Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

วันที่ 2 เม.ย. เวลา 18.08 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม อ่านแถลงการณ์นายกรัฐมนตรี ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย มีใจความสำคัญคือ ประกาศข้อกำหนดห้ามออกนอกเคหะสถาน 4 ทุ่ม- ตี 4 เว้นผู้มีเหตุจำเป็น ด้านการแพทย์ การธนาคาร การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตการเกษตร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ หนังสือพิมพ์ การขนส่ง น้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งประชาชนที่ต้องเข้าเวร การเดินทางไปสนามบิน เริ่ม 3 เม.ย. เวลา 22.00 น

.

นายกรัฐมนตรีกล่าวรายงานความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า ด้านการแพทย์และสาธารณสุข นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อสุขภาพของพวกเราทุกคน โดยเน้นมาตรการ “เว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing และรณรงค์ให้ทุกคน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” รวมทั้งปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ต้องได้รับความเร่งด่วนในการสนับสนุนหน้ากากอนามัย เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่างทันกาล และทั่วถึง ในโรงพยาบาลทุกพื้นที่ ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องมีระบบการกระจายที่มีประสิทธิภาพ ขาดแคลนไม่ได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะติดตามด้วยตนเองเพื่อให้ทีมหมอและพยาบาล ที่เปรียบเสมือน “นักรบที่อยู่แนวหน้า” คอยต่อสู้และสกัดกั้นข้าศึกที่มองไม่เห็น ด้วยความเสียสละและอดทน ในฐานะ “แม่ทัพ” จะไม่ยอมให้กำลังหลักของเราต้องต่อสู้ภายใต้ความขาดแคลนไม่ได้อย่างเด็ดขาด  และต้องมีขวัญ กำลังใจที่เข้มแข็งอยู่เสมอ เพื่อมีพลังเอาชนะวิกฤตครั้งนี้ให้ได้

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า มียาที่จำเป็นในการรักษาอย่างเพียงพอ และมีแผนการจัดหาเพิ่มเติมจากต่างประเทศเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่อาจลุกลามได้ในอนาคต นอกจากนั้น ยังมีความพร้อมเรื่องเตียงสำหรับผู้ป่วย โดยสามารถเพิ่มศักยภาพจากโรงพยาบาลทุกสังกัด หอพัก และโรงแรม ให้พร้อมรองรับผู้ป่วยที่อาจเพิ่มขึ้น ขอให้เชื่อมั่นว่า“ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด” ทุกคนจะมีเตียงและยาในการดูแลรักษาอาการป่วยตามมาตรฐานสากลทุกประการ นอกจากนี้ ผู้ป่วยด้วยโรคนี้ รัฐบาลถือว่าเป็น “ผู้ป่วยฉุกเฉิน” ดังนั้น จะมี 3 กองทุน คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนรักษาพยาบาลประกันสังคมและกองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้

