SHARE

คัดลอกแล้ว

#explainer ประเด็นร้อนแห่งวงการศิลปะ และวงการออกแบบ เมื่อแฮชแท็ก #Riety ติดอันดับ 1 ของเทรนด์ทวิตเตอร์ในประเทศไทย เมื่ออินฟลูเอนเซอร์คนดัง ปั๋น-ดาริสา จ้างคนทำโลโก้ เพื่อเอามาใช้ในคอนเทนต์ของเพจตัวเอง ก่อนจะเอาโลโก้ดังกล่าว มาเชือดในคลิปอย่างน่าสะพรึงกลัว

เรื่องราวทั้งหมดเป็นอย่างไร ทำไมเหตุการณ์นี้ถึงติดเทรนด์ทวิตเตอร์ได้ workpointTODAY จะอธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุดใน 17 ข้อ

1) ปั๋น-ดาริสา การพจน์ จบมัธยมจากโรงเรียนจิตรลดา ก่อนจะจบปริญญาตรีจากคณะมัณฑณศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ความสามารถอันโดดเด่นของเธอ คือการวาดรูปสีน้ำ ที่สวยงามและเป็นเอกลักษณ์อย่างมาก

ผลงานที่โดดเด่นของเธอ เช่น โปรเจ็กต์ Wicked Grace วาดรูปผู้หญิง 12 คน ที่มีชื่อเสียงดุร้ายในตำนาน ให้กับ “เชษฐา” นักเขียนหนังสือประวัติศาสตร์คนดัง รวมถึงวาดภาพประกอบมิวสิควีดีโอ เพลง Roses ของนักร้องดังชาวอังกฤษ Finn Askew

2) ปั๋น-ดาริสา เปิดเพจและแชนแนลของตัวเองชื่อ Riety (ริเอตี้) ให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปะด้วยการนำเสนอที่ไม่เหมือนใคร เช่นการวิจารณ์องค์ประกอบศิลป์ในซีรีส์ Squid Game เป็นต้น

ความแตกต่างของคอนเทนต์ และหน้าตาที่น่ารักเป็นเครื่องช่วยส่งเสริม ให้เธอมีผู้ติดตามใน Facebook มากกว่า 1 ล้านคน และมีผู้ติดตามใน YouTube มากกว่า 6 แสนคน คือเธอผลิตงานอะไรออกมา ล้วนมียอดคนดูถล่มทลายเสมอ และมีบริษัทโฆษณาจ้างงานเธออย่างต่อเนื่อง

3) ดราม่าของปั๋น-ดาริสา เกิดขึ้น หลังจากการทำคอนเทนต์ล่าสุด เมื่อเธอได้รับงานจ้างจากแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากเกาหลีใต้ ให้ทำคลิปเพื่อโฆษณาโทรทัศน์รุ่นใหม่ ที่กำลังวางขาย

ด้วยความที่โลโก้ของแบรนด์ดังกล่าว ได้รับการยกย่องอย่างมากว่า เป็นส่วนผสมของ Pictogram (รูปภาพ) และ Typography (เอาอักษรมาทำเป็นโลโก้) คือออกแบบได้อย่างสวยงามลงตัวมาก นั่นทำให้ ปั๋น-ดาริสา ได้ไอเดียว่า งั้นลองไปจ้างคนทำโลโก้ให้เพจ Riety ของเธอเลยดีกว่า ว่าถ้าจะสามารถออกแบบได้ดีแค่ไหน จะถึงมาตรฐานของโลโก้แบรนด์นั้นเลยหรือเปล่า

4) ปั๋น-ดาริสา ไปจ้างนักออกแบบโลโก้ 5 คน ใน 5 ช่วงราคาที่ต่างกัน ได้แก่ 20 บาท, 200 บาท, 2000 บาท, 10000 บาท และ 20000 บาท โดยใช้โจทย์ว่าช่วยออกแบบโลโก้เพจ RIETY ตัวใหม่ ให้มีความ Unisex และ Modern มากขึ้น

5) จากนั้นเมื่อได้ผลงานแล้วจากศิลปินทั้ง 5 คนแล้ว เธอก็เอาโลโก้ที่ถูกออกแบบนั้น มาตัดรวมกันในคลิปเดียว แล้วเริ่มต้นวิจารณ์ผลงานทั้ง 5 ชิ้นอย่างดุเดือด

โดยคะแนนที่เธอมอบให้ โลโก้ ทั้ง 5 ที่ถูกออกแบบมีดังนี้

โลโก้ราคา 20 บาท : 12 เต็ม 30
โลโก้ราคา 200 บาท : 4 เต็ม 30
โลโก้ราคา 2,000 บาท : 11 เต็ม 30
โลโก้ราคา 10,000 บาท : 19.5 เต็ม 30
โลโก้ราคา 20,000 บาท : 3 เต็ม 30

