Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ปัจจุบันเรื่องของ “หยวนดิจิทัล” ซึ่งถูกพัฒนาโดยประเทศจีนกำลังอยู่ในความสนใจไปพร้อมๆ กับความเป็นไปได้ที่ขั้วอำนาจโลกอาจจะเปลี่ยนอีกครั้งหลังโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงทางการเงินครั้งยิ่งใหญ่นี้เป็นอย่างไร “หยวนดิจิทัล” จะมีบทบาทอย่างไรบ้าง และจะเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ในการพลิกขั้วอำนาจโลกได้หรือไม่ วันนี้ Workpoint Today จะอธิบายให้ฟังโดยรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ คุณท้อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้เชี่ยวชาญด้าน Cryptocurrency & Blockchain Technology ผู้ก่อตั้งบริษัท Bitkub และกรรมการสมาคมฟินเทคประเทศไทย

  • “หยวนดิจิทัล” คืออะไร ?

“หยวนดิจิทัล” หรือชื่อทางการคือ Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือ Digital Currency Electronic Payment (DCEP) คือ สกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ที่มีความนิ่งของราคา ซึ่งออกโดยธนาคารกลางจีน มีอัตราการแลกเปลี่ยนเท่ากับเงินหยวนที่เป็นรูปแบบกระดาษปัจจุบัน ที่ผ่านมาจีนตั้งใจผลักดันโปรเจคนี้มาตั้งแต่ปี 2014 มีการตั้งศูนย์กลางการวิจัยด้านสกุลเงินดิจิทัล (Digital Currency Research Lab) เมื่อปี 2017 เพื่อศึกษาการสร้างสกุลเงินใหม่ที่ออกโดยรัฐบาลจีน ปัจจุบันทดลองใช้ใน 4 เมืองใหญ่อย่างเซินเจิ้น ซูโจว เฉิงตู และเขตพัฒนาพิเศษสงอัน และเชิญ 19 บริษัทใหญ่มาทดลองใช้หยวนดิจิทัลยกตัวอย่างเช่น วีแชท (WeChat) อาลีเพย์ (Alipay) แมคโดนัลด์ (McDonald’s) สตาร์บัคส์ (Starbucks) เป็นต้น ซึ่งอีกไม่นาน หากหยวนดิจิทัลสามารถออกมาใช้ได้จริง คาดว่าเราจะสามารถโอนเงินหากันได้ง่ายเหมือนการส่งสติกเกอร์ทางไลน์ทุกวันนี้ โดยที่ระยะทางไม่ใช่ปัจจัยอีกต่อไปไม่ว่าคุณจะอยู่มุมไหนของโลกใบนี้ก็ตาม รวมทั้งยังไม่มีค่าธรรมเนียมเมื่อโอนเงินข้ามประเทศ และผู้รับจะได้รับเงินทันที ส่งผลทำให้การโอนเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

  • ทำไมจีนจึงเร่งพัฒนาเรื่องนี้ ?

จีนเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ที่มีประชากรจำนวนมากเกือบ 2 พันล้านคน จำเป็นต้องจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากที่ผ่านมาจีนพบปัญหาจากการใช้เงินกระดาษรูปแบบเดิมหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น

ปัญหาแรก คือ ต้นทุนทางการเงินมหาศาลที่ต้องแบกรับเพื่อนำมาผลิตกระดาษและเหรียญ การเปลี่ยนเงินเป็นดิจิทัล ทำให้ช่วยประหยัดต้นทุนที่ไม่จำเป็นเหล่านี้

