SHARE

คัดลอกแล้ว

วิเคราะห์ปัญหาและความท้าทาย

โควิด-19 เป็นเหมือนสงครามที่ยืดเยื้อไม่รู้จบและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆในแต่ละเฟส โจทย์ในแต่ละช่วงนั้นแตกต่างกัน จึงทำให้ยุทธศาสตร์และมาตราการที่เคยทำให้ชนะศึกได้ในเฟสหนึ่งอาจไม่สามารถใช้ได้ในเฟสต่อมา การต่อสู้กับไวรัสครั้งนี้จึงไม่สามารถแก้ไขแค่ปัญหาตรงหน้า แต่ต้องพยายาม “อ่าน” มองข้ามช็อตไปเฟสต่อไปด้วยว่าจะเป็นสงครามแบบใด

เรียนรู้จากปี 2021

ปี 2020 โจทย์สำคัญคือ “การหยุดเชื้อ”ให้อยู่โดยอาจต้องยอมเสียสละด้านเศรษฐกิจจากการปิดเมือง การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) และการทำมาตราการสุขอนามัยต่างๆ ซึ่งหลายประเทศในเอเชียทำได้ดีไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลีใต้ เวียดนาม สิงคโปร์ และประเทศไทย ฯลฯ จนโดดเด่นในเวทีโลก ในขณะที่หลายประเทศในตะวันตกที่ปฏิเสธการคุมการระบาดอย่างเข้มข้นต้องเผชิญวิกฤตด้านสาธารณสุขอย่างรุนแรง

แต่ศึกปี 2021 เปลี่ยนไปกลายเป็นเรื่องของ “วัคซีน” ใครมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงเพียงพอจะเป็นประเทศที่คุมไวรัสได้ดีในขณะที่ยังพอเปิดเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ เศรษฐกิจที่เคยสะบักสะบอมอย่าง สหรัฐอเมริกา กระดอนกลับมาเติบโตจนขนาดใหญ่กว่าก่อนโควิดแล้ว ในขณะเดียวกันประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ชนะในปีก่อนแต่ล่าช้าเรื่องวัคซีนกลับมาเผชิญวิกฤตสาธารณสุขและเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งเห็นชัดในกรณีของประเทศไทย 

แน่นอนตอนนี้โจทย์สำคัญที่สุดของประเทศไทยคือการกลับตัวมารบกับศึกของปี 2021 ให้เร็วที่สุด ด้วยการหา ลงทุนพัฒนาและผลิตวัคซีนประสิทธิภาพสูงให้ได้มากที่สุดเร็วที่สุดสำหรับปีนี้และต่อๆ ไปซึ่งได้มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้วิเคราะห์ไว้แล้ว 

แต่บทเรียนสำคัญที่เราไม่ควรมองข้ามคือการตั้งคำถามว่า 

“ปีหน้าสงครามกับโควิดนี้จะเปลี่ยนไปในลักษณะใด?” 

มันจะยังเป็นเรื่องของวัคซีนล้วนๆ หรือจะแปรผันไปอีก และหากเปลี่ยนไปอีกเราเตรียมพร้อมกับฉากทัศน์นั้นหรือยัง หากดูแต่ปัญหาตรงหน้าและไม่ตีโจทย์ของอนาคตให้แตกตั้งแต่วันนี้เราก็เสี่ยงที่จะเผชิญปัญหาดังในปีที่ผ่านมาอีก 

ชนะเรื่องวัคซีนอาจไม่ “ชนะสงคราม”

ในปัจจุบันข้อมูลก็เริ่มชี้ให้เห็นแล้วว่าแม้วัคซีนจะสำคัญมากแต่ก็อาจจะไม่ใช่ฉีดครบแล้วจบกันและไม่ใช่ยาวิเศษที่แก้ปัญหาทั้งหมดได้ 

อิสราเอลที่ขึ้นชื่อว่าเป็นกรณีตัวอย่างของโลกที่มีคนฉีดวัคซีนครบเกิน 60% ของประชากรจนใช้ชีวิตปกติได้ก็กลับมาเจอสภาวะระบาดอีกครั้งกว่าวันละ 11,000 คน แม้อัตราการเสียชีวิตจะต่ำกว่าแต่ก่อนมาก โดยผู้เชี่ยวชาญคืดว่าอาจจะมาจากการที่ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนเริ่มเสื่อมสภาพต้องมีการฉีดเข็ม 3 เพิ่ม (booster) 

