Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

‘ไฟแรงมากตอนขอไลเซ่นส์เสร็จ เราลุย แต่พอได้ไลเซ่นส์เสร็จปุ๊ปก็โควิดเลย คือได้ไลเซ่นส์ประมาณปลายปี 2019 (2562) และเราก็เตรียมแผนการมากมายในปี 2020 (2563) และก็เกิดโควิด ก็ต้องทำงานจากบ้าน (Work from Home)’

‘เผ่า-ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด เล่าให้ TODAY Bizview ฟังในวันสัมภาษณ์

สำหรับคนที่มีประสบการณ์ลงทุนอยู่บ้าง ชื่อของ ‘จิตตะ’ (Jitta) อาจไม่ใช่ชื่อใหม่ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน เพราะบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ.เจ้านี้ ขยันออกบทความดีๆ มาให้นักลงทุนมาอ่านอยู่เสมอๆ

แต่สำหรับคนที่ยังไม่เคยได้ยินชื่อของ Jitta เป็น บลจ.ที่ให้บริการ ‘กองทุนส่วนบุคคล’ (Private Fund) ความพิเศษคือ กองทุนที่ Jitta เสนอขาย เป็นกองทุนที่ใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ดูแลการลงทุนแบบ 100%

[ Jitta คืออะไร AI ลงทุนหน้าตาเป็นแบบไหน ]

ปัจจุบัน Jitta มี 2 บริการหลักด้วยกัน คือ

1. Jitta Stock Analysis บริการ AI วิเคราะห์หุ้นตามปัจจัยพื้นฐาน ปัจจุบันวิเคราะห์หุ้นครอบคลุมใน 29 ประเทศ หรือครอบคลุมแทบทุกตลาดหุ้นทั่วโลก นักลงทุนสามารถเข้ามาดูปัจจัยพื้นฐาน เช่น มูลค่ากิจการ ราคาเหมาะสม และสามารถเลือกลงทุนได้ เปิดให้บริการฟรี

2. Jitta Wealth Platform บริการกองทุนส่วนบุคคล นักลงทุนสามารถเปิดบัญชีและฝากเงินให้ Jitta ช่วยบริหารได้ ความแตกต่างจากเจ้าอื่น คือ การใช้เทคโนโลยีบริหารจัดการ การส่งคำสั่งซื้อขายอัตโนมัติ

‘นักลงทุนไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแต่ศึกษาหลักการลงทุน และนโยบายที่เรามีว่าอัลกอริทึมทำงานอย่างไร เราลงทุนแบบไหน และมีแนวคิดการลงทุนระยะยาวอย่างไร’

ใครที่ชอบลงทุนเองก็สามารถไปใช้บริการ Jitta Stock Analysis วิเคราะห์ได้ ส่วนนักลงทุนที่ไม่อยากทำอะไรเลย ก็สามารถเข้ามาใช้บริการของ Jitta Wealth Platform ได้

jitta-one-of-the-startups-that-survived-the-covid

[ หนึ่งในสตาร์ทอัพที่ก้าวผ่านช่วง 10 ปีแรก ]

‘ถ้ามองในมุมบริษัท เราก็ผ่านไมล์สโตนใหญ่ๆ ของสตาร์ทอัพมาเยอะ การจะอยู่รอดมา 10 ปีนี่ก็ยากเหมือนกัน โดยเฉพาะบริษัทที่ทำเกี่ยวกับเทคโนโลยีในประเทศไทย’

หากเทียบกับตลาด สตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการวิเคราะห์หุ้นช่วงไล่เลี่ยกันกับ Jitta จะไม่ค่อยอยู่กันแล้ว ในต่างประเทศเองก็เช่นกัน เจ้าที่ Jitta เคยศึกษาโมเดลบางรายก็ล้มหายตายจากไปแล้ว

ในช่วง 4-5 ปีแรก แน่นอนว่า Jitta ยังไม่สามารถทำรายได้ โดยเฉพาะใน 3 ปีแรก แทบไม่มีรายได้ เพราะนักลงทุนยังไม่กล้าลงทุนกับ Jitta หากย้อนกลับไปในปี 2555 วงการสตาร์ทอัพไทยยังค่อนข้างใหม่ ยังมีคนสนใจไม่มาก

‘Jitta ก็ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกช่วงนั้น (ก่อตั้งมา 11 ปี) มีการพาทีมไปเยี่ยมชม Silicon Valley ด้วย เพราะวิธีคิดของเราตั้งแต่แรกคือ ถ้าเราจะทำสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี เราควรมีโปรดักต์ที่วันหนึ่งต้องไปต่างประเทศได้’

