู้บริหารประเทศ

โดยเราจะระดมแนวคิดต่างๆ ในรูปแบบของ Policy Memo เพื่อส่งสารโดยตรงถึงบุคลากรในระดับผู้บริหาร เพื่อช่วยเป็นอีกทางเลือกด้านโยบายสำหรับผู้บริหารราชการฉุกเฉินปัจจุบัน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า