SHARE

คัดลอกแล้ว

explainer จากข่าวเรือ Ever Given จอดขวางคลองสุเอซ สิ่งที่เราได้เรียนรู้ก็คือ ประเทศอียิปต์ ทำเงินมหาศาลในฐานะเจ้าของคลอง โดยในปี 2020 เรือสินค้าจากทั่วโลก ต้องจ่ายเงิน “ค่าผ่านทาง” ให้อียิปต์ มากถึง 5.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.67 แสนล้านบาท

ในปี 2020 ที่แต่ละประเทศก็เกิดวิกฤติโควิด-19 รายได้ล้วนหดหาย แต่อียิปต์มี GDP เพิ่มขึ้น 5.6% โดยเชื่อว่า เงินที่ได้จากคลองสุเอซ ก็มีส่วนสำคัญมากในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับประเทศไทยนั้น เราเคยมีไอเดียจะทำ “เส้นทางเดินเรือ” คล้ายๆกับ คลองสุเอซเช่นกัน นั่นคือการขุดเจาะบริเวณ “คอคอดกระ” ทะลุจากทะเลอันดามันข้ามไปอ่าวไทย แต่สุดท้าย เราเลือกจะไม่ทำ แม้จะมีการศึกษาหาความเป็นไปได้ หลายครั้งหลายหน แต่รัฐบาลทุกยุคก็มีมติว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย”

ประวัติศาสตร์ของคอคอดกระกับประเทศไทยเป็นอย่างไร ทำไมการขุดจึงไม่สามารถทำได้ workpointTODAY จะย้อนอดีตให้เข้าใจใน 17 ข้อ

1) ในอดีต การจะใช้เรือขนส่งจากทวีปยุโรปข้ามไปทวีปเอเชียนั้น มีเส้นทางเดียวคือ ต้องอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นเส้นทางที่ไกลมาก และมีความอันตราย การอ้อมทวีปแอฟริกาต้องใช้งบประมาณเยอะ ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง และเสบียงอาหารของลูกเรือ ดังนั้นในปี 1859 หลายๆชาติในทวีปยุโรป จึงต้องการสร้าง “ทางลัด” ขึ้น และถ้าดูจากแผนที่โลก การขุดเจาะแผ่นดินอียิปต์ ให้กว้างพอจะเดินเรือได้ เพื่อทะลุจากทะเลเมดิเตเรเนียน ข้ามไปสู่มหาสมุทรอินเดียได้เลยเป็นทางออกที่ดีที่สุด

2) หากลองนึกภาพตาม การขุดเจาะแผ่นดินให้กว้างเป็นคลองที่ใหญ่พอจะแล่นเรือได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ความยาวของคลองสุเอซ คือ 164 กิโลเมตร การเจาะแผ่นดินยาวไกลขนาดนี้ ในปี 1859 ต้องใช้ทั้งงบประมาณ และความรู้ทางเทคโนโลยีในระดับที่สูงมาก ซึ่งอียิปต์ยังไม่มีในขณะนั้น

3) แต่ด้วยความสามารถของแฟร์ดินองด์ เดอ เลซเซปส์ นักการทูตชาวฝรั่งเศส ที่เป็นวิศวกรด้วย เขาออกแบบคลอง และทำให้การขุดคลอง สามารถเป็นจริงได้ โดยเดอ เลซเซสป์ใช้เวลา 10 ปีเต็ม เริ่มก่อสร้างปี 1859 สามารถเปิดใช้งานได้อย่างเป็นทางการในปี 1869

โดยส่วนแบ่งรายได้นั้น 10% จะเป็นของเดอ เลซเซปส์ อีก 75% จะเป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทซูเอซ คานาล คอมปานี และอีก 15% จะเป็นของรัฐบาลอียิปต์
ณ เวลานั้น อียิปต์แม้จะได้ส่วนแบ่งน้อย แต่ก็ตอบตกลง เพราะในเขตพื้นที่ตรงซุเอซ เป็นเขตทะเลทราย ไม่ได้มีชุมชนอะไรมากมายอยู่แล้ว การที่ขุดเจาะสร้างคลอง และประเทศได้ส่วนแบ่ง 15% จากพื้นที่ทะเลทรายที่ไม่ได้ใช้งานอะไรนักก็ถือว่าสมเหตุสมผล

4) ผู้ถือหุ้นของบริษัทซูเอซ คานาล คอมปานี ส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศส และอังกฤษ พวกเขาทำรายได้จากคลองสุเอซมาเกือบ 100 ปี แต่ในปี 1956 รัฐบาลอียิปต์ประกาศยึดคลองสุเอซมาเป็นสินทรัพย์ของประเทศ เพราะมองว่าบริษัทซูเอซ คานาล คอมปานี มากอบโกยจากพื้นที่ของเขตอียิปต์

