Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

explainer สงครามการค้าระหว่าง อเมริกา+ยุโรป ปะทะกับจีน เริ่มต้นแล้ว เมื่อสินค้าแบรนด์ดังๆ ประกาศว่าจะไม่ใช้ “ฝ้ายซินเจียง” เพราะเชื่อว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับแรงงานทาสชาวอุยกูร์ แต่ฝั่งจีนตอบโต้อย่างดุเดือด ถ้าแบรนด์ไหนกล่าวหาจีน ก็ไม่ต้องมาทำการค้ากัน

นี่คือดราม่าสำคัญ ที่ทวีความดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ workpointTODAY สรุปสถานการณ์จนถึงล่าสุด (30 มีนาคม 2021) ให้เข้าใจใน 18 ข้อ

1) ประเทศจีน มีประชากร 1,400 ล้านคน ในจำนวนนี้ 92% เป็นคนเชื้อสายฮั่น ส่วนอีก 8% ที่เหลือแยกย่อยเป็น 50 ชาติพันธุ์จำนวนรวมแล้วก็นับร้อยล้านคน โดยหนึ่งในชาติพันธุ์ที่มีความขัดแย้งกับชาวจีนฮั่นมากที่สุด คือ “ชาวอุยกูร์” ที่อาศัยอยู่ในแคว้นซินเจียง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ โดยซินเจียงมีพรมแดนติดกับ คาซัคสถาน, คีร์กิซสถาน, ทาจิกิสถาน, รัสเซีย และมองโกเลีย

2) อุยกูร์ เป็นชาติพันธุ์ที่นับถืออิสลาม วัฒนธรรมต่างๆ คือจะไปดูคล้ายคลึงกับพวกคาซัคสถานมากกว่าชาวจีน อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการตีเส้นแบ่งอาณาเขตของประเทศ ซินเจียงได้อยู่ในอาณาเขตของประเทศจีน นั่นทำให้กลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์ ต้องกลายเป็นพลเมืองของจีนไปด้วย

3) ในช่วงแรก ชาวอุยกูร์ กับ ชาวจีนฮั่น ก็อยู่ร่วมกันได้ โดยเฉพาะยุคที่มีการค้าขายบริเวณเส้นทางสายไหม ซินเจียงแห่งนี้ มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อ ระหว่างจีน กับเอเชียกลาง และเอเชียใต้ ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะเป็นปกติไม่มีอะไรน่ากังวล ซินเจียง เป็นเมืองที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มาก สามารถปลูกพืชพันธุ์งอกงาม ทั้งเมล่อน มะเขือเทศ องุ่น ยางพารา ต้นฝ้าย นอกจากนั้นในเวลาต่อมายังมีค้นพบ น้ำมันดิบจำนวน 2 แสนล้านตัน และแก๊สธรรมชาติ 10.3 ล้านล้านคิวบิคเมตร ภายในอาณาเขตของซินเจียงอีกต่างหาก

4) แต่ถึงกระนั้น ความขัดแย้งระหว่าง ชาวอุยกูร์ กับชาวจีนฮั่น ก็สั่งสมกันมาเรื่อยๆ ชาวอุยกูร์บางส่วนต้องการแยกตัวมาจากจีน เนื่องจากมองว่าซินเจียงเป็นแผ่นดินของตัวเองแต่แรก นี่คือบ้านของพวกเขา วัฒนธรรมของพวกเขา แต่ต้องมาตกอยู่ในอำนาจของจีน เพียงเพราะการกำหนดเส้นแบ่งของประเทศเท่านั้น

5) ในศตวรรษที่ 18 เมื่ออังกฤษเข้ายึดอินเดียเป็นอาณานิคม เป็นแรงกดดันให้จีนต้องระวังว่าอังกฤษจะรุกคืบเข้ามาทางฝั่งตะวันตก ดังนั้นจีนจึงเริ่มแสดงความเป็นเจ้าของแคว้นที่อยู่ติดชายแดนอย่างซินเจียงแบบชัดเจน จากที่เมื่อก่อน มีการให้คนในท้องที่ปกครองกันเอง จีนก็เกิดความหวาดกลัวว่าชาวอุยกูร์ที่ต้องการแยกประเทศจะไปร่วมมือกับอังกฤษ ดังนั้นจึงส่งขุนนางจากส่วนกลางเข้าไปปกครอง

