Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ตอนนี้คนทั่วโลกเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติกันแล้ว เรียกว่ากำลังเข้าสู่ยุคอวสานโควิด-19 กลับเข้าสู่ชีวิตปกติ แต่นอกจากโควิดแล้ว การทำงานในออฟฟิศ 5 วันก็เหมือนจะอวสานตามไปด้วย เพราะหลายผลการศึกษาบอกตรงกันว่า ไม่มีใครอยากเข้าออฟฟิศ 5 วันเต็มอีกต่อไป

แต่สรุปแล้วจริงๆ ควรเข้าออฟฟิศกี่วัน ทุกคนถึงจะทำงานได้ดีที่สุด? นี่คือบทสรุปจาก TODAY Bizview ในยุคหลังโควิด-19 

[ เข้าออฟฟิศบ้าง แต่ไม่ใช่ทุกวัน ]

ผลการศึกษาจาก Harvard Business School หลังจากสำรวจพนักงาน 130 คนในปี 2020 โดยแบ่งพนักงาน 130 คนออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อทำการทดลองตลอด 9 สัปดาห์ 

– กลุ่มแรก ใช้เวลาน้อยกว่า 25% ของเวลาทำงานในออฟฟิศ

– กลุ่มสอง ใช้เวลามากกว่า 40% ของเวลาทำงานในออฟฟิศ

– กลุ่มสาม ใช้เวลาตรงกลางระหว่างสองกลุ่มแรก หรือประมาณ 1-2 วันต่อสัปดาห์ในออฟฟิศ

ผลลัพธ์ คือ กลุ่มสามสามารถผลิตงานได้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ และเป็นความแตกต่างที่มี ‘นัยสำคัญ’ 

เพราะการทำงานแบบไฮบริดระดับกลางนั้นทำให้พนักงานเอนจอยกับความยืดหยุ่น แต่ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเกินไปเหมือนทำงานจากบ้าน 

ทำให้ตัวเลือกการทำงานแบบไฮบริดระดับกลางๆ เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดระหว่างการเข้าออฟฟิศไปเลยหรือทำงานจากบ้านไปเลย

นอกจากผลจากศึกษาจาก Harvard Business School ก่อนหน้านี้ก็เคยมีงานศึกษาที่บอกว่า การทำงานจากบ้านหรือทำงานแบบไฮบริดให้ผลดีกว่าการทำงานจากออฟฟิศ 

อย่างผลการศึกษาจาก Ergotron บริษัทผู้พัฒนาสินค้าสรีรศาสตร์เพื่อการทำงานก็บอกว่า หลังจากสุ่มทดลองกับพนักงาน 1,000 คน หลังคุ้นเคยกับการทำงานแบบไฮบริดในช่วงโควิด-19 พนักงานกว่า 56% สุขภาพจิต สุขภาพกาย สมดุลชีวิต และการทำงานดีขึ้นจริง 

ตรงกันกับผลการวิจัยจาก Owl Labs ที่บอกว่า พนักงานที่ไม่ได้เข้าออฟฟิศหรือเข้าบ้างแต่ไม่ตลอด มีความสุขมากกว่าพนักงานที่เข้าออฟฟิศตลอดถึง 22% เพราะมีความเครียดน้อยลง มีสมาธิมากขึ้น มีสมดุลในการทำงานและชีวิต  ทำให้สามารถสร้างประสิทธิผลได้มากกว่า

แล้วการทำงานที่บ้านก็ไม่ได้ทำให้พนักงานขี้เกียจขึ้นเลย เพราะข้อมูลจาก Prodoscore บริษัทผู้ผลิตซอฟแวร์ติดตามพนักงานยังบอกว่า ข้อมูลจากผู้ใช้ 30,000 รายแสดงให้เห็นว่า พนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น 5% ในช่วงที่ทำงานจากบ้าน 

ถ้าพนักงานคนไหนขยันทำงานในออฟฟิศก็จะทำงานที่บ้านได้แบบเดียวกัน 

แต่ถ้าคนไหนไม่ขยันตั้งแต่ที่ออฟฟิศที่บ้านก็จะเหมือนกัน

[ ถ้าบังคับเข้า 5 วัน หลายคนยอมลาออก ]

