Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว
8 มีนาคม ‘วันสตรีสากล’ ปีนี้ 2566 ที่ใกล้จะมีการเลือกตั้งใหญ่ ‘พรรคการเมือง’ บางพรรคถือฤกษ์ เปิดนโยบายเพื่อผู้หญิง กลุ่มความหลากหลายทางเพศ ที่มุ่งไปในทิศทางคล้ายกัน นั่นคือความเสมอภาค และเพศไม่ใช่ข้อจำกัด สรุปจากการเปิดแถลงข่าวของ 3 พรรคการเมือง

พรรคเพื่อไทย

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นำแถลงข่าวนโยบายเพื่อผู้หญิง เนื่องในวันสตรีสากล ณ พรรคเพื่อไทย ภายใต้ธีม “DigitALL: Innovation and technology for gender equality นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ” โดยผู้เข้าร่วมสวมเสื้อ “embrace equity โอบกอดความเสมอภาค” เพื่อแสดงจุดยืนความเสมอภาคทางเพศของพรรคเพื่อไทย

โดย น.ส.แพทองธาร บอกว่า พรรคเพื่อไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีที่จะเป็นตัวช่วยสำคัญ ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ และจะเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ โดยมีการเปิดนโยบาย 2 อย่าง ที่จะสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศอย่างทั่วถึง

นโยบายแรก คือ การยกระดับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ด้วยเทคโนโลยี ให้ผู้หญิงทุกคนเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาทักษะ ซึ่งเดิมที กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี คือหนึ่งในความสำเร็จของการสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้น ในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีกรอบความรับผิดชอบ 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน, การพัฒนาทักษะอาชีพ, และการดูแล ปกป้องสิทธิสตรี, ผู้ด้อยโอกาส, ผู้พิการ และผู้สูงอายุ เพื่อดูแลประชากรหญิงครอบคลุมทุกมิติ

ในปัจจุบันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการหญิงยังเป็นปัญหา จากข้อมูลธนาคารโลกระบุว่า ในประเทศกำลังพัฒนา ผู้ประกอบการหญิงมีจำนวนเพียง 30 % และมีถึง 70% ที่ไม่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสถาบันการเงิน โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในภาคค้าปลีกซึ่งเติบโตน้อย กำไรน้อย และยังขาดเทคโนโลยี

พรรคเพื่อไทย จึงมีนโยบายต่อยอดความสำเร็จของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ผ่านการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาศักยภาพกองทุน โดยเทคโนโลยีจะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ทำให้เกิดการสร้างคน สร้างเครือข่าย เชื่อมตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพิ่มศักยภาพการเข้าถึงนวัตกรรม และเพิ่มการปกป้องสิทธิ์ต่างๆ เพื่อผู้หญิงทุกคนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม และสามารถยืนหยัดด้วยตัวเองอย่างภาคภูมิ

นโยบายที่ 2 คือ การฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกฟรีสำหรับผู้หญิงทุกคน เนื่องจากสาเหตุการเสียชีวิตของหญิงไทยเกิดจากมะเร็งปากมดลูกเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้เห็นถึงความสำคัญของสุขภาวะในเพศหญิงและมีแนวทางลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันให้กับผู้หญิงทุกคนที่ยังไม่ติดเชื้อ HPV โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

น.ส.แพทองธาร ยังกล่าวถึงความเท่าเทียมทางเพศในประเทศไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้น จากการเคยมีนายกรัฐมนตรีหญิง มีผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง และในภาคการเมืองผู้หญิงก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยการเลือกตั้งที่ใกล้จะถึงนี้ พรรคเพื่อไทยมีสัดส่วนผู้สมัคร ส.ส.หญิง 20% มากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนที่มี 15 % โดยไม่ได้มีการจำกัดเพศในการคัดเลือกผู้สมัครแต่มาจากความเหมาะสมเป็นหลัก

