Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

หลังยุคโควิดประเทศไทยและทั่วโลกกำลังก้าวย่างสู่ช่วงเทศกาลประเพณีและงานรื่นเริงเฉลิมฉลองของประชาชน และยังเป็นช่วงไฮซีซั่นของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สนามบินสุวรรณภูมิแน่นขนัดด้วยนักท่องเที่ยวขาเข้าที่มุ่งมาเที่ยวไทย เวลานี้มองทางไหนก็เต็มไปด้วยสีสันมีชีวิตชีวาของโรงแรม ร้านค้าและกิจกรรม ส่งสัญญาณความคึกคักทางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว

นับจากนี้ต่อจากเทศกาลลอยกระทง เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ เทศกาลตรุษจีน วาเลนไทน์ จนถึงงานประเพณีสงกรานต์ รวมทั้งการจัดอีเว้นท์ขนาดใหญ่กำลังจะกลับมา เช่น คอนเสิร์ตขนาดใหญ่ เทศกาลดนตรี การจัดแข่งขันกีฬา เนื่องจากประเทศไทยเป็นจุดหมายทางการตลาดและฐานแฟนคลับของศิลปินและนักกีฬานานาประเทศ ยังไม่รวมงานประเพณีท้องถิ่น จึงมีคำถามว่า เราจะจัดการฝูงชนให้ปลอดภัยอย่างไร? คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล มีข้อเสนอแนะ เพื่อมิให้ซ้ำรอยโศกนาฏกรรมอิแทวอน ในเกาหลีใต้ที่เป็นข่าวสะเทือนใจคนทั่วโลก

ผศ.ดร.วรากร เจริญสุข รักษาการหัวหน้าภาควิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า งานรื่นเริงฉลอง Halloween คืนวันที่ 29 ตุลาคม 2565 ในย่านบันเทิง ‘อิแทวอน’ ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งได้ผ่อนคลายมาตรการไม่บังคับสวมหน้ากากอนามัยครั้งแรกหลังจากระยะ 2 ปีของวิกฤติโควิด-19 ทำให้ผู้คนกว่า 1 แสนคน ทะลักเข้าสู่ย่านอิแทวอน และกลายเป็นฝูงชนเบียดอัด ที่เรียกว่า Crowd Crush หรือ Crowd Surge บริเวณจุดที่เกิดเหตุที่สามแยกในซอยแคบซึ่งเป็นทางลาด กว้างเพียง 4 เมตร ยาว 40 เมตร ใกล้สถานีรถไฟใต้ดินอิแทวอน แรงผลักดันของฝูงชนทำให้ผู้ประสบเหตุถูกเบียดอัดแขน ขา ร่างล็อคติดแน่นจากการล้มทับกันเป็นโดมิโน เสียชีวิตกว่า 150 ราย จากภาวะขาดออกซิเจนโดยทรวงอกถูกกดทับ (Compressive Asphyxia) หรืออัดกำแพงทำให้ทรวงอกขยายไม่ได้จึงหายใจเข้าออกไม่ได้ ไม่ใช่การตายจากวิ่งหนีเหยียบทับกัน (Stampede)