ปัญหาที่สอง คือ การเติบโตของจีดีพี (GDP) (ในหลักของเศรษฐศาสตร์จะมีคำว่า สมการ MV = PY โดย V ย่อมาจากอัตราความเร็วในการหมุนเวียนของเงิน หรือ Velocity of Money เป็นตัวที่บอกว่าเงินมีการเปลี่ยนมือเร็วแค่ไหน ตามหลักแล้วยิ่งอัตราความเร็วในการหมุนเวียนของเงินมีมากจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวสูง) การใช้เงินแบบกระดาษมีอุปสรรคเรื่องระยะทางทำให้กว่าจะเกิดการแลกเปลี่ยนได้ต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนแบบมือต่อมือจริงๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตช้า แต่หากเปลี่ยนเป็นรูปแบบดิจิทัล เงินจะหมุนได้เร็วกว่า หลายรอบกว่า ส่งผลทำให้จีดีพี (GDP) โตเร็วขึ้นหลายเท่า

ปัญหาที่สาม คือ เรื่องการควบคุมเงินทุน (Capital Control) จีนมองว่าหากในอนาคตมีบิตคอยน์ หรือ ลิบร้า ซึ่งเป็นสกุลเงินจากฝั่งสหรัฐอเมริกา และในอนาคตเงินหยวนจะเสียเปรียบ เนื่องจากตอนนี้จีนกับสหรัฐอเมริกา กำลังแข่งขันกันขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจโลก จากประวัติศาสตร์พบว่า คนที่จะสามารถขึ้นเป็นมหาอำนาจโลกได้ต้องสามารถควบคุมสองสิ่งนี้คือ “เทคโนโลยี” และ “การเงิน” ซึ่งตอนนี้เรื่อง “เทคโนโลยี” จีนก็ไม่ได้แพ้สหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันก็อาจจะนำไปแล้วในบางเรื่องด้วย ส่วนด้าน “การเงิน” หากประเทศไหนสามารถคุมอำนาจด้านการเงินของโลกไว้ได้จะทำให้ประเทศนั้นมีอำนาจในการแทรกแซงประเทศอื่นๆ มากกว่า ปัจจุบันสหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในสถานะนั้น การครอบงำของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้สหรัฐอเมริกามีอำนาจมหาศาล เพราะศูนย์กลางของระบบการเงินโลกตั้งอยู่ในมหานครนิวยอร์ก และรัฐบาลสหรัฐอเมริกายังใช้ประโยชน์จากดอลลาร์ในการคว่ำบาตรประเทศต่างๆ เช่น เกาหลีเหนือและอิหร่านต่างก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ดังนั้น หากจีนยังไม่ขยับตาม ในอนาคตคนหันไปใช้สกุลเงินลิบร้า หรือ บิตคอยน์หมดแล้ว จีนอาจจะเสียโอกาสในการเข้ามากุมอำนาจทางเศรษฐกิจแม้แต่อำนาจในประเทศของตัวเอง

ปัญหาสุดท้าย หลังการเกิดขึ้นของ “โควิด-19” หรือ โรคระบาดในอดีตอย่าง “โรคซาร์ส” คนเริ่มมีความกังวลเรื่องความสะอาด ไม่มั่นใจที่จะจับหรือสัมผัสกับเงินซึ่งเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการหยิบจับและสัมผัสธนบัตรและเหรียญ เนื่องจากสามารถเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้ โดยงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าไวรัสโควิด-19 จะอยู่บนผิวกระดาษได้นานถึง 5-9 วัน ส่งผลให้การใช้เงินสดลดลง นอกจากนี้ การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่หันมาใช้จ่ายซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นจากการทำงานที่บ้านและการเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่สะดวกที่จะกดเงินสดเก็บไว้ทีละมากๆ การเปลี่ยนมาใช้เงินดิจิทัลจะเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ทันที

 

  • จุดเด่นของ “หยวนดิจิทัล” คืออะไร ?

