Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

บทสรุป-ประเด็นสำคัญ

ผู้หญิงในชุมชนที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางมีความลำบากในการแบกรับค่าใช้จ่ายสินค้าพื้นฐานในแต่ละเดือน โดยเฉพาะผ้าอนามัย การไม่เข้าถึงนี้ส่งผลต่อทั้งด้านจิตใจและสุขภาวะ ซึ่งไม่เสริมให้แก่ผู้หญิงทั้ง ๆ ที่พวกเขาผู้หญิงเหล่านี้เป็นกำลังแรงงานที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ และรับผิดชอบงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง (งานบ้าน) ในครัวเรือน ดังนั้นจึงมีข้อเสนอแนะให้ 1) ยกเลิกภาษีผ้าอนามัย 2) จัดให้ผ้าอนามัยเป็นสวัสดิการของผู้หญิง และ 3) จัดทำ Period Bank หรือธนาคารอนามัยสำหรับผู้หญิง

ขอบเขตของปัญหา และผลกระทบ

เมื่อตัดสินใจทำงานด้านการพัฒนา สิ่งหนึ่งที่สำคัญและหนีไม่พ้น คือ การลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจผู้คน ผ่านวิถีชีวิตของพวกเขา ภาพประจำที่ได้พบจากประสบการณ์การทำงานภาคสนามในพื้นที่กรุงเทพมหานครสะท้อนให้เห็นภาพของผู้หญิงที่ทำงานเข้มแข็ง รวมตัวกันภายในชุมชน แม้ในวันที่ฝนตกโปรยปรายตลอดช่วงบ่าย กลุ่มผู้หญิงวัยกลางคน 6 คน วัย กึ่งเดินกึ่งวิ่งเข้ามาอย่างกุลีกุจอเพื่อมารับคนแปลกหน้าท่ามกลางสายฝน แต่ไม่อาจบดบังรอยยิ้มอันเป็นมิตรต้อนรับที่ระบายออกมาสู่คนภายนอกได้ ความเข้มแข็งของพวกเธอไม่เพียงสะท้อนผ่านการทำงาน แต่ยังรวมถึงบทบาทหน้าที่ภายในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นประธานชุมชน เป็นหัวหน้าครูในศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนในชุมชน เป็นเสมียนของแฟลตห้องเช่า เป็นผู้ขายอาหาร มีหน้าที่จัดการชุมชน ดูแลประสานงานผู้ป่วยในสถานการณ์โควิด-19

พวกเธอนำทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ในชุมชน ผ่านทางเดินแคบๆ ผ่านน้ำขัง ขยะถูกทิ้งไว้ไม่มีผู้ใดจัดเก็บ จนมาถึงพื้นที่ที่ถูกใช้เป็นลานกิจกรรมของชุมชน พร้อมบอกเล่าประสบการณ์ที่ต้องพบเจอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ให้ฟังว่า คนในชุมชนแทบจะทั้งหมดตกงาน หลายครอบครัวไม่สามารถทำงานรับจ้างหรือค้าขายได้เหมือนเก่า เกิดหนี้สินที่พอกพูน บางบ้านมีเงินติดบ้านไม่ถึง 100 บาท แต่จำเป็นต้องมีชีวิตรอดให้กับเวทีชีวิตอันแสนลำบากนี้ต่อไป เมื่อความต้องการในชีวิตประจำวันยังคงเหมือนเดิม แต่รายได้กลับหดหาย ไม่สามารถเข้าถึงสินค้าพื้นฐานได้ และสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงต้องรับภาระหนักกว่า เมื่อพวกเธอต้องเผชิญปัญหาความยากจน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสินค้าพื้นฐานอย่าง “ผ้าอนามัย” ได้

1. ผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการดูแลสุขอนามัยของตัวเองได้

ในทุกๆ เดือน ผู้ที่มีประจำเดือนจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายตามธรรมชาติ และจะขับออกมาเป็นสิ่งที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า “ประจำเดือน” หรือ “เมนส์” โดยเฉลี่ยผู้ที่มีประจำเดือนจะมีประจำเดือนตลอดทั้งชีวิตประมาณ 2,535 วัน หรือคิดเป็นประมาณ 7 ปี นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญกับอาการข้างเคียงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น การปวดท้องประจำเดือน เกิดอาการซึมเศร้าก่อนเป็นประจำเดือน สิ่งเหล่านี้คือปัญหาทางกายภาพของผู้หญิงซึ่งจะมีความหนักเบาแตกต่างกันออกไปตามร่างกายของแต่ละคน