ในรัฐฟลอริดาในอเมริกาที่คนฉีดวัคซีนครบถึง 50% ก็ยังพบกับการติดเชื้อวันละ 2หมื่นคน เทียบกับวันละ 2 พันคนแค่เมื่อเดือนก่อน และอัตราการเสียชีวิตก็พุ่งขึ้นไปที่วันละ 200 คนจากประมาณ 50 คนเดือนก่อน ในขณะที่ในรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีคนฉีดวัคซีนใกล้เคียงกันกลับไม่ได้พบปัญหานี้เพราะคนมีการระมัดระวังตัว ใส่หน้ากากเว้นระยะห่างมากกว่าในฟลอริดา ชี้ให้เห็นว่าการใช้ชีวิตแบบก่อนโควิด 100% อาจจะยังทำได้ยาก

ขอเสนอแนะและแนวทางแก้ไข 

โจทย์ของปี 2022 ที่ควรคิดตั้งแต่ตอนนี้คือ หากวัคซีนไม่ได้ทำให้โควิดหมดไป จะทำอย่างไรถึงจะอยู่กับโควิดได้โดยรักษาสมดุลย์ระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ? 

นี่คือเหตุผลสำคัญที่สิงคโปร์ประกาศตัวเป็นประเทศแรกที่จะ “อยู่ร่วมกับโควิด” ให้ได้ เพราะรัฐบาลสิงคโปร์ได้มองไว้แล้วว่ามีความเป็นไปได้ที่โควิดจะไม่หายไปจากชีวิตคนแม้แต่ในปีหน้าและประเทศที่มีเศรษฐกิจที่พึ่งพาต่างประเทศสูงทั้งการท่องเที่ยวและการลงทุนอย่างสิงคโปร์ไม่มีทางไปรอดหากจะคอยแต่เอาเคสติดเชื้อโควิดให้เหลือศูนย์ทุกวัน 

ประเทศไทยเองก็ควรเริ่มคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังเพราะเศรษฐกิจเราพึ่งพาการท่องเที่ยวมหาศาลถึง 18% ของ GDP ก่อนโควิด แตกต่างจากประเทศขนาดใหญ่ที่พึ่งพาอุปสงค์ภายในประเทศอย่างจีนที่แม้จะเลือกปิดประเทศทุกครั้งที่มีโรคระบาดก็พอสามารถทำได้โดยที่ไม่กระทบเศรษฐกิจโดยรวมมากไป

โดยอาจเริ่มต้นจากการศึกษาถอดบทเรียนจากสิงคโปร์ที่ได้เริ่มเดินไปก่อนแล้ว สรุปได้เป็น 6 ข้อ

1. Vaccinate (วัคซีน)

รัฐบาลอาจจะต้องซื้อวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและแจกจ่ายให้กับคนทุกๆ ปีเพราะคนอาจต้องใช้การฉีดเพิ่ม (booster) เมื่อตัววัคซีนเก่าหมดฤทธิ์ หรือ อาจต้องมีวัคซีนตัวใหม่ๆ หากไวรัสกลายพันธ์ุไปอีกเป็นเสมือนเกมแมวจับหนู

วัคซีนไม่ได้ทำให้โควิดหายไปแต่อาจจะช่วยให้กลายเป็นโรคที่ไม่รุนแรงเท่าแต่ก่อนทำใฟ้อัตราการเสียชีวิตและการเข้า ICU ต่ำลงมากจนมีความคล้ายโรคติดต่ออื่นๆ ทำให้ความเสี่ยงที่จะต้องปิดเมืองเมื่อระบบสาธารณสุขล่มนั้นต่ำลง ธุรกิจก็ดำเนินการได้สะดวกขึ้น

2. Test + Trace (ตรวจโรค + แกะรอย)

รัฐบาลควรหาและพัฒนาการตรวจโรคให้มีรูปแบบหลากหลายขึ้น ถูกลง ได้ผลเร็วขึ้น ทำเองได้ง่ายขึ้นกว่าการตรวจแบบ PCR เพื่อนำมาใช้เป็นประจำกับคนบางกลุ่มที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับคนจำนวนมาก เช่นคนขับแท็กซี่ หรือ ใช้ตรวจในงานที่มีความเสี่ยงจะเกิด super spreading event เช่น งานอิเวนต์ขนาดใหญ่ที่จัดอินดอร์ ในสิงคโปร์มีการทดลองชุดตรวจหลากหลายรูปแบบ ทั้งชุด ATK ที่ให้คนตรวจกันเอง เครื่องตรวจแบบเป่าคล้ายกับการตรวจแอลกอฮอล์ ฯลฯ

รัฐควรมีแอปพลิเคชัน Tracing ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อหากเวลาเกิดคลัสเตอร์การระบาดขนาดใหญ่จะได้สามารถรู้ตัวทันท่วงทีและควบคุมสถานการณ์ได้ก่อนจะลามเป็นวงกว้างจนต้องปิดเมือง ในสิงคโปร์มีแอพพลิเคชัน TraceTogether ที่คนต้องใช้เพื่อเช็คอินสถานที่ต่างๆ 

