SHARE

คัดลอกแล้ว

Explainer วัฒนธรรมจับแขวนในอินเตอร์เนตให้คนมารุมด่ากำลังแพร่ระบาดอย่างหนักที่เมืองไทย ล่าสุดกับประเด็น นักวาดภาพคนดัง “มัทรี” ที่โชคร้ายโดนจับแขวน จนตัวเองต้องปิดเฟซบุ๊กไปเรียบร้อยแล้ว

เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นได้อย่างไร นี่คือตัวอย่างการ Cyberbully ที่ยังเกิดขึ้นจริงในสังคมไทยยุคปัจจุบัน workpointTODAY จะสรุปเรื่องทั้งหมดให้เข้าใจใน 19 ข้อ

1) ในยุคปัจจุบันการกลั่นแกล้ง (Bully) ไม่ได้เกิดขึ้นแบบรุมใช้กำลังเหมือนสมัยก่อนอีกแล้ว แต่คนที่ชอบกลั่นแกล้งจะใช้วิธีกลั่นแกล้งออนไลน์ (Cyberbully) ด้วยการทำให้อีกฝ่ายกลายเป็นตัวโจ๊ก สร้างความอับอายให้อีกฝ่ายจนถูกหัวเราะขบขัน

ถ้ากลั่นแกล้งแบบเห็นหน้าเห็นตา อย่างน้อยพอคนถูกแกล้งเอาตัวออกมาจากจุดนั้นก็จบ แต่ Cyberbully คนถูกแกล้ง จะรู้สึกเหมือนตัวเองโดนโจมตีตลอดเวลา แม้กระทั่งในบ้านของตัวเองก็ยังรู้สึกไม่ปลอดภัย คนทำอาจจะสนุกไม่คิดอะไร แต่คนโดนแกล้งจะได้รับความบอบช้ำทางจิตใจและอารมณ์เป็นอย่างมาก

2) ณ ปัจจุบัน Cyberbully มีวิวัฒนาการใหม่ คือการ “ลากไปแขวน” โดยเพจดังๆที่มีชื่อเสียง มีคนติดตามเยอะๆ จะเอาใครสักคนที่ตัวเองคิดว่าตลก เอาไปแขวนไว้หน้าเพจตัวเอง เพื่อให้แฟนคลับ รุมด่าคนคนนั้น

3) ด้วยความที่ Cyberbully ที่ไทยเพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลาย จึงมีการจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2559 จุดประสงค์คือแจกเงินทุนให้ประชาชนคนไหนก็ได้ ที่สนใจอยากจะสร้างคอนเทนต์ ในคอนเซ็ปต์คือพัฒนาสื่อ เพื่อส่งเสริมสังคมออนไลน์ให้ดีขึ้น และประเด็น Cyberbully ก็เป็นหัวข้อสำคัญ ที่กองทุนพัฒนาสื่อฯ อยากจะช่วยแก้ไขให้ดีขึ้น โดยกองทุนสื่อฯ ได้รับงบประมาณในแต่ละปีจากกสทช. โดยในปีล่าสุดได้รับเงินทั้งสิ้น 670 ล้านบาท ซึ่งกองทุนสื่อฯ ก็จะเอาเงินก้อนนั้น มาจัดสรรแบ่งให้ผู้ขอทุนแต่ละคน

4) ในปี 2562 มีผู้เสนอโครงการให้กองทุนพัฒนาสื่อฯ ในชื่อ “แกะดำในฝูงหมาป่าสีขาว” เป็นการทำเพจเพื่อวาดการ์ตูนต่อต้านการ Cyberbully และได้รับทุนเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 340,000 บาท โดยหนึ่งในทีมงานผู้เสนอโครงการ คือมัทรี ฉัตรแก้ววรวงศ์ โดยหน้าที่ของมัทรีคือ นำบทที่เพื่อนคิด เอามาวาดเป็น สตอรี่บอร์ด ก่อนวาดภาพจริง เพื่อนำไปเผยแพร่ต่อไป

5) มัทรี เรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ ที่พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เธอทำงานเป็นนักวาดสตอรี่บอร์ดให้ภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น น้องพี่ที่รัก, Friend Zone ระวังสิ้นสุดทางเพื่อน และ นาคี 2 เป็นต้น (สตอรี่บอร์ดคือ การเขียนการ์ตูนโครงเรื่อง ก่อนนำไปถ่ายทำจริง)