ขยายความคือ เรื่องของอินเทอร์เน็ตเทคโนโลยี เป็นเรื่องของการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ถ้าต้นทุนเท่าเดิม เมื่อมีรายได้ ก็สามารถขยายธุรกิจได้โดยที่ต้นทุนไม่เพิ่ม หากขยายธุรกิจไปต่างประเทศ ผลตอบแทนที่ได้ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

[ ตอบคำถามสำคัญ ‘เกิดมาเพื่อใคร’ ]

สำหรับเงินทุนช่วงแรก Jitta ถือว่าโชคดีที่มีเงินทุนส่วนตัวจากที่เคยทำธุรกิจและเป็นนักลงทุนในช่วงก่อนหน้านี้ อีกหนึ่งความโชคดีคือ ต้นทุนการทำสตาร์ทอัพในประเทศไทยถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ยกตัวอย่างเช่น ค่าจ้าง ค่ากินอยู่ หรือค่าใช้จ่ายในการเช่าออฟฟิศ ถือว่าไม่แพงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยช่วง 2-3 ปีแรก Jitta เริ่มจากทีมงานเล็กๆ เพียง 8 คนเท่านั้น เพื่อทำโพรโตไทป์ หลังจากคนเริ่มใช้มากขึ้นก็มี Angel Investor เข้ามาลงทุน หลังจากนั้นก็ค่อยๆ โตมาเรื่อยๆ

‘ผมว่าช่วงที่ยากคือช่วงที่ค้นหาตัวตนว่า เราเกิดมาเพื่อใคร เราจะทำเซอร์วิสอะไร มันแก้ปัญหาหรือ Pain Point คนแบบไหน และกลุ่มคนแบบนั้นมีตลาดที่ใหญ่พอไหม’

Pain Point แรกของ Jitta คือ นักลงทุน ซึ่งก็ได้ Jitta Stock Analysis มาช่วยเรื่องการวิเคราะห์หุ้นและการลงทุน แต่ถึงจุดหนึ่ง Jitta ก็ขยายมากลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รู้ว่าควรลงทุน แต่ไม่อยากลงทุนเอง อาจจะไม่มีเวลา ไม่มีความรู้ ไม่อยากรับความเสี่ยง จึงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ 2 คือ Jitta Wealth Platform

‘สตาร์ทอัพต้องเริ่มจาก Niche Market แล้วค่อยๆ ขยาย แต่ต้องมีปลายทางที่เห็นว่าอุตสาหกรรมของคุณมันใหญ่ อย่าง Jitta เองก็มองแต่แรกว่า ต่อให้เราทำรายได้ไม่ได้ แต่เราอยู่ในอุตสาหกรรมการเงินที่มีมูลค่าล้านล้าน ถ้าเราเข้าไปได้ ก็มีทางให้เติบโตไปได้’

jitta-one-of-the-startups-that-survived-the-covid

[ สตาร์ทอัพการเงิน ‘ความเชื่อมั่น’ สำคัญ ]

เมื่อถามถึงการสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน ในฐานะผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมการเงิน Jitta มองว่า คีย์หลักคือเรื่อง ‘ความเชื่อมั่น’ (Trust) ‘ความสื่อสัตย์’ (Truthful) และ ‘ความโปร่งใส’ (Transparency)

‘สิ่งสำคัญไม่ใช่โปรดักต์หรือรีเทิร์น แต่คุณทำให้คนอื่นเชื่อมั่นในโปรดักต์ได้ไหม การจะทำให้คนเชื่อมั่นก็ต้องอาศัย 2 อย่างคือ Truthful และ Transparency ซึ่งเป็นสิ่งที่ Jitta ทำมาตลอดตั้งแต่ก้าวแรก’

ยกตัวอย่างเช่น Jitta Stock Ananlysis มีการอธิบายหลักการวิเคราะห์หุ้น รวมถึงทดสอบระบบเทรด (Forword Test) ให้นักลงทุนพิจารณา ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น

นอกจากนี้ ช่วงแรกมีการเปิดออฟฟิศให้นักลงทุนเข้ามานั่งคุยว่า Jitta ใช้หลักการลงทุนอะไร มีแนวคิดการลงทุนอย่างไรอีกด้วย