ฟากคนทำงานเองจากผลสำรวจพนักงานกว่า 1,000 คนในสหรัฐอเมริกาของ Envoy ผู้ผลิตซอฟแวร์สำหรับการทำงานก็บอกว่า 

หากบริษัทบังคับให้กลับเข้าออฟฟิศเต็ม 100% อีกครั้ง พนักงานเกินกว่าครึ่งอาจยอมลาออกไปหางานใหม่ โดยพนักงานกว่า 66% บอกว่ากังวลที่จะต้องกลับเข้าไปทำงานในออฟฟิศ

ความแตกต่างระหว่างเจนเนเรชันมีผลต่อทัศนคติในการกลับเข้าออฟฟิศไปทำงานด้วย เพราะจากผลการสำรวจของ Bloomberg News บอกว่า 

ผู้ใหญ่ 39% จะพิจารณาลาออกหากบริษัทไม่ยืดหยุ่นเรื่องทำงานแบบไฮบริด แต่เจน Y และเจน Z ตัวเลขขยับขึ้นเป็น 49% ที่จะพิจารณาลาออกหากต้องกลับเข้าออฟฟิศ 100%

[ ต้นทุนชีวิตพุ่ง ค่าเดินทาง-ค่ากินเพิ่ม ]

นอกจากเรื่องสุขภาพกายหรือสุขภาพจิตแล้ว ความกังวลเกี่ยวกับ ‘ต้นทุน’ ในการเข้าออฟฟิศก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย 

รายงานเรื่อง The sky-high cost of returning to the office จากสำนักข่าว BBC พูดถึงความช็อกของคนทำงานในอังกฤษและอเมริกาที่ต้องเสียรายได้ 1 ใน 4 ของแต่ละวันมาเป็น ‘ต้นทุนการเข้าออฟฟิศ’ ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าอาหารกลางวัน ค่าเสื้อผ้าสำหรับทำงาน และอื่นๆ

โดยเฉพาะยิ่งกับยุคหลังโควิด-19 ที่กินเวลาไปกว่า 2 ปี ทำให้เงินเฟ้อขึ้นกว่าเดิมหลายเปอร์เซ็นต์ ส่งผลกับต้นทุนค่ารถโดยสาร ค่าน้ำมัน รวมถึงค่าอาหารเพิ่มขึ้น ในขณะที่ค่าจ้างไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเท่าหรือในบางพื้นที่ก็ลดลง 

จนทำให้หลายคนรู้สึกว่า “ถ้าถูกบังคับให้เข้าออฟฟิศอีกครั้ง คือ จ่ายไม่ไหวแล้ว” 

[ อีกฝั่งบอก ‘ความเป็นมืออาชีพ’ ต้องฝึกในออฟฟิศ ]

ขณะที่ฝั่งนายจ้างและผู้บริหารอาจจะเห็นต่าง เพราะ ‘อิริค ชมิดท์’ อดีตซีอีโอของ Google ออกมาแสดงความเห็นว่า การเข้าออฟฟิศมีความจำเป็นต่อการทำงาน หลังได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพมาแล้วหลายทศวรรษ 

เขาอธิบายว่า การทำงานในออฟฟิศจะช่วยฝึก ‘ความเป็นมืออาชีพ’ ให้กับคนรุ่นใหม่ แบบที่การทำงานทางไกลทำไม่ได้ 

อย่างเช่นพัฒนาระบบการจัดการตัวเองให้มีประสิทธิภาพ มารยาทการประชุม ทักษะการนำเสนองาน ความเข้าใจการเมืองในออฟฟิศ และการรับมือกับคู่แข่งในและนอกบริษัท

ขณะที่การศึกษาของ AT&T บริษัทข้ามชาติด้านโทรคมนาคม พบว่า 86% ของพนักงานชอบการทำงานแบบไฮบริด แต่ 64% ก็เชื่อว่าบริษัทชอบให้เข้าออฟฟิศ

แถมรายงานยังบอกว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ไม่มีกลยุทธ์รองรับการทำงานแบบไฮบริดอย่างชัดเจน

[ เทรนด์โลกไม่ใช่แค่ลดเข้าออฟฟิศ แต่ลดวันทำงานไปเลย ]