ด้านป้องกันและช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งการรักษาความมั่นคง ยึดหลัก “สุขภาพนำเสรีภาพ” โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ จำกัดการเดินทาง การเคลื่อนย้ายคนและจำกัดการรวมตัวกันของคนจำนวนมากในพื้นที่เสี่ยงการแพร่ระบาดต่างๆ โดยแต่ละพื้นที่จะออกมาตรการที่เข้มงวด สอดคล้องตามสถานการณ์และคำแนะนำทางการแพทย์  ปัจจุบัน บางจังหวัดได้ยกระดับมาตรการทางการปกครอง เช่น การกำหนดเวลาเปิด-ปิดร้านค้าและเวลาออกจากบ้านเพิ่มเติมแล้ว เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดให้ได้ ได้แก่ จังหวัดชายแดนภาคใต้และภูเก็ต เป็นต้น ซึ่งจะต้องเอาจริงเอาจัง เราอาจจะรู้สึกไม่สะดวกสบายเหมือนปกติบ้าง แต่เราทุกคนต้อง “ปรับตัว…เพื่อความอยู่รอด” ต้องมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม จึงจะฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดและลดการสัญจรของพี่น้องประชาชน ผมจะประกาศข้อกำหนด ห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถานหรือ “เคอร์ฟิว” ตั้งแต่เวลา 4 ทุ่ม ถึงตี 4 ทั่วราชอาณาจักร โดยเว้นผู้ที่มีเหตุจำเป็นหรือผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ การธนาคาร  การขนส่งสินค้าที่จำเป็นเพื่ออุปโภคบริโภค ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ เชื้อเพลิง รวมถึงการเดินทางของประชาชนเพื่อเข้าออกเวรทำงานหรือไปท่าอากาศยาน ทั้งนี้ ให้ขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ในเขตพื้นที่นั้นๆ  โดยจะเริ่มในวันศุกร์ที่ 3 เมษายน ซึ่งต้องขอให้พี่น้องประชาชนอย่าตื่นตระหนก และไม่ต้องกักตุนสินค้า เพราะท่านยังสามารถออกมาซื้อข้าวของในช่วงกลางวันได้ตามปกติ แต่ต้องเคร่งครัดในเรื่อง “ระยะห่างทางสังคม”

ด้านการควบคุมสินค้า นายกรัฐมนตรีสั่งการให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการกระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชนและศูนย์ปฏิบัติการควบคุมสินค้า โดยย้ำว่าจะไม่ปล่อยให้ผู้ใดกักตุนหรือฉวยโอกาสหรือแสวงหาผลประโยชน์ ซ้ำเติมความทุกข์ยากของคนไทยด้วยกันในยามนี้ ที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐบาลได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และเจ้าหน้าที่ได้ทำการสอบสวนหาต้นตอของปัญหา ตลอดสายการผลิตตั้งแต่ต้นทาง – กลางทาง – ปลายทาง โดยสามารถจับกุมและเอาผิดผู้กระทำผิดไปแล้วหลายราย ซึ่งจะต้องรับโทษอย่างรุนแรง  ทั้งนี้ การกักตุนสินค้ามีอัตราโทษสูง จำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากประชาชนพบเห็นสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ “สายด่วน บก.ปคบ. 1135”

ด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ รัฐบาลได้ออกมาตรการอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดภาระและบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นสำหรับประชาชนทุกกลุ่มและผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ อาทิ เงินช่วยเหลือ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน สำหรับลูกจ้างรายวัน – อาชีพอิสระ – แรงงานนอกระบบ 9 ล้านคน การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าและการใช้น้ำ รวมทั้งลดค่าน้ำ – ค่าไฟ 3 เดือน สำหรับทุกครัวเรือน ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้นส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเงินผ่อนบ้าน – ผ่อนรถ ขยายเวลาชำระตั๋วจำนำ และลดอัตราขั้นต่ำจ่ายหนี้บัตรเครดิต สำหรับประชาชนทั่วไป รวมทั้งแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมด้วย ที่ลดการจ่ายเงินสมทบเหลือ 1% และขยายเวลาให้ 3 เดือน ส่วนผู้ประกอบการและ SME รัฐบาลก็จะช่วยคืนสภาพคล่อง ลดภาระค่าใช้จ่าย บริหารหนี้เดิมไม่ให้เป็น NPL ด้วยมาตรการด้านภาษีและการเงินอีกหลายมาตรการ เพื่อทำให้ทุกคน ทุกฝ่าย มั่นใจได้ว่า “เราไม่ทิ้งกัน”