5) แน่นอนว่า อังกฤษกับฝรั่งเศสไม่ยอมโดยง่าย มีการทำสงครามกันอย่างรุนแรง แต่บทสรุปคืออียิปต์สามารถยึดคลองสุเอซ มาเป็นของตัวเองได้สำเร็จ และทำรายได้มหาศาลจากคลองสุเอซ มาจนถึงปัจจุบัน

6) สำหรับประเทศไทยนั้น เราเองก็มีแนวคิดเรื่องการขุดเจาะประเทศ เพื่อเป็น “ทางเดินเรือ” เช่นกัน โดยปกติในการเดินเรือ ถ้ามาจากฝั่งทะเลอันดามัน แล้วจะข้ามไปอ่าวไทย ต้องแล่นเรืออ้อมไปด้านล่าง ผ่านมาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งใช้เวลาพอสมควร อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. 1858 (พ.ศ.2401) สมัยรัชกาลที่ 4 อังกฤษได้ติดต่อเข้ามาสอบถาม ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะขอ “ขุดคลอง” ในบริเวณ คอคอดกระของประเทศไทย เพื่อเป็นทางเดินเรือใหม่ และย่นระยะไม่ต้องอ้อมประเทศมาเลเซีย

7) คอคอดกระ คือส่วนที่แคบที่สุดของแหลมมลายู มีความกว้างแค่ 44 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งหากเทียบกับคลองสุเอซ ที่ยาว 164 กิโลเมตร ก็ถือเป็นระยะทางที่สั้นกว่า และน่าจะใช้เวลาในการขุดเจาะน้อยกว่ามาก แต่สุดท้ายเป็นทางอังกฤษไม่ยอมขุดเอง เพราะเมื่อไปสำรวจภูมิประเทศ พบว่า เป็นภูเขาสูง และจะเสียค่าใช้จ่ายในการสร้างคลองอย่างมหาศาล

ถัดจากอังกฤษ ก็มีฝรั่งเศส ที่ส่งแฟร์ดินองด์ เดอ เลซเซปส์ วิศวกรผู้ขุดคลองสุเอซลงมาสำรวจพื้นที่ รวมถึงญี่ปุ่นก็ส่งคนมาดูความเป็นไปได้ในการเจาะ แต่สุดท้ายการขุดคลองก็ไม่เกิดขึ้น

8) ในปี พ.ศ.2478 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย รื้อฟื้นโครงการขุดคลองขึ้นมาอีกครั้ง แต่ระหว่างที่ศึกษาความเป็นไปได้ ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี โดยสงครามโลกกินเวลาไปจนถึงปี พ.ศ. 2488 และเมื่อสงครามจบ ไอเดียเรื่องการขุดคอคอดกระ จึงกลับมาเริ่มต้นนับ 1 ใหม่อีกหน

9) ในช่วงสงครามโลก รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ประกาศสงครามกับสหรัฐฯ และอังกฤษ ซึ่งเมื่อพอสงครามโลกสิ้นสุดลง ขณะที่สหรัฐฯ ไม่ได้ติดใจเอาความ แต่ในปี พ.ศ. 2489 อังกฤษนั้นบังคับให้ไทยต้องลงนามในข้อตกลงยกเลิกสงคราม

โดยไทยต้องเสียเงินหลายล้านบาท รวมถึงต้องส่งข้าวให้อังกฤษ 1.5 ล้านตันแบบฟรีๆ และต้องขายข้าว ดีบุก และยางพาราในราคาที่อังกฤษกำหนด และเงื่อนไขอีกข้อที่อังกฤษ บังคับไทยก็คือ ห้ามขุดคอคอดกระ หากไม่ได้รับความยินยอมจากรัฐบาลอังกฤษ เนื่องจากอังกฤษมีท่าเรือที่ปีนัง และสิงคโปร์อยู่ ถ้าการขุดคลองเกิดขึ้น กิจการของอังกฤษก็จะได้รับผลกระทบ