“พรรคเพื่อไทยยึดหลักความเสมอภาคทางเพศ (Gender Equity) เราจะทำให้เพศไม่ใช่อุปสรรคในการใช้ชีวิต เรายืนหยัดที่จะทำให้ทุกคนสามารถสานฝัน ทำในสิ่งที่ทุกคนต้องการ ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน ทุกคนสามารถเป็นทุกสิ่งที่คุณต้องการได้” น.ส.แพทองธาร กล่าว

พรรคไทยสร้างไทย 

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย นำแถลงข่าวนโยบาย เนื่องในวันสตรีสากล ดังนี้

1. ตั้งกองทุนพลังหญิง เพื่อให้ผู้หญิงทุกคนมีงานทำมีอาชีพที่มั่นคง ผู้หญิงทุกคนต้องมีงานทำและไม่มีหนี้

– ตั้งเครือข่ายออนไลน์เพื่อจับคู่งานที่เหมาะสมให้กับผู้หญิงที่ว่างงาน ส่งเสริมอาชีพให้มีรายได้อย่างยั่งยืนและเพียงพอ

– มีโครงการ Upskill และ Reskill ให้แก่ผู้หญิง

2. ตั้งศูนย์ Women Care ต่อยอดจากศูนย์พึ่งได้ ที่ได้ทำโครงการเมื่อสมัย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรียกว่าศูนย์พึ่งได้ ตั้งอยู่ทุกโรงพยาบาล โดยเพิ่มงบประมาณและบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กตั้งแต่การตั้งครรภ์จนถึงการช่วยลดความรุนแรงในเด็ก สตรี และผู้มีความหลากหลายทางเพศ

– สร้างสุขภาพที่ดีให้ผู้หญิง ในนโยบาย 30 บาท Plus ของพรรค จะมีการตรวจภายในฟรี ตรวจมะเร็งเต้านม ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกฟรีให้เด็กผู้หญิง

– แจกผ้าอนามัยฟรี ให้กับเด็กนักเรียนและผู้หญิงที่มีรายได้น้อย

– ให้มีการทำงานและบริการที่เป็นมิตรและเหมาะสมกับเพศสภาพ ตลอดจนบริบทเฉพาะ เช่น การฝากครรภ์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้โดยแพทย์ที่เป็นผู้หญิง งานที่ไม่ก่อความเสี่ยงให้แม่ที่ตั้งครรภ์

3. จัดตั้งกองทุนแม่เลี้ยงเดี่ยว

– ปัจจุบันมีแม่เลี้ยงเดี่ยวประมาณ 370,000 คน ซึ่งมากกว่าพ่อเลี้ยงเดี่ยว 4 เท่า

– แม้ว่ารัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนแก่แม่เลี้ยงเดี่ยว แต่มีเพียง 50,000 รายเท่านั้นที่ได้รับและอาศัยอยู่แค่ในจังหวัดนำร่องเพียงไม่กี่จังหวัด

– กองทุนนี้มีวัตถุประสงค์ให้แม่เลี้ยงเดี่ยว มีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตนเอง และลูกได้อย่างมั่นคง

4. เพิ่มจำนวน ส.ส.ผู้หญิงในสภา ด้วยโครงการ More WIP (More Women in Politics) เพิ่มจำนวน ส.ส. ผู้หญิงในสภาผ่านการอบรม เสริมสร้างศักยภาพ สร้างเครือข่าย และให้คำปรึกษา โดยไทยสร้างไทยได้ตั้ง Gender Clubเพื่อเสริมพลังและเปิดให้มีการแสดงความเห็นทุกด้าน รวมทั้งรณรงค์ให้ตระหนักรู้สิทธิ เสรีภาพในด้านต่างๆ และส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนในการบริหารทั้งการเมืองและราชการ อย่างน้อยร้อยละ 20

 