นอกจากปัญหาทางกายภาพแล้ว ยังมีอีกปัญหาใหญ่ที่ผู้มีประจำเดือนทั่วโลกต่างต้องเผชิญ นั่นคือ สิ่งที่เราเรียกว่า “ความจนประจำเดือน” (period poverty) หรือการที่ผู้ที่มีประจำเดือนไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการดูแลสุขอนามัยของตัวเองได้ในช่วงที่มีประจำเดือน เช่น ผ้าอนามัย ความรู้ในการดูแลสุขอนามัยในช่วงที่มีประจำเดือน ห้องน้ำ การล้างมือ หรือการจัดการขยะ หลายๆ ประเทศยังคงเผชิญกับปัญหานี้ เช่น ผู้ที่มีประจำเดือนไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยได้ จำเป็นที่จะต้องใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษชำระ ถุงเท้า เสื้อผ้า หรือแม้กระทั่งถุงพลาสติกมาใช้แทนผ้าอนามัย ซึ่งขัดกับหลักสุขอนามัยที่ควรเป็น หรือสถิติจากทวีปแอฟริกาพบว่า เด็กหญิง 1 ใน 10 คน จะขาดเรียนทุกครั้งที่มีประจำเดือน เนื่องจากโรงเรียนไม่มีห้องน้ำสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ 50% ของนักเรียนหญิงในประเทศเคนยา ไม่มีผ้าอนามัยใช้ และในประเทศอินเดีย ผู้หญิงประมาณ 12% ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะซื้อผ้าอนามัย ปัญหานี้ยังเกิดขึ้นกับประเทศพัฒนาแล้วเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ข้อมูลจากองค์กร Plan International พบว่า ในประเทศอังกฤษ 10% ของเด็กผู้หญิงไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อผ้าอนามัย นอกจากนี้ 1 ใน 5 ของผู้หญิงยังต้องใช้ผ้าอนามัยที่ไม่เหมาะกับตัวเอง เพียงเพราะว่ามันมีราคาถูกกว่า หรือในสหรัฐอเมริกา เกือบ 1 ใน 5 ของเด็กผู้หญิงสหรัฐ ต้องขาดเรียน เนื่องจากไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยได้

“เงินที่ได้มาต้องเอาไว้ซื้อข้าว ส่วนอีกส่วนต้องกันไว้ซื้อผ้าอนามัย เพราะเราไม่ได้มีเงินมากพอขนาดนั้น

                                                                      เดียร์ ณ ชุมชนแห่งหนึ่ง
ในเขตกรุงเทพมหานคร

                                                                                  8 กันยายน 2564

ความจนประจำเดือนทำให้ตัวเลือกในการเข้าถึงผ้าอนามัยเป็นไปอย่างจำกัดกลายเป็นภาพสะท้อนไปสู่การ “จำเป็นต้องเลือก” ผ้าอนามัยราคาถูก โดยไม่สามารถคำนึงถึงความเหมาะสมของร่างกายได้ โดยราคาผ้าอนามัยแบบแผ่นที่มีราคาถูกที่สุดตกประมาณชิ้นละ 5 บาท ทั้งนี้ ในกรณีที่มีอาการแพ้ หลายคนก็ต้องใช้ผ้าอนามัยที่แพงขึ้น หรือต้องใช้ชนิดซึมซับได้พิเศษในวันมามาก ซึ่งมักจะมีราคาแพงขึ้นไปตามลำดับ นอกจากนี้ การพูดคุยกับผู้หญิงหลายๆ คน ทำให้เห็นว่า พวกเธอต้องจำยอมใช้ผ้าอนามัยชิ้นเดียวตลอดทั้งวัน เพียงเพราะไม่มีรายได้มากพอที่จะซื้อผ้าอนามัยไว้ใช้หลายชิ้นต่อเดือน จึงทำได้แค่สำรวจตัวเองบ่อยๆ และอดทน แทนการเปลี่ยน 6-7 ครั้งต่อวัน แม้จะรู้ว่าคำแนะนำของแพทย์ ผู้มีประจำเดือนควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 4 ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับว่า 6 ชิ้นต่อ 1 วัน  กล่าวคือจะต้องใช้ผ้าอนามัยโดยเฉลี่ย 36 ชิ้นต่อเดือน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่นๆ ตามมา ซึ่งส่งผลต่อการสูญเสียรายได้จากอาการข้างเคียงของประจำเดือน เช่น จำเป็นต้องหยุดงานเนื่องจากมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง เป็นต้น