6) ในปี 1912 จีนถูกโค่นล้มระบอบกษัตริย์ ทำให้ชาวอุยกูร์ในซินเจียงเคลื่อนไหวเพื่อแยกตัวเป็นเอกราช และประกาศตั้งสาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออกในปี 1933 โดยมีธงชาติเป็นของตัวเองด้วย แต่หลังจากจีนประกาศปกครองประเทศด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ในปี 1949 กองทัพก็เข้ายึดซินเจียงอีกครั้ง และคราวนี้ใช้นโยบายควบคุมชาวอุยกูร์อย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดความคิดแยกประเทศอีก

7) มีงานวิจัยที่ระบุว่า จีนต้องแสดงความเด็ดขาดด้วยการทำลายศาสนสถาน เผาอัลกุรอ่าน สังหารชาวอุยกูร์ที่ต่อต้าน และสร้างค่ายกักกันชาวอุยกูร์นับล้านคน เพื่อเป้าหมายเดียวคือการรวมแผ่นดินจีนให้เป็นปึกแผ่น แต่หลังจากเติ้งเสี่ยวผิง ขึ้นเป็นผู้นำจีนในปี 1983 ได้มีการยกเลิกกฎอันเข้มงวดที่ใช้งานตั้งแต่ปี 1949 มีการให้อิสระกับผู้นับถือศาสนาอื่นๆมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รอยแผลจากความเด็ดขาดที่สั่งสมมานาน กลายเป็นปมในใจของฝั่งอุยกูร์ จนทำให้ชาวอุยกูร์บางส่วน ยังคงรู้สึกต่อต้านจีนและต้องการแยกประเทศอยู่ดี

แต่รัฐบาลจีน แถลงการณ์อย่างชัดเจนว่า “ซินเจียงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนอย่างไม่อาจแบ่งแยกได้ นี่คือแผนของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน และกลุ่มต่อต้านชาติจีน ที่พยายามแบ่งแยกจีนออกเป็นส่วนๆ”

8) สำหรับเรื่อง ค่ายกักกันชาวอุยกูร์นั้น บีบีซี สื่อดังของอังกฤษ เปิดเผยว่า ค่ายกักกันนี้มีอยู่จริง โดยรัฐบาลจีนจะจับกุมตัวชาวอุยกูร์ ที่ส่อแววจะต่อต้าน รวมตัวกันอยู่ในแคมป์ จากนั้นก็ส่งชาวอุยกูร์ไปใช้แรงงาน โดยเฉพาะการเก็บ “ฝ้าย”

หนึ่งในทรัพยากรทางธรรมชาติที่ซินเจียงมีมากที่สุด คือ “ฝ้าย” โดยจีนเป็นผู้ส่งออกฝ้ายอันดับ 5 ของโลก และ 84% ของฝ้ายในประเทศ ถูกเก็บที่ซินเจียง ก่อนจะส่งออกไปทั่วโลก เพื่อนำไปทักถอ เอาไปผลิตเป็นเสื้อผ้าต่อไป โดยสื่อในยุโรป และสหรัฐฯ ต่างชี้ว่า ฝ้ายที่ได้มาส่วนใหญ่ก็มาจากการบังคับใช้แรงงานทาสชาวอุยกูร์ทั้งนั้น

9) ในอเมริกา และยุโรป เรื่องสิทธิมนุษยชนถือเป็นประเด็นใหญ่มาก ดังนั้นเมื่อมีข่าวว่าในซินเจียงมีการใช้แรงงานอุยกูร์ ทำให้สินค้าหลายๆแบรนด์ ต้องประกาศจุดยืนว่า ไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการผลิตที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