ไม่ใช่แค่ทำงานบ้านบ้าง ออฟฟิศบ้างเท่านั้น แต่การลดจำนวนชั่วโมงการทำงานจาก 5 วันเป็น 4 วันต่อสัปดาห์ก็เริ่มเป็นเทรนด์ใหม่ที่ได้รับความสนใจจากหลายประเทศทั่วโลก 

ผลการทดลองกับประชาชนราว 2,500 คนหรือประมาณ 1% ของประชากรวัยทำงานในประเทศไอซ์แลนด์ในปี 2021 

โดย ‘รัฐบาลไอซ์แลนด์’ พบว่า การลดชั่วโมงการทำงานจาก 5 เป็น 4 วัน (40 เป็น 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ไม่ได้ทำให้ประสิทธิผลในการทำงานลดลง 

หลายครั้งทำให้ได้งานมากขึ้น โดยคนทำงานมีความเครียดและอัตราการหมดไฟลดน้อยลง มีความสมดุลระหว่างการทำงานกับส่วนตัวดีขึ้น 

จนถือได้ว่าเป็นการทดลองที่สะท้อนความสำเร็จอย่างล้นหลามของการทำงาน 4 วัน

นอกจากไอซ์แลนด์แล้วก็ยังมีหลายประเทศที่อยู่ระหว่างโครงการทดลองลดวันทำงานอย่างสหราชอาณาจักรหรือว่าสเปน และก็มีประเทศที่เดินหน้าลดวันทำงานจริงแล้ว 

อย่าง ‘สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์’ ที่ประกาศลดวันทำงานหน่วยงานของรัฐลงเหลือเพียง 4 วันครึ่ง โดยให้ทำงานเพียงครึ่งวันในวันศุกร์ที่มีกิจกรรมทางศาสนาอิสลาม

ล่าสุดอย่างรัฐ ‘แคลิฟอร์เนีย’ ประเทศสหรัฐอเมริกาก็อยู่ระหว่างพิจารณาผ่านร่างกฎหมายลดชั่วโมงการทำงานจาก 40 ชั่วโมง เป็น 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือลดวันทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ โดยบังคับใช้กับบริษัทที่มีพนักงานตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป

การลดวันทำงานจาก 5 เป็น 4 ในรัฐแคลิฟอเนียร์ มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ฝั่งที่เห็นด้วยนั้น มีผลการศึกษาและผลการวิจัยจำนวนมากที่บอกว่า การทำงาน 4 วันดีอย่างไรโดยเฉพาะในประเด็นการดูแลสุขภาพและดูแลลูกมาสนับสนุน

รวมถึงยืนยันว่า การลดวันทำงานจะทำให้บริษัทเอกชนสามารถซื้อใจพนักงานให้อยู่ต่อได้ในวิกฤตการจ้างงานที่สหรัฐฯ เจออยู่ตอนนี้

ส่วนฝั่งที่ไม่เห็นด้วยบอกว่า อาจทำให้ต้นทุนการจ้างงานสูงขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงจะเกิดการเลิกจ้างและการย้ายออกจากรัฐของบริษัทเอกชนที่มีสิทธิถูกบังคับใช้ร่างกฎหมาย

[ สรุป ]

สรุป คือ แน่นอนแล้วว่าการทำงานแบบไฮบริดหรือเข้าออฟฟิศบ้างราว 1-2 วันเป็นผลดีต่อทั้งคนทำงานและบริษัทมากกว่าการบังคับให้เข้าออฟฟิศทุกวัน

ส่วนจะถึงกับสามารถลดวันทำงานจาก 5 ให้เหลือ 4 วันต่อสัปดาห์หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของบริษัทที่มีต่อชั่วโมงการทำงาน

ย้อนกลับมาที่ ‘ประเทศไทย’ ตอนนี้อาจจะยังไม่ต้องพูดถึงการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เพราะคนไทยบางคนตอนนี้ยังคงทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ หรือเป็น 5 วันเต็มที่เข้าออฟฟิศทุกวัน 

อาจได้เวลาแล้วรึเปล่าที่นายจ้างจะลองมองถึงความเป็นไปได้ของการยกระดับชีวิตคนทำงานอย่างเราๆ เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย ดีกว่าติดอยู่กับกับดักการเข้าออฟฟิศแบบเดิมๆ ที่ทำให้นายจ้าง-ลูกจ้างต้องแบกต้นทุนเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น…

ที่มา

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า