10) ในเวลาต่อมา ไทยยกเลิกข้อตกลงนี้กับอังกฤษ และรื้อฟื้นโครงการขุดคอคอดกระขึ้นมาใหม่ ปี พ.ศ.2513 รัฐบาลไทยจ้างบริษัท Tams (แทมส์) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ทุกมิติในการขุดคลอง
บริษัท Tams เสนอไอเดียว่า การขุดในบริเวณคอคอดกระ (ระนอง ถึงชุมพร) ทำได้ยากเพราะติดพื้นที่ภูเขามากมาย โดย Tams ชี้ว่า ถ้าประเทศไทยอยากจะขุดคลองระหว่างทะเลอันดามัน กับอ่าวไทย น่าจะเลี่ยงไปขุดตรงจุดอื่นแทน เช่น “เส้นทาง 5A” เริ่มจากฝั่งจังหวัดสตูล แลวไปทะลุออกที่จังหวัดสงขลา โดยเส้นทาง 5A ดูจากภูมิประเทศแล้วมีความเป็นไปได้มากกว่า ซึ่งหลังจากบริษัท Tams ได้วิจัยเรียบร้อย โปรเจ็กต์นี้ถูกเปลี่ยนชื่อเรียก จากการ “ขุดคอคอดกระ” มาเป็นการ “ขุดคลองไทย” แทน เพราะบริเวณที่จะขุดเจาะไม่ใช่พื้นที่ตรงคอคอดกระอีกแล้ว

11) สำหรับการขุดคลองไทยนั้น มีการดีเบทกันถึงข้อดีข้อเสียตลอดเวลา

ในส่วนของข้อดีนั้น
– คลองไทยจะเป็นเส้นทางเศรษฐกิจใหม่ของโลก สินค้าจากอินเดียข้ามไปสู่จีนจะทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่าเดิม เราสามารถเก็บค่าผ่านทาง ทำรายได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน
– คลองไทยจะช่วยประหยัดค่าขนส่งสินค้าทางเรือ ลองนึกภาพตาม ถ้าปกติไทยไปซื้อน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง ก็ต้องอ้อมสิงคโปร์ กล่าวจะถึงอ่าวไทยก็กินเวลาเป็น 10 วัน แต่ถ้ามีการขุดคลองไทย เราจะประหยัดค่าโลจิสติกส์ไปได้อย่างมหาศาลมาก
– คลองไทยจะนำมาซึ่งการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาคใต้ หลายจังหวัดที่แนวคลองผ่าน จะเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เมกะโปรเจ็กต์ใหญ่ขนาดนี้ จะทำให้ภาคธุรกิจมีความคึกคักเป็นอย่างมาก
– คลองไทย จะช่วยแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภายใต้อย่างสมูธ กล่าวคือเมื่อมีการขุดคลอง เศรษฐกิจก็จะดีขึ้นอย่างชัดเจน ประชาชนทั่วประเทศจำนวนมาก ก็จะหลั่งไหลเข้ามาใช้ชีวิตในเขตภาคใต้ เมื่อเมืองขยาย เศรษฐกิจเติบโต ก็จะทำให้ความรุนแรงต่างๆค่อยๆลดลงไปด้วย
– ในแง่ของศักยภาพทหาร โดยเฉพาะการป้องกันภัยทางทะเลก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้าเรือไทยสามารถข้ามฝั่งอ่าวไทย และอันดามันได้อย่างอิสระ
มีข้อดีหลากหลาย และถ้าโปรเจ็กต์นี้เกิดขึ้นจริง สิ่งที่พอจะเห็นได้ ก็คือไทยจะได้รายได้จากส่วนนี้มากขึ้น และอาจมีอำนาจต่อรองกับชาติอื่นมากขึ้น

12) อย่างไรก็ตามมีการวิจารณ์ถึงข้อเสียหลายประเด็นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น
– กรณีของคลองสุเอซ สามารถร่นระยะได้มากกว่า 1 หมื่นกิโลเมตร ประหยัดเวลาในการเดินทางไป 7 วัน แต่กรณีของคลองไทย ถ้าหากคนเดินเรือ เลือกจะอ้อมแหลมมลายูไปทางสิงคโปร์ ก็เสียเวลาเพิ่มอีกแค่ 1-2 วันเท่านั้น ดังนั้นลูกค้าอาจจะไม่ได้เยอะ อย่างที่คิดไว้ก็ได้
– การศึกษาระบุว่า ส่วนที่ขุดได้ง่ายที่สุดคือจากสตูลไปโผล่สงขลา แต่ในจุดนี้ ถือว่าใกล้กับชายแดนมาเลเซียมาก แปลว่ามาเลเซียจะได้อานิสงค์ของการพัฒนา โดยที่ตัวเองไม่ต้องลงทุนขุดคลองเลย ตรงข้ามกับไทยที่ต้องเสียเงินอาจจะถึง ล้านล้านบาทเพื่อโปรเจ็กต์นี้
– เมื่อทะลุสงขลา ซึ่งเป็นจุดที่มีประชากรหนาแน่น รัฐบาลอาจต้องจ่ายค่าเวนคืน ค่าขนย้าย เป็นเงินจำนวนมหาศาลมาก
– การขุดแผ่นดิน อาจส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำเข้าไปในแผ่นดิน อาจมีผลกระทบต่อระบบนิเวศของทะเลสาบสงขลา รวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในฝั่งอันดามัน และความสมบูรณ์ทางทะเลอาจจะถูกทำลาย รวมถึงเมื่อมีท่าเรือมากขึ้น หากจัดการเรื่องความสะอาดไม่ดีพอ อาจเจอปัญหาสิ่งแวดล้อมสกปรกก็เป็นได้
– มีความเป็นห่วงเรื่องความมั่นคง เพราะการขุดคลอง เท่ากับว่าจะแบ่งประเทศตัดขาดเป็น 2 ส่วน บางทีอาจไปเอื้อประโยชน์ในมุมของการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ได้ง่ายขึ้น