แบรนด์ดังๆอย่าง H&M จากสวีเดน แถลงการณ์ว่า “จะไม่รับผ้าฝ้ายที่มาจากรัฐซินเจียง แม้จะมีคุณภาพดีแค่ไหนก็ตาม เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับ การใช้แรงงานอุยกูร์ และลูกค้าทั่วโลกสามารถสบายใจได้ ว่าสินค้าทั้งหมดของ H&M ทั้งหมดจะไม่มีฝ้ายซินเจียงแน่นอน” เช่นเดียวกับ Adidas จากเยอรมัน และ Nike จากสหรัฐฯ ที่แสดงจุดยืนใกล้เคียงกัน คือจะไม่รับผ้าฝ้ายจากซินเจียง เอามาทำสินค้า

10) จริงๆ ประเด็นเรื่อง H&M, Adidas และ Nike ไม่ใช้ฝ้ายซินเจียงตกเป็นข่าวมาตั้งแต่ปี 2020 แล้ว แต่ ณ เวลานั้นก็เป็นข่าวตามปกติหน้าสื่อทั่วไป เหตุการณ์มาเกิดดราม่าจริงๆ ในวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา เมื่อชาติตะวันตก ประกอบด้วยชาติอียู, อเมริกา, แคนาดา และสหราชอาณาจักร ประกาศว่าจะทำการแทรกแซงจีน ที่กดขี่ชาวอุยกูร์ โดยใช้วิธีแบนพาสปอร์ต ห้ามคนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนเดินทางเข้าไปชาติยุโรป รวมถึงยึดทรัพย์ของเจ้าหน้าที่รัฐบางราย ที่มีอยู่ในบัญชีของชาติตะวันตกด้วย

11) เมื่อเกิดเรื่องนี้ขึ้น ชาวเน็ตจีนจำนวนมาก โมโหที่ชาติตะวันตกมาแทรกแซงประเทศ จึงมีการหยิบประเด็นของ H&M และแบรนด์อื่นๆ ที่บอกว่าจะแบนผ้าฝ้ายซินเจียงไว้นานแล้วตั้งแต่ปีก่อน เอามาถกเถียงกันอีกครั้ง โดยชาวเน็ตรายหนึ่งกล่าวว่า “สินค้าเหล่านี้ บอกว่าจะแบนฝ้ายจากประเทศเรา แต่ก็ยังคิดจะมาโกยเงินจากคนในชาติเราอีก นี่มันเรื่องตลกสิ้นดี”

12) กระแสชาวเน็ตจีนเห็นด้วย ว่าทำไมต้องสนับสนุนแบรนด์ที่มาด่าประเทศเราเรื่องฝ้ายซินเจียง นั่นทำให้เหล่าเซเลบริตี้ชาวจีนจำนวนมาก ประกาศเลิกใช้แบรนด์ดังจากฝั่งยุโรปและอเมริกา ตัวอย่างเช่น แองเจล่าเบบี้ที่เป็นพรีเซนเตอร์ของ Adidas ก็ยกเลิกสัญญาทันที เช่นเดียวกับ วิคตอเรีย จากวงเกิร์ลกรุ๊ป f(x) ประกาศตัดความสัมพันธ์กับแบรนด์ที่ร่วมงานกันมานานอย่าง H&M ตอนนี้สินค้าดังๆ จากฝั่งตะวันตกโดนบอยคอตต์กันกระจุย ยอดขายจากที่เคยขายดี บางแบรนด์ขายไม่ออกเลยภายในพริบตา

13) ในจังหวะนี้แบรนด์ไหน ที่ไม่อยากเสียตลาดในจีน ก็จะรีบออกตัวว่า “เรายินดีใช้ผ้าฝ้ายซินเจียง” เช่น Hugo Boss โพสต์ผ่านโซเชียลว่า “เราจะซื้อและสนับสนุนฝ้ายซินเจียงต่อไป เช่นเดียวกับ Muji และ Uniqlo สองแบรนด์ดังจากญี่ปุ่น ที่ก็ยืนยันว่า ฝ้ายซินเจียงเป็นสินค้าคุณภาพดี และจะใช้ต่อไปแน่นอน

