Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

เหตุการณ์สำคัญที่คนทั้งโลกต้องจารึกไปพร้อมๆกัน  แน่นอนว่าต้องเป็นวาระแห่งโลกช่วยชีวิตนักฟุตบอลและผู้ช่วยผู้ฝึกสอนทีม “หมูป่าอะคาเดมี่” รวม 13 คน ที่ประสบเหตุติดในวนอุทยานถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ช่วงระหว่างวันที่ 23 มิ.ย. – 10 ก.ค. 2561 เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ทั่วโลกสนใจติดตามข่าวสาร และผู้เชี่ยวชาญจากทุกมุมโลกให้ความช่วยเหลือ ด้วยความทุ่มเทและเสียสละอย่างเต็มความสามารถจนภารกิจสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี แต่สำหรับคนไทยแล้ว หัวเรือใหญ่มีบทบาทสำคัญในการนำทั้งทีม 13 ชีวิต ออกมาได้อย่างปลอดภัย ก็คือ นักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือ มนุษย์กบ จากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือที่เรียกกันว่า “หน่วยซีล”

นาวาเอก อนันต์ สุราวรรณ์ ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ นอกจากเป็นผู้ได้รับมอบหมายจาก พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือ ผบ.หน่วยซีล ให้นำกำลังพลหน่วยซีลและอุปกรณ์เข้าช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิตแล้ว ผู้การฯอนันต์ ยังร่วมดำน้ำเข้าถ้ำกับลูกน้อง คอยรับช่วงการบัญชาการอยู่แนวหน้า ในโถง 3 ของถ้ำหลวงอีกด้วย เรียกได้ว่าทุกปัญหาและทุกการตัดสินใจ ผู้การฯอนันต์ ต้องเผชิญเป็นคนแรกๆและมีบทบาทไม่น้อยเลยทีเดียว

  • กำลังพลเสียสละสิทธิ์สอบเลื่อนฐานะ ตั้งแต่ยังไม่ถึงถ้ำหลวง

ผู้การฯอนันต์ เล่าย้อนเหตุการณ์ว่า ช่วง 3 ทุ่ม ของคืนวันอาทิตย์ ที่ 23 มิ.ย. 61 ขณะกำลังนอนพักผ่อน ได้รับคำสั่งทางโทรศัพท์จาก ผบ.หน่วยซีล ว่าให้เตรียมกำลังพลพร้อมอุปกรณ์ไปทำการช่วยเหลือเด็กที่ติดอยู่ในถ้ำ จ.เชียงราย พร้อมยอมรับว่าขณะนั้น ยังสงสัยว่า เด็กติดถ้ำแล้วทำไมซีลต้องไปช่วย เพราะงานในถ้ำไม่น่าจะเกี่ยวกับซีล แต่เมื่อได้รับคำสั่งว่าต้องพร้อมเดินทางทันทีภายในเที่ยงคืน ซึ่งมีเวลาเตรียมตัวแค่ 3 ชั่วโมง จึงต้องรวบรวมกำลังพลให้ได้มากที่สุด พร้อมอุปกรณ์และเครื่องใช้ที่จำเป็น ให้พร้อมเดินทางด้วยเครื่องบินของกองทัพเรือ แต่สัปดาห์ถัดไป ที่ทางหน่วยจะมีการสอบเลื่อนฐานะของกำลังพลทำให้มีคนที่จำกัด เพราะส่วนใหญ่จะต้องเข้าสอบเกือบทั้งหมด ซึ่งยอมรับว่าหนักใจ ว่าจะมีคนไปภารกิจหรือไม่ แต่โชคดีที่ผู้ใต้บังคับบัญชาบางคนเมื่อประสานไปแล้ว ทุกคนกลับสละสิทธิ์ที่จะไม่สอบ เพื่อที่จะไปทำงานนี้ ซึ่งทำให้รู้สึกดีตั้งแต่ต้น

“ แม้ยังไม่รู้ว่างานจะยากง่ายแค่ไหน ลูกน้องได้สละความเจริญก้าวหน้าในอาชีพตัวเองเพื่อที่จะเลื่อนฐานะยศตัวเองให้สูงขึ้น ตรงนี้ผมก็ต้องขอขอบคุณผู้ใต้บังคับบัญชานะครับ คืนนั้นเตรียมการรวบรวมคนได้ 17 คน รวมทั้งผมด้วย ”  น.อ. อนันต์ กล่าว

ภารกิจเริ่มต้นขึ้นเมื่อซีล 17 ชีวิต เดินทางออกจากสนามบินอู่ตะเภา ในเวลา 00.30 น. ของคืนวันอาทิตย์ 23 มิ.ย. 61 ถึงสนามบินแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เวลา 01.45 น. เดินทางต่อถึงหน้าถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เวลา 02.45 น. ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายตลอดเวลา

“ เมื่อไปถึงที่ทำการวนอุทยานก็ฟังบรรยายสรุป เกี่ยวกับสถานการณ์ ซึ่งผู้บรรยายก็บอกว่า บ่ายวันเสาร์ 22 มิ.ย.61 มีนักฟุตบอลทีมหมูป่าฯ พร้อมโค้ช รวม 13 คนได้หายเข้าไปในถ้ำและยังไม่ได้กลับออกมา ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่และกู้ภัยในพื้นที่ ได้ออกติดตามแล้ว เนื่องจากว่าจากปากถ้ำเข้าไป 3 กิโลเมตร จะเจอทางเป็นสามแยก ทางแยกทางขวาจะเป็นทางแยกที่น้ำจากดอยผาหมีไหลมา จึงคาดว่าเด็กกลุ่มนี้น่าจะเป็นทางซ้าย เพราะทางขวาเป็นช่องทางแคบไปไม่ได้ แต่เมื่อทีมงานในพื้นที่ตามเข้าไปในสามแยกแล้ว น้ำท่วมตรงสามแยกพอดีเลย ทำให้ไม่สามารถมุดลอดตามเด็กเข้าไปได้ เด็กเองก็มุดลอดกลับออกมาไม่ได้ จากการบรรยายสรุปเจ้าหน้าที่บอกว่าพอลอดเข้าไปในฝั่งซ้ายแล้ว จะมีเนินทรายอยู่เล็กๆ คาดว่าเด็กจะอยู่ตรงนั้นเลยคือ ลอดเข้าไปจะเจอเด็กเลย ”  น.อ. อนันต์ กล่าว