ปัจจุบันคนยังไม่เข้าใจว่า “หยวนดิจิทัล” ต่างจากการใช้จ่ายเงินผ่าน วีแชท (WeChat) ต่างจากอาลีเพย์ (Alipay) หรือ การทำธุรกรรมผ่านมือถือ (Mobile Banking) อย่างไร ซึ่งจริงๆ แล้วมีความต่างกันในทางระบบหรือพูดง่ายๆ ว่า ระบบหลังบ้านทำงานต่างกัน เดิมการโอนเงินระหว่างกันยังมีข้อจำกัดเรื่องการข้ามค่ายที่ต้องมีค่าธรรมเนียมในการแปลภาษา เช่น ในอดีตเราจะโอนเงินจากแบงค์สีเขียวไปแบงค์สีม่วงต้องมีค่าธรรมเนียม หรือจะโอนเงินจากประเทศไทยไปต่างประเทศก็ต้องมีค่าธรรมเนียมเช่นกัน ค่าธรรมเนียมเหล่านี้คือ “ค่าแปลภาษา” ทางการเงินเพราะระบบหลังบ้านไม่ใช่ภาษาเดียวกัน หรือไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การใช้ “หยวนดิจิทัล” จะเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้ โดยผู้ใช้สามารถโอนเงินข้ามค่ายได้โดยไม่ต้องมีค่าธรรมเนียมและระยะทางไม่ใช่ปัจจัย ไม่ว่าจะโอนเงินไปมุมไหนของโลก ก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมอีกต่อไป ทุกคนสามารถเปิดบัญชีของตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งธนาคาร ทำให้คนที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการเงินปัจจุบันเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้นอย่างไม่มีข้อจำกัด ในอนาคตจะไม่ใช่แค่การโอนเงินในประเทศที่ฟรี แต่การโอนเงินข้ามประเทศ ข้ามซีกโลกก็จะฟรีด้วยเช่นกัน

 

  • ระบบการเงินโลกจะเปลี่ยนทุก 50 ปี ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงแล้ว ?

จากประวัติศาสตร์การเงินในอดีตพบว่า “ระบบการเงินของโลก” จะเปลี่ยนทุกๆ 50 ปี ตั้งแต่ในอดีตที่เราใช้เปลือกหอยเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน หรือในยุคปี ค.ศ. 1717 ขณะนั้นประเทศอังกฤษเป็นมหาอำนาจโลกในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม เมื่ออังกฤษสามารถคิดค้นเครื่องจักรไอน้ำได้ก่อน ซึ่งสามารถผลิตสินค้าอุตสาหกรรมได้มากกว่าทุกประเทศในโลก ขณะนั้นมี 3 สกุลเงินที่ใช้ในประเทศอังกฤษอย่าง ทองคำ เงิน และทองแดง เกิดการซื้อขายเก็งกำไรภายในประเทศ อังกฤษจึงแต่งตั้งนักวิทยาศาสตร์อย่าง เซอร์ไอแซค นิวตัน เป็นนักคณิตศาสตร์คอยทำหน้าที่ดูแลอัตราการแลกเปลี่ยนทุกวัน จนวันหนึ่ง เมื่อ เซอร์ไอแซค นิวตัน เกิดคำนวณผิดพลาดในอัตราส่วนระหว่าง ทองคำ เงิน และทองแดง ทำให้ทองคำมีมูลค่ามากกว่า จึงทำให้เงินและทองแดงออกจากประเทศอังกฤษ อังกฤษจึงกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่ใช้แค่ทองคำเป็นมาตรฐานอย่างเดียว เมื่ออังกฤษเป็นมหาอำนาจและยึดเอาประเทศอื่นเป็นประเทศใต้อาณานิคม จึงบังคับให้ประเทศอื่นที่ทำการค้าด้วยใช้ทองคำ ทำให้เกิดผลกระทบ (Snowball Effect) ไปทั่วโลก ข้อเสียของยุคการใช้ทองคำขณะนั้น คือการผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วมาก ส่งผลทำให้สินค้าถูกลงเรื่อยๆ แต่สื่อกลางอย่างทองคำ ขุดได้ช้ามากจึงเกิด “ภาวะเงินฝืด” (Deflation) ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มหภาคมองว่าเหตุการณ์นี้ส่งผลทำให้เกิด “The Great Depression” ในปี ค.ศ. 1929 เนื่องจากระบบการใช้ระบบมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) มีช่องโหว่ หลังจากนั้นจึงเกิดระบบใหม่ชื่อ “ระบบการจัดการการเงินเบรตตันวูดส์” (Bretton Woods System) ในปี ค.ศ. 1945 ขณะนั้นเป็นจังหวะที่สหรัฐอเมริกาก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกแล้วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการก่อตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รวมทั้งธนาคารโลก (World Bank) ก็เกิดในปีเดียวกัน หลายประเทศทั่วโลกนำค่าเงินตัวเองมาผูกกับดอลลาร์สหรัฐ แทนที่จะผูกกับทองคำแบบในอดีต ทำให้ความต้องการ ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก จนเกิดปัญหาเดิมคือ การผลิตสินค้าทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น ความต้องการของดอลลาร์สหรัฐก็มากขึ้นตาม ประกอบกับสหรัฐอเมริกาก็ได้เข้าร่วมสงครามหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม ทำให้ประเทศต้องใช้เงินมากขึ้น จนตัดสินใจพิมพ์เงินออกมาเพิ่มโดยที่ไม่มีทองคำสำรองมากขึ้นแต่อย่างใด จนทำให้ในที่สุดค่าเงินของดอลลาร์สหรัฐก็อ่อนค่าลงตามไปด้วย หลังจากนั้นจึงเกิด “ระบบหลังเบรตตันวูดส์” (Post Bretton Woods System) ใน ค.ศ. 1971 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะครบเวลา 50 ปีในปี 2021 ถ้ายึดตามหลักสถิติที่ว่าระบบการเงินของโลกจะเปลี่ยนทุกๆ 50 ปี แปลว่าในปี 2021 จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงมหาศาล

อย่างที่ทราบว่าปัจจุบันจีนกับสหรัฐอเมริกากำลังแข่งขันกันขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ ลิบร้าเคยถูกโจมตีอย่างหนักเมื่อปีที่แล้ว (2019) เรื่องเสถียรภาพทางการเงิน ผู้พัฒนาจึงกลับไปพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถออกลิบร้าได้ในปลายปีนี้ (2020) และเสนอต่อรัฐบาล ปรากฏว่าหยวนดิจิทัลคืบหน้าเร็วกว่าเพราะรัฐบาลจีนสนับสนุนให้ทดลองใช้ใน 4 มณฑลหลักในร้านค้าชั้นนำและมีการเริ่มจ่ายเงินเดือนเป็นหยวนดิจิทัลในบางบริษัท หลังจากนี้จะทำให้การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) มีความเข้มข้นมากขึ้น ในวงการการเงินช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นที่สุด

 

  • “หยวนดิจิทัล” จะเข้ามาเร็วแค่ไหน ?

ปัจจุบันการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หากเปรียบเทียบกับในอดีต โทรศัพท์บ้านใช้เวลาถึง 50 ปีกว่าจะเข้าถึง 50 ล้านคน ต่อมาโทรทัศน์ใช้เวลาเพียง 22 ปี ในการเข้าถึงผู้คนจำนวนเท่ากัน อินเตอร์เน็ตใช้เวลาเหลือ 14 ปี สมาร์ทโฟนใช้เวลา 7 ปี เฟซบุ๊ก (Facebook) ใช้เวลาเหลือ 4 ปี วีแชท (WeChat) ใช้เวลา 1 ปี เกมส์โปเกมอนโก (Pokémon GO) ใช้เวลาเพียง 1 เดือน สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ยอมรับสิ่งใหม่ๆ มากขึ้นเพราะความสะดวกสบายมีมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ เมื่อเกิดโควิด-19 คนหันมาใช้บริการการส่งอาหารเดลิเวอร์รี่มากขึ้น เนื่องจากเรียนรู้ว่ามันสะดวกและประหยัดเวลาได้มหาศาล ผู้บริโภคเริ่มเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น หรือแอปพลิเคชั่นที่แจ้งเกิดอย่างเป็นทางการคือ ติ๊กต๊อก (Tiktok) ที่โตเร็วมากในเมืองไทยตอนนี้ หรืออาลีเพย์ (Alipay) ที่เข้ามาปรับเปลี่ยนให้ร้านค้าในไทยต้องเปิดรับเพราะนักท่องเที่ยวจีนจ่ายเงินผ่านอาลีเพย์ (Alipay) เป็นหลักไม่ใช่เงินกระดาษอีกแล้ว จะเห็นได้ว่าความจริงโลกเปลี่ยนไปนานแล้วไม่ว่าคนจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ถ้าหยวนดิจิทัลประกาศใช้อย่างเป็นทางการ สุดท้ายผู้บริโภคก็จะเลือกสิ่งที่สะดวกสบายมากที่สุด