‘บางทีเราเห็นสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Products) ซึ่งสามารถโตเร็วได้ เอาคนเข้ามาก่อน ใช้ไม่ใช้ไม่เป็นไร แต่ Jitta คิดกลับกัน เราต้องจำกัดการเติบโต ช่วงแรกจึงเปิดเป็นการเชิญมาใช้ (Invitation Only) เท่านั้น’

ในช่วงแรกคนที่มาฟัง Open House ถึงจะได้สิทธิใช้งาน โดยสามารถเชิญเพื่อนได้ครั้งละ 5-10 คน หากเพื่อนที่เชิญใช้ไม่เป็นก็สามารถเข้ามาฟัง Open House ได้ ทำให้ Jitta ได้ผู้ใช้กลุ่มแรกที่มีความรู้ ความเข้าใจ และกลายเป็น Speaker แทนบริษัทฯ

‘ในมุมสตาร์ทอัพเขาถึงได้บอกว่า First User หรือ 100-1,000 ผู้ใช้แรกสำคัญมาก เพราะถ้าทำได้ดี เขาก็จะภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) เขาก็ช่วยบอกต่อ’

[ ผ่านโควิดมาได้ ไม่ใช่เพราะโชคช่วย ]

‘ไฟแรงมากตอนขอไลเซ่นส์เสร็จ เราลุย แต่พอได้ไลเซ่นส์เสร็จปุ๊ปก็โควิดเลย คือได้ไลเซ่นส์ประมาณปลายปี 2019 (2562) และเราก็เตรียมแผนการมากมายในปี 2020 (2563) และก็เกิดโควิด ก็ต้องทำงานจากบ้าน (Work from Home)’

แต่ความโชคดีคือ Jitta เป็นบริษัทเทคโนโลยี ซึ่งปกติทำงานผ่านทางออนไลน์กันอยู่แล้ว เมื่อเกิดโควิด-19 จึงสื่อสารกับพนักงานและ Work from Home ได้ทันที ค่อนข้างง่ายในการปรับตัว

หลังเกิดโควิด-19 จะมีช่วงที่ลูกค้าตึงเครียด เพราะหุ้นตกกันทั้งโลก 30-40% ในตอนนี้บริษัทฯ มองว่า ความสบายใจ ความเชื่อใจของลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ จึงเปิดซัพพอร์ต 24 ชั่วโมง โทรมาตี 3 ตี 4 ก็รับสาย

‘ทุกคนเครียด เพราะมันไม่เคยเกิดขึ้น ช่วงนั้นเราพยายามจัด Webminar สัมมนาออนไลน์เรื่อยๆ 1-2 อาทิตย์ครั้ง เพื่อบอกกับนักลงทุนว่า วิกฤตตรงนี้มันเป็นโอกาสอย่างไร ควรลงทุนแบบไหน ให้เขามั่นใจ’

ในช่วงนั้น Jitta ใช้โอกาสเปิดแผนการลงทุนใหม่ สามารถลงทุนต่างประเทศได้ผ่านกองทุนดัชนี (ETF) รวมถึงลงทุนตามธีมเทรนด์โลก (Mega Trend) ซึ่งทุกคนก็เห็นโอกาสว่าช่วงโควิด-19 กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มออนไลน์ต่างๆ เติบโตเยอะ ในขณะที่ประเทศไทยไม่มีหุ้นกลุ่มนั้น

jitta-one-of-the-startups-that-survived-the-covid

[ คนเราถ้าคิดจะลงทุน อะไรยากที่สุด ]

หากพูดถึงการลงทุน ความยากคือ ‘วินัย’ ต่อให้รู้ว่าหลักการอะไรใช้ได้ผล แต่ลงทุนหน้างานจริงก็มักจะไปตามอารมณ์ ซื้อขายหุ้นแบบที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมเทคโนโลยีถึงเข้ามาช่วยนักลงทุนได้

‘คุณต้องกระจายความเสี่ยง พอถึงวันที่ปรับพอร์ตต้องปรับพอร์ต ผมว่าเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเรื่องการเงินได้ดีตรงที่ควบคุมวินัยให้เป็นไปตามหลักการได้’

ในช่วงที่ผ่านมา Jitta พยายามสื่อสารเสมอว่า หากต้องการเก็งกำไร ลงทุนระยะสั้น อาจจะไม่เหมาะลงทุนกับ Jitta ซึ่งใช้หลักการลงทุนระยะยาว เช่น ตลาดหุ้น 10 ปี ระหว่างทางปรับลง 40-50% แต่ระยะยาวอาจได้กำไรทบต้น 15% เป็นต้น

