Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

เมื่อพูดถึงการผ่าตัดหัวใจ เชื่อว่าหลายคนคงมีแต่ความกลัว และไม่อยากทำ แม้กระทั่งกับคนไข้โรคหัวใจที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดเองก็ตาม เพราะการผ่าตัดหัวใจแบบดั้งเดิม คือ การผ่าตัดขนาดใหญ่จำเป็นต้องผ่ากระดูกหน้าอกให้แยกจากกัน ส่งผลให้หลังผ่าตัด คนไข้มักจะเจ็บนาน พักฟื้นนาน และทิ้งรอยแผลขนาดใหญ่เกือบ 20 เซนติเมตรไว้ที่กลางอก

แต่ในวันนี้ที่เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น ได้ทำให้การผ่าตัดหัวใจไม่ใช่เรื่องน่ากลัวขนาดนั้นอีกต่อไปแล้ว เพราะมีเทคนิคที่เรียกว่า “การผ่าตัดหัวใจแผลเล็ก” เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะทำให้คนไข้หายเจ็บได้เร็วขึ้น ฟื้นตัวเร็วกว่าเดิม และสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ เช่น ทำงาน ขับรถ ออกกำลังกาย ท่องเที่ยว ฯลฯ ได้ในระยะเวลาเพียงไม่นาน หรือกล่าวได้ว่า คนไข้จะมีคุณภาพชีวิตในภาพรวมที่ดีขึ้นนั่นเอง

การผ่าตัดหัวใจในลักษณะนี้จะเป็นอย่างไร มีอะไรที่เหมือนหรือต่างไปจากการผ่าตัดแบบดั้งเดิม วันนี้สำนักข่าว TODAY จะพาทุกคนไปหาคำตอบพร้อมกัน ผ่านการพูดคุยกับ ผศ.นพ.สยาม ค้าเจริญ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก รพ.รามาธิบดี หนึ่งในแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดหัวใจแผลเล็กของประเทศไทย

ศัลยแพทย์หัวใจฯ ที่เริ่มต้นอาชีพเพราะอยากช่วยลดจำนวนคนไข้

ก่อนจะไปพูดคุยถึงเรื่องการผ่าตัดหัวใจแผลเล็ก เราได้เริ่มต้นบทสนทนากับ อ.สยาม ด้วยคำถามง่ายๆ ว่าทำไมถึงเลือกเรียนต่อ และทำงานเป็นศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก เพื่อให้ผู้อ่านได้มองเห็นสถานการณ์ในภาพรวมของแพทย์เฉพาะทาง รวมถึงการรักษาคนไข้โรคหัวใจในยุคนั้น เพราะเราทราบมาว่าตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ‘ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก’ เป็นสาขาที่มีแพทย์เรียนจบน้อยมาก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสาขาที่มีคนไข้รอรับการรักษาอยู่มากพอสมควร

อ.สยาม หรือคุณหมอสยาม เล่าว่า มาเรียนต่อด้านศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพราะตนเองเป็นคนที่ชื่นชอบงานสายหัตถการ ประกอบกับตอนนั้น (ปี 2545) เป็นช่วงที่ศัลยแพทย์หัวใจในไทยยังมีน้อยมาก ในรุ่นหนึ่งทั้งประเทศ จะมีหมอเรียนจบกันแค่ประมาณ 5 คนเท่านั้น แต่คนไข้โรคหัวใจมีเยอะ เลยคิดว่าถ้าเรียนสาขานี้น่าจะเป็นประโยชน์มากที่สุด

“หลังจากเรียนจบเฉพาะทางศัลยแพทย์หัวใจฯ (ปี 2550) ผมก็มีโอกาสไปทำงานที่ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ม.ขอนแก่น เพราะแพทย์เฉพาะทางในภาคอีสานยังมีน้อย ศูนย์หัวใจในภูมิภาคก็มีน้อยเหมือนกัน แต่คนไข้มีเยอะมาก ขนาดผ่าตัดกันปีละเกือบพันรายก็ยังมีคิวรอผ่าตัดยาวไปอีกปีครึ่ง ผมเลยเลือกไปที่นั่นก่อน แล้วพอทำงานได้สักพัก เก็บประสบการณ์ได้มากพอแล้ว ก็ย้ายกลับมาที่รพ.รามาธิบดี”

