SHARE

คัดลอกแล้ว

บทสรุปประเด็นสำคัญ

ประเทศไทยเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จากวิกฤติโควิด แม้จะมีความเสี่ยงจากการระบาดรอบใหม่ แต่เมื่อเราเริ่มมีปริมาณวัคซีนที่น่าจะเพียงพอ เราน่าจะกำลังจะเข้าสู่ภาวะ “ปกติใหม่” ที่อาจจะไม่เหมือนเดิมก่อนโควิด เราอาจต้องเริ่มมามองถึงปัญหาและความท้าทายของเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น และหลังโควิด เราต้องเตรียม 1) มาตราการเยียวยาเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการหยุดชะงักของเศรษฐกิจ 2) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อเราสามารถทำให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะ “ปกติใหม่”  และ 3) นโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและแรงงาน เพื่อเตรียมรับกับความท้าทายในระยะยาวที่เรากำลังจะเจอ

ปัญหา และความท้าทาย

  • ความท้าทายระยะสั้น และ “ความปกติใหม่”

โลกของเรากำลังเผชิญกับความท้าทายจากวิกฤตการณ์โควิด ที่กำลังทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักเป็นบริเวณกว้าง และเป็นเวลานาน ในระดับที่เราอาจจะไม่เคยเจอมาก่อน  ข่าวดีคือเราเริ่มจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ โดยเฉพาะจากตัวอย่างประเทศอื่นๆ ที่มีการฉีดวัคซีนไปได้ในระดับค่อนข้างสูง แม้จะมีการระบาดอยู่ มีความเสี่ยงจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา และระดับภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งอาจมีความต้องการวัคซีนเพิ่มเติมอีก แต่เศรษฐกิจค่อยๆ เริ่มกลับมาได้มากขึ้นแล้ว แม้ว่าภาคเศรษฐกิจบางส่วน เช่น ภาคการท่องเที่ยว การเดินทางระหว่างประเทศ และกิจกรรมที่ต้องมีการรวมตัวกันมากๆ ยังฟื้นกลับมาได้ไม่เต็มที่นัก และคาดว่าคงใช้เวลาสักระยะกว่าที่กิจกรรมเหล่านี้จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

สำหรับประเทศไทย แม้จะเริ่มมีการเปิดประเทศบางส่วน การใช้นโยบาย “อยู่ร่วมกับโควิด” และมีการเร่งฉีดวัคซีนกันอย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนจากอัตราการฉีดวัคซีนครบสองโดสที่อยู่ในสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้การเปิดเมืองเป็นไปได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีความเสี่ยงที่การระบาดเกิดขึ้นได้อีก และอาจจะกลับมาสร้างแรงกดดันกับระบบสาธารณสุขได้ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในไม่ช้า ด้วยการวางแผนและการบริหารที่รอบคอบ เราน่าจะสามารถเปลี่ยนโควิดจากโรคระบาดที่ร้ายแรง ให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น ที่สร้างความเสียหายน้อยลง เราน่าจะฉีดวัคซีนได้มากขึ้นเรื่อยๆ ตามปริมาณวัคซีนที่มีเพิ่มขึ้น สามารถสร้างภูมิคุ้มกัน และลดความสูญเสียโดยเฉพาะกับกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง และเราเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโควิดได้จริงๆ  มีการตรวจโรคอย่างกว้างขวางและแพร่หลาย ระบบสาธารณสุขมีสามารถในการควบคุม แยกผู้ติดเชื้อ มียาและวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และสังคมมีความรับผิดชอบในการกักตัวและแยกตัวผู้ติดเชื้อลดความเสี่ยงในการระบาด เศรษฐกิจน่าจะเริ่มเดินได้อย่างปกติมากขึ้น

  • ความท้าทายหลังโควิด

หากเรามองข้ามความท้าทายในระยะสั้นเหล่านี้ไป และมองไปหา “ความปกติใหม่” ที่เราอาจกำลังจะเจอโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่กลับไปเหมือนเดิมอีกแล้ว นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยอีกหลายประการ และบางเรื่องเริ่มส่งสัญญาณมาตั้งแต่ก่อนเราเจอโควิดแล้ว