แต่ในช่วงโควิด-19 ก็มีช่วงที่ลูกค้าที่วิตกกังวล บางรายถึงขนาดเดินทางมาที่ออฟฟิศ ซึ่งก็ต้องสื่อสารหลักการลงทุนให้ทั้งพนักงานและลูกค้าเข้าใจ มีการเปิดสายด่วน (Hotline) 24 ชั่วโมง ก็ทำให้นักลงทุนที่เชื่อมั่นในหลักการยังลงทุนต่อเนื่อง

‘ตอนที่เราเปิด Jitta Wealth ก็มีนักลงทุนหลายคนบอกเหมือนกันว่า ทำไมไม่เปิดตั้งแต่ปี 2008 (2551) ตอนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ถ้าลงทุนตอนนั้นรวยแล้ว แต่คนเหล่านั้นพอมาเจอช่วงโควิด-19 ก็ไม่กล้าลงทุนเหมือนกัน’

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าช่วงวิกฤตแล้วจะลงทุนในอะไรก็ได้ เพราะในแต่ละวิกฤตก็มีทั้งกลุ่มที่ได้และเสียประโยชน์ หากจะลงทุนเองก็ต้องวิเคราะห์ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเอื้อหรือเสียกับหุ้นกลุ่มไหน แต่หากไม่อยากลงทุนเอง ก็มาใช้บริการ Jitta ได้

[ 3 ข้อสำคัญสำหรับสร้างความมั่งคั่ง ]

การสร้างความมั่งคั่งจากการลงทุนประกอบด้วย 3 หลักการสำคัญด้วยกัน คือ 1. เงินต้น 2. ผลตอบแทน และ 3. ระยะเวลา ซึ่งเงินต้นต้องบอกว่า ‘บุญพา วาสนาส่ง’ บางคนบ้านรวย แต่คนส่วนมากไม่ใช่

ส่วนที่สองคือผลตอบแทน ซึ่งการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยก็คาดการณ์ได้ระดับหนึ่ง และสุดท้ายคือระยะเวลา ซึ่งทุกคนมีต้นทุนเท่ากัน ยิ่งลงทุนเร็วผลตอบแทนก็ยิ่งเพิ่มขึ้น

‘เรื่องเงินต้นเราช่วยใครไม่ได้ เรื่องผลตอบแทนเราช่วยได้ เรื่องระยะเวลาเราก็อยากจะช่วยด้วยการลดขั้นต่ำลงมา เพื่อให้คนที่เพิ่งเริ่มทำงาน ในอนาคตสามารถลงทุนหลักหมื่น หลักพัน ลงทุนแบบออมหุ้น (DCA) เพื่อระยะยาวจะได้มีความมั่งคั่งที่ดีขึ้น’

ทั้งนี้ เริ่มแรก Jitta ให้บริการ Jitta Wealth Platform โดยกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำไว้ที่ 1 ล้านบาท ก่อนจะปรับลงมาอยู่ที่ระดับ 50,000 บาท และในอนาคตคาดว่าจะสามารถปรับลดเงินลงทุนมาอยู่ที่ 10,000 และ 1,000 บาทได้ตามลำดับ

jitta-one-of-the-startups-that-survived-the-covid

[ เป้าหมายที่แท้จริงของ Jitta Wealth ]

Jitta มีเป้าหมายว่า อยากช่วยคนเข้ามาลงทุนให้ได้มากที่สุด เป็น บลจ.ที่ค่าธรรมเนียมต่ำสุดที่ 0.5% จากค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม 1.5-2.5% เพราะยิ่งค่าธรรมเนียมต่ำ ผลตอบแทนระยะยาวของนักลงทุนก็ยิ่งมากขึ้น

‘เราถามตัวเองว่าเราอยากจะช่วยใคร เราก็ตอบตัวเองว่า เราอยากช่วยคนเยอะๆ เรามีความสุขที่มีลูกค้าลงทุนกับเราหลักหมื่นหลักแสนหลายคน มากกว่าลงหลักพันล้าน 10-20 คน เพื่อช่วยคนโดยรวมให้มีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้นผ่านเทคโนโลยีของเรา’

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกที่เปิดตัวขั้นต่ำ 1 ล้านบาท เนื่องจากการเป็นกองทุนส่วนบุคคล มีเงื่อนไขหลายอย่างที่ทำได้ค่อนข้างยาก เฉลี่ยแล้ว 10-20 ล้านบาท ซึ่งการทำธุรกิจ บลจ.ก็มีหลายส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งต้นทุนเปิดบัญชีเท่ากัน แต่รายได้จากนักลงทุนรายใหญ่มากกว่ารายย่อย