6) คะแนนที่ปั๋น-ดาริสา ตัดเกรดออกมา จะเห็นว่าโลโก้ราคา 20,000 บาท แม้จะถูกจ้างแพงที่สุด แต่ได้รับคะแนนต่ำที่สุด ต่ำยิ่งกว่าโลโก้ราคา 20 บาทด้วยซ้ำ นั่นทำให้ความเห็นในโลกออนไลน์ช่วงที่โพสต์ถูกปล่อยออกมาแรกๆ ตั้งคำถามว่า แล้วแบบนี้ จะไปจ้างคนทำโลโก้ราคา 20,000 ทำไม ในเมื่อยังได้คะแนนไม่เท่าโลโก้ราคา 20 บาทด้วยซ้ำ

7) คลิปที่ปั๋น-ดาริสา ปล่อยออกมา มียอดไลค์หลายหมื่น ยอดแชร์หลายพัน ยอดวิวครึ่งล้าน และกลายเป็น Talk of the town ในทันที อย่างไรก็ตาม ดราม่าของเรื่องนี้ก็เกิดขึ้น เมื่อนายธนพล ประดิษฐ์กนก ศิลปินผู้ออกแบบโลโก้ราคา 20,000 บาท เห็นคอนเทนต์ในเพจ RIETY ที่ผลงานตัวเองโดนด่ายับ จึงออกมาชี้แจงสิ่งที่เกิดขึ้นทันที

8 ) นายธนพล เรียนจบจากคณะการออกแบบสื่อปฏิสัมพันธ์และมัลติมีเดีย ของมศว. เป็นศิลปินในสังกัดบริษัท Adis Art Studio เขาอธิบายว่า

ข้อ 1 – งานที่ RIETY จ้างมา เป็นงานด่วนมาก ไม่มีการบรีฟอย่างละเอียด พอฝั่งคนออกแบบถามไปว่าจะให้ทำโลโก้ในทิศทางไหน ก็ได้คำตอบแค่ว่า “แล้วแต่เลย” ทางฝั่งธนพล จึงรีบทำเสร็จโดยมีให้เลือก 2 option จากนั้นก็ถามลูกค้าว่าโอเคหรือเปล่า ต้องปรับแก้อะไรไหม แต่ฝั่ง RIETY ไม่มีฟีดแบ็กอะไรกลับมา

จากนั้นพอรู้ตัวอีกทีฝั่ง RIETY ก็เอาโลโก้ดังกล่าวไปทำคอนเทนต์เรียบร้อยแล้ว ฝั่งธนพลไม่พอใจที่ทาง RIETY ไม่ได้แจ้งเลยว่าจะเอาโลโก้ไปใช้ทำอะไร เหมือนมีความตั้งใจมาหลอกไปเชือด คือถ้าอธิบายจุดประสงค์ตรงไปตรงมา ศิลปินจะได้ตัดสินใจแต่แรก ว่าาจะรับงานหรือไม่

นอกจากนั้นงานที่ส่งยังเป็นแค่ตัวอย่างเฉยๆ (ดราฟต์แรก) ตามจริงต้องมีการปรับแก้กันอีกหลายครั้งว่าจะ Finalize ใช้งานจริงได้ แต่นี่ฝั่ง RIETY เอางานที่เป็นแค่ตัวอย่างไปใช้ในคอนเทนต์เฉยเลย

ข้อ 2 – ทางธนพลได้ถามลูกค้าแล้วว่า อยากให้ออกแบบในทิศทางไหน แต่ RIETY บอกมาว่า “ตามสไตล์ได้เลย” ดังนั้นเมื่อเขาออกแบบในสไตล์ตัวเอง กลับถูกตำหนิสาดเสียเทเสีย ก็รู้สึกว่าไม่ยุติธรรม

ข้อ 3 – ธนพลมองว่า ในคลิปมีการชักจูงคนอื่นว่า โลโก้ 20 บาท ยังสวยกว่า 20,000 เสียอีก แบบนี้มันไม่ได้เกิดความสร้างสรรค์ใดๆ ให้กับวงการกราฟฟิก ดีไซเนอร์เลย

ข้อ 4 – งานที่ผลิตอยู่ในกระบวนการทำงาน ไม่ควรถูกเผยแพร่สาธารณะใดๆ ทั้งสิ้น แต่กลับเอามาโดนตัดสินคะแนนแบบนี้ โดยธนพลกล่าวว่าต่อให้ได้คะแนนเต็ม ก็ไม่ได้รู้สึกดี เพราะถ้าจะตัดสินก็ควร ตัดสินจากงานที่ทำเสร็จแล้ว ไม่ใช่งานที่ยังอยู่ระหว่างทางของการผลิตแบบนี้

9) เมื่อฝั่งผู้ผลิตโลโก้ราคา 20,000 บาท ออกมาตอบโต้แบบนี้ ทำให้กระแสสังคมตีกลับทันที ว่าการกระทำของปั๋น-ดาริสา ถูกต้องหรือไม่ ที่หลอกเอางานของคนอื่นมาเชือดกลางคลิปแบบนี้