เมื่อผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของผู้หญิงกลายเป็นภาระที่ต้องจ่ายเป็นประจำในทุกๆ เดือน การเข้าถึงผลิตภัณฑ์ด้านสุขอนามัยอย่างผ้าอนามัยกลายเป็นปัญหาพื้นฐานที่รอการแก้ไข ผู้มีประจำเดือนหลายๆ คนไม่มีแม้กระทั่งทางเลือกในการใช้สิ่งที่เหมาะสมกับตนเอง เพียงเพราะ “ต้นทุน” ที่มีไม่เท่ากัน แต่กระนั้น การจัดการของภาครัฐกลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ แม้จะเป็น “ปัญหาที่ไม่ควรเป็นปัญหา” ก็ตาม

ในปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ของไทยได้กำหนดให้ผ้าอนามัยชนิดต่างๆ เป็นสินค้าควบคุม แต่ยังคงต้องถูกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นภาระของผู้บริโภคในการจ่าย นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยังได้มีการระบุให้ผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นเครื่องสำอาง ตามราชกิจจานุเบกษา ยังทำให้เกิดความกังวลว่าผ้าอนามัยแบบสอดจะถูกปรับให้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งจะส่งผลให้ภาษีถูกปรับขึ้นไปที่ร้อยละ 30 แม้จะมีการออกมาปฏิเสธแล้วก็ตาม คำถามที่ตามก็คือ “เหตุใดผู้หญิงจึงต้องจ่ายภาษีให้กับสิ่งจำเป็นพื้นฐานอย่างผ้าอนามัย?” หรือคำถามที่ใหญ่กว่านั้นก็คือ “ผ้าอนามัยควรเป็นสวัสดิการที่สังคมควรให้ผู้หญิงในทุกเดือนหรือไม่?”

2. ผู้หญิงเป็นกลไกสำคัญของเศรษฐกิจ แต่กลับถูกมองข้าม

ทุกคนต่างมีบทบาทและสถานภาพที่แตกต่างกันออกไปตามสถานะทางสังคม ผู้หญิงรับบทบาททั้งการเป็นแม่ เป็น เมีย บางคนรับบทบาทเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวในบ้าน แต่ในทางสังคม พวกเธอเป็นประธานชุมชน เป็นกรรมการชุมชนสูงวัย เป็นผู้ดูแลนักเรียนก่อนปฐมวัยกว่าร้อยชีวิตในชุมชน บทบาทของพวกเธอกลายเป็นผู้หล่อเลี้ยง ฟูมฟัก และผลิตคนให้คุณภาพสู่สังคม ผู้หญิงเป็นผู้ผลิตซ้ำทางเศรษฐกิจ เป็นฐานความมั่นคงที่สามารถสร้างความปึกแผ่นให้คนในสังคมได้ แต่สังคมได้ให้ความสำคัญกับผู้หญิงเพียงพอแล้วจริงๆ หรือไม่? ผู้หญิงได้รับสิ่งจำเป็นพื้นฐานในชีวิตเพียงพอแล้วหรือ?