พรรคก้าวไกล 

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวเปิดตัวนโยบายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ยืนยันพร้อมสานต่อภารกิจของพรรคอนาคตใหม่ ในการสร้างประเทศไทยที่ ‘คนไทยเท่าเทียมกัน ประเทศไทยเท่าทันโลก’ โดย 10 นโยบายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศของพรรคก้าวไกล ซึ่งเรียงตามช่วงอายุของคนคนหนึ่งตั้งแต่เกิดจนแก่ ประกอบด้วย

1. ผ้าอนามัยไม่เก็บ VAT แจกฟรีในโรงเรียน ด้วยการยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในสินค้าหมวดหมู่ผ้าอนามัยและของใช้สิ้นเปลืองสำหรับวัยเจริญพันธุ์ และแจกผ้าอนามัยฟรีในสถานศึกษาและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนผ้าอนามัยและความจนประจำเดือน (Period Poverty) โดยเฉพาะสำหรับผู้มีประจำเดือนในวัย 10-25 ปี

2. ปฏิรูปการสอนเพศศึกษา ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ด้วยการออกแบบหลักสูตรใหม่ ให้การสอนเรื่องเพศศึกษา (Sex education) ให้ความสำคัญกับค่านิยมต่างๆ เช่น ความเข้าใจเรื่องความยินยอม (consent) ความหลากหลายทางเพศ และสอนเรื่องทางกายภาพอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เยาวชนเข้าใจความสำคัญของการป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่ประสงค์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

3. ตำรวจหญิงทุกสถานี ด้วยการเพิ่มจำนวนตำรวจหญิง เพื่อให้อย่างน้อยมีเพียงพอต่อการมีพนักงานสอบสวนหญิงประจำทุกสถานีตำรวจ เช่น เพิ่มจำนวนรับให้สูงขึ้น เปิดรับจากบุคคลภายนอกมากขึ้น พิจารณากลับมาเปิดรับนักเรียนนายร้อยหญิง เนื่องจากสถิติของกระทรวงยุติธรรม พบว่าไม่ต่ำกว่า 75% ของผู้หญิงไทยที่เคยถูกคุกคามทางเพศ เลือกที่จะไม่แจ้งความ เหตุผลส่วนหนึ่งคือความไม่สบายใจ เพราะผู้เสียหายสะดวกใจกับพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้หญิงมากกว่า นอกจากนี้ ต้องออกแบบกระบวนการอบรมและประเมินตำรวจทุกคนไม่ว่าเพศใด ที่รับผิดชอบคดีคุกคามทางเพศ ให้สามารถดำเนินการด้วยวิธีการและบรรยากาศที่เข้าใจถึงความละเอียดอ่อนของคดีและสนับสนุนให้เหยื่อรู้สึกปลอดภัยในการให้ข้อมูลในกระบวนการยุติธรรมด้วย

4. ปรับปรุงกฎหมายต่อต้านความรุนแรงทางเพศ ด้วยการแก้ประมวลกฎหมายอาญา และกฎ ก.พ. เพื่อกำหนดนิยามใหม่ของการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ การกระทำอนาจาร และการกระทำชำเราเสียใหม่ เพื่ออุดช่องว่างของกฎหมายให้ครอบคลุมปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมากขึ้น

5. สมรสเท่าเทียม คู่รักทุกเพศแต่งงานกันได้ ด้วยการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว โดยเปลี่ยนคำในตัวบทกฎหมาย จากคำนามที่ระบุเพศ เช่น ชาย-หญิง สามี-ภรรยา เป็นคำนามไม่ระบุเพศ อาทิ บุคคล คู่สมรส เพื่อให้คนทุกเพศสามารถหมั้นและสมรสกันได้ และมีสิทธิในฐานะคู่หมั้นหรือคู่สมรสโดยเสมอหน้ากันทุกประการ