ความต่างของคนไข้โรคหัวใจในภาคกลางและอีสาน

จากประสบการณ์การทำงานทั้งในภาคกลางและภาคอีสานนานกว่าสิบปี ทำให้คุณหมอเห็นความแตกต่างของคนไข้ในสองภูมิภาคนี้อย่างชัดเจน โดยกล่าวว่า

“จำนวนเคสที่รพ.รามา มีน้อยกว่าที่ภาคอีสานเยอะมาก เพราะที่กรุงเทพมีโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลหลายแห่งที่ผ่าตัดหัวใจได้ แต่ลักษณะคนไข้ในกรุงเทพจะแตกต่างจากภาคอีสาน คือ มีอายุเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ที่โรคประจำตัวเยอะ กลายเป็นว่าที่นี่จำนวนเคสลดลง แต่ความยากของเคสเพิ่มขึ้นกว่าเดิม รวมถึงความคาดหวังของคนไข้ในกรุงเทพก็สูงกว่าต่างจังหวัดพอสมควร เพราะเขามาที่รพ.รามา เพราะหวังว่าจะได้รับการบริการที่ดีที่สุด เทคโนโลยีที่ใหม่ที่สุด และผลการรักษาที่ดีที่สุด”

คนไข้ยุคนี้ต้องการผ่าตัดที่แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว

คุณหมอขยายความเรื่องความคาดหวังของคนไข้เพิ่มเติมว่า คนไข้โรคหัวใจที่มาเข้ารับการรักษาที่รพ.รามาธิบดี ต้องการได้รับการรักษาที่ดีที่สุด ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด และที่สำคัญคือการคำนึงถึงความสวยงามของแผลผ่าตัดด้วย

เนื่องจากการผ่าตัดแบบดั้งเดิม หรือการผ่าตัดแบบมาตรฐาน แม้ว่าจะมีความปลอดภัยสูงมาก และสามารถรักษาได้ทุกอย่าง แต่ก็ทำให้คนไข้มีแผลยาวตั้งแต่คอหอยถึงลิ้นปี่ เพราะต้องมีการเลื่อยตัดกระดูกหน้าอก เพื่อเปิดช่องให้หมอยื่นเครื่องมือขนาดใหญ่เข้าไปจับต้องหัวใจได้ถนัด ซึ่งพอแผลใหญ่แล้ว สิ่งที่จะตามมาคือ คนไข้จะเสียเลือดเยอะขึ้น ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดก็จะสูง การฟื้นตัวที่จะกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เต็มที่เหมือนเดิมก็ต้องใช้เวลานาน เพราะต้องรอให้กระดูกหน้าอกเชื่อมติดกันสมบูรณ์ ซึ่งอาจใช้เวลานานถึง 3 เดือน

“คนไข้หลายคนพอเห็นคนบอกต่อกันว่าการผ่าตัดหัวใจมันเจ็บเยอะ พักฟื้นนาน แผลใหญ่ เขาก็จะกลัวการผ่าตัด แล้วพอเขากลัวการผ่าตัด ก็จะกลายเป็นว่าเขาจะเข้าถึงการรักษาได้ช้าลง รอจนโรคเป็นเยอะมากแล้ว ไม่ไหวแล้วจริงๆ ถึงมาผ่า ซึ่งผลการรักษามันก็จะไม่ดีเท่ากับคนที่เพิ่งป่วย”

ด้วยความเข้าใจในความต้องการของคนไข้ในยุคนี้ คุณหมอจึงมองหาเทคนิคในการรักษาแบบใหม่ นั่นก็คือ “การผ่าตัดหัวใจแผลเล็ก” โดยได้ไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศหลายครั้ง และเก็บเทคนิคต่างๆ มาปรับใช้กับการรักษาที่รพ.รามาธิบดี