คุณท้อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ให้สัมภาษณ์ในรายการ Workpoint Today ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“อีกไม่นานการทำธุรกรรมการเงินต่างๆ ผ่านทางแพลตฟอร์มในโซเชียลมีเดีย (Social Banking) จะแซงหน้าบริการธนาคารทางอินเตอร์เน็ตผ่านมือถือ (Mobile Banking) การทำธุรกรรมการเงินผ่านโซเชียลมีเดียจะได้รับความนิยมมากขึ้น ผู้คนสามารถโอนเงินผ่านบัญชีเฟซบุ๊ก (Facebook) อินสตราแกรม (Instragram) หรือแอพพลิเคชั่นแชทต่างๆ ได้ เพราะพฤติกรรรมเดิมกว่าจะโอนเงินหนึ่งครั้งต้องเข้าออกแอพพลิเคชั่นโดยเฉลี่ยถึง 7 ครั้ง ซึ่งไม่ใช่ประสบการณ์ที่ดี ซึ่งเมื่อมีแพลตฟอร์มการทำธุรกรรมในโซเชียลมีเดีย (Social Banking) เข้ามาจะแก้ปัญหาตรงนี้ไปได้ เราจะสามารถกดโอนเงินได้เลย เมื่อหยวนดิจิทัลหรือลิบร้าเข้ามา ผู้ขายจะสามารถขายถุงเท้าจากแอฟริกาแค่คู่เดียวแต่ยังทำกำไรได้เพราะไม่มีค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างประเทศ เปรียบเหมือนกับส่งสติกเกอร์หากันเท่านั้น” ดังนั้นอาจสรุปได้ว่าการเปิดรับเทคโนโลยีคือการเปิดรับโอกาส “ลองคิดดูว่าภายในปีนี้คนจะเข้าถึงอินเตอร์เน็ตทั่วโลกได้ถึง 5,000 ล้านคน การขายของออนไลน์จะเข้าถึงลูกค้าได้จำนวนมากมหาศาล หากมีกลยุทธ์ทำการตลาดออนไลน์ที่ถูกต้อง คนไม่จำเป็นต้องขายของเฉพาะเพียงแต่ในประเทศของตัวเองแต่สามารถขายได้ทั่วโลก เมื่อช่องทางการขายมีมากขึ้น คนจะยอมรับการใช้ “หยวนดิจิทัล” ที่เปิดโอกาสในการขายที่มากขึ้นไปโดยอัตโนมัติเช่นกัน การศึกษาเรื่องเงินสกุลดิจิทัล จำเป็นมากหากคุณต้องการเติบโตในธุรกิจ ต้องมีวิสัยทัศน์ด้านดิจิทัลด้วย (Digital Vision) การเตรียมความพร้อมด้านความรู้ด้านดิจิทัล จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางธุรกิจของคุณ”

 

สัมภาษณ์และถอดความโดย ไอลดา พิศสุวรรณ

อ่านเพิ่มเติม : https://www.gold.org/about-gold/history-of-gold/bretton-woods-system

http://econ.tu.ac.th/archan/chaleampong/teaching/ec312/sem2_46/EC312v2_Classical.pdf

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า