ข้อแนะนำสำหรับผู้มางานอีเว้นท์ขนาดใหญ่

• สังเกตและจดจำทางเข้า-ออกมีกี่ทาง และจุดอื่นๆที่ช่วยเพิ่มโอกาสรอด เช่น พื้นที่สูงที่สามารถปีนได้ นึกถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมนั้นเสมอ
• หากรู้สึกไม่ปลอดภัย ให้หาทางถอยออกจากเหตุการณ์นั้น ไม่ดันทุรังเดินหน้าต่อ ซึ่งอาจจะทำให้ถลำและหนีออกมาไม่ได้
• เมื่อรู้สึกว่าคนเริ่มแน่น จนเราไม่สามารถยกมือขึ้นจากข้างลำตัวมาแตะที่ใบหน้าเราเองได้ เป็นตัวบ่งชี้ว่าเสี่ยงที่จะเกิด Crowd Crushได้ ยิ่งหากมีการดันก็จะล้มทับต่อกันเป็นโดมิโนได้
• ให้มีสติเสมอ อย่าเมามายจนเกินไป และไม่ตื่นตระหนก
• ในฝูงชนที่เริ่มแน่น ให้ยืนแยกขาออกห่างอย่างมั่นคง ยกแขนขึ้นในท่าตั้งการ์ดของนักมวยเพื่อให้มีช่องว่างด้านข้างตัวและด้านหน้าทรวงอกป้องกันแรงปะทะ เพื่อให้กล้ามเนื้อกระบังลมและปอดยังทำงานได้
• เลี่ยงหิ้วของพะรุงพะรัง ในช่วงวิกฤติให้รักษาชีวิตสำคัญกว่าสิ่งของที่ตกพื้น หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้บริเวณกำแพง รั้ว หรือเสา เพราะอาจโดนแรงอัดอย่างรุนแรงได้
• อย่าสวนแรงฝูงชนที่ถาโถม หรือพุ่งไปด้านหน้าตรงๆเพราะอาจถูกแรงกระทำให้ล้มได้ วิธีที่ถูกต้องคือ เคลื่อนที่เป็นแนวทแยงเฉียงออกจากศูนย์กลางของแรงไปด้านข้าง
• เคลื่อนไหวและล้มให้ถูกวิธี เมื่อล้มลงอย่าแผ่ตัวนอนคว่ำ หรือนอนหงายเพราะน้ำหนักอีกหลายคนที่อาจจะทับตัวเราจะอัดอวัยวะร่างกายจนทำงานไม่ได้ โดยให้นอนตะแคงงอเข่าในท่าคุดคู้ มือป้องศีรษะให้ศอกกับเข่าติดกัน เพื่อป้องกันการกระแทกและยังพอมีช่องว่างให้หายใจ

ด้าน ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แม้เป็นงานที่ไม่มีเจ้าภาพผู้จัดงาน แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้น นายกเทศมนตรีท้องถิ่นหรือผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นย่อมปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ หลักการในการจัดการฝูงชน (Crowd Management) ตามมาตรฐานสากลของ National Fire Protection Association (NFPA)’s 101 Life Safety Code กำหนดนิยาม ‘ความหนาแน่นของสถานที่’ (Congestion) จะเกิดขึ้นเมื่อมีปริมาณคนตั้งแต่ 2 คนต่อตารางเมตร หากมีมากกว่า 6 คนต่อตารางเมตร ก็เสี่ยงที่จะเกิดฝูงชนเบียดอัด Crowd Crush ได้ดังในเหตุการณ์ที่อิแทวอน

ดังนั้นผู้จัดงาน หน่วยงานท้องถิ่น/ จังหวัดจะต้องมีการวางแผนปฏิบัติการ ร่วมกัน กำหนดหน้าที่ให้ชัดเจนและวางบุคลากรเจ้าหน้าที่สำหรับอำนวยความสะดวกและควบคุมความสงบเรียบร้อยของฝูงชน (Crowd Manager) ในอัตราส่วน 250 คนต่อเจ้าหน้าที่ 1 นาย หรือกรณีผู้มางานกว่า 100,000 คนในงาน จะต้องมีเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 400 คน แต่ช่วงเกิดเหตุในอิแทวอน คืนนั้นมีตำรวจเพียง 137 นาย ซึ่งมุ่งระวังเพียงปัญหาอาชญากรรม และยาเสพติด โดยไม่ได้เตรียมพร้อมการควบคุมฝูงชน หรือจำกัดจำนวนและทิศทางคนที่จะเข้าไปยังจุดเสี่ยงแต่อย่างใด