10) ในคลิป ปั๋น-ดาริสา วิจารณ์โลโก้ราคา 20,000 บาทว่า “ไม่ศึกษาเลยว่าลูกค้าเป็นใคร” ชาวเน็ตจึงตั้งคำถามว่า ก็คุณไม่ได้บรีฟอะไรเขาเลย แล้วคนทำจะไปรู้ได้ยังไง ว่าอยากให้เสนอแง่มุมไหนเป็นพิเศษ จะต้องให้ศิลปินไปไล่ดูคลิปคุณให้ครบทุกคลิปเลยไหม แล้วพอเขาถามแล้วว่าจะให้แก้ไขอะไรไหมก็ไม่ตอบ แล้วแบบนี้จะสร้างงานที่ดีร่วมกันได้อย่างไร

11) นอกจากนั้นยังมีประเด็นอีกว่า ปั๋น-ดาริสา เป็นคนในวงการศิลปะแท้ๆ ย่อมต้องรู้ดีว่า “การออกแบบ” มันมีมูลค่า แต่เธอยังกล้าจ้างคนอื่นผลิตโลโก้ในราคา 20 บาท และกล่าวชื่นชมมากมาย แบบนี้อนาคตต่อไป ลูกค้าก็จะมองหาแต่คนผลิตโลโก้ในราคา 20 บาท เพราะตามคะแนนที่ปั๋น-ดาริสาให้ คือโลโก้ราคา 20 บาท ยังได้คะแนนดีกว่าโลโก้ราคา 2,000 หรือ 20,000 ด้วยซ้ำ

12) และอีกหนึ่งประเด็นที่เชื่อมโยงกัน คือย้อนกลับไปในเดือนสิงหาคม ใน MV ของศิลปินพิมรี่พาย ได้เอารูปภาพของปั๋น-ดาริสา ไปใช้ใน MV โดยไม่ได้รับอนุญาต ในครั้งนั้นก็เป็นเรื่องเป็นราว จนบริษัท ฟีโนมีน่า ผู้ทำมิวสิควีดีโอต้องออกมาขอโทษ ดังนั้นคราวนี้ถ้าคิดในมุมกลับ ปั๋น-ดาริสา ก็เอางานของคนอื่น มาสร้างเป็นคอนเทนต์ของตัวเองโดยไม่ขออนุญาตเช่นเดียวกัน

13) แม้จะมีคำตำหนิมากมาย ในช่องคอมเมนต์ของทั้้ง Facebook และ YouTube แต่ปั๋น-ดาริสา ก็ยังไม่ลบคลิปออก หลายคนเชื่อว่า เพราะเป็นงานโฆษณาที่ดีลกับลูกค้าไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นจึงไม่สามารถถอดคลิปออกได้ นอกจากลูกค้าจะยอม คือถ้าเป็นคลิปของตัวเองคงลบทิ้งเพื่อยุติดราม่าไปนานแล้ว ซึ่งเมื่อคลิปยังอยู่ ดราม่าก็ยังคงลากยาวต่อไปเรื่อยๆ

14) อย่างไรก็ตาม มีคนมาปกป้องฝั่ง ปั๋น-ดาริสาเช่นกัน ว่า ตอนที่เธอทำคอนเทนต์ตัดคะแนนโลโก้ทั้ง 5 แบบ ก็ไม่ได้บอกชื่อศิลปินที่ออกแบบเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบอะไร ต่อตัวศิลปิน ถ้าหากเงียบๆไปเรื่องก็คงจบไปเอง

นอกจากนั้น เธอก็จ่ายเงินซื้อโลโก้อย่างถูกต้องแล้ว โอเคว่า อาจจะยังไม่ใช่ตัว Finalize แต่ถ้าเธอพอใจที่จะเอาดราฟต์แรก มันก็เป็นสิทธิ์ของเธอเช่นกัน

15) แต่ฝั่งผู้สนับสนุนศิลปินก็บอกว่า ลายเส้นและไอเดียต่างๆ ต่อให้ไม่เอ่ยชื่อก็รู้แล้วว่าใครทำ และมันอาจมีผลต่อเครดิตต่อไปของศิลปินที่โดนตำหนิในคลิปด้วย

16) สำหรับเรื่องราวของปั๋น-ดาริสา แห่งเพจ Riety ก็จบลงที่ตรงนี้ พร้อมกับดราม่าสำคัญในวงการศิลปะว่า ถ้าจ่ายเงินซื้อผลงานแล้ว คุณสามารถเอาผลงานของคนอื่นมาเชือดกลางอากาศได้หรือไม่ และถ้าตัวงานนั้นยังเป็นแค่ “ดราฟต์” มันเป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่ ที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณชน หรือควรจะเป็นแค่ความลับของลูกค้ากับศิลปินจนกว่าจะงานถูกอย่างจะเสร็จสมบูรณ์

17) หลังจากปล่อยคลิปไปแล้ว 1 วัน จนถึงวันนี้ (26 พฤศจิกายน 2564) คลิปยังคงอยู่ และยอดวิว ยอดไลค์ ยอดแชร์ ก็ยังพุ่งทะยานต่อไปเรื่อยๆ ขณะที่ผู้ใช้อินเตอร์เนตบางราย ก็เริ่มเข้าไปถล่มที่เพจของแบรนด์สินค้าผู้จ้างงานในชิ้นนี้แล้วเช่นเดียวกัน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า