ขอบคุณภาพจาก เพจ Thai NavySEAL

  • ตี 4 วันที่ 24 มิถุนาฯ ซีลเริ่มค้นหา 13 ชีวิตทีมหมูป่าฯ

จากนั้นเวลา 04.00 น. ของวันที่ 24 มิ.ย.61 ปฏิบัติการค้นหา 13 ชีวิตทีมหมูป่าฯ ได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อผู้การฯอนันต์และทีมซีลได้ลุยเข้าถ้ำหลวง โดยการนำของ นายเวิร์น อันสเวิร์ธ ผู้สำรวจและทำแผนที่ถ้ำหลวง ชาวอังกฤษ เข้าไปในถ้ำพร้อมไฟฉายคนละกระบอก เพราะคิดว่าคงจะมีแสงสว่างบ้าง โดยกายภาพในถ้ำเหมือนท่อขนาดใหญ่ แต่ละท่อ จะมีที่กั้น ทำให้ท่อนี้ถูกกั้นเป็นห้องๆ เป็นช่วงๆ เดินเข้าไปในถ้ำประมาณ 400 เมตรจะเจอผนังถ้ำปิดกั้น ถ้าจะเดินไปอีกห้องต้องมุดช่องแคบๆลงไปสัก 2 เมตร แล้วก็คลานต่อไปตามซอกหิน ประมาณ 5 เมตร แล้วก็โผล่ขึ้นมา เมื่อโผล่ขึ้นมาจะเจอช่องทางเดินกว้างประมาณ 10 เมตร ที่เรียกว่า โถง 2

ผ่านโถง 2 ไป 600 เมตร ต้องปีนกองหิน ที่เกิดจากการถล่มของเพดานถ้ำ เป็นกองหินมีความแหลมคม คล้ายๆหน้าผา ใครจะไปต้องเดินปีนป่ายไปอีกประมาณ 200 เมตร ก็จะเจอผนังถ้ำกั้นอีกรอบ แล้วต้องมุดแทรกตัวไปตามซอกหินอีกประมาณ  5 – 6 เมตร แล้วก็จะไปโผล่โถง 3 แล้วก็จะเจอโพรงถ้ำขนาดใหญ่ ที่มีกองทรายที่ถูกน้ำพัดมาเป็นตะกอนเป็นเนินสูง ที่ต้องปีนเนินทรายประมาณ 6 เมตร พอปีนไปสัก 30 เมตร ก็จะเจอเนินทรายขนาดใหญ่ ที่นี่เป็นชัยภูมิที่ซีลตั้ง “กองบัญชาการโถง 3” โดยลักษณะของโถง 3 จะเป็นหินงอกหินย้อยที่ค่อนข้างสวย

ถัดจากกองบัญชาการโถง 3 จะไปสามแยกก็ต้องมุดช่องผ่านม่านหินงอกย้อยลงมาจนปิดเส้นทาง มีช่องให้พอแทรกตัวเดินทะลุได้ เดินไปสักระยะ ช่องทางนี้ก็จะน่าจะกว้างไม่เกิน 5 เมตร โดยที่ผนังถ้ำเป็นรูปตัววี ผนังถ้ำเป็นโคลนทั้งสองข้างที่เกิดจากการการตกตะกอนของน้ำท่วม แม้ว่าระยะทางจากโถง 3 เพียง 1 กิโลเมตรก็จะถึงสามแยก แต่กว่าจะถึงสามแยกก็จะมีผนังกั้นอีก และมีโพรงกว้าง 5 เมตร สูง 2 เมตร ที่จะเดินผ่านไปเจอโถง ลักษณะคล้ายรูปโดมและเป็นสามแยก ทางขวาเป็นทางน้ำที่ไหลมาจากบ้านผาหมี ส่วนทางซ้ายก็จะไปที่เด็กไป ขณะนั้นห้องโถงจะกว้างสักประมาณ 40 เมตร ยาวไปทางซ้ายประมาณ 60 – 70 เมตร ลักษณะเหมือนกรวยสอดเข้าไปทางซ้าย แต่ขณะนั้นถูกน้ำท่วมประมาณ 2 เมตร ถ้ามองรอบตัวจะไม่รู้ว่ามีทางแยกเลย เพราะว่าถูกน้ำท่วมปิดผนังถ้ำหมด ยกเว้นเส้นทางที่น้ำไหลจะยังเป็นช่องทางที่เข้าไปลึกๆ

อุปสรรคแรก คือทางซ้ายที่สันนิษฐานว่าเด็กจะไป ผนังถ้ำถูกน้ำท่วมปิดหมดแล้ว เวิร์น อันสเวิร์ธ แนะนำว่า ถ้าข้ามไปฝั่งซ้ายจะต้องดำน้ำลอดผนังถ้ำเข้าไป และในเวลานั้นประมาณ 05.30 น. มืดสนิทมาก นั่งอยู่ใกล้กันแทบมองไม่เห็นกัน ซึ่งจะเห็นสภาพพื้นที่ได้แค่จากไฟฉายที่เราส่องไป แล้วต้องจิตนาการประติดประต่อภาพเอาตามที่เวิร์น อันสเวิร์ธ บอก แต่เนื่องจากว่าเป็นภารกิจที่ซีลไม่เคยทำงานในถ้ำ ความมืดและน้ำขุ่นมองไม่เห็น ทุกอย่างจึงเป็นอุปสรรค ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ของทีมงานทั้งหมดเลย……แต่ผู้การฯอนันต์ ประเมินว่าอุ่นใจ เพราะน้ำไม่ได้ลึกมากแค่ 2 เมตร จึงมอบหมายคนให้หาช่องทางที่เวิร์น อันสเวิร์ธ บอกไว้ โดยวิธีการในการเซฟตี้นักดำน้ำ คือการใช้เชือกผูกที่เอวนักดำน้ำ คนที่อยู่บนฝั่งก็คอยจับเชือกอีกด้านนึง นัดหมายด้วยการกระตุกเชือกส่งสัญญาณ เพื่อเข้าใจตรงกัน เมื่อนักดำน้ำก็ได้ลงไปตามที่เวิร์น อันสเวิร์ธ บอก ใช้เวลาประมาณ 30 นาที โผล่ขึ้นมาบอกว่า ช่องทางที่ว่านั้นไม่มี ทุกอย่างถูกปิดหมดเลย แต่เวิร์น อันสเวิร์ธ ก็ยืนยันว่ามีช่องทางแน่นอน ไม่เช่นนั้นเด็กไม่สามารถเข้าไปได้

“ให้นึกภาพการทำงานว่าเหมือนถูกปิดตาเดินในห้องแล้วคลำไป คลำจากเพดานถ้ำลงมาแล้วเลาะๆไป ที่พื้นว่ามีร่องหรือช่องอะไรมั้ย แต่เมื่อมิสเตอร์เวิร์น ยืนยันว่ามีช่องทาง ซีลจึงตัดสินใจดำน้ำใหม่อีกรอบ นักดำน้ำก็ดำไปใช้เท้าตะกุยทรายไป ผ่านไประยะนึง นักดำน้ำโผล่ขึ้นมาบอกว่า  ได้เอาเท้าแหย่ลงไป มันมีอยู่ช่องนึงที่สามารถเอาเท้าแหย่เข้าไปลึกได้เรื่อยๆ ตำแหน่งที่มิสเตอร์เวิร์นบอกคาดว่าน่าจะเป็นช่องนี้ แต่ถูกปิดไปแล้ว”  น.อ. อนันต์ กล่าว