โดยแอปฯ นี้จะบอกสถานะของเราด้วยว่าฉีดวัคซีนครบหรือยังตั้งแต่เมื่อไร แอปฯ เดียวใช้ทั้งคนที่อยู่ในสิงคโปร์และนักท่องเที่ยว/นักธุรกิจที่มาจากต่างประเทศ หากคนไม่มีโทรศัพท์มือถือก็สามารถใช้ Token เป็นคล้ายๆพวงกุญแจเล็กๆ ที่มีสัญญาณบลูทูธสามารถเล็คอินที่ต่างๆได้ โดยรัฐแจก Token นี้ให้ทุกคนฟรีทั้งเกาะรวมทั้งเด็กและแรงงานต่างด้าว

3. Coordinate ประสานมาตราการเยียวยาและสาธารณสุขให้สอดคล้องกันมากขึ้น

แม้จะระวังแค่ไหนก็เป็นไปได้ที่จะเกิดการระบาดขึ้นจนต้องกลับมาปิดเมืองบางส่วน รัฐบาลจึงควรมีการประสานงานระหว่างนโยบายสาธารณสุข (เปิด-ปิดเมือง) และนโยบายเศรษฐกิจ (เยียวยาผู้ถูกกระทบ) ที่มีรวดเร็วและประสิทธิภาพมากขึ้น 

ในยามที่เกิดเหตุต้องประกาศล็อกดาวน์เข้มขึ้นนโยบายการเยียวยาผู้ถูกระทบควรได้รับการประกาศทันทีเช่นกันเพื่อสร้างความชัดเจนกับผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ถูกกระทบ ไม่ต้องเว้นช่วงรอการตัดสินใจของฝั่งนโยบายเศรษฐกิจอีกที 

มาตราการเยียวยาที่จะออกมาควรทำหน้าที่ทั้งช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในระยะสั้นทั้งสร้างฐานข้อมูลสำหรับอนาคต โดยใช้มาตราการต่างๆสร้างแรงจูงใจให้คนเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลเพื่อแก้จุดอ่อนสำคัญของประเทศไทยที่มักขาดข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานนอกประกันสังคมที่อยู่นอกภาคเกษตรประมาณ 9 ล้านคน และ SME กว่า 3 ล้านราย ทั้งนี้เพื่อใช้งบประมาณที่มีจำกัดอย่างคุ้มค่ามากขึ้น ทั้งช่วยคนในระยะสั้นและสร้างฐานข้อมูลให้ทำนโยบายช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางได้แม่นยำขึ้นในอนาคต

4. Negotiate เจรจาความตกลงการท่องเที่ยวยุคใหม่ (Free Travel Agreement หรือ FTrA)

ในโลกที่โควิดยังอยู่การท่องเที่ยวจะยังไม่สามารถกลับไปเหมือนเดิมแต่อาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างกลุ่มประเทศที่มีการคุมเชื้อได้ดี และมีมาตราฐานการควบคุมไวรัสที่ทุกฝั่งยอมรับ ตั้งแต่ระบบพาสปอร์ตสุขภาพที่เชื่อมกันได้ การฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพทุกประเทศในกลุ่มยอมรับ ฯลฯ 

มิฉะนั้นแม้เราเปิดให้คนจากประเทศนั้นๆ เข้ามาเที่ยวได้ ประเทศเขาอาจไม่ให้มาหากเราไม่ได้อยู่ในลิสท์ประเทศปลอดภัย หรือจะกักตัวนักเดินทางคนนั้นเมื่อเขากลับประเทศทำให้เขาไม่อยากมาตั้งแต่ต้น

ดังนั้นเป็นไปได้ว่าการเปิดท่องเที่ยวอีกครั้งอาจจะเปรียบเสมือนการต้องเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) แต่สำหรับการเดินทางและการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ที่อาจมีทั้งรูปแบบทวิภาคีและพหุภาคี 

การเจรจาสิ่งที่ผมขอเรียกว่า FTrA นี้จะเป็นนโยบายการต่างประเทศในยุคโควิดที่สำคัญมากที่หลายประเทศได้ริเริ่มมีการคุยและเจรจาเดินหน้าแล้ว

5. Communicate สื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจบริบทใหม่

การสื่อสารในยุคที่เราพยายามอยู่กับโควิดอาจจะต้องแตกต่างจากเดิม รัฐบาลต้องพยายามสร้างเข้าใจว่าประเทศไม่สามารถทำให้การติดเชื้อเป็นศูนย์ได้ทุกวัน (zero covid) และพยายามไม่ให้คนยึดติดกับตัวเลขนั้น