แผลเป็นทางเศรษฐกิจ

ประการแรก ปัญหาและแผลเป็นทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากวิกฤติโควิดอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็น และอยู่ต่ำกว่าต่ำกว่าระดับศักยภาพไปอีกระยะหนึ่ง  แม้เศรษฐกิจเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะ “ปกติใหม่” การหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ และกระแสเงินสด ที่ทำให้ธุรกิจจำนวนมากต้องหยุดกิจการและการจ้างงานส่วนหนึ่งเปลี่ยนรูปแบบไป อาจจะไม่สามารถกลับมาได้ในทันที  นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และโอกาส และปัญหาช่องว่างด้านคุณภาพของการศึกษาในช่วงโควิด อาจจะสร้างปัญหาเชิงโครงสร้างต่อเนื่องต่อหลายอุตสาหกรรม และต่อศักยภาพของเศรษฐกิจไทยโดยรวม

ภาวะปกติใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม

สอง โครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยอาจจะไม่เหมือนเดิม ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงภายนอก และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น ก่อนเกิดวิกฤติโควิดเราพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวจากต่างประเทศถึงร้อยละสิบสอง แม้นักท่องเที่ยวต่างประเทศอาจจะเริ่มทยอยกลับมาได้ในระยะเวลาข้างหน้า แต่การท่องเที่ยวอาจจะใช้เวลาสักระยะกว่าที่กลับไปเป็นเหมือนเดิม และบทบาทในการเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจในระยะยาวอาจจะลดความสำคัญลงไป จากการเปลี่ยนไปของการเดินทางระหว่างประเทศ นอกจากนี้ หลายประเทศที่ใช้นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” เช่น จีน อาจจะไม่สนับสนุนให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศไปอีกสักระยะ โครงสร้างของเศรษฐกิจที่สร้างไว้รับนักท่องเที่ยวต่างประเทศปีละกว่า 40 ล้านคน อาจจะใช้เวลาสักระยะกว่าจะกลับมาเหมือนเดิม  ภาคการท่องเที่ยวอาจจะยังอยู่ในภาวะล้นตลาดไปอีกสักระยะ ซึ่งจะกระทบต่อราคา ความอยู่รอดของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง การจ้างงาน และจำเป็นต้องมีการปรับตัวอย่างขนานใหญ่

ปัญหาและความท้าทายเชิงโครงสร้าง

และประการที่สาม ตั้งแต่ก่อนเจอปัญหาโควิด เศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาเชิงสร้างหลายประการ ที่ทำให้ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยโตช้าลงเรื่อยๆ ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากร จำนวนประชาการวัยทำงานที่ลดลง การลงทุนในประเทศที่มีน้อยลงทั้งการลงทุนของคนไทย และการลงทุนของนักลงทุนจากต่างประเทศ เราเห็นการเสียความสามารถในการแข่งขันและความท้าทายจากแนวโน้มระยะยาวที่ส่งสัญญาณในหลายอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ที่ชี้ให้เห็นว่าหากเราไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางประเทศอย่างขนานใหญ่ เราอาจจะไม่สามารถยกตัวออกจากปัญหา “กับดักรายได้ปานกลาง” ที่เราเผชิญอยู่ได้

นอกจากนี้ ในระหว่างที่เรากำลังใช้เวลาสองปีที่ผ่านมาไปกับการดับไฟปัญหาเฉพาะหน้า โลกมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และโมเดลธุรกิจใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ก็มีการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องเช่นกัน หมายความในขณะที่เราอยู่นิ่งๆ เรากำลังเสียความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่องหากไม่มีการปรับตัวเพื่อพร้อมรับกับความท้าทายเหล่านี้

และปัญหาใหญ่อย่างการเมืองระหว่างประเทศ การปรับเปลี่ยนของห่วงโซ่อุปทานโลก และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่เราต้องให้ความสำคัญ

ข้อเสนอแนะ และแนวทางแก้ไข

จากปัญหาและความท้าทายที่กำลังรอเราอยู่ นอกเหนือจากการควบคุมการระบาดและบริหารการเปิดเศรษฐกิจภายใต้ความเสี่ยง เราคงต้องเริ่มมองไปข้างหน้า และเตรียมมาตรการพร้อมรับความท้าทายที่รอเราอยู่ข้างหน้า