6) ด้วยความที่เธอเป็นคนรุ่นใหม่ และมีทักษะในการวาดรูปที่สวยงาม จึงสร้างฐานแฟนคลับกลุ่มเล็กๆขึ้นมา โดยผลงานของเธอนับว่าเป็นที่ยอมรับ และมีคนงานจ้างอยู่เรื่อยๆ โดยโปรเจ็กต์ “แกะดำในฝูงหมาป่าสีขาว” ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่เธอสร้างสรรค์ขึ้นมา

เมื่อได้ทุนมาก็เริ่มมีการสร้างเพจชื่อ “แกะดำในฝูงหมาป่าสีขาว” ขึ้นในวันที่ 2 ธันวาคม 2562 และมีการสร้างคอนเทนต์วาดรูปการ์ตูนต่อต้าน Cyberbully ลงเพจเรื่อยๆ โดยผลงานที่เป็นไฮไลท์ของเพจนี้คือการ์ตูนเรื่อง “Find the wolf ใครคือหมาป่าในห้อง?” ที่มัทรีเป็นคนวาด โดยถูกโพสต์ในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งผลงานชิ้นนี้ ได้รับการตอบรับที่ดี มีคนไลค์คนแชร์ประมาณหนึ่ง

7) เหตุการณ์ก็ผ่านไป เหมือนจะไม่มีอะไร แต่ในวันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม 2564 กองทุนพัฒนาสื่อฯ ได้เชิญมัทรี ไปออกรายการชื่อ “เล่าสื่อกันฟัง” ทางช่อง PSI สาระดี 99 ในฐานะศิลปินที่เคยได้รับเงินจากกองทุนมาแล้ว โดยในรายการก็พูดคุยกันหลายๆประเด็น หนึ่งในนั้นคือให้เธออธิบายว่าทำไมใช้ชื่อ แกะดำในฝูงหมาป่าสีขาว

8 ) พอถ่ายทำเสร็จ ทางรายการได้ถ่ายรูปนิ่งของมัทรีเก็บไว้ จากนั้นไม่กี่ชั่วโมง ก็หยิบเอา Quote คำพูดที่เธอพูดในรายการว่า “ปัจจุบันการ Cyberbullying มีมากขึ้น พยายามใส่ความคนอื่น เพื่อให้ตัวเองดูดี เหมือนหมาป่าที่คอยรุมแกะสีดำ แต่สุดท้ายตัวเองก็ไม่ใช่แกะ เป็นเพียงแค่หมาป่าสีขาวเท่านั้น” เอาไปแปะกับหน้าของมัทรี แล้วโพสต์ขึ้นเฟซบุ๊กของกองทุนพัฒนาสื่อฯ

9) ความจริงแล้ว สิ่งที่มัทรีพยายามจะบอกในรายการก็คือ บางคนคิดว่า ตัวเองเป็นลูกแกะสีขาว พอเห็นลูกแกะสีดำ ที่มีความแตกต่างจากพวก ก็พยายามไปล้อเลียน ไปทำตลกขบขันใส่แกะดำ หารู้ไม่ว่าตัวเอง แม้จะมีสีขาว แต่จริงๆไม่ใช่แกะหรอก แต่เป็นหมาป่าต่างหาก

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ไม่ใช่นักพูด และเรียบเรียงคำได้ไม่ชัดเจนพอ มัทรีจึงพูดออกมาด้วยถ้อยคำที่สับสนแบบนั้น ทีนี้เมื่อกองทุนพัฒนาสื่อฯ เอามาโพสต์ในเฟซบุ๊กปั๊บ คนอ่านก็งง ว่าเธอตั้งใจจะสื่ออะไร ยิ่งบวกกับท่าทางยืนกอดอก ในรูปที่กองทุนพัฒนาสื่อฯ เลยมา มันให้ความรู้สึกเหมือน คนที่ตั้งใจจะคิดคำคมในลักษณะของไลฟ์โค้ช