Julie Gibson และ Katherine Graham นักภูมิเศรษฐศาตร์สายสตรีนิยม ผู้เขียนหนังสือ A Postcapitalist Politics (2009) ตั้งคำถามได้อย่างน่าสนใจด้วยการนิยามวิสัยทัศน์การเมืองที่ตรงข้ามทุนนิยม (anti-capitalism) โดยเสนอว่า เราถูกครอบงำด้วยภาษาทางเศรษฐศาตร์กระแสหลักทำให้มองเห็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในปริมณฑลที่เกี่ยวข้องกับตลาดอย่างเดียวเท่านั้น หากแท้จริงแล้วภายใต้ชุมชน สังคมที่มีพลวัตรประกอบไปด้วย “อัตลักษณ์แห่งชนชั้น” (class identities) โดยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่ซ้อนทับกันระหว่างกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ เช่น เดียร์ (นามสมมุติ) ผู้หญิงในชุมชนแห่งหนึ่งเขตกรุงเทพมหานคร งานประจำของเธอ คือการรับจ้างขายอาหาร สามีของเธอทำงานในโรงงาน เธอต้องดูแลแม่ที่ป่วยอยู่ในบ้าน รีดเสื้อ ซักผ้า ทำกับข้าวและงานบ้านทุกอย่างพร้อมกับดูแลลูกสาวอีกหนึ่งคน นอกเหนือจากนี้ ยังมีหน้าที่รับผิดชอบงานในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นประสานกับชุมชนดูแลความเป็นไปในยามทุกข์ยากเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ หากเปรียบเทียบภาพของภูเขาน้ำแข็งที่ JK Gibson Graham หยิบยกมาด้วยแล้ว ผู้หญิงเหล่านี้สมควรแก่การมีสวัสดิการที่ดี เนื่องจากมีบทบาท หน้าที่มากมายในชุมชนที่พวกเธอเป็นผู้จัดการ สิ่งที่เราเห็นภายนอกเป็นเพียงยอดแห่งภูเขาน้ำแข็ง แต่ภายใต้ภูเขาน้ำแข็งมีบทบาท ภาระหน้าที่ ความรู้สึกเกี่ยวข้องโยงใยเกิดเป็นมูลค่าส่วนเกิน (surplus) ด้วยแรงงานที่ไม่ได้อยู่บนความสัมพันธ์แบบทุนนิยม อัตลักษณ์แห่งชนชั้นที่หลากหลายหน้าที่ในแต่ละวัน ซ้ำยังเป็นผู้หล่อเลี้ยง ฟูกฟัก เป็นผู้ผลิตคน ผู้ผลิตซ้ำทางเศรษฐกิจ และเป็นผู้ดำรงสืบทอดวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ กล่าวได้ว่าการผลิตมูลค่าส่วนเกินเพื่อสมาชิกอื่นในชุมชนถือเป็นกลไกในการสร้างความหมายทางสังคมและรูปแบบวัฒนธรรมเฉพาะขึ้นมา

ข้อเสนอ/ แนวทางแก้ไขปัญหา

1. ยกเลิกภาษีผ้าอนามัยอย่างเร่งด่วน

ผ้าอนามัยเป็นสินค้าจำเป็นพื้นฐานสำหรับผู้หญิงทุกคนที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ แต่กลับกลายเป็นปัญหาถ่างความไม่เท่าเทียมให้กว้างขึ้น และเป็นปัญหาที่ไม่ได้มีการแก้ไขมากนักในปัจจุบัน แม้ว่าในประเทศไทยจะเริ่มมีการผลักดันให้ผ่านกฎหมายการยกเลิกภาษีผ้าอนามัยแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าการยกเลิกภาษีจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างจากหลายๆ ประเทศ เช่น แคนาดา  มาเลเซีย ไอร์แลนด์ เคนยา นิการากัว ยูกันดา แทนซาเนีย ออสเตรเลีย และบางรัฐในสหรัฐอเมริกา ได้ยกเลิกการเก็บภาษีผ้าอนามัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากผู้ออกนโยบายมองว่าเป็นสินค้าจำเป็นสำหรับผู้ที่มีประจำเดือน ทว่า การผลักดันเพียงร่างกฎหมายในการยกเลิกภาษีผ้าอนามัยอาจจะไม่เพียงพอในระยะยาว

2. ผ้าอนามัยฟรี: สวัสดิการจากรัฐที่มอบให้แก่ผู้หญิง

ไม่เพียงแค่บ่งบอกถึงลักษณะตามธรรมชาติของผู้หญิง  ผ้าอนามัยยังเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อของคนในสังคม บ่งบอกการให้ความสำคัญในแง่ของสิทธิทางเพศ และควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้หญิงทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ดังนั้น ปลายทางของการแก้ปัญหานี้คงหนีไม่พ้น “การจัดให้ผ้าอนามัยเป็นสวัสดิการของหญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนให้มีสิทธิ์ในการเข้าถึงได้อย่างเพียงพอ และต้องเป็นสินค้าที่มีความปลอดภัยตามมาตรฐาน มีความหลากหลายที่ผู้หญิงสามารถเลือกได้” ซึ่งเป้าหมายระยะยาวคงไม่ไกลเกินเอื้อม เมื่อสกอตแลนด์ได้ผ่านกฎหมายให้ผ้าอนามัยเป็นสวัสดิการของผู้หญิง เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความยากจนประจำเดือนลงได้

ถึงแม้ว่าการเรียกร้องสวัสดิการเพื่อแก้ไขปัญหาความจนประจำเดือนจะไม่สามารถจัดการได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่การผลักดันนโยบายหรือความช่วยเหลือต่างๆ ออกมาก็เป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาในระยะสั้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดเตรียมผ้าอนามัยฟรีไว้ในสถานที่สาธารณะต่างๆ ที่ผู้หญิงสามารถเข้าถึงได้ โดยหลายๆ ประเทศทั่วโลกได้เริ่มมีการจัดทำแล้ว เช่น ในนิวซีแลนด์ มีมาตรการในการแจกจ่ายผ้าอนามัยให้กับโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นต้น  เมื่อผ้าอนามัยเป็นต้นทุนทางสังคมที่ผู้หญิงจำเป็นที่จะต้องจ่าย ภาครัฐสมควรจัดหาสินค้าพื้นฐานที่แต่ละครัวเรือนจำเป็นที่จะต้องได้รับ ร่วมอุดรอยรั่วภาระค่าใช้จ่ายของผู้หญิงในแต่ละบ้าน ซึ่งเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ผ้าอนามัยจึงไม่ใช้สิ่งของส่วนตัว เพราะผู้หญิงคือผู้ผลิตซ้ำทางเศรษฐกิจของประเทศ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิทธิพื้นฐานเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและเท่าเทียมของประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง

3. ต่อยอดเพื่อจัดทำ ธนาคารผู้หญิง (Period Bank)

‘เราไม่สามารถห้ามประจำเดือนได้ฉันใด ผู้หญิงก็ควรมีสิทธิ์ในการเข้าถึงผ้าอนามัยฟรีได้ฉันนั้น’

ดังนั้น ผู้หญิงจึงควรเข้าถึงการให้บริการทางด้านสุขภาพทางเพศ โดยเน้นให้มีทางเลือกที่หลากหลาย เช่น ผ้าอนามัยแบบแผ่น แบบสอด แบบถ้วย หรือผ้าอนามัยแบบผ้าที่สามารถทำความสะอาดนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ให้เป็นทางเลือกที่รองรับกับความต้องการของผู้หญิงที่มีเงื่อนไขส่วนบุคคลที่ต่างกัน ตลอดจนกลไกเพื่อให้ความจนประจำเดือนนี้ เป็นสิ่งที่ผู้มีประจำเดือนไม่ต้องแบกรับเป็นภาระรายเดือนอีกต่อไป เช่น การจัดตั้ง “ธนาคารผู้หญิง หรือ Period Bank” เพื่อให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขอนามัยทางเพศ และการเจริญพันธุ์ที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นผ้าอนามัยที่หลากหลาย ยาแก้ปวดท้องประจำเดือน อุปกรณ์คุมกำเนิด ตลอดจนไปถึงชุดชั้นใน กางเกงใน เพื่อให้คนในชุมชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้เปราะบางที่มีรายได้น้อย สามารถเข้าถึงได้ตามสถานที่ต่างๆ โดยง่าย เป้าหมายในระยะยาวจึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียง การเข้าถึงผ้าอนามัยเพียงเท่านั้น แต่ยังขยายต่อยอดไปถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมถึงความรู้เพื่อสร้างสุขอนามัยที่ถูกต้องให้กับผู้หญิงอีกด้วย

นโยบายภาครัฐควรทำหน้าที่ในการแบ่งเบาภาระให้กับผู้หญิง ผู้ที่ไม่เพียงทำหน้าที่เป็นแม่ หรือเป็นเมียภายในบ้าน แต่ยังทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งในแต่ละเดือนพวกเธอจะต้องเผชิญกับธรรมชาติของร่างกายที่ไม่สามารถต่อต้านได้ ทั้งจากการเป็นประจำเดือน อาการปวดท้องในช่วงระหว่างมีประจำเดือน ทนแรงเสียดทานจากภายใน นโยบายและสวัสดิการที่ดีของรัฐ จึงถือเป็นการแสดงความเคารพต่อผู้หญิงผ่านนโยบายซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเจริญของประเทศ

Policy Lab: Policy Memo นโยบายผู้บริหาร สำหรับประเทศยุคโควิด

Policy Lab คือคอลัมน์พิเศษที่รวบรวมข้อเสนอนโยบายในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ส่งตรงถึงผู้บริหารประเทศ

โดยเราจะระดมแนวคิดต่างๆ ในรูปแบบของ Policy Memo เพื่อส่งสารโดยตรงถึงบุคลากรในระดับผู้บริหาร เพื่อช่วยเป็นอีกทางเลือกด้านโยบายสำหรับผู้บริหารราชการฉุกเฉินปัจจุบัน

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า