Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ท่ามกลางปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าในภาวะโควิด-19 อีกปัญหาหนึ่งที่ไม่เคยจากไปไหนคือ “ปัญหายาเสพติด” ที่เติบโตสวนทางอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของโลก

พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำของประเทศไทยเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ถือเป็นแหล่งการค้ายาเสพติดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสหประชาชาติ และ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ร่วมกันลงพื้นที่สำรวจปัญหาและสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โอกาสนี้ workpointTODAY ขอนำเสนอบทความจาก ‘กีต้า ซับบระวาล’ ผู้ประสานงาน UN ประจำประเทศไทย ร่วมกับ ‘เจเรมี ดักลาส’ ซึ่งเป็นผู้แทนสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก


ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้สร้างความคืบหน้าอย่างมากในการต่อสู้กับการค้าฝิ่นในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศไทย เมียนมาและลาว โดยมีหน่วยลาดตระเวนร่วมจากฐานทัพบนดอยช้างมูบซึ่งสามารถมองเห็นไปถึงประเทศเมียนมาออกปฏิบัติการเป็นประจำเพื่อต่อต้านการค้ายาเสพติด

การลาดตระเวนลำน้ำโขงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำระหว่างกองทัพเรือไทยและสปป.ลาว

ความคืบหน้านี้ถือเป็นผลสะท้อนของแนวปฏิบัติที่ดีในระดับโลกเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม กลับมีการค้ายาเสพติดสังเคราะห์ข้ามพรมแดนแทนการค้าฝิ่นและเติบโตขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะเมทแอมเฟตามีน

เมื่อเดือนที่แล้ว สหประชาชาติเยือนเชียงรายโดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)  และได้เข้าพบบุคลากรจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม ตลอดจนภาควิชาการ เพื่อทำความเข้าใจถึงความท้าทายที่จังหวัดเชียงรายกำลังเผชิญอยู่และโอกาสในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

เราได้รับทราบความพยายามในระดับท้องถิ่นที่มีต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างการประชุมซึ่งน่าประทับใจเป็นอย่างยิ่งและสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ตั้งไว้

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทำให้เราตระหนักว่า หากจะต่อกรกับการค้ายาเสพติดและรับมือจากผลกระทบของการใช้ยาเสพติดและอาชญากรรมที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตของปัจเจกบุคคลและชุมชนได้นั้น จำเป็นต้องเชื่อมโยงไปถึงการพัฒนาและการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างแยกไม่ออก  ถึงกระนั้นความสามารถในการฟื้นตัวของชุมชน และความมุ่งมั่นที่จะยกระดับสวัสดิภาพให้แก่สมาชิกทุกคนก็ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเรา แม้ในขณะนี้ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้น

นายเจเรมี ดักลาส เป็นผู้แทนสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ขณะลงพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำร่วมกับตำรวจเมียนมา

ยาเสพติดราคาถูกขึ้น-อุปทานพุ่งสูง : ความท้าทายของปัญหายาเสพติดในไทย

การผลิต การค้า และการใช้ยาเสพติด โดยเฉพาะยาเสพติดสังเคราะห์ ในพื้นที่ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านริมฝั่งแม่น้ำโขงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลากว่าครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อปีที่แล้วมีการยึดเมทแอมเฟตามีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ถึง 140 ตัน โดยส่วนใหญ่ผลิตในรัฐฉานของประเทศเมียนมาซึ่งเป็นเขตติดต่อกับพรมแดนประเทศไทย และจากการที่ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้พื้นที่พรมแดนไทยลาวกลายเป็นเขตการค้ายาเสพติดที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ประมาณการณ์ว่าการผลิตและการค้ายาเสพติดในภูมิภาคนี้ได้สร้างผลกำไรอย่างน้อย 71,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.2 ล้านล้านบาท) ในปีที่ผ่านมา เฉพาะเมทแอเฟตามีนคิดเป็นมูลค่า 61,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.9 ล้านล้านบาท) ถือเป็น 4 เท่าของเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ขณะนี้ถือได้ว่าการผลิตและการค้าเมทแอมเฟตามีนคือกระดูกสันหลังทางการเงินของหุ้นส่วนสำคัญอย่างองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ ซึ่งเป็นกลุ่มอิทธิพลที่ควบคุมเขตปกครองตนเองในเมียนมา นำไปสู่การเพิ่มเชื้อไฟให้กับความขัดแย้งและความไม่มั่นคงในประเทศ พื้นที่ตะเข็บชายแดน รวมถึงประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้ เราจะเห็นได้ว่าแม้จะมีการยึดเมทแอเฟตามีนได้จำนวนมากเป็นประวัติการณ์ แต่อุปทานกลับยังพุ่งสูงขึ้น ขณะที่ราคาก็ลดลงสู่จุดต่ำสุดในรอบทศวรรษ ในปัจจุบัน ราคาของเมทแอมเฟตามีน หรือที่เรียกกันว่า ‘ยาบ้า’ ที่ค้าขายในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย มีราคาเพียงเม็ดละ 50 บาท ทำให้ผู้ใช้ยาหรือกลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะใช้ยาสามารถเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น

เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยได้เห็นระดับการใช้ยาเสพติดที่สูงขึ้นอย่างมากเป็นเพราะราคาขายตามท้องตลาดนั้นต่ำลงและความสามารถในการซื้อของกลุ่มเป้าหมายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน นอกจากนี้การที่จำนวนของนักโทษในเรือนจำของไทยที่ถูกคุมขังเนื่องจากคดีที่เกี่ยวข้องกับยาบ้ามีมากถึงร้อยละ 80 ก็เป็นข้อพิสูจน์ชัดว่าการค้ายาที่เพิ่มขึ้นและราคาของยาเสพติดที่ลดลงนั้น ทำให้ความท้าทายด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องในประเทศยิ่งทวีคูณและรุนแรงขึ้น

รัฐบาลได้ใช้ยุทธศาสตร์แบบหลากหลายแนวทาง (Multi-pronged approach) เพื่อจัดการกับการค้ายาเสพติด โดยมีหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายหลายแห่งเข้าร่วมในกลยุทธ์ต่อต้านการค้ายาเสพติด ประกอบกับใช้แนวทางคู่ขนานซึ่งเป็นการให้การศึกษาและการสร้างความตระหนักในการป้องกัน ตลอดจนการบำบัดและการให้บริการด้านสุขภาพ องค์กรพัฒนาเอกชนก็เป็นพันธมิตรหลักในการส่งเสริมการสร้างวิถีชีวิตทางเลือกให้กับชุมชนซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำนักงานประสานงานด่านพรมแดนที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการจัดการและควบคุมชายแดนในภูมิภาคเสมอมา ตลอดจนเป็นกลไกที่จำเป็นในการเสริมสร้างความร่วมมือข้ามพรมแดนระหว่างหน่วยงานต่างๆ ความพยายามในการประสานงานระหว่างตำรวจ ศุลกากร กองทัพ ทัพเรือ และเจ้าหน้าที่ตระเวนชายแดนในภูมิภาค นำไปสู่การรวบรวมและแลกเปลี่ยนข่าวกรองเพื่อจัดการกลุ่มองค์กรอาชญากรรม

การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เครื่องเอ็กซ์เรย์ ตั้งแต่แบบพกพาไปจนถึงขนาดเท่ารถบรรทุก คือเครื่องมือทันสมัยที่ทางการไทยใช้ในการต่อต้านการค้ายาเสพติดที่ผิดกฎหมาย ซึ่งรวมถึงตัวผลิตภัณฑ์และสารเคมีตั้งต้น ซึ่งเป็นหัวใจในการทลายเครือข่ายการค้าสารอันตรายนี้

ตำรวจเมียนมากำลังเผายาเสพติดของกลางที่ยึดได้

การสนับสนุนเชิงนวัตกรรม : ทางออกการแก้ปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน

วิกฤตโควิด-19 ทำให้ความท้าทายด้านการพัฒนาที่มีมากอยู่แล้วในจังหวัดเชียงราย ภาคเหนือของประเทศไทยโดยรวม และสามเหลี่ยมทองคำหนักหนาขึ้นไปอีก การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากข้อจำกัดด้านการเดินทางและการขาดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาจุนเจือเศรษฐกิจในท้องถิ่น แม้ว่าแรงงานบางส่วนในภาคการท่องเที่ยวจะสามารถหางานชั่วคราวในภาคการเกษตรซึ่งคิดเป็นร้อยละ 80 ของการจ้างงานในจังหวัดเชียงรายก็ตาม

มีการเพิ่มจำนวนด่านชายแดนเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด 19 และเพื่อลดการขนส่งยาเสพติดผ่านจังหวัด อย่างไรก็ตามเครือข่ายของอาชญากรปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ผู้ค้ายาได้เปลี่ยนเส้นทางเพื่อเลี่ยงจังหวัดเชียงราย โดยเลือกที่จะเดินทางผ่านจังหวัดอื่นๆ หรือเข้าประเทศลาวก่อนที่จะวกกลับมายังประเทศไทย แลกกับค่าใช้จ่ายและความไม่สะดวกสบายทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

เพื่อที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน และช่วยให้ชุมชนเลิกพึ่งพาการผลิตยาเสพติดและหลุดพ้นจากผลกระทบที่สร้างความเสียหายของการค้าสิ่งผิดกฎหมาย เราต้องมองให้ไกลกว่าแค่การบังคับใช้กฎหมาย และต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านพลวัตทางสังคมและเศรษฐกิจ ภาคประชาสังคมและผู้ประกอบการเพื่อสังคม เช่น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้ช่วยให้หมู่บ้านชาวเขาเปลี่ยนผ่านจากการผลิตฝิ่นไปสู่การปลูกพืชเศรษฐกิจทางเลือกอื่นๆ แทน

การสนับสนุนเชิงนวัตกรรมที่เพิ่มขึ้นในลักษณะนี้จะช่วยให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบในประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศอื่นๆ สามารถก้าวออกจากห่วงโซ่เศรษฐกิจของยาเสพติดไปสู่การมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน การสร้างวิถีชีวิตแบบใหม่และปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ คือสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อชุมชนที่พึ่งพาเกษตรกรรม หากพวกเขาประสงค์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน

เมื่อปัญหายาเสพติดถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตโควิด-19 เกิดเป็นความท้าทายแก่องค์กรที่ร่วมกันแก้ปัญหาทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสอันดีในการกลับมาทบทวนการแก้ปัญหาด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ไม่ใช่แค่แก้ปัญหายาเสพติดหรือโรคระบาด แต่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาวให้แก่ชุมชนและสังคมในวงกว้างด้วย

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า