10) เมื่อความขบขันเกิดขึ้น เธอจึงถูกโลกออนไลน์หลายๆเพจ “จับเอารูปไปแขวน” ให้คนมาล้อ โดยหนึ่งในนั้นคือเพจคาราโอเกะชั้นใต้ดินที่มีผู้ติดตาม 2.3 ล้านคน ซึ่งเมื่อโพสต์ลงไปปั๊บ มัทรีโดนรุม Bully อย่างหนักหน่วง โดนด่าหาว่าพูดไม่รู้เรื่องดันอยากจะเป็นไลฟ์โค้ชบ้าง บางคนด่ารูปร่างหน้าตาของเธอ ด่าว่าเธอทำไมไม่ย้อมสีผมที่โคน บางคนด่าเธอเป็นสลิ่มเป็นคนของรัฐบาล เป็นต้น

11) ในเรื่องนี้ ฝั่งที่สนับสนุนเพจคาราโอเกะชั้นใต้ดินก็มี โดยมีทวีตหนึ่งกล่าวว่า “โพสต์มันก็เป็นการแซะนิดๆ แบบที่เพจนี้ชอบทำมาตลอด ถึงจะเป็นการเอาคำพูดมาส่วนเดียวก็เถอะ มันก็อ่านไม่เข้าใจจริงๆอะ ขนาดเจ้าตัวคนพูดยังต้องออกมาขยายความเองเลย” ความหมายของทวีตนี้คือ เมื่อมัทรีพูดเองไม่เข้าใจเอง แล้วจะโทษใครได้

12) แต่ฝั่งที่ออกมาปกป้องมัทรีมีมากกว่า โดยกล่าวว่าต่อให้เขาพูดไม่เข้าใจอย่างไร ก็ไม่สมควรที่จะโดนจับเอาไปแขวนเพื่อให้คนมารุมล้อกันแบบนี้ หลายๆคน รุมด่าเธออย่างไม่มีเหตุผล ทั้งๆที่เธอเองก็แค่ไปออกรายการเฉยๆ เป็นทางรายการที่ถ่ายรูปและเลือก Quote มาแปะบนเฟซบุ๊กเอง เธอไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วยเลย ว่ารายการจะทำแบบนี้

13) เมื่อได้รับฟีดแบ็กในเชิงขบขันทำให้เฟซบุ๊กของกองทุนพัฒนาสื่อฯ รีบลบรูป Quote ที่มีดราม่าออกจากเพจ แต่ก็สายเกินไปแล้ว เพราะคนแคปเอาไปล้อเลียนกันมากมาย มีการทำ Meme เอามาแซว กลายเป็นเรื่องตลกโปกฮาประจำวัน

รวมคำที่มัทรีโดนล้อเลียนในโลกออนไลน์ ส่วนหนึ่งมีดังนี้
– แค่ใส่ลูกน้ำแล้วพูดเหี้ยอะไรก็ได้ และมายืนหล่อเท่ก็เป็นไลฟ์โค้ชได้
– เป็นเด็กเส้น ลูกหลานคนมีอำนาจ คุณภาพงานเลยลดลง ทำให้ประเทศถดถอย
– ทำไมมัทรีหน้าตาโคตรไม่น่าเชื่อถือ
– มัทรีทำคอนเทนต์ล่อเป้าให้คนมาบุลลี่เพื่อกะดังใช่ไหม
– ทำไมสีผมไม่เติมโคน
– ทำไมในโพสต์มัทรีดูโง่ๆคะ
– พระเวสสันดรตามเมียกลับด่วนค่ะ
– งานไม่ทำจำแต่คำคมสินะ
– ก่อนจะพูดคำคม ไปเรียนภาษาไทยก่อนดีไหม

14) เมื่อโดนกระแสในโลกออนไลน์โหมกระหน่ำขนาดนี้ กลุ่มแฟนคลับของมัทรีพยายามไปปกป้อง จนมีการโต้เถียงกับกลุ่มคนล้อ ซึ่งมัทรี ช่วงแรกๆ พยายามอธิบายคนที่ต่อว่าเธอ แต่สุดท้ายเธอประกาศ “ปิดเฟซบุ๊กของตัวเองแบบไม่มีกำหนด” และตัดพ้อว่า “ช่วงนี้เริ่มมีคนติดต่อเข้ามาให้ไปบรรยายสอนวาดรูป ทั้งมหาวิทยาลัยและโรงเรียน เราดีใจนะ ที่จะได้ทำงานที่ชอบสักที แต่หลังจากนี้คงไม่มีใครเชิญไปแล้วล่ะมั้ง”