“ผ่าตัดหัวใจแผลเล็ก” กับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไข้

คุณหมอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การผ่าตัดหัวใจแผลเล็กนั้น สามารถลดขนาดของแผลจาก 20 เซนติเมตร ให้เหลือเพียง 4-5 เซนติเมตรได้ โดยที่แผลจะอยู่ใต้ราวนมด้านขวา ไม่ใช่ตรงกลางอกเหมือนวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิมแล้ว เพราะไม่ต้องผ่าตัดกระดูกอก แต่ก็ยังคงให้ผลลัพธ์ทางการรักษาที่ดีไม่ต่างกัน

“เทคโนโลยีสมัยนี้เอื้อให้เราสามารถผ่าตัดแผลเล็กได้ ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เช่น กล้องวีดีโอ และเครื่องมือผ่าตัดที่ออกแบบมาเพื่อผ่าตัดแผลเล็กโดยเฉพาะ มันเลยเป็นทางเลือกที่ผมเชื่อว่าจะทำให้คนไข้สามารถเข้าถึงการรักษาได้เร็วขึ้น ผลการรักษาโดยรวมก็จะดีขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

“ผมโชคดีตรงที่รามาธิบดีเป็นโรงเรียนแพทย์ที่เปิดกว้างด้านเทคโนโลยี มีความคล่องตัวด้านนี้สูง ทำให้ศัลยแพทย์ทุกคนสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการรักษาได้ ภายใต้เงื่อนไขด้านความปลอดภัยสูงสุดของคนไข้ สิ่งนี้เป็นโอกาสดีที่ทำให้ผมได้รู้จัก และเลือกเรียนรู้การผ่าตัดหัวใจแผลเล็ก เพราะมองว่าน่าจะเป็นเทรนด์ในอนาคตที่จะทำให้คนไข้เจ็บตัวน้อยลง ฟื้นตัวเร็วขึ้น ได้ประโยชน์มากขึ้น และประโยชน์แฝงที่ตามมาคือ เมื่อคนไข้ฟื้นตัวได้เร็ว ก็จะนอนโรงพยาบาลสั้นลง นั่นหมายความว่าเตียงของรพ.รามา ที่มีอยู่จำกัด ก็จะหมุนเตียงได้เร็วมากขึ้น เรียกว่าตอบโจทย์โดยรวมของทั้งประเทศ คนไข้ และสถาบันเราเอง”

ทั้งนี้คุณหมอได้อธิบายถึงการผ่าตัดหัวใจแผลเล็กว่า เป็นการผ่าตัดผ่านช่องซี่โครง และนำกล้องส่องเข้าไป เพื่อช่วยให้มองเห็นภายในได้ง่ายขึ้น โดยจะใช้อุปกรณ์เครื่องมือผ่าตัดที่ยาวมากขึ้น แม่นยำมากขึ้น มีความแข็งแรงสูง และถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อให้หมอสามารถทำการผ่าตัดหัวใจผ่านช่องเล็กๆ ได้ โดย GEISTER Medizintechnik GmbH จากประเทศเยอรมนี ซึ่งนำเข้าและจัดจำหน่ายโดยบริษัท ซัมมิท เฮลธ์แคร์ จํากัด นับเป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือที่คุณหมอและทีมแพทย์ในห้องผ่าตัดไว้วางใจเลือกนำมาใช้ผ่าตัดแผลเล็ก

โดยการผ่าตัดลักษณะนี้ จะทำให้คนไข้พักฟื้นในโรงพยาบาลน้อยลง คือ นอน ICU 2 คืน และพักผ่อนต่อในโรงพยาบาลเพียง 4-7 วัน แล้วกลับบ้านใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ยังต้องงดการยกของหนักอยู่ แต่ถ้าผ่านไปสัก 1 เดือนครึ่ง หรือ 6 อาทิตย์แล้ว กล้ามเนื้อเชื่อมติดกันแบบสมบูรณ์ คนไข้ก็สามารถออกกำลังกายได้แล้ว แต่ถ้าเป็นการผ่าตัดหัวใจด้วยวิธีการดั้งเดิม คนไข้อาจต้องพักฟื้นนานถึง 12 อาทิตย์ กว่าร่างกายจะเป็นปกติ