ในปัจจุบันที่สิงคโปร์ฉีดวัคซีนได้ถึงกว่า 75% ของประชากรแล้วการสื่อสารเรื่องโควิดเริ่มเปลี่ยนไป โดยเน้นที่สถิติคนป่วยหนักในโรงพยาบาลมากกว่าตัวเลขติดเชื้อรายวัน เพื่อให้คนเข้าใจว่าสิ่งเรากำลังพยายามทำคือลดไม่ให้ผู้ป่วยหนักมีมากเกินไปไม่ใช่พยายามไม่ให้คนป่วยเลย เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่ว่าโควิดอาจกลายเป็นโรคติดต่อหนึ่งที่อยู่กับเราไปแต่ส่วนใหญ่ไม่ได้รุนแรงถึงชีวิต 

นอกจากนี้นายกของสิงคโปร์ยังมีการสื่อสารอยู่เสมอตั้งแต่ปีที่แล้วว่าเราอาจต้องอยู่ในสภาวะแบบนี้ไปอีกหลายปีเพื่อให้คนอยู่กับความจริงและหลีกเลี่ยงการพูดที่ทำให้คนรู้สึกว่า “รออีกสักนิด เดี๋ยวทุกอย่างจะเหมือนเดิม”

6. Digitalise ผลักดันการใช้ดิจิทัลอย่างเต็มที่

ในยุคที่การเว้นระยะห่างยังต้องมาๆไปๆการเข้าถึงและรู้จักใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะกลายเป็นสภาวะปกติใหม่สำหรับทุกคน หากเผื่อมีสถานการณ์ต้องล็อกดาวน์บางส่วนอีก ร้านค้าต้องขายของออนไลน์ได้ ร้านอาหารต้องมีช่องทางเดลิเวรี การเรียนรู้การสอนต้องสามารถทำออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฯลฯ 

ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าออนไลน์จะมาแทนที่ออฟไลน์ได้เพียงแต่จะมาช่วยลดผลกระทบจากการปิดเมืองและกระจายความเสี่ยงให้กับผู้บริหารและผู้ประกอบการได้ดีขึ้น

รัฐบาลจึงอาจผูกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจกับการผลักดันคนให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการ SME ยกตัวอย่างในสิงคโปร์มีนโยบายแบบ co-pay ที่รัฐบาลจะให้เงินสนับสนุนสมทบทุนเริ่มต้นให้ SME ที่เข้าสู่การขายของออนไลน์โดยจับมือกับแพลตฟอร์มต่างๆ ในประเทศ ชื่อว่า E-commerce booster package เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นแค่เสนอเบื้องต้นที่มาจากการถอดบทเรียนจากสิงคโปร์และประเทศอื่นๆ ที่เริ่มคิดถึงอนาคตที่เราอาจต้องอยู่ร่วมกับโควิด

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือประเทศไทยควรจะเริ่มคิดถึงโจทย์ข้อนี้อย่างจริงจังโดยอาจตั้งทีมพิเศษเตรียมรับมือโลกหลังโควิด (Post Covid Task Force) ที่มีทั้งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับ 6 เรื่องที่ว่านี้ เช่น กระทรวงเศรษฐกิจ ต่างประเทศ ดิจิทัล ท่องเที่ยว ฯลฯ และภาคเอกชนที่หลากหลายมีทั้งบริษัทใหญ่-เล็กจากหลายภาคอุตสาหกรรมทั้งดั้งเดิมและเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) และนักวิชาการหลากรุ่นมาช่วยกันคิดว่า “สงคราม” ปี 2022 จะหน้าตาเป็นอย่างไรและประเทศควรเตรียมตัวอย่างไร

เพราะปีหน้าสงครามอาจไม่เหมือนกับปีนี้ วัคซีนดีครบพร้อมมือเป็นเรื่องจำเป็นแต่อาจไม่พอ

อ้างอิง:

https://www.thaipost.net/main/detail/113183

https://thaipublica.org/2021/08/krungsri-research-proposing-new-covid-measures/

Comparisons were made between California and Florida 

New Israeli data suggests waning vaccine effectiveness of Pfizer vaccine

 

Policy Lab: Policy Memo นโยบายผู้บริหาร สำหรับประเทศยุคโควิด

Policy Lab คือคอลัมน์พิเศษที่รวบรวมข้อเสนอนโยบายในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ส่งตรงถึงผู้บริหารประเทศ

โดยเราจะระดมแนวคิดต่างๆ ในรูปแบบของ Policy Memo เพื่อส่งสารโดยตรงถึงบุคลากรในระดับผู้บริหาร เพื่อช่วยเป็นอีกทางเลือกด้านโยบายสำหรับผู้บริหารราชการฉุกเฉินปัจจุบัน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า