แต่เมื่อเปิดบริการไปได้สักพักหนึ่ง เริ่มขยายธุรกิจได้ Jitta จึงสามารถเจรจากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องปรับลดค่าลงทุนขั้นต่ำได้ ซึ่งปัจจุบันลงทุนขั้นต่ำเหลือเพียง 50,000 แล้ว ในอนาคตก็ตั้งใจว่าจะลดลงให้เหลือ 10,000 บาท

[ ปลายทาง IPO ระดมทุนในตลาดหุ้น ]

ปลายทางสตาร์ทอัพ แน่นอนว่าถ้าไม่นำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ (IPO) ก็ควบรวมกิจการ (M&A) ซึ่งปลายทางของ Jitta เป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง เช่น อาจมี บลจ.เข้ามาซื้อกิจการ เพราะเป็นสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยี มีทรัพย์สินภายใต้การบริหาร (AUM) มีรายได้ มีกำไรจริงๆ

แต่ความตั้งใจของ Jitta อยากจะขายหุ้น IPO มากกว่า เพราะมองว่าเป็นอิสระ สามารถทำเพื่อนักลงทุนได้เยอะกว่า เช่น การลดขั้นต่ำ การลดค่าธรรมเนียม เหล่านี้ ทำเพื่อคนได้มากกว่า ซึ่งกว่าจะถึงจุดนั้นคงต้องทำอะไรอีกเยอะ

สำหรับอุตสาหกรรมการเงิน ค่อนข้างแตกต่างกับอุตสาหกรรมอื่นที่ต้องเติบโตด้วยผู้ใช้ (User) ซึ่งในประเทศไทยมีน้อยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้เยอะ เพราะประชากรเทียบประเทศในภูมิไม่ได้ เช่น อินโดนีเซีย หรือเกาหลี

อย่างไรก็ตาม ในอุตสาหกรรมการลงทุน การเติบโตไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้ แต่ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่เข้ามาลงทุน ยกตัวอย่างเช่น ตลาดทุนไทย มูลค่าใหญ่กว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนามรวมกัน โอกาสเติบโตในอุตสาหกรรมนี้จึงมากกว่า

‘ในประเทศไทย คนที่ลงทุนในกองทุนมีอยู่ประมาณ 10 ล้านคน มูลค่าประมาณ 6-7 ล้านล้านบาท หากเรามีส่วนแบ่งตลาดเพียง 2% หรือ 6 หมื่นล้านบาท 10% หรือ 6 แสนล้านบาท การมี AUM เท่านั้นก็ IPO ได้สบายแล้ว’

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ หากมี AUM ประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ถึง 2% ของส่วนแบ่งตลาด คิดค่าธรรมเนียม 0.5% ก็จะทำให้มีรายได้ประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งเข้าเกณฑ์สามารถ IPO ได้ แต่สตาร์ทอัพอื่นๆ การจะหารายได้ให้ถึง 100-500 ล้านบาท ค่อนข้างเหนื่อยมาก

ปัจจุบัน Jitta มีฐานลูกค้าประมาณ 63,000 บัญชี สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมกองทุนส่วนบุคคล โดยครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 70% ขณะที่ AUM อยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท

โดยหวังว่าในอนาคต หลังปรับขั้นต่ำการลงทุนลงเหลือ 1,000 บาท จะช่วยขยายฐานลูกค้าแตะ 1 ล้านบัญชี และคาดว่า AUM จะสามารถเติบโตแตะ 1 แสนล้านบาทได้ภายใน 3-5 ปี ก่อนจะเข้า IPO ตามแผนระยะยาว

[ คงค่าธรรมเนียมต่ำ รักษาผลตอบแทนนักลงทุน ]

สำหรับจุดแข็งที่แตกต่างกับ บลจ.อื่น คือการตั้งใจรักษาค่าธรรมเนียมไว้ในระดับต่ำ เพราะต้องการรักษาผลตอบแทนในระยะยาวให้สูงกว่าเพื่อนร่วมอุตสาหกรรม หากผลตอบแทนสูงกว่า นักลงทุนก็จะอยู่กับบริษัทฯ ต่อเนื่อง และเติบโตในระยะยาวได้เรื่อยๆ