13) เรื่องคอคอดกระ ถูกประชาชนถกเถียงกันมาหลายสิบปีแล้ว มีการอธิบายข้อดี และข้อเสีย ปะทะกันเสมอ ขณะที่การเมืองของประเทศอื่นๆ ก็มีส่วนสำคัญในการจะขุด หรือไม่ขุดคลองเช่นกัน โดยชาติที่คิดว่าตัวเองจะได้ประโยชน์ก็จะสนับสนุนให้ขุด แต่ชาติที่เสียประโยชน์ก็จะเสนอแง่มุมต่อต้าน

14) ตัวอย่างเช่น มีการวิเคราะห์ว่า ชาติที่จะได้ประโยชน์สูงมาก ถ้ามีการขุดคลองไทยเกิดขึ้น คือจีน เพราะจีนมีท่าเรือน้ำลึกอยู่ที่ศรีลังกา ถ้าหากประเทศไทยขุดคลองสำเร็จ เรือขนส่งจากจีน ก็จะเดินทางได้สะดวกขึ้น และไม่ต้องอ้อมแหลมมลายูในเส้นทางที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นจีนก็จะสนับสนุน แต่อีกมุม ประเทศอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก็ย่อมต่อต้าน เพราะการขุดคลองไทย จะทำให้เส้นทางการเดินเรือในภูมิภาคนี้เปลี่ยนแปลงไป และประเทศที่เคยเป็นเมืองท่าสำคัญก็จะเสียประโยชน์ ส่วนสหรัฐอเมริกา ก็ต้องจับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเช่นกัน เนื่องจากต้องการระวังการขยายอิทธิพลของจีน ไม่ให้เชื่อมต่อโลกได้ง่ายๆ ดังนั้นการขุดคลองครั้งเดียว จึงส่งผลกระทบอย่างมหาศาลก็คนมากมาย ทั้งกับประเทศไทยและกับประเทศอื่นๆด้วย

15) สุดท้ายแม้จะมีการนำเข้าครม. มาหลายครั้ง แต่เพราะเมื่อศึกษาแล้วข้อดีก็มี แต่ข้อเสียก็เยอะ สุดท้ายแนวทางการเจาะคอคอดกระ หรือสร้างคลองไทยในจุดอื่นๆ จึงไม่เคยเกิดขึ้นในที่สุด

16) ในปัจจุบัน เส้นทางใหม่ที่มีการพูดถึง ว่าเป็นไปได้มากกว่า 5A นั่นคือเส้นทาง 9A ระยะทาง 135 กิโลเมตร ผ่านจังหวัดกระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง แล้วไปออกที่สงขลา ทะลุผ่านทั้งหมด 94 หมู่บ้าน คาดการว่าถ้ามีการสร้างเส้นทางนี้ จะมีประชากรที่ต้องอพยพทั้งสิ้น 63,441 คน แต่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยืนยันชัดเจนว่า ยังไม่มีแผนการขุดเจาะคลองในระยะเวลาอันใกล้นี้

17) หลังจากมีประเด็นข่าวที่คลองสุเอซ ทำให้กระแสคอคอดกระ กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง จริงๆถ้าการขุดเจาะเกิดขึ้นเมื่อ 100 ปีก่อน ไทยอาจได้ประโยชน์มากมาย เหมือนที่คลองสุเอซทำให้อียิปต์ แต่ในยุคปัจจุบัน ถ้าต้องมานับ 1 ใหม่ตั้งแต่แรก กับระยะเวลาการก่อสร้างยาวนานราว 10 ปี และงบประมาณมากกว่า 1 ล้านล้านบาท โอกาสที่การขุดเจาะคลองจะเกิดขึ้น ว่ากันตรงๆ คือยากมากแล้วจริงๆ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า