ข้อแนะนำแก่ผู้จัดงาน ควรเตรียมความพร้อม ดังนี้

1. การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) ก่อนงานต้องมีการวิเคราะห์คาดการณ์เพื่อเตรียมงานล่วงหน้า สำรวจภูมิทัศน์และจุดที่อาจเกิดความเสี่ยงของอุบัติเหตุ, การเตรียมทางเข้า-ออกหลักและทางออกฉุกเฉิน, การติดตั้งป้ายสัญญาณภาษาต่างๆ, การให้ความรู้เรื่องการ CPR ที่ถูกต้อง, การเตรียมเจ้าหน้าที่คอยควบคุมจำนวนคนที่บริเวณจุดเสี่ยง ซึ่งสามารถประเมินจากข้อมูลในอดีตโดยอาจบวกเพิ่มเนื่องจากสถานการณ์โควิดเริ่มผ่อนคลาย

2. แผนรับมือเหตุฉุกเฉิน (Emergency Plan) เหตุฉุกเฉินต้องมีแผนรองรับและไม่ให้คนในฝูงชนเกิดแตกตื่นโกลาหล, การแจ้งเตือนเช่น Line Alert เตือนเหตุหรือข่าวสารฉุกเฉินเพื่อประชาชนรับทราบอย่างทันท่วงที ไม่เดินไปยังจุดที่เสี่ยง การแจ้งเตือนไม่ให้คนที่มาใหม่เข้าไปเติมอีก เพื่อลดความหนาแน่น

3. เลือกใช้เทคโนโลยีในการจัดการฝูงชน Crowd Management อย่างเหมาะสม ทั้งระบบ Security และ Monitor เชื่อมโยงกับอุปกรณ์ IoT ระแวดระวังเหตุ เช่น ให้ผู้มาร่วมงานดาวน์โหลด Application ของงานหรือลงทะเบียนทราบประวัติสุขภาพของแต่ละคนล่วงหน้า, การจัดที่นั่งแบบระบุหมายเลขและโซน จะลดการวิ่งกรูของฝูงชนเข้าเพื่อแย่งชิงที่นั่งดีๆ ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุได้, การผูก tag/RFID ที่ข้อมือทุกคนที่เข้าร่วมงานเพื่อสามารถระบุตำแหน่ง และสามารถวัดปริมาณความหนาแน่นของแต่ละพื้นที่ไม่ให้เกินจุดปลอดภัย, การตรวจว่าจุดใดมีคนหนาแน่นเกินขีดอันตรายอาจตรวจสอบได้จากข้อมูลเครือข่ายมือถือ คล้ายการดูข้อมูลรถติดจาก Google Map ประชาชนมักมี Smart Phone ติดตัว ในงานอีเว้นท์ซึ่งไม่มีเจ้าภาพ ทางท้องถิ่นหรือจังหวัดอาจใช้ Application ของท้องถิ่นนั้นให้ข้อมูลของอีเว้นท์ แจ้งแผนที่ที่คนแน่นเกินขีดจำกัด, การแสดงภาพ CCTV, ภาพจากโดรน แบบ Real-Time บริเวณงานและวิเคราะห์จุดเสี่ยง

4. ควรจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุฉุกเฉิน (Emergency/Safety Commander) จากทีมที่มีประสบการณ์ มีความรู้ มีอำนาจเต็มในการควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัย จะทำให้เกิดการประสานงานและทำงานที่ถูกหลักวิชาการ การรอเจ้าหน้าที่รายงานขึ้นไปเพื่อให้นายกหรือผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการลงมาอาจไม่ทันการณ์และอาจไม่มีความรู้ประสบการณ์ในการควบคุมสถานการณ์เพื่อความปลอดภัยที่ถูกต้อง

5. เตรียมความพร้อมของหน่วยรถพยาบาล เครื่องมือแพทย์ เครื่องมือดับเพลิง เจ้าหน้าที่คอยควบคุม และประสานงานระหว่างประชาชน สมาคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อความปลอดภัย ลดต้นเหตุของอุบัติภัย ที่นำมาซึ่งความสูญเสียที่เรียกคืนมาไม่ได้

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า