ด้านการต่างประเทศ ศบค. ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อดำเนินมาตรการเดินทางเข้า-ออกประเทศ และการดูแลคนไทยในต่างประเทศ โดยมีการยกระดับการคัดกรองผู้เดินทางเข้า-ออกประเทศอย่างเข้มงวด ไม่ให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เติมเข้ามาอีก ตั้งแต่ที่ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้ว มีเพียงชาวต่างชาติที่ได้รับการยกเว้นตามข้อกำหนด เช่น คณะทูต หรือผู้ที่มีใบอนุญาตทำงานในไทย หรือลูกเรือเท่านั้น ที่เดินทางเข้ามาได้ สำหรับคนไทยในต่างแดนก็จะไม่ทอดทิ้งลูกหลาน ญาติพี่น้องเหล่านั้น ซึ่งได้หาทางแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดในโลก จะได้รับการดูแล และหากต้องการกลับเมืองไทย ก็จะต้องผ่านกระบวนการคัดกรอง การกักตัวและการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ต้องขอความร่วมมือให้ชะลอการเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 15 เมษายน เพื่อรักษาสุขภาพทั้งคนไทยในประเทศและท่านที่จะเดินทางกลับ เพื่อให้เจ้าหน้าที่จัดระเบียบเตรียมการให้เหมาะสม หากมีความจำเป็นขอให้ไปพบเจ้าหน้าที่สถานทูตหรือสถานกงสุลโดยทันที

สิ่งสำคัญอีกประการ คือ ด้านการสื่อสารในสภาวะวิกฤตเพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจและผู้ปฏิบัติงานมีความชัดเจน ไม่สับสนหรือสร้างความขัดแย้ง ศบค.จัดให้มีระบบการสื่อสารที่เป็น “เอกภาพ” ไปในทิศทางเดียวกัน หรือ Single Voice  โดยจะมีการแถลงข่าวที่ถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ ในทุกช่องทางเป็นประจำทุกวัน หลังการประชุมในช่วงเช้า โดยโฆษกศูนย์และผู้รับผิดชอบโดยตรง “เท่านั้น” งดเว้นและหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ของผู้ที่ไม่ได้รับมอบหมายหรือเกี่ยวข้องกับมาตรการต่างๆ ของศูนย์ฯ นายกรัฐมนตรีขอให้สื่อมวลชนทุกสำนัก รวมถึงสื่อโซเชียล ใช้ความระมัดระวังในการสื่อสาร  โดยขอให้ใช้ข้อมูลจากศูนย์ฯ นี้ เท่านั้น ห้ามการสื่อสารที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความเข้าใจผิด หรือบิดเบือนข้อมูล รวมถึงผู้ที่สร้างข่าวปลอม หรือ Fake News และการส่งต่อข่าวปลอม ทั้งที่ไม่เจตนาหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่มีผลต่อความมั่นคงก็จะมีโทษตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินนี้อย่างหนัก ดังนั้น จะต้องงดการส่งต่อข้อมูลที่ไม่ทราบแหล่งที่มา หรือไม่มั่นใจ ควรส่งต่อข้อมูลที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ อาทิ ตัวอย่างการปฏิบัติตนตามนโยบายของภาครัฐ กิจกรรมจิตอาสา เป็นต้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความประทับใจท่ามกลางวิกฤตนี้ว่า รัฐบาลได้ระดมผู้มีความสามารถ คนเก่งจิตอาสาจากวงการต่างๆ ทั้งด้านสาธารณสุข เทคโนโลยี การสื่อสาร และภาคธุรกิจอื่นๆ มาร่วมหารือเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน ขอขอบคุณ “จิตอาสา” ทุกท่าน ที่ไม่นิ่งดูดาย รวมพลังความรัก-ความสามัคคี ร่วมกันทำเพื่อประเทศชาติและประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการร่วมบริจาคเงิน สิ่งของ อาหาร หรือการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน หลายคนเริ่มจากสิ่งง่ายๆ เช่น การเขียนข้อความ ทำคลิป หรือทำป้าย ให้กำลังใจกันและกัน “น้ำใจไทย” เช่นนี้เอง จะช่วยให้ประเทศไทยของเรา รอดพ้นจากวิกฤตนี้ไปได้