6. รับรองทุกเพศสภาพ คำนำหน้าตามสมัครใจ ด้วยการปรับโครงสร้างรัฐและกฎหมายให้รับรองทุกเพศสภาพ เพื่อเป็นรากฐานในการออกแบบนโยบายในทุกมิติ คุ้มครองสิทธิการรับรองทางกฎหมาย ผ่านการกำหนดมาตรการรับรองสถานะความเป็นบุคคลให้ตรงกับเจตจำนงในเพศสภาพของบุคคลนั้น โดยไม่ต้องผ่านการรับรองหรือกระบวนการทางการแพทย์ และคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการใช้คำนำหน้านามตามความสมัครใจ ซึ่งรวมถึง สิทธิในการเปลี่ยนคำนำหน้านามให้ตรงกับเพศสภาพ สิทธิในการเลือกคำนำหน้านามที่เป็นกลางทางเพศ (เช่น “นาม”) สิทธิในการเลือกไม่ใส่คำนำหน้านาม (ระบุเพียงชื่อและนามสกุล) ตลอดจนออกกฎหมายที่ขจัดการเลือกปฏิบัติในสังคม เพื่อให้ทุก ๆ เพศมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน

7. ยุติการตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ รับยาฟรี ทุก รพ.สต. ด้วยการคุ้มครองสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ สำหรับบุคคลที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ให้สามารถรับยายุติการตั้งครรภ์ได้ที่ รพ.สต. ทุกแห่งทั่วประเทศ มีการให้คำปรึกษาหลังจากการยุติการตั้งครรภ์ฟรี เพื่อตรวจสอบและฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้หญิงที่เข้ารับการยุติการตั้งครรภ์

8. สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้ ด้วยการขยายสิทธิลาคลอดจากปัจจุบัน (98 วัน) เพิ่มเป็น 180 วัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลขององค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ที่กำหนดให้บุตรควรได้รับนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด โดยพ่อแม่สามารถแบ่งวันลาได้ตามความสะดวก หรือใช้ร่วมกัน เช่น แม่ลา 5 เดือน พ่อใช้อีก 1 เดือน เพื่อช่วยแบ่งเบาการทำหน้าที่และร่วมกันดูแลลูกในช่วง 1 เดือนแรก

9. ศูนย์เลี้ยงเด็กใกล้บ้าน ห้องปั๊มนมในที่ทำงาน ด้วยการเพิ่มงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำไปบริหารจัดการเกี่ยวกับการดูแลเด็กเล็กในรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตน เช่น การเพิ่มมาตรฐานศูนย์ให้เหมาะกับเด็กเล็ก การเพิ่มสัดส่วนผู้เลี้ยงดูเด็กต่อจำนวนเด็กเล็ก การอุดหนุนสถานเลี้ยงดูเด็กของเอกชน รวมถึงใช้กลไกของ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน กำหนดให้อาคารสำนักงานและสถานประกอบการขนาดใหญ่จำเป็นต้องจัดให้มีสถานที่เลี้ยงดูเด็กเล็กและสิ่งที่เกี่ยวข้อง (เช่น ห้องปั๊มนม) ภายในหรือใกล้อาคารสำนักงานหรือสถานประกอบการ เพื่อความสะดวกต่อการดูแลบุตรของพ่อแม่.

10. ตรวจมะเร็งฟรี ไม่ต้องรอหมอสั่งใน Package ตรวจสุขภาพประจำปีฟรี ของพรรคก้าวไกล ตรวจคัดกรองฟรี 5 มะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทย ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงโดยให้บรรจุในแพ็กเกจตรวจสุขภาพ รวดเร็วขึ้นเพราะไม่ต้องรอหมอสั่ง ปัจจุบันผู้หญิงสามารถตรวจมะเร็งปากมดลูกได้เท่านั้นที่ไม่ต้องรอหมอสั่ง   แต่คนใช้สิทธิ์ยังน้อย  ซึ่งพรรคก้าวไกลจะเพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพประจำปีของประชาชนให้ครอบคลุมขึ้นและมีแรงจูงใจเป็นค่าเดินทาง ติดตามรายละเอียดได้ในการเปิดนโยบายสุขภาพเร็วๆ นี้

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า