ขอบคุณภาพจาก เพจ Thai NavySEAL

จึงคาดว่าน้ำที่ไหลมากจากบ้านผาหมีนั้น ได้พัดพาตะกอนมาปิดช่องนี้ เป็นที่สังเกตว่าผ่านไปกว่า 2 วัน นับจากวันที่เด็กเข้าไปในถ้ำ ช่องที่ว่านี้ถูกทรายถมเต็ม เลยสั่งการให้นักดำน้ำให้พยายามลอดไปฝั่งตรงข้ามให้ได้ว่าสามารถไปต่อได้หรือไม่ แต่ถ้าเราไปตะกุยเปิดช่องให้น้ำไหล อาจจะเสี่ยงว่านักดำน้ำ อาจจะถูกน้ำดูดเข้าไปด้วยหรือไม่ โดยรวมแล้วนักดำน้ำใช้เวลาน้ำเพื่อหาช่องทางนี้ ประมาณ 1 ชั่วโมง จึงแน่ใจว่าน่าจะมีช่องที่เดินทางต่อไปได้ จึงส่งนักดำน้ำคนเดิมลงไปสำรวจต่อจากตำแหน่งเดิมที่พบ จากนั้นใช้เวลา 30 นาที โผล่ขึ้นผิวน้ำขึ้นมาบอกว่าสามารถลอดไปฝั่งตรงข้ามได้ โดยใช้วิธีใช้เท้าดันแทรกตัวเข้าไป ต้องถอดขวดอากาศออก เนื่องจากเป็นช่องทางที่แคบมาก จึงลากถังอากาศตามเข้าไป กว่าจะผ่านช่องนี้นี้ใช้เวลาประมาณ 3 นาที ก่อนจะโผล่ช่องอีกด้านนึงด้านซ้าย จากนั้นให้นักดำน้ำคนเดิม ดำน้ำนำเชือกไปผูกฝั่งตรงข้ามให้เป็นแนวเชือกนำทางสำหรับชุดต่อไป

จากข้อสันนิษฐานว่าเมื่อลอดไปได้แล้ว เด็กจะอยู่ตรงเนินทรายจุดนั้น จากเริ่มทำงานตั้งแต่ 05.30 น.เมื่อไปถึง พอดูเวลาอีกที 16.00 น.แล้ว มันนานมากจนไม่ได้สนใจเวลา เพราะมุ่งที่จะเข้าไป อีกทั้งข้างในมืดสนิทจนไม่รู้ว่าคือเวลาไหน ขณะเดียวกันน้ำที่ไหนมาจากบ้านผาหมีนั้น น้ำได้สูงขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่น้ำสูงไม่เกินหน้าแข้ง จนกระทั่งเลยระดับหัวเข่าจนเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนักอีกครั้งว่า ผนังถ้ำนั้นเต็มไปด้วยโคลน แสดงว่าน้ำต้องท่วมถ้ำและตอนนี้น้ำขึ้นสูงมาก จึงคิดหนักว่าหากส่งนักดำน้ำเข้าไปแล้วใช้เวลานานแล้วกว่าจะออกมา น้ำที่สูงขึ้นเรื่อยๆนั้นไม่สามารถคาดการณ์ได้ เนื่องจากเป็นฤดูฝนด้วย แต่จากข้อสันนิษฐานที่บอกว่าลอดไปแล้วจะพบเด็ก จึงคิดว่าจะใช้เวลาปฏิบัติการไม่นาน แม้ว่าจะเสี่ยงกับเรื่องน้ำก็ต้องลองดู จึงตัดสินใจส่งชุดที่ 2 เดินไป 3 คนตามแนวเชือกที่คนแรกได้ผูกไว้ ผ่านไปเกือบชั่วโมง ชุดที่ 2 จึงดำออกมา พร้อมกับคำตอบว่าไม่เจอเด็ก ทำให้เรานั้นใจคอไม่ดี  โดยคนที่ออกมาบอกกับเราว่าเจอเนินทรายตามที่บอกจริงแต่ไม่มีเด็ก ใช้ไฟฉายส่อง เป่านกหวีดแล้ว แต่ไม่มีเสียงตอบ เค้าก็เลยเดินต่อจากจุดที่โผล่ไปประมาณ 200 เมตร การเดินไปคิดว่าจะได้เดินพื้นที่แห้งสบายๆ น้ำสูงระดับเอว ถือว่ามีข่าวดีเพราะไปเจอเชือกเปล ยาวประมาณ 10 เมตรลอยมาติดกับตลิ่ง โดยระหว่างทางได้เห็นรอยมือเด็กๆ แปะอยู่ตามผนังโคลน เดินไปตามโคลนประมาณ 300 เมตรแต่พบว่าไปต่อไม่ได้แล้ว เพราะน้ำท่วมจำเป็นต้องมุดลอดไปอีกฝั่งอีกครั้ง ด้วยวิธีการจับปลายเชือกนำเข้าไปและให้อีกคนจับปลายเชือกอีกฝั่งไว้ มุดจนสุดเชือกก็โผล่ขึ้นมาได้ มีช่องให้โผล่ขึ้นมา แต่โผล่ขึ้นมา ระดับน้ำสูงประมาณหน้าอกแล้ว

“เวิร์น อันสเวิร์ธ” เสื้อสีเขียว / ภาพจากหนังสือพิมพ์ใต้สันติสุข

จากปากถ้ำน้ำแค่ระดับเอว แต่ถึงจุดนี้น้ำถึงหน้าอกแล้ว และสามารถมองเข้าไปข้างหน้าได้ว่าสามารถมองเข้าไปได้อีกลึก ฉายไฟดูจนสุดแสงไฟ แต่เชือกที่นำไปนั้นได้สุดแล้ว จึงไม่กล้าไปต่อเพราะขวดอากาศมีแค่ถังเดียว ก็เลยผูกปลายเชือกไว้ตรงที่เค้าอยู่ก็เลยดำกลับออกไป มาบอกเหตุการณ์ให้ข้างนอกรับทราบ แต่เพื่อให้ง่ายสำหรับการทำงานในวันต่อไป จึงให้อีกชุดนำเชือกไปผูกต่ออีกสักระยะนึงให้สุดเชือก และขณะที่ส่งชุด 2 ไป มุ่งแต่เรื่องงานไม่ได้ดูสภาพแวดล้อมอื่น ระดับน้ำจากเครื่องหมายที่ตลิ่งที่ได้ขีดไว้แล้วน่าจะทัน เลยให้ชุดที่ 2 เข้าไปทำงานอีกรอบ แต่พอชุดนี้ไปได้สัก 1 ชั่วโมงพบว่าระดับน้ำขึ้นสูงเร็วมาก ไม่เหมือนกับตอนแรก จนน้ำจุดที่เรายืนอยู่นั้นถึงระดับเอวแล้ว ต้องยืนแช่น้ำรอชุดที่เข้าไป  ยอมรับว่าในช่วงนั้นเป็นกังวลมาก หากชุดที่เข้าไปทำงานออกมาช้าอาจเกิดความเสี่ยงได้ ทีมงานทุกคนเครียดอยากให้ข้างในกลับมาเร็วแต่ไม่สามารถสื่อสารกันได้ จากนั้นไม่นาน ชุดนั้นก็ดำน้ำกลับออกมา บอกว่า ได้ไปถึงปลายเชือกที่ชุดแรกได้ผูกไว้ แต่ระดับน้ำได้เพิ่มขึ้นเกือบมิดถ้ำ จากเดิมที่บอกว่าแค่ระดับอก ไม่สามารถทำงานต่อจากชุดแรกได้ จึงต้องรีบกลับออกมา ก็ถือเป็นความโชคดีที่วันนั้นไม่ดื้อทำงานต่อ อาจเกิดการสูญเสียลงได้