ทั้งนี้ ผลของการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ข้างต้นอย่างเคร่งครัด ทำให้สถานการณ์ขณะนี้อยู่ในระดับที่ยังสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ ไม่สูงถึงระดับของประเทศที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก ทั้งนี้ เป้าหมายร่วมกันของเรา คือ การขจัดโรคภัยและเชื้อร้ายนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด และทุกคนปลอดภัย ดังนั้น เราจะต้องไม่ประมาท เราจะต้องไม่ปล่อยให้มี “ผู้ป่วย-ผู้ติดเชื้อรายใหม่” และทำให้ตัวเลขลดลงจนเป็น “ศูนย์” ให้ได้ในเร็ววัน เราจะต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างไม่ลดละ ต้องบังคับใช้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด อย่างต่อเนื่องเหมาะสม หากจำเป็นก็จะต้องยกระดับใน “บางพื้นที่” ตามเหตุผลทางการแพทย์  นายกรัฐมนตรียังขอให้ประชาชนทุกคนร่วมมือปฏิบัติตนตามมาตรการแยกตัวอยู่บ้าน เพื่อลดภาระของทีมแพทย์และพยาบาลที่เสียสละต่อสู้กันมานานหลายเดือน หาก “แนวหน้าเข้มแข็ง” และ “แนวหลังเข้มงวด” ประเทศไทยก็จะชนะศึกครั้งนี้ได้อย่างแน่นอน

สุดท้ายนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนและทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านทั่วประเทศ ที่อดทน เสียสละ ทุ่มเทแรงกาย-แรงใจ ในการดูแล ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ด้วยความเสี่ยงภัยและความยากลำบาก ขอให้รับรู้ว่าเจ้าหน้าที่ พลเรือน ตำรวจ ทหาร ทุกท่านเป็นบุคคลสำคัญในใจผมและคนไทยทุกคน และขอให้ทุกคนมั่นใจว่า จะทำทุกทางเพื่อที่จะนำพาประเทศของเรา ก้าวข้ามเวลาแห่งความยากลำบากนี้ไปให้ได้อย่างมีสวัสดิภาพอย่างพร้อมเพรียงกัน ขอให้พวกเรา…สู้!! ไปด้วยกัน นะครับ!! ประเทศไทยต้องชนะ

จากนั้นมีการอ่านประกาศข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และได้ออกข้อกำหนด (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 แล้วนั้น . เพื่อให้มีมาตรการต่างๆ เพิ่มขึ้นตามความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ดังต่อไปนี้

.

ข้อ 1. ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่มีความจำเป็นหรือเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ การธนาคาร การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตการเกษตร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ หนังสือพิมพ์ การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง การขนส่งพัสดุภัณฑ์ การขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าหรือส่งออก การขนย้ายประชาชนไปสู่ที่เอกเทศเพื่อกักกันตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ การเข้าออกเวรทำงานผลัดกลางคืนตามปกติ หรือการเดินทางมาจากหรือไปยังท่าอากาศยาน โดยมีเอกสารรับรองความจำเป็นหรือเอกสารเกี่ยวกับสินค้าหรือการเดินทาง และมีมาตรการป้องกันโรคตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 1) หรือเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งต่างๆ ของทางราชการ หรือมีเหตุจำเป็นอื่นๆ โดยได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ . ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 .

ข้อ 2. ในกรณีที่มีการประกาศหรือสั่ง ห้าม เตือนหรือแนะนำในลักษณะเดียวกับข้อ 1. วรรคหนึ่ง สำหรับจังหวัด พื้นที่หรือสถานที่ใดโดยกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่เข้มงวดหรือเคร่งครัดกว่าข้อกำหนดนี้ ให้ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นต่อไปด้วย

.

ข้อ 3. ในกรณีที่ไม่อาจเคลื่อนย้ายบุคคลใดซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางเพื่อออกไปนอกราชอาณาจักรได้ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จัดที่เอกเทศเพื่อควบคุมหรือกักกันบุคคลดังกล่าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนด . ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

.

ประกาศ ณ วันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2563 . พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า