‘สิ่งสำคัญที่สุด เราโฟกัสที่ลูกค้าเป็นหลัก ทำอย่างไรให้มีโปรดักต์ที่ดี ทำอย่างไรให้คงค่าธรรมเนียมต่ำได้ ทำอย่างไรถึงจะลดเงินลงทุนขั้นต่ำได้อีก เพื่อที่จะช่วยเหลือลูกค้าให้ได้มากที่สุด ถ้าเราทำได้ สุดท้ายนักลงทุนก็จะตัดสินใจเลือกเราเอง’

อีกหนึ่งข้อแตกต่างคือ Jitta เป็น บลจ.ที่ใช้ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์การลงทุนอย่างเต็มรูปแบบ โดยไม่ได้วิเคราะห์แค่สัญญาณเทคนิคเท่านั้น แต่มีการวิเคราะห์งบการเงินด้วย รวมถึงมีการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งในและต่างประเทศ

ปัจจุบัน Jitta มีนโยบายการลงทุน 3 รูปแบบหลัก ได้แก่ 1. Global ETF 2. Thematic Optimize และ 3. Jitta Ranking ซึ่งแต่ละนโยบายการลงทุนจะมีแผนการลงทุนย่อยให้นักลงทุนได้เลือกลงทุนรวมทั้งสิ้น 12 รูปแบบ โดยมีผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปี (2556-2565) ดังนี้

Global ETF – Conservative 2.50%

Global ETF – Balance 4.65%

Global ETF – Growth 6.69%

Thematic Optimize (2561-2565) 10.17%

Jitta Ranking TH 13.50%

Jitta Ranking US 14.70%

Jitta Ranking UST 15.65%

Jitta Ranking USHc 17.68%

Jitta Ranking VN 16.26%

Jitta Ranking JP 16.14%

Jitta Ranking CN 11.97%

Jitta Ranking CNT 18.26%

[ บริบทประเทศไทย สตาร์ทอัพเติบโตยาก ]

เมื่อถามถึงสถานการณ์สตาร์ทอัพในประเทศ Jitta มองว่า ในช่วง 1-2 ปีนี้ วงการสตาร์ทอัพค่อนข้างเงียบเหงาไม่คึกคัก โดยคาดว่าเป็นผลจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน คือ 1. ช่วงโควิด-19 ที่เรียกว่า ‘ฆ่าตัดตอน’ สตาร์ทอัพ กิจกรรมทุกอย่างหยุดชะงัก ช่วงนั้นสตาร์ทอัพก็ไม่กล้าทำอะไรเสี่ยงๆ

และ 2. ภาพใหญ่ของสภาพแวดล้อมไทยค่อนข้างลำบาก ทำให้บริษัทที่เคยสนับสนุนสตาร์ทอัพไม่ค่อยสนับสนุนแล้ว ถอนการลงทุนออกไป เพราะสนับสนุนแล้วไม่ค่อยประสบความสำเร็จ หรืออยู่ในภาวะซอมบี้ พอประคองไปได้ แต่ไม่สามารถเติบโตได้

‘ประเทศไทย Economy of Scale มันยาก สตาร์ทอัพไม่มีแต้มต่อไปสู้กับผู้เล่นเดิมๆ ได้ พอสู้ไม่ได้ สุดท้ายก็เลยไม่โต’

อีกหนึ่งสาเหตุคือ พฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย นอกจากจะอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศรอบข้างแล้ว คนไทยส่วนมากชอบ ‘ของฟรี’ โมเดลสมาชิก (Subscription) เพื่อสินค้าลิขสิทธิ์เพื่อต้นทุนทางปัญญาจึงไม่ค่อยเวิร์ค

ยกตัวอย่างเช่น Jitta Stock Analysis ที่เดิมเคยใช้โมเดลเก็บเงิน แต่เมื่อไม่เวิร์คจึงเปิดฟรีและเปลี่ยนเป็นโมเดล Jitta Wealth Platform ที่วัดได้ชัดเจนว่าใครได้ประโยชน์แบบไหน

‘สตาร์ทอัพไทย ถ้าจะอยู่รอดได้ต้องมียูนีค ทำสิ่งที่คนอื่นทำตามได้ยาก ซึ่งตรงนี้ก็คิดยากเหมือนกัน อะไรคือสิ่งที่คู่แข่งเข้ามาตีได้ยาก ต่างชาติเข้ามาตีได้ยาก โดยเฉพาะในธุรกิจการเงิน การลงทุน ต้องอาศัยความเชื่อมั่น ซึ่งต้องใช้เวลาสะสมหลายปี’

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า