“ แต่จากแผนที่ เวิร์น อันสเวิร์ธ  บอกว่า เด็กน่าจะไปอยู่ที่พัทยาบีช ซึ่งห่างจากสุดที่ทีมซีลผูกเชือกไว้ประมาณ 200 เมตร พอมาฟังแล้วว่าแค่นิดเดียวเองก็รู้สึกเสียดาย ซึ่งห่างกันนิดเดียว แต่ตอนอยู่ในถ้ำนั้นเราไม่รู้ว่าข้างหน้าเราคืออะไร ไปได้แค่ไหนก็แค่นั้น ”  น.อ. อนันต์ กล่าว

เช้าวันถัดมาเริ่มภารกิจตั้งแต่เช้า ซีลเดินลุยเข้าไปโถง 3 จาก เพื่อจะไปสามแยก แต่พบว่าพอเดินไปได้ครึ่งทางไม่สามารถไปต่อได้ เพราะน้ำเอ่อไหลมาทั้งคืน จากสามแยกที่เอ่อท่วมมาประมาณ 300 เมตร เป็นขยายวงกว้างเป็น 400 เมตร จึงประเมินว่าผ่านไปคืนเดียวน้ำท่วมได้ขนาดนี้ ประกอบกับฝนตกไม่หยุด จึงไม่เสี่ยงที่จะทำต่อถอนกลับออกมารายงานว่าทำไม่ได้เพราะน้ำท่วม ขอให้เตรียมสูบน้ำ เพราะหากน้ำสามารถเอ่อมาถึงระยะ 400 เมตรได้ หมายความว่าด้านในถ้ำถูกน้ำท่วมจนเต็มพื้นที่ไม่มีช่องโผล่หายใจ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะดำน้ำตลอด โดยไม่ได้โผล่ขึ้นมาตรวจการ จังหวัดเชียงรายจึงระดมเครื่องสูบน้ำมาในวันนั้น แต่กว่าจะระดมได้ต้องใช้เวลาทั้งวัน ช่วงเย็นจึงเริ่มนำเครื่องสูบน้ำเข้าไปที่โถง 3 โดยระยะทางจากปากถ้ำ ถึงโถง 3 ประมาณ 1,200 – 1,500 เมตร บางช่วงต้องปีนยากลำบาก อุปกรณ์ที่นำเข้าไปกระทบหินตัวเซ็นเซอร์ที่อยู่ข้างล่างก็พัง นำไป 30 ตัว เหลือใช้ได้ไม่ถึงครึ่ง แต่พอจะใช้งานก็กลับมีปัญหา สรุปว่าทั้งวันไม่ได้สูบน้ำ

วันพุธ ที่ 26 มิ.ย.61 ต่อมาได้ยืมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่จาก กทม. มาช่วย กว่าจะดำเนินการสูบน้ำได้ ก็ประมาณช่วงเย็นของวัน ตลอดวันที่ทำงานมีเสียงน้ำที่ท่วมโถงมาและก็ไล่อากาศมา เสียงดังคล้ายๆภูเขาถล่ม สะเทือนไปทั้งห้อง ทุกคนรู้สึกกังวลว่ามันอันตราย แต่ก็ต้องทำงานกันต่อ ถึงช่วงคืนวันพุธ จึงให้คนที่ไม่จำเป็นออกไป เหลือเฉพาะส่วนที่จำเป็นอยู่ที่โถง 3 คอยสังเกตระดับน้ำแล้วรายงาน

 

  • น้ำท่วมหนัก ซีลสละฐานกองบัญชาการโถง 3

ฝนที่ตกลงมาไม่ขาดสาย จนน้ำทะลักมาถึงโถง 3 ในเวลา 01.30 น. ของ 27 มิ.ย. ซีลถอนกำลังออกจากฐานปฏิบัติการโถง 3 ซึ่งถ้าท่วมช่องนี้ได้ การเข้าออกต้องใช้การดำน้ำเท่านั้น ณ วันนั้นซีลต้องสละฐาน เพื่อเอาตัวรอดออกมาก่อน พอช่วง 04.00 น. พบว่าน้ำไหลถึงปากถ้ำแล้ว จำเป็นต้องตัดสัญญาณไฟฟ้าภายในถ้ำด้วย

ฝนตกหนัก น้ำท่วมถ้ำ สู้ด้วยการระดมเครื่องสูบน้ำเข้าในพื้นที่เพิ่มเติมอีก เพื่อสูบน้ำออกจากปากถ้ำ ณ วันนั้น ถือว่าเด็กติดในถ้ำนั้นเกือบสัปดาห์แล้ว ทุกคนกังวลว่ามันไม่ใช่งานง่าย ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในขณะนั้น (ผบ.ศอร.) จึงมองว่าต้องหาช่องทางอื่นในการเข้าถ้ำเข้าไปหาเด็ก นอกจากการดำน้ำ และสูบน้ำออก จึงระดมคนมาตรวจหาโพรงและช่องทางต่างๆบนภูเขา ว่ามันจะมีโพรงที่จะทะลุเข้าไปในถ้ำหาเด็กได้หรือไม่ ทุกหน่วยงานจึงระดมกันมาสำรวจกันแทบทุกตารางนิ้ว ซึ่งภาวนาว่าขอให้เจอช่องทางอื่น เพราะในช่วงนี้ ยังเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าทางน้ำ แต่บทสรุปในทุกวัน คือไม่พบโพรงที่สามารถเข้าถ้ำได้ หน่วยงานต่างๆก็พยายามนำเทคโนโลยีมาสแกนโพรงถ้ำ มีแนวคิดที่จะเจาะถ้ำที่จะไปหาเด็ก…..แต่ท้ายที่สุด ก็เป็นไปไม่ได้อยู่ดี ความหวังจึงถูกเทน้ำหนักกลับมาที่หน่วยซีล ที่จะนำเด็กออกมาจากถ้ำ ทางน้ำ ซึ่งมองว่ามันเป็นไปไม่ได้ ที่จะดำน้ำไปถึงตัวเด็ก เพราะจากจุดโถง 3 เข้าไปถึงจุดที่คาดว่าเด็กจะอยู่เกือบ 2 กิโลเมตร

“ คุณจะดำน้ำในท่อ ด้วยความมืดความขุ่น ไม่รู้ว่าข้างหน้ามันคืออะไร ไป 2 กิโลเมตร  ไม่มีใครทำได้หรอกในประเทศไทย ก็นั่งคุยกันแบบนี้ แต่ในขณะเดียวกันถ้าจะนั่งรอแล้วเกิดเด็กเสียชีวิตแล้วเราจะทำอย่างไร ผบ.หน่วยซีล ท่านบอกว่าในเมื่อมันมีทางเดียว เราก็ต้องเดินหน้า ด้วยการเป็นมนุษย์น้ำ ต่อให้ดำน้ำแบบไม่มีที่โผล่ เราก็ต้องเอาขวดอากาศไปวาง ”  น.อ. อนันต์ กล่าว