นอกจากนั้น คุณหมอได้ยกตัวอย่างเคสผ่าตัดคนไข้ที่ทำให้เห็นว่า การผ่าตัดหัวใจแผลเล็กช่วยให้คนไข้ฟื้นตัวไว และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

“ในคนไข้หนุ่มๆ เราจะมองไม่ค่อยเห็นความแตกต่างชัดเจนเท่าไหร่นัก เพราะเขาสามารถทนความเจ็บปวดได้ดี แต่จะไปเห็นผลชัดเจนกับกลุ่มคนไข้สูงอายุ 70-80 ปีขึ้นไป ผมเคยผ่าตัดหัวใจแผลเล็กให้กับคนไข้ที่อายุมากที่สุดคือ 89 ปี ปกติถ้าคนไข้อายุเท่านี้และมีโรคประจำตัวเยอะ แล้วต้องมาเจอการผ่าตัดแบบดั้งเดิม ก็น่าจะนอนโรงพยาบาล 2-3 อาทิตย์กว่าจะฟื้นตัว กลับไปช่วยเหลือตัวเองได้ จนบางคนอาจจะกลายเป็นติดเตียง กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีผลแทรกซ้อนอื่นตามมา แต่พอได้รับผ่าตัดแผลเล็ก กลายเป็นว่าเขาเจ็บตัวน้อย ลุกเดินได้ไว พักฟื้น 6 วันก็กลับบ้านได้แล้ว กล้ามเนื้อต่างๆ ไม่ลีบ ไม่ฝ่อ หลังผ่าตัดแค่ 1 อาทิตย์ คนไข้ก็ปีนขึ้นเตียงเอง ให้เราตรวจได้เลยโดยต้องโดยที่ไม่ต้องมีญาติคอยประคอง

หรืออย่างคนไข้อายุน้อย ประมาณ 18-19 ปี หลังผ่าตัด 5 วัน ก็กลับบ้านได้แล้ว และ 1 อาทิตย์กลับ มาตรวจติดตามอาการ เขาก็บอกว่าไปสอบมิดเทอมมาแล้ว เรียบร้อยดี ก็คือหลังผ่าตัดไม่ถึง 10 วันคนไข้สามารถฟื้นตัวกลับไปสอบได้ ถ้าเป็นแผลผ่าตัดแบบดั้งเดิม เขาอาจจะต้องดรอปไปเลย 1 เทอม”

แผลเล็กที่แลกมาด้วยความท้าทาย

แต่กว่าคนไข้จะมีแผลผ่าตัดที่ขนาดเล็กลง และกลับไปใช้ชีวิตได้ดั่งใจแบบนี้ ศัลยแพทย์ก็ต้องผ่านความท้าทายมากมาย ในการเรียนรู้และพัฒนาฝีมือ

“เทคนิคผ่าตัดแผลเล็กต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และฝึกฝนมากพอสมควร ช่วงที่เพิ่งเริ่มทำใหม่ๆ มันจะเสียเวลามากกว่าการผ่าตัดมาตรฐาน เพราะมันต้องใช้ทักษะในการมองจอไปด้วย มือทำไปด้วย เหมือนการเล่นเกมคอมพิวเตอร์เลย แต่ถ้าเราผ่านจุดนี้ไปได้ เราก็จะทำหัตถการใหม่ๆ และเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้มากขึ้น มันก็เหมือนกับรถน้ำมันกับรถไฟฟ้า ที่การเปลี่ยนแปลงมันมักจะมีข้อจำกัดในช่วงแรก แต่ในที่สุดแล้ว เทคโนโลยีก็จะพัฒนาให้การผ่าตัดแผลเล็กมันดีขึ้นเรื่อยๆ และคนไข้ก็จะได้รับประโยชน์มากขึ้น” คุณหมอกล่าว