  1. มาตรการเยียวยา เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการหยุดชะงักของเศรษฐกิจระหว่างที่มีภาวะวิกฤติโควิดทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา แรงงาน และสังคม เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถกลับมา เช่น มาตรการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ การสนับสนุนการสภาพคล่อง การปรับทักษะแรงงานที่ได้รับผลกระทบ และมาตรการด้านการศึกษาที่ชดเชยและลดกระทบต่อนักเรียนและนักศึกษาที่ขาดโอกาสในการเรียนรู้ไปในช่วงวิกฤติโควิด
  2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อเราสามารถทำให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะ “ปกติใหม่” อาจมีความจำเป็นในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเร่งให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจระยะยาว มาตรการเหล่านี้ไม่ควรเน้นเพียงการสนับสนุนการบริโภคเท่านั้น แต่ควรเน้นการสร้างงาน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่พื้นที่ต้องการ การลงทุนที่ดึงดูดการลงทุนของเอกชน และโครงการที่สอดคล้องกับทิศทางและความท้าทายระยะยาวของประเทศ
  3. นโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมรับกับความท้าทายในระยะยาว เราควรเน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ ของทั้งคนไทยและนักลงทุนต่างประเทศ และพัฒนาศักยภาพและการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการเตรียมรับกับการพัฒนาของเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

นโยบายเหล่านี้ควรรวมถึง (1) การพัฒนาคุณภาพปัจจัยการผลิต การพัฒนาการศึกษา การปรับปรุง และยกระดับคุณภาพแรงงานให้มีทักษะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ (2) การเข้าถึงตลาดและเพิ่มขนาดของตลาด ผ่านการทำข้อตกลงการค้าเสรี (3) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ เช่น การขนส่ง การเตรียมความพร้อมด้าน ICT และ High Speed Broadband รวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบและนโยบายภาษีที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ  (4) พัฒนาสถาบันเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการส่งเสริมการแข่งขันที่เสรี ปราศจากการคอร์รัปชัน ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนในสินค้ากลุ่มใหม่ๆ ได้

แน่นอนว่าเราต้องการทรัพยากรทางการคลังอีกเป็นจำนวนมากเพื่อรองรับความท้าทายเหล่านี้ มีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องจัดลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายให้เหมาะสม ลดการรั่วไหล ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์สูงสุด

และอาจมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มในสถานการณ์ปัจจุบัน ด้วยต้นทุนการกู้ยืมที่ลดต่ำลงมามาก ความยั่งยืนทางการคลังอาจเป็นความกังวลที่ลดลง และพื้นฐานของประเทศไทยสามารถรองรับระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่สูงขึ้นได้

อย่างไรก็ตามเพื่อให้แน่ใจว่าเรายังมีเสถียรภาพด้านการคลัง มีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องวางแผนบริหารอย่างเหมาะสม โดยที่ (1) ต้องแน่ใจว่าเงินกู้ถูกนำไปใช้กับการใช้จ่ายเหมาะสม และมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเพื่อการลงทุนและสร้างรายได้ในอนาคต (2) มีแผนในการลดการดุลในอนาคต โดยเฉพาะแผนในการเพิ่มรายได้ เมื่อเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น (3) มีการสื่อสารแผนที่ทำให้ตลาดเชื่อมั่นในวินัยด้านการคลัง

Policy Lab: Policy Memo นโยบายผู้บริหาร สำหรับประเทศยุคโควิด

Policy Lab คือคอลัมน์พิเศษที่รวบรวมข้อเสนอนโยบายในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ส่งตรงถึงผู้บริหารประเทศ

โดยเราจะระดมแนวคิดต่างๆ ในรูปแบบของ Policy Memo เพื่อส่งสารโดยตรงถึงบุคลากรในระดับผู้บริหาร เพื่อช่วยเป็นอีกทางเลือกด้านโยบายสำหรับผู้บริหารราชการฉุกเฉินปัจจุบัน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า