เมื่อต้องเป็นมนุษย์น้ำ ยอมรับภาวะดำน้ำแบบไม่มีที่โผล่ให้ได้ ก็ต้องมีแผนการวางขวดอากาศ วางทุกระยะจนถึงตัวเด็ก ไม่ว่าขวดอากาศจะหมดตรงไหน เราก็จะดำน้ำต่อแล้วให้อีกคนเอาของใหม่ไปวาง จึงเป็นที่มาของการระดมขวดอากาศ ทั้งจากบริษัทเอกชนบริจาคมา โดยเฉพาะ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่10 ได้มีการสนับสนุนอุปกรณ์เหล่านี้มาให้เราได้ทำงาน จนสุดท้ายแล้ววันอาทิตย์ก็สามารถกลับเข้ายึดโถง 3 ได้อีกครั้ง

ผ่านมาครบ 1 สัปดาห์ในการค้นหา วางแผนต่อว่าจะไปถึงสามแยกได้อย่างไร วิธีการที่เราถูกฝึกคือเราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรให้มันปลอดภัย คือต้องมีแนวเชือกนำ คนแรกเอาเชือกไป 200 เมตร ดำน้ำไปผูกไว้สุดเชือก 200 เมตรแล้วกลับมาตามเชือกที่ตัวเองผูกไว้ คนที่สองก็ดำน้ำไปผูกต่อจากคนแรกอีก 200 เมตร พอสุดเชือกก็ดำน้ำกลับมา โดยจะใช้วิธีต่อระยะแบบนี้ไปเรื่อยๆ นี่คือวิธีการการของเราด้วยอุปกรณ์ที่เรามีให้นักดำน้ำปลอดภัย โดยใช้ประมาณ 5 คน ผูกไปจนถึงสามแยก แต่วิธีการแบบนี้ส่งผลให้การทำงานช้าเพราะต้องไปกลับทีละคน

  • บันทึกข่าวดี 2 ก.ค.61 พบ 13 ชีวิต หมูป่าฯ

นักดำน้ำจากอังกฤษ และนักดำน้ำต่างชาติ ชื่อ “เบน” มาช่วยซีลตั้งแต่วันน้ำท่วม อาสาช่วยเข้าไปวางเชือกที่ผูกไว้แล้วอีก 200 เมตร เบนก็ดำน้ำไปผูกแล้วกลับมา ซึ่งนักดำน้ำชาวอังกฤษ 2 คน จอห์น โวลันเธน และ ริชาร์ด วิลเลียม สแตนตัน มีแผนที่จะดำน้ำเข้าไปหาเด็กอยู่แล้ว ซึ่งเค้าไม่จำเป็นต้องใช้แนวเชือก เพราะเค้าใช้ไดฟ์คอม เครื่องช่วยคำนวนในการดำน้ำ (Dive Computer) ที่สามารถตั้งเส้นทางได้ จากข้อมูลของเวิร์น อันสเวิร์ธ อยู่แล้ว โดยคู่นี้เค้าเป็นนักดำน้ำชาวอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญระดับโลก มืออาชีพด้านการดำน้ำในถ้ำโดยเฉพาะ จึงไม่แปลกที่เค้าจะสามารถดำน้ำได้เร็วและคล่องแคล่ว ซึ่งเค้าก็จะเข้าไปหาเด็กเลยฝากให้เค้านำเชือกไปผูกต่อระยะให้ด้วย เพราะรู้ว่าเส้นทางที่จะไปแต่ละเที่ยวนั้น มันยากลำบากมาก ซึ่งเค้าก็ไปผูกต่อให้จนสุดเชือกที่ฝากไป และเค้านำเชือกของตัวเองผูกต่อเชือกของเราที่ฝากต่อไปให้

“เค้ากลับมาถึงโถง 3 ช่วง 4 ทุ่ม พร้อมกับข่าวดีว่าเจอเด็กแล้ว ทั้ง 13 คนในสภาพปลอดภัย ร่างกายโอเค ทุกคนจึงรู้สึกโล่งอก ที่ว่าเด็กปลอดภัยและแข็งแรง ทุกคนโล่งอก เพราะเวลาผ่านมาในการค้นหาเกือบ 9 วันแล้ว เด็กยังแข็งแรงปลอดภัย เราก็ยังรู้สึกเบาใจที่จะเสี่ยงเข้าไปเจอเด็กให้เร็วที่สุดนั้น มันผ่อนคลายลง ” น.อ. อนันต์ กล่าว

ขณะนั้นเด็กติดอยู่ในถ้ำมา 9 วันแล้ว จำเป็นต้องจัดชุดส่งเสบียงเข้าไปดูแล ทั้งขนม น้ำ ยารักษาโรค และแผ่นฟลอยด์อบอุ่นร่างกาย จึงจัดชุด 4 คน มีภารกิจเอาสิ่งของเหล่านี้ไปให้เด็ก หาข้อมูลกับเด็กหาข้อมูลเส้นทางถ้าจะเข้าไปต่อไป จะต้องเตรียมอะไรบ้าง เพื่อที่จะวางแผนต่อไป จากนั้น 4 คนก็เริ่มดำน้ำจากโถง 3 เข้าไปตอน 5 ทุ่ม พร้อมอุปกรณ์ที่สแตนบายไว้ที่โถง 3 โดยแต่ละคนนำถังอากาศไปคนละ 4 ถัง ก็ประเมินแล้วว่าจากโถง 3 ไป ผูกแนวเชือกไปจนถึงเด็ก ขณะเดียวกัน ก็ได้จัดเตรียมอีกชุดนึง เพื่อจะไปอยู่กับเด็ก โดยมี พันโท นายแพทย์ ภาคย์ โลหารชุน (หมอภาคย์) และซีลอีก 2 คน ชุดนี้ก็มีหน้านี้ไปดูแลเพื่อพร้อมไปอยู่กับเด็กยาวเลยจนกว่าเด็กจะได้ออกมา โดยชุดนี้ออก 05.00 น.