14) วันที่ 25 มีนาคม 2021 รัฐบาลจีน เริ่มออกมาตอบโต้ โดยโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เกา เฝิ่ง กล่าวว่า “เรื่องแรงงานที่โดนบังคับที่ซินเจียงเป็นเรื่องที่จินตนาการล้วนๆ” ขณะที่เว็บขายของออนไลน์ ทั้ง Taobao และ JD.com ได้ถอด สินค้าที่แบนฝ้ายซินเจียง ออกจากเว็บของตัวเอง ไม่มีช่องทางให้ซื้ออีก ขณะที่บริษัท GPS ในประเทศจีน ได้นำชื่อร้าน H&M ออกจากแผนที่ไปเลย เสิร์ชหาก็ไม่เจออีกแล้ว ส่วนกระแสในอินเตอร์เน็ต มีชาวจีนเผาสินค้าของ Nike และ Adidas เป็นการเอาคืน

ตามด้วยแบรนด์มือถือจากจีน ทั้ง Xiaomi, Oppo และ Vivo ก็เอาแอพพลิเคชั่นของทั้ง Nike และ Adidas ออกจากแอพสโตร์เรียบร้อยแล้ว ยิ่งทำให้การซื้อขายของแบรนด์เหล่านี้ยากขึ้นเข้าไปอีก

15) เรื่องนี้สร้างผลกระทบให้กับหลายๆแบรนด์อย่างมหาศาลตัวอย่างเช่น H&M มียอดขายในจีนจำนวน 5% จากยอดขายทั้งหมดทั่วโลก เช่นเดียวกับ Nike ที่มียอดขายถึง 23% ในจีน ก็มีการวิเคราะห์ว่าในปีนี้ อาจต้องสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก เพราะเจอลูกค้าบอยคอตต์ ส่วน Adidas ทันทีที่โดนแบน หุ้นก็ร่วงลงไป 6%

16) ฝั่งจีนเอาคืนอย่างหนักทุกดอก โฆษกกระทรวงต่างประเทศ จ้าวลีเจียน กล่าวว่า “บริษัทต่างชาติเหล่านี้ เลือกไม่ใช้ผ้าฝ้ายซินเจียง โดยอ้างอิงจากคำโกหกล้วนๆ แน่นอนคนจีนก็ต้องโกรธสิ เรื่องนี้รัฐบาลไม่จำเป็นต้องชี้นำอะไรเลย”

ขณะที่สำนักข่าวซินหัว ได้ทวีตข้อความเป็นการแซะอเมริกาว่า “วิธีเดียวที่เรารู้จักการเก็บฝ้ายคือการใช้ทาส” เป็นการกล่าวถึงในยุคอดีตที่คนอเมริกัน จับเอาคนผิวดำในแอฟริกามาเป็นทาสในไร่ฝ้ายของตัวเอง

17) สำหรับสถานการณ์ในตอนนี้ แบรนด์ต่างๆ ที่ทำตลาดกับประเทศจีน ต้องเลือกหนทางอย่างรอบคอบ กล่าวคือ ถ้าอยากทำการค้ากับจีนให้รุ่งเรืองต่อไป ก็ห้ามวิจารณ์จีนเรื่องฝ้ายซินเจียง แต่ถ้าอยากแสดงจุดยืนว่าจีนต้องเคารพในสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์ ก็ต้องประกาศตัวว่าจะไม่ใช้ผ้าฝ้ายซินเจียง แต่ก็จะเสียฐานลูกค้าชาวจีนไป

18) ขณะที่ประเด็นว่า ที่ซินเจียงมีชาวอุยกูร์ โดนจับในค่ายกักกันและบังคับใช้เป็นแรงงานทาสในการเก็บฝ้ายจริงหรือไม่ ฝั่งสื่อตะวันตก ก็ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง แต่ฝั่งจีนก็ยืนยันในมุมของตัวเองว่าเป็นจินตนาการล้วนๆ ซึ่งก็ไม่สามารถจับมือใครดมได้ และไม่มีหลักฐานมากพอ ว่าสุดท้ายแล้วฝ่ายไหนที่พูดความจริงกันแน่
.

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า