15) การที่มัทรีโดน “เอาไปแขวน” พร้อมชื่อจริงนามสกุลจริง และหน้าตาที่เห็นได้ชัดเจน เป็นตัวจุดชนวนที่ทำให้เกิดการ Cyberbully ขึ้น และมีแฮชแท็ก #Saveมัทรี เป็นเทรนด์ในทวิตเตอร์ เพื่อทำให้สังคมได้รู้ว่า การล้อเลียน การจับเอาไปแขวน มันส่งผลให้ชีวิตของใครสักคนเจอความลำบากมาก บางคนเสียการเสียงาน เสียความน่าเชื่อถือในชีวิต เหตุผลแค่เพราะคำพูดประโยคเดียวเท่านั้น

16) หลังกระแสตีกลับ เพจคาราโอเกะชั้นใต้ดิน ลบโพสต์เก่าทิ้งไป แล้วโพสต์อันใหม่เป็นคำขอโทษที่เปิดพื้นที่ให้คนมาคอมเมนต์โจมตีมัทรี แต่เพจคาราโอเกะชั้นใต้ดินก็ยังโดนตำหนิอยู่ว่า ล้อเลียนคนอื่นทำง่าย แผลมันเกิดไปแล้ว ภาพลักษณ์ของมัทรีก็เสียหายไปแล้ว โดนคนส่วนหนึ่งเกลียดไปแล้ว เพจจะรับผิดชอบอย่างไร

17) ในเรื่องนี้ เป็นบทเรียนให้หลายคนได้เรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนพัฒนาสื่อฯ ที่ได้ประสบการณ์สำคัญคือ หากคนที่ไม่ใช่บุคคลสาธารณะ การหยิบเอา Quote ใดๆขึ้นมา จำเป็นต้องระมัดระวัง และถามความยินยอมจากเจ้าตัวก่อน กองทุนพัฒนาสื่อฯ ไม่ได้สนใจใดๆเลยว่า มัทรีจะได้รับฟีดแบ็กอย่างไร ถ่ายรายการเสร็จแล้วก็โพสต์ตามหน้าที่ ไม่ได้ดูเลยว่า จะทำให้อีกฝ่ายเจอสถานการณ์ลำบากใจแค่ไหน

18) เช่นเดียวกับหลายๆเพจ และ คนใช้อินเตอร์เน็ต ก็ได้เข้าใจเช่นกันว่า การพิมพ์อะไรลงไปอย่างสนุกมันทำได้ง่าย เห็นอะไรปั๊บก็ด่าทออีกฝ่ายได้ทันที โดยขาดการกลั่นกรองก่อน ซึ่งคนที่ด่าอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่คนที่โดนกระทำ จะรู้สึกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งออนไลน์ และจะไปอยู่ตรงไหน ก็ไม่รู้สึกปลอดภัย เพราะกลัวคนจะพูดถึง และคิดถึงตัวเองในทางที่ไม่ดีอยู่เสมอ

19) เรื่องราวล่าสุดก็จบลงที่ตรงนี้ มัทรียังคงปิดเฟซบุ๊กของตัวเองต่อไป โดยเธอยังมีทวิตเตอร์อยู่ แต่ก็ไม่ได้เคลื่อนไหวใดๆมากสักระยะแล้ว และเรื่องนี้เป็นบทเรียนสำคัญให้โลกออนไลน์ได้เข้าใจว่า เวลาเราล้อคนอื่น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเอง มันง่ายที่จะทำ เพราะตัวเองไม่มีผลกระทบอะไร แต่ถ้าเหตุการณ์นั้น กลายเป็นเราที่โดนเอาไปแขวนไว้ล่ะ แล้วปล่อยให้คนมารุมด่าทั้งวันทั้งคืน วิจารณ์รูปร่างหน้าตา วิจารณ์ทรงผม วิจารณ์การแต่งตัว ลามไปถึงพ่อแม่ ถามว่าถ้ามันเกิดเหตุการณ์นั้นกับเรา เราจะรับมันได้จริงๆหรือ

————————–
บทความโดย : วิศรุต สินพงศพร

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า