ข้อจำกัดที่ไม่สามารถติดต่อกันได้กับชุดที่ดำน้ำเข้าไป จึงต้องรอชุดแรกที่เข้าไปส่งเสบียงตอน 5 ทุ่ม จนครบ 7 ชั่วโมงนัดหมายก็ยังไม่กลับมา จนเวลาล่วงเลยไปถึง 10 ชั่วโมง 4 คนแรกยังไม่กลับมา จึงเกิดความกังวลอีกครั้งเกรงว่าจะได้รับอันตราย แต่เนื่องจากไม่มีทางอื่นจึงทำได้แค่รอ จะส่งคนไปตามก็ไม่มั่นใจ เพราะถ้าส่งคนไปจะเกิดอะไรขึ้นก็เหมือนส่งคนไปตายเพิ่ม  ระดับน้ำก็คงที่ไม่ลดลงเพราะคนตั้ง 4 คน ไปเพิ่มอีก 3 รวมเป็น 7 คน จนนับไปครบ 23 ชั่วโมง จากที่นั่งคอยอยู่ริมน้ำโถง 3 ได้มีการจัดเวรนั่งรอการกลับมาของทีม จนเวลาประมาณ 21.00 น.ของอีกวัน สิ่งแรกที่เห็นคือ แสงไฟที่มาจากใต้น้ำ สะท้อนขึ้นมาผิวน้ำ ทุกคนก็เฮกัน ด้วยความดีใจว่าเพื่อนกลับมาแล้ว แต่กลับพบว่านักดำน้ำกลับมาแค่ 3 คน จากทั้งชุดมี 4 คน โดยทั้ง 3 คนที่กลับมาร่างกายสะบักสะบอม อ่อนล้าและหมดแรง บางคนหนาวสั่นจนตัวเกร็ง จึงช่วยกันรีบปลดอุปกรณ์นำเค้าขึ้นมาที่เนินทรายให้ความอบอุ่นร่างกาย โดยสาเหตุที่กลับมาช้า เพราะเส้นทางที่ลำบากมาก จากจุดที่ไปสามแยกและไปหาเด็ก เป็นเส้นทางแคบๆและมีหินย้อยขวาง การดำน้ำไปต้องดำตามซอกหินย้อยพวกนี้ แล้วมันมืด ดำน้ำไปก็หัวโขกหินไปเรื่อย เพราะจากโถง 3 ไปจุดที่ว่าระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ใช้อากาศหมดไปถึง 2 ถัง พอก๊าซเริ่มหมด มันก็ทำให้ตัวลอยขึ้น มันดำไม่ลง พอดำไม่ลงก็ไปชนกับโขดหินย้อย ประกอบกับน้ำเย็นจัด พอดำน้ำไปถึงเนินนมสาวจุดที่เด็กอยู่ ต้องนอนพักให้ฟื้นตัวก่อน จาก 5 ทุ่มที่ออกไปถึงเนินนมสาวประมาณ 6 โมงเช้า แตกต่างจากต่างชาติที่ดำไป-กลับใช้เวลา 5 ชั่วโมง แต่เราดำไปขาเดียวใช้เวลา 6- 7 ชั่วโมง ส่วนของหมดภาคย์ที่ออกไปตี 5 ก็ไปถึงประมาณ 11.00 น.

เดิมทีที่คิดว่าจะเป็นงานง่าย แต่กลับยากและมีความเสี่ยง ส่วนอีก 1 คน ที่ยังไม่ได้ออกมา เพราะคิดว่าขวดอากาศที่แบกไป  4 ถังต่อ 1 คนจะเพียงพอ  5 ชั่วโมง แต่กลับใช้กันหมดเลย เพราะความยากที่จะไปหาได้ต้องใช้เวลานานขึ้น จึงอากาศหมด ก็รวบรวมอากาศที่จะออกมาได้แค่ 3 คน ส่วนที่เหลือนั้นก็อยู่ข้างในก่อน  พอได้ข้อมูลเสร็จก็ต้องพา 3 คนนี้มาพบแพทย์ที่ รพ.สนามหน้าถ้ำ

 

  • นำ 13 ชีวิต ออกมาจากถ้ำในภาวะกดดัน ยากว่าการค้นหา

การวางแผนนำเด็กออกมาจากถ้ำ จากองค์ความรู้ที่มี คิดไม่ถึงว่าต้องวางยาให้เด็กผ่อนคลายลงก่อน โดยมองแค่ว่าเอาหน้ากากฟูลเฟสแมสฝึกให้เค้าหายใจ ให้เค้าคุ้นเคยมั่นใจเสร็จแล้วก็จะพาดำน้ำออกมา แต่กลับพบว่าวิธีนี้อาจเสี่ยงเกินไป ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าเด็กจะไม่แตกตื่นแล้วดิ้นมีความเสี่ยงเกิดอันตรายได้

“คนนอกจะเข้าใจมั้ย พ่อแม่อาจจะบอกว่าลูกนั่งอยู่ตรงนั้นดีๆก็ปลอดภัยแล้ว เราเกิดพามาแล้วลูกเค้าเป็นอะไรไป ทีมงานที่ตายเลยน่ะ ” น.อ. อนันต์ กล่าว

ผู้การฯ อนันต์ ยอมรับว่า บ้านเราไม่เคยมีประสบการณ์แบบนี้ เลยคิดที่จะใช้วิธีการส่งเสบียงให้เด็กอยู่ตรงนั้นก่อน จนกว่าน้ำจะลดระดับลงในระยะปลอดภัยแล้วจึงนำออกมา แต่จุดเปลี่ยนก็เกิด ทีมงานดำน้ำเข้าไปอีกชุดเพื่อไปส่งเสบียง พร้อมกับนำเครื่องวัดออกซิเจนเข้าไปด้วย จึงได้ทราบว่าปริมาณออกซิเจนจุดเนินนมสาวลดลงเหลือ ร้อยละ 15 จากเกณฑ์ปกติควรจะเป็นร้อยละ 20 ขึ้นไป โดยทางการแพทย์แล้วนั้น หากออกซิเจนลดต่ำลงเหลือร้อยละ 13 อาจจะเสียชีวิตทั้งหมด ขณะเดียวกันก็มีพยากรณ์อากาศว่าจะมีพายุเข้ามา จึงรอไม่ได้ ซึ่งช่วงนั้นก็มีบริษัทต่างชาติเสนอแคปซูลเข้ามา แต่ ณ วันนั้นบริษัทนี้กำลังออกแบบอยู่ ซึ่งกว่าจะออกแบบเสร็จ และทดลองใช้ อาจจะไม่ทันการ ทางกองอำนวยการจึงคิดว่าวิธีที่จะเอาออกมาได้ดีที่สุดคือ ต้องพาเอาออกมาทางน้ำ

โดยมีหมอชาวต่างชาติ ดร.ริชาร์ด แฮร์ริส วิสัญญีแพทย์และนักดำน้ำชาวออสเตรเลีย มองหาวิธีการทำอย่างไรไม่ให้เด็กแตกตื่น ให้สามารถนำออกมาได้อย่างปลอดภัย ทั้งคนนำและเด็ก จึงเป็นที่มาของวิธีการนี้ ซึ่งในขณะนั้นก็นำหน้ากากฟูลเฟสแมสไปทดสอบกับนักเรียนในพื้นที่ ให้ทดลองว่า มีความเป็นไปได้มั้ยว่าจะใช้กับเด็กแล้วหน้ากากฟูลเฟสแมสไม่หลุด น้ำไม่เข้ามีการทดลองจนมั่นใจว่าจะเอาออกมาด้วยวิธีนี้ ขณะเดียวกันความยากของเส้นทาง เกรงว่าไปแล้วอากาศหมดจึงต้องวางขวดอากาศไว้ตามจุดต่างๆ จุดแรก จุดที่ลึกที่สุดเรียกว่าสวนสนุก เลยพัทยาบีช ก่อนถึงเนินนมสาว ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายที่จะดำน้ำไปหาเด็ก เป็นจุดที่หฤโหดมาก จึงวางแผนจะวางขวดอากาศตรงนี้จุดนึง และสามแยกอีกจุดนึง และจุดที่สาม คือจุดที่จะดำเข้ามาหาโถง 3 ซึ่งระยะทางประมาณ 300 เมตร ที่ไม่สามารถโผล่พ้นน้ำได้