ฟื้นตัวไว แต่อาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน

แม้ว่าการผ่าตัดหัวใจแผลเล็ก จะมีผลลัพธ์ดีๆ มากมาย แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเลือกเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้ได้ เพราะศัลยแพทย์เจ้าของไข้ ต้องดูปัจจัยมากมายประกอบการให้คำแนะนำ

“หมอจะดูที่โรคประจำตัวของคนไข้เป็นหลัก คือถ้าเป็นลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว 1-2 ลิ้น การผ่าตัดแผลเล็กก็จะมีโอกาสทำได้สูง แต่ถ้าคนที่มีโรคร่วมอื่นๆ เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ ลิ้นเสียหาย 3-4 ลิ้น หรือต้องมีการเปลี่ยนเส้นเลือดแดงใหญ่ ก็อาจจะทำแผลเล็กไม่ได้ เพราะฉะนั้นหมอจะมีการตรวจคนไข้อย่างละเอียด ทั้งเอ็กซเรย์ ทำเอคโค่ สวนหัวใจ และฉีดสีดูเส้นเลือดหัวใจ เพื่อประเมินว่าคนไข้คนนั้นๆ เหมาะที่จะทำการผ่าตัดแผลเล็กไหม ถ้าเหมาะเราก็ทำ แต่ถ้าไม่เหมาะ เราก็จะบอกคนไข้ไปตามตรง และแนะนำให้ผ่าตัดด้วยวิธีดั้งเดิมแทน”

ทั้งนี้ ในแต่ละปีมีเคสผ่าตัดหัวใจแผลเล็ก จำนวนไม่เกิน 300 ราย/ปี หรือประมาณ 5% จากการผ่าตัดหัวใจทั้งหมด โดยรพ.รามาธิบดีเป็นสถาบันการแพทย์ที่ทำการผ่าตัดหัวใจแผลเล็กมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย

จำเป็นหรือไม่ที่คนไข้โรคหัวใจต้องผ่าตัด

อย่างไรก็ตาม คุณหมอยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ไม่ใช่คนไข้โรคหัวใจทุกเคสที่จะต้องผ่าตัด

“เวลาเราพูดถึงโรคหัวใจ ในภาษาชาวบ้านเขาก็จะนึกถึงหัวใจวายเฉียบพลัน เจ็บแน่นหน้าอก หัวใจวาย แล้วก็เสียชีวิตไปเลย แต่จริงๆ แล้วโรคหัวใจมีหลายอย่างมากๆ ซึ่งการผ่าตัดหัวใจแผลเล็กนี้ เรากำลังพูดถึงโรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว ส่วนใหญ่จะเกิดในกลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไป เพราะหัวใจทำงานหนักมานาน และมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ความดันสูง ไขมันในหลอดเลือด เป็นต้น”

จึงพูดได้ว่าไม่ใช่ทุกเคสที่พอป่วยเป็นโรคหัวใจแล้วจะต้องผ่าตัดเสมอไป บางคนถ้ารู้ตัวเร็ว มาพบหมอได้เร็ว ก็อาจแค่กินยา และปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็เพียงพอแล้ว ดังนั้นถ้าพบว่าตัวเองเหนื่อยง่ายขึ้น ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หน้ามืด เป็นลม หรือนอนราบไม่ได้ จนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ก็ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้ตรวจสุขภาพอย่างละเอียด รักษาได้ทันท่วงที และลดความรุนแรงของโรคไม่ให้ไปถึงการผ่าตัด

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวอันน่าสนใจของการผ่าตัดหัวใจแผลเล็ก ผ่านมุมมอง และประสบการณ์ของ ผศ.นพ.สยาม ค้าเจริญ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก รพ.รามาธิบดี หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดหัวใจแผลเล็กของไทย

สำนักข่าว TODAY หวังว่า การพูดคุยในครั้งนี้ จะทำให้ใครหลายคนกลัวการผ่าตัดหัวใจน้อยลง และกล้าที่จะเข้ารับการรักษา หรือพาคนในครอบครัวไปรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที เพราะการปล่อยอาการป่วยไว้นานเกินไป จะทำให้ความเสี่ยงในการผ่าตัดเพิ่มสูงขึ้น

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า