พอวางแผนเสร็จ ก็จัดชุด 4 คน ไปวางจุดที่ลึกที่สุดที่สวนสนุกก่อน แต่ละคนก็จะมีถังอากาศ 3 ถัง สำหรับใช้ในการหายใจของตัวเอง ก็ลากขวดอากาศอีก 3 ถัง ที่มัดรวมกัน รวมแล้วแต่ละคนจะมีถังอากาศ 6 ถัง เป็นของตัวเอง 3 และลากเพื่อนำไปวางอีก 3 ถัง โดยคาดการณ์ว่าน่าจะใช้เวลา 4 ชั่วโมงแล้วกลับ แต่กลับใช้เวลากว่า 10 ชั่วโมงในการไป-กลับ ซึ่งเป็น 10 ชั่วโมงที่ทุกคนลุ้นว่า เมื่อไหร่จะกลับเหมือนเดิม ไปตั้งแต่ทุ่มกว่าๆ กลับมาถึงตี 4

  •  5 ก.ค. คืนสูญเสีย “จ่าแซม”

ต่อมาวันรุ่งขึ้น ที่ 5 ก.ค. ช่วงค่ำกำหนดให้ไปวางจุดที่สอง คือ บริเวณสามแยก วันนี้มีต่างชาติเข้ามาช่วย 4 คน เค้าก็มาช่วยเอาขวดอากาศไปวาง ตอนนั้นน่าจะเป็นช่วงเกือบ 5 โมงเย็น อาสาต่างชาติก็รับผิดชอบขวดอากาศคนละ 3 ถังเช่นกัน ด้วยความเป็นมือใหม่ ไม่มั่นใจว่าเค้าจะสามารถไปวางได้ตรงจุดหรือไม่ จึงให้คนไทย 1 คนตามทีมนี้ไป จังหวะนั้น จ่าแซม จ.อ.สมาน กุนัน หน่วยซีลนอกราชการ อยู่ตรงโถง 3 ขออาสาตามไปด้วย เพื่อเป็นบัดดี้ให้กับคนไทยที่นำต่างชาติไป จึงอนุญาตให้ไปเพราะนอกจากจ่าแซมจะเป็นซีลนอกราชการแล้ว ยังเป็นคนที่ร่างกายแข็งแรง เล่นกีฬาหลายชนิดเป็นประจำ ประกอบกับเค้าก็ช่วยแบกขวดขนของเป็นแนวหน้าอยู่กับพวกซีลตลอด  และการที่ใครจะมาอยู่โถง 3 ได้ ต้องดำน้ำลอดช่องหินที่มีความลำบากอันตรายมาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งก็มองว่าเค้าก็สามารถดำน้ำเข้าออก ลอดช่องต่างๆเข้าออกมาหลายรอบแล้ว การที่จะอาสานำขวดอากาศไปวางจึงไม่น่าจะเกินขีดความสามารถ

“ ความที่เค้ามีจิตอาสา อะไรที่เค้าช่วยได้ก็จะทำ เค้าเลยมักพูดกับพวกเราว่าเค้าอยากจะไปให้ถึงตัวเด็ก เค้าถึงมาอยู่กับเราตรงนี้ ผมเลยอนุญาตให้ไป ” น.อ. อนันต์ กล่าว

ต่างชาติชุดนี้ลำเลียงขวดอากาศ ออกไปประมาณ 17.00 น. จากนั้นประมาณครึ่งชั่วโมง จ่าแซมและคนไทยอีกคนดำออกตามไป ประมาณ 20.00 น. ชุดของต่างชาติก็ดำน้ำกลับมา ยังบอกว่าได้สวนทางกับจ่าแซม จึงน่าจะใกล้ถึงจุดที่วางขวดแล้ว จึงคาดว่าประมาณ 4 – 5 ทุ่ม คู่ของจ่าแซมจะต้องกลับออกมาแล้ว ทุกคนจึงนั่งคอยเหมือนทุกครั้ง ที่ส่งลูกน้องไปทำงานไม่เคยกลับมาตามเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ แต่ทุกครั้งก็กลับมาให้เราเห็นหน้า และในช่วงนี้การสูบน้ำมันเริ่มได้ผลน้ำข้างในถ้ำบางจุดมีช่วงที่เดินได้บ้างไม่ต้องดำน้ำตลอดทาง เดินได้และเดินลอดถ้ำบ้างเป็นบางช่วง ก็เลยรู้สึกว่าไม่ได้กังวลอะไรมาก ในช่วงที่เลยเวลาไป 1- 2 ชั่วโมง แต่เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 7 ชั่วโมง บัดดี้ของจ่าแซมได้ดำน้ำมาที่ห้องโถง 3 กลับมาคนเดียว พร้อมรีบตะโกนให้รีบเอาขวดอากาศไปช่วยบัดดี้เค้า

“ ตะโกนมาบอกว่าบัดดี้เค้าอากาศหมด ช่วยเอาไปช่วยหน่อย อยู่ไม่ไกลจากตรงนี้ พวกเราที่เตรียมอยู่แล้ว ก็รีบดำน้ำลงไปไม่เกิน 10 นาที กลุ่มที่ลงไปก็พาร่างของจ่าแซมขึ้นมา พวกเราก็ถอดอุปกรณ์และหามร่างเค้าขึ้นมาที่เนินทราย ” น.อ. อนันต์ กล่าว

แต่ความจริงแล้ว ทุกคนก็ทำใจตั้งแต่เห็นบัดดี้เค้ามาคนเดียวแล้ว แต่ก็เป็นสัญชาติญาณความหวังอย่างน้อยก็ดีกว่าที่เราจะไม่ทำอะไร นำขึ้นมาเสร็จแล้วก็ปั๊มหัวใจ ก็โชคดีว่าตรงนั้นเรามีแพทย์เวชศาสตร์ของกองทัพเรือ อยู่ที่ห้องโถง3 เค้าก็ช่วยปั๊มหัวใจ CPR ครึ่งชั่วโมง ไม่มีอาการตอบสนอง ก็ต้องหยุดและทำใจว่าเราได้สูญเสียไป ตอนนั้นเวลา  01.30 น. ที่ได้นำร่างเค้าขึ้นมา ก็ได้ถามบัดดี้เค้าว่ามันเกิดอะไรขึ้น บัดดี้ก็บอกว่า ระหว่างที่ไปวางขวดอากาศช่วงเดินทางกลับ มีช่วงนึงที่ต้องดำน้ำลอดช่องเล็กๆไป ระยะทางที่ต้องดำน้ำประมาณ 20 เมตร จ่าแซมเดินนำหน้า เค้าต้องเป็นคนดำน้ำก่อน เนื่องจากว่ามันมืดมีโคลนและน้ำขุ่น การดำน้ำก็ต้องทิ้งช่วงกันนิดนึง พอบัดดี้จ่าแซมดำน้ำไปสักพักนึงเห็นว่าจ่าแซมที่อยู่ข้างหน้าไม่ขยับ ก็สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น พบว่าเม้าท์พีช (Diving Mouthpiece) ท่อหายใจของจ่าแซมหลุดออกจากปาก ก็พยายามเอาเม้าท์พีชเข้าไปในปากของจ่าแซม แต่ก็ไม่ได้ตอบสนอง ก็เลยดำน้ำลากร่างของจ่าแซมลอดถ้ำออกมา พยุงลากไปที่เนินทราย (เนินสไลด์) เป็นเนินสุดท้ายที่น้ำยังไม่ท่วม เป็นจุดพักก่อนที่จะเดินไปถึงโถง 3 บัดดี้ได้ปฐมพยาบาลปั๊มหัวใจตรงนั้นแล้วพักนึงแต่ก็ไม่ฟื้น แม้ในใจก็รู้อยู่แล้วเพราะจุดที่พบจ่าแซมและกว่าจะลากมาถึงเนินนี้ได้ ก็เกิน 10 นาทีแล้ว บัดดี้นั่งทำใจอยู่กับจ่าแซม เมื่อคิดว่าพร้อมจะกลับมา แล้วจะพาร่างจ่าแซมกลับมาโถง 3 แต่ด้วยอุปสรรคเรื่องเส้นทางที่ยากลำบากและอุปกรณ์ที่จำกัด จึงตัดสินใจดำน้ำกลับมาบอกที่โถง 3 ให้ไปรับร่างจ่าแซมกลับมา

“เราได้ตรวจถังอากาศของจ่าแซม พบว่า 2 ขวดใช้จนหมด อีกขวดนึงเหลืออยู่ประมาณ 110 บาร์ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ ก็เพียงพอที่จะให้ใจ จากปกติที่อักอากาศไปขวดละประมาณ 180 – 200 บาร์ต่อ1ถัง ฉะนั้นคงไม่ใช่เรื่องของอากาศหมด ส่วนเม้าท์พีช ทำไมหลุดออกจากปาก เราสันนิษฐานว่า จ่าแซมอาจจะเกิดอาการวูบการการเหนื่อยล้า หรืออาจจะดำในช่องแคบเกิดอุบัติเหตุทำเม้าท์พีชหลุด แต่เมื่อหลุดแล้วก็ไม่สามารถจะคว้ากลับมาได้ เพราะมืด และแคบ ไม่สามารถดิ้นตัวได้นี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน แต่แพทย์ระบุการเสียชีวิตมาจากการหมดสติ “ น.อ. อนันต์ กล่าว

สภาวะตึงเครียด เนื่องจากปริมาณออกซิเจนจุดที่เด็กอยู่ลดต่ำลง ได้มีการลำเลียงสายท่อออกซิเจนเข้ามาที่โถง 3 จำเป็นต้องปล่อยร่างจ่าแซมไว้ที่โถง 3 ก่อน เพราะเจ้าหน้าที่ยังทำงานกันพลุกพล่านตลอดเวลา คนที่ทราบข่าวการจากไปของจ่าแซม ณ เวลานั้นจึงมีแค่เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในโถง 3 เท่านั้น เนื่องจากไม่อยากให้ทุกคนที่กำลังทำงานเกิดความแตกตื่นหรือเกิดเสียกำลังใจได้ ก็ให้ทุกคนทำงายจนลากสายออกซิเจนเสร็จ แล้วให้ทุกคนออกไปหมด เราถึงเคลื่อนย้ายร่างของจ่าแซมออกมา

“ แต่การสูญเสียจ่าแซม ก็ไม่ได้ทำให้เราต้องยกเลิกต้องหยุดภารกิจ เพราะเราไม่สามารถที่จะรอเวลาได้ ด้วยข้อมูลเรื่องออกซิเจนในห้อง เรื่องน้ำ เรื่องฝน ก็ทำงานต่อ ” น.อ. อนันต์ กล่าว

  • นาทีที่ทีมหมูป่า คนสุดท้ายออกจากถ้ำได้ปลอดภัย

วันรุ่งขึ้น ก็ทำงานวางขวดอากาศกันต่อ กองอำนวยการได้วางแผนและสรุปแล้วว่าจะนำเด็กออกมาวันไหน แผนในการนำเด็กออกคือ ตั้งแต่โถง 3 เป็นต้นไปจนถึงตัวเด็ก จะเป็นทีมงานนักดำน้ำของต่างชาติทั้งหมด เพราะมีความเชี่ยวชาญ และมีความพร้อมในหลายอย่าง ทั้งเรื่องของภาษาและความเป็นทีม เพราะว่านักดำน้ำที่ระดมกันมาเห็นฝีมือกันอยู่แล้ว ตอนที่นำเด็กมาถึงโถง 3 เด็กยังขยับตัวได้อยู่ แต่ถูกล็อกมือและขาไว้ เพื่อไม่ให้ดิ้นง่ายต่อการเคลื่อนย้าย ทีมงานต่างชาติที่กำหนดนำเด็กออกมามี 12 คน ใน 12 คนนี้มีการจัดชุดว่าใครบ้างไปถึงตัวเด็ก และจากเนินนมสาวออกมาจะมีการวางจุดเป็นระยะเพื่อส่งต่อ ในช่วงที่เดินได้ก็จะใช้เปลช่วยกันหามเด็กออกมา ส่วนช่วงเป็นน้ำก็จะเอาเปลออกนำออกมา เพราะเด็กทุกคนมีขวดอากาศของตัวเอง ถ้าจะอุ้มก็คงจะไม่ถนัด

“ ความรู้สึกตอนนั้นไม่ต่างจากคนไทยทั่วประเทศ ผมและทุกคนดีใจ ด้วยความยากลำบากและสิ่งที่ทุกคนคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้มันเกิดขึ้น ความกังวลที่คิดว่าจะเกิดอันตายกับเด็กสักคนได้นั้นมันไม่เกิด ทุกคนปลอดภัย 100 เปอรเซ็นต์ นี่คือเรื่องหายเหนื่อย คุ้มกับความเหนื่อยยากที่เราต่อสู้กันมา 10 กว่าวัน ” น.อ. อนันต์ กล่าว

ผู้การฯ อนันต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ ไม่เพียงให้ประสบการณ์ที่มีค่า แต่ต้องมองกลับมาพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถตัวเองให้มีความพร้อมที่จะทำงานในลักษณะนี้อีก ทั้งเรื่องบุคคล องค์ความรู้ และอุปกรณ์ แต่การปฏิบัติงานที่ถ้ำหลวงนี้บททดสอบที่ได้เห็นได้ชัด คือ สภาพของจิตใจของกำลังพล ที่พร้อมจะเสียสละแม้กระทั่งชีวิต แม้จะไม่มีประสบการณ์ดำน้ำในถ้ำ และเสี่ยงอันตราย แต่ทุกคนพร้อมที่จะทำ ทุกคนไม่มีทางรู้ได้ว่าต้องเจอกับปัญหาอะไร แต่ลูกน้องไม่ปฏิเสธและอยากไป เราไม่ได้บังคับให้ลูกน้องไปเสียชีวิต

“สิ่งเดียวที่ทำให้งานนี้สำเร็จ คือสิ่งที่เราถูกสอนมา ให้ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค คนที่มาปฏิบัติภารกิจนี้ต้องถูกฝึกมาอย่างดี และทุกครั้งที่ส่งลูกน้องดำน้ำเข้าไป ต้องทำใจไว้ส่วนนึงว่าอาจจะไม